ป้อมพระสุเมรุ
ถี่ขึ้นทุกขณะ การชุมนุม “แฟลชม็อบ” ของกลุ่มนักศึกษา-เยาวชน ที่ต่อต้านรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ได้ขยายวงกว้างไปทั่วประเทศ
แต่ในความถี่ ก็ดูเหมือนจะขาด “น้ำหนัก” ในการเคลื่อนไหว
แม้จะมีประเด็นถวายพานให้อย่างคดี “บอส กระทิงแดง” วรยุทธ อยู่วิทยา ประจานความ “เหลื่อมล้ำ-อยุติธรรม” ของผู้มีอำนาจออกมาก็ตาม แต่ไม่สามารถปรับจูนให้เข้ากับทิศทางการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมได้
จึงได้เห็นความดิ้นรนของกลุ่มผู้ชุมนุม ที่ต้องแสวงหา “กิมมิก” เติมความน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการ์ตูน หรือนิยายดัง ทั้งแฮมทาโร่ - แฮรี พอตเตอร์ เพื่อเลี้ยงกระแสไปต่อให้
กระทั่งโหนกระแส “เด็กหงส์” จะจัดแห่แชมป์ลิเวอร์พูล แต่เจอกระแสตีกลับ เอาเรื่องกีฬามาใช้ในทางการเมือง ต้องพับแผนไปแบบไม่เป็นท่า
อีกความเคลื่อนไหวก็คือการที่ ศูนย์กลางความเคลื่อนอยู่ที่เฟซบุ๊ค "เยาวชนปลดแอก - Free YOUTH" อัพเกรดไปอีกขั้นเป็น “คณะประชาชนปลดแอก - Free People” ไปเมื่อวันที่ 1 ส.ค.63
แน่นอนการ “รีแบรนด์” จาก “เยาวชน” ไปเป็น “ประชาชน” ก็เพื่อสร้างแนวร่วมให้กว้างขวางมากขึ้นไม่จำกัดอยู่แค่ “ม็อบเด็ก” อย่างที่ถูกค่อนขอด
ตกผลึกแล้วว่า หากใช้ “เด็ก-เยาวชน” ขับเคลื่อน แม้จะได้ภาพความบริสุทธิ์ ไม่มี “มือมืด” มาครอบงำ-แทรกแซง แต่ในทางกลับกันประเด็นการเคลื่อนไหวห็เป็นไปอย่าง “ไร้หางเสือ”
หลายครั้งมีการจุดพลุเรื่องที่ไม่บังควรขึ้นมาบนเวที อย่างกรณี อานนท์ นำภา แกนนำกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ที่ไปโพล่ง “ประเด็นหมิ่นเหม่” บนเวทีชุมนุมธีมพ่อมดน้อยแฮรี ที่อนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 3 ส.ค.63
หมิ่นเหม่ขนาดไหน ไม่แนะนำให้ต้องไปหาฟัง เพราะขนาดสำนักข่าวฝ่ายเดียวกันอย่าง “โอ๊คทีวี” ยังลบคลิปออกแทบไม่ทัน
เชื่อเถอะว่าอยู่ในสายตาของรัฐบาล และอ่านไม่ยากว่าเป็นยุทธการ “กามิกาเซ” ใช้ “อานนท์” เป็นเหยื่อ เพื่อให้มีการงัด “กฎหมายสำคัญ” ออกมาใช้
เพื่อไต่บันไดไปให้ถึง “เป้าหมาย” บ่ายหน้าเข้าสู่ “นัยซ่อนเร้น” บางประการให้ได้
ต้องไม่ลืมว่าการรีแบรนด์มาเป็น “คณะประชาชนปลดแอก” นอกเหนือจากขยายกลุ่มแนวร่วมแล้ว ยังเป็นไปในเชิงสัญลักษณ์
โดยเฉพาะการเลือกคำว่า “คณะ” แทนที่จะคำที่นิยมกันมากกว่าอย่าง “กลุ่ม-เครือข่าย-แนวร่วม” ที่มีนัยสำคัญที่น่าสนใจไม่น้อย
ไม่เพียงแต่บังเอิญตรงกับ “คณะราษฎร” ในอดีตแล้ว
ยังไปบังเอิญตรงกับ “คณะก้าวไกล” ของ 3 เซเลปบริตี้ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ - ปิยะบุตร แสงกนกกุล - พรรณิการ์ วาณิช อดีตแกนนำพรรคอนาคตใหม่ อีกด้วย
ในวงการรับรู้ได้ว่าหมุดหมายของ “เอก-ป๊อก-ช่อ” คือเรื่องใด
เพื่อปรามไม่ให้ “ไปกันใหญ่” ก็เลยมีความเคลื่อนไหวในทิศทางตรงข้ามออกมา อย่างกลุ่มอาชีวะช่วยชาติ หรือกลุ่มรักแผ่นดินเกิด ที่ชูเรื่องพิทักษ์ปกป้องสถาบันเบื้องสูงเป็นสำคัญ
ตลอดจนการปรากฎชื่อ อภิวัฒน์ ขันทอง ที่ออกตัวในฐานะทนายความ ไปแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดี “ทนายอานนท์” ในหลายฐานความผิด โทษฐานปราศรัยให้เกิดความแตกแยกในชาติ
พลิกประวัติ “อภิวัฒน์” ก็ไม่ธรรมดา เพราะปัจจุบันเป็นทั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และยังเคยเป็นกรรมการบริษัทในเครือครอบครัว “คงสมพงษ์” ด้วย
การออกโรงของ “อภิวัฒน์” จึงเป็นสะท้อนให้เห็นถึง “ความเหลืออด” ของฝ่ายถืออำนาจ
อย่างไรก็ดี ก็ใช่ว่ารัฐบาลหมายจะสู้กับม็อบแบบ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” เพราะรู้ดีว่าหากเลือกใช้ “ไม้แข็ง” อย่างเดียว ก็เข้าทางฝ่ายตรงข้าม ที่มีความต้องการให้เกิดภาพการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม
หรืออย่างการพุ่งเป้าโจมตีการคงประกาศพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณืฉุกเฉิน ในช่วงควบคุมโรคโควิด-19 ต่อเนื่องมาถึงตอนนี้ ก็ถูกร้องแรกแหกกระเฌอว่า เป็นการคงประกาศกฎหมายพิเศษไว้เพื่อใช้ประโยชน์ในทางการเมือง
แม้ว่ารัฐบาลจะปลดล็อกการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯบางส่วน ให้สามารถชุมนุมทางการเมืองได้ ก็ยังไม่เป็นที่พอใจของฝ่ายม็อบอยู่ดี
ความพยายามเร่งเกมให้เกิดความขัดแย้ง-รุนแรง อันเป็น “หลุมพรางตื้นๆ” ที่ฝ่ายรัฐบาล-ฝ่ายความมั่นคงจับได้ไล่ทันไม่ยาก
แต่ทางหนึ่งก็จำเป็นต้อง “ปราม” โดยให้เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายให้อยู่ในกรอบ ไม่ให้ล้ำเส้นไปมากกว่าที่เป็นอยู่แล้ว
อีกทางหนึ่งก็เริ่ม “ยื่นไมตรี” ผ่าน “รีแอคชั่น” ในทางรับลูกออกมาเป็นระยะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ “นายกฯลุงตู่” ส่งสัญญาณในการเข้าพูดคุยกับกลุ่มผู้ชุมนุมนักเรียน-นักศึกษา
โดยมอบให้ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ “สภาพัฒน์” ผู้จะเป็นเจ้าภาพอภิมหาโปรเจ็คต์ “รวมไทย สร้างขาติ” รับหน้าเสื่อออกแบบเวทีพูดคุยระหว่าง “รัฐบาล-ผู้ชุมนุม”
ขณะเดียวกันก็หยิบเรียกร้องออกมา 3 ข้อ ที่เวที “เยาวชนปลดแอก” ประกาศก้องไว้กลางราชดำเนิน เมื่อวันชุมนุม 18 ก.ค.63 มาดูโอกาสความเป็นไปได้
1.ยุบสภา
2.หยุดคุกคามประชาชน
3.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่
อันเป็นที่มาของความเคลื่อนไหวการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จากมติของคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 สภาผู้แทนราษฎร ที่มี “เดอะตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นประธาน เห็นชอบให้แก้ไข “มาตรา 256” ของรัฐธรรมนูญ เป็นมติที่หลายฝ่ายเห็นตรงกัน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน
ซึ่งถือเป็นข้อเรียกร้องสำคัญของผู้ชุมนุม รวมไปถึงทางซีกของฝ่ายค้าน
ขณะเดียวกันในรัฐบาลเองที่เคยมองว่า รัฐธรรมนูญปัจจุบัน “ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” ก็ชักเปลี่ยนความคิด เพราะเห็นว่า หากดันทุรังใช้รัฐธรรมนูญไปแบบบิดๆเบี้ยวๆ อนาคตอาจเจ๊งกันทั้งกระบิ
รวมทั้งมีการสะท้อนความอึดอัดมาจาก “องค์กรบางแห่ง” ที่รับ “ก้อนหิน” มาตลอดจากกรณี “เสียงเขย่ง-ส.ส.ปัดเศษ”
พูดง่ายๆ ฝ่ายรัฐบาลเองก็อยากแก้รัฐธรรมนูญเช่นกัน
ถึงขั้นที่ว่า ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ “พี่ใหญ่” จับมาวางให้เป็นรองประธาน กมธ.คนที่ 1 เพื่อเป็น “หัวหอก” ในการศึกษารัฐธรรมนูญ 2560 ตามธงเดิมที่ให้ “เตะถ่วง” ไว้ก่อน ต้องมาเอ่ยปากกับทางฝ่ายค้านเองว่า คงต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญกันแล้ว
การเสนอให้รัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ถูกบรรจุอยู่ใน 3 ข้อเรียกร้องของกลุ่มแฟลชม็อบนักเรียนนักศึกษา จึงไม่ได้ฝืนใจรัฐบาลจนเกินไป
ถึงวันนี้คงฟันธงได้แล้วว่า แก้รัฐธรรมนูญแน่ แต่คำถามอยู่ที่แก้ตรงไหนบ้าง
ถ้าเอากันแบบสุดซอย ฉีกทิ้ง ร่างใหม่ทั้งฉบับ ผ่านการตั้ง สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) น่าจะเป็นทางที่ยากที่สุด
เพราะสุ่มเสี่ยงที่จะไปกระทบ “บทเฉพาะกาล” ในส่วนของ ส.ว.อย่างหลีกเลี่ยนงได้ยาก
ไม่เพียงเท่านั้นยังมีการวางโมเดลเบื้องต้นไว้แล้วว่า หากใช้ ส.ส.ร.จริง ก็อาจทำให้การร่างรัฐธรรมนูญต้องใช้งบประมาณสูงเป็นประวัติการณ์ ต้องมีการทำประชามติและเลือกตั้งไม่ต่ำกว่า 4 ครั้ง คือ ก่อน-หลังการแก้ไขมาตรา 256 จากนั้นต้องเลือกตั้ง ส.ส.ร. และประชามติหลังร่างรัฐธรรมนูญของ ส.ส.ร.ในขั้นสุดท้าย
คิดคร่าวๆงบประมาณประชามติ หรือเลือกตั้งครั้งละ 3 พันล้านบาทเท่ากับการเลือกตั้งทั่วไปทั่วประเทศ รวมแล้ว 12,000 ล้านบาท
ขณะเดียวกันก็มีการเสนอแนวทางออกมาจาก “ค่ายสีฟ้า” พรรคประชาธิปัตย์ ในการแก้ไขเฉพาะมาตรา 256 นำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ง่ายขึ้น โดยตัดจำนวนจั้นต่ำของ ส.ว.ออกจากเงื่อนไข ซึ่งก็เชื่อว่า “สภาสูง” อาจจะไม่เอาด้วย
และแนวทางที่คาดว่าจะเป็นไปได้มากที่คือการอาศัยมาตรา 256 โดยความร่วมมือของทุกฝักฝ่าย “รัฐบาล - ฝ่ายค้าน - ส.ว.” ซึ่งก็ต้องหา “จุดร่วม” ว่าจะแก้ตรงไหนบ้าง หรือต้องไม่แตะตรงไหน
แต่ก็ต้องไม่รีบว่ายังมีบางฝ่ายที่หวังรื้อรัฐธรรมนูญแบบ “สุดซอย” โดยเฉพาะพรรคก้าวไกล ที่ “เสี่ยทิม” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรค ชงแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญออกมา 5 มาตรา ประกอบด้วย มาตรา 269, 270, 271 และมาตรา 272 เป็นบทเฉพาะกาลที่เกี่ยวกับ ส.ว. ทั้งเรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการได้มาซึ่ง ส.ว. อำนาจหน้าที่ ส.ว.ที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ และการโหวตเลือกนายกฯ เป็นต้น
รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 279 เกี่ยวกับการรับรองประกาศและคำสั่ง คสช. ให้ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นบันไดขั้นแรกในการแก้ปัญหาประเทศ และเป็นการถอนฟืนออกจากกองไฟ
ซึ่งเชื่อเหลือเกินว่า “ฝ่ายผู้มีอำนาจ” ไม่เล่นด้วยอย่างแน่นอน
ประมาณว่า ได้คืบเอาศอก คุยกันถึงชาติหน้าก็ไม่จบ.