“ปิยบุตร” ห้าวใหญ่ เสนอแก้ รธน. แบบ “ถอนแค้น” ทีเดียวจบ “ยกเลิกบทเฉพาะกาล-ส.ว.250-รับรองคำสั่ง คสช.” อ้างสืบทอดเผด็จการ “ตู่-จตุพร” ให้เริ่มจากแก้ ม. 256 เลือกตั้ง “ส.ส.ร.”เหมือน “บรรหาร” ไม่งั้น “รบกันตาย”
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (7 ส.ค. 63) เฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล ของ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการ คณะก้าวหน้า โพสต์หัวข้อ “[ ถก กมธ. #แก้รัฐธรรมนูญ ยันต้องยกเลิกบทเฉพาะกาล ส.ว. 250 คน - เลิกรับรองคำสั่ง คสช. พื่อคืนหลักการปกติ ]”
เนื้อหาระบุว่า วันนี้ 7 สิงหาคม 2563 ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการ #คณะก้าวหน้า ร่วมประชุมกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 สภาผู้แทนราษฎร และได้กล่าวในที่ประชุม กมธ. ชุดดังกล่าวเกี่ยวกับการพิจารณาเรื่องบทเฉพาะกาล โดยระบุว่า
ภารกิจของบทเฉพาะกาลมีไว้เพื่อ
1. งดเว้นรัฐธรรมนูญบางมาตรามิให้นำมาใช้ในบางช่วงบางเวลา
2. ให้สถาบันการเมืองหรือองค์กรที่ดำรงอยู่ก่อนนั้นดำรงอยู่ต่อไปจนกว่าที่จะมีชุดใหม่เข้ามาแทน
3. ให้บรรดาสถาบันการเมือง องค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ดำรงอยู่ปฏิบัติหน้าที่ตามระยะเวลากำหนด เช่น ตรากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ กำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป เป็นต้น
เมื่อดูจากภารกิจแล้ว บทเฉพาะกาลจึงต้องมีลักษณะชั่วคราว ใช้บางช่วงบางเวลาในการเปลี่ยนผ่านจากรัฐธรรมนูญฉบับหนึ่งไปสู่อีกฉบับหนึ่ง จากองค์กรหนึ่งไปอีกองค์กรหนึ่ง
ดังนั้น เมื่อมาดูบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ตั้งแต่ ม.262-279 รวมแล้ว 18 มาตรา พบว่า มีที่เป็นบทเฉพาะกาลจริงๆ ตามภารกิจ 3 ข้อนั้น เพียง ม.262-268 และ ม.273 -278 ที่กำหนดให้องค์กรใดอยู่ต่อไปก่อนจนกว่ามีชุดใหม่เข้าแทน กำหนดให้องค์กรต่างๆ ต้องปฏิบัติเรื่องต่างๆ เป็นระยะเวลาเท่าใด
แต่อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนี้บทเฉพาะกาลเหล่านี้ได้สิ้นผลไปโดยตัวเองแล้ว เพราะมีสภา คณะรัฐมนตรีใหม่เข้าทำหน้าที่แล้ว มีการปฏิบัติตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดเรียบร้อยแล้ว
อีกสองกลุ่ม ม.269-272 ที่ว่าด้วยวุฒิสภา 250 คน และ ม.279 ที่รับรองประกาศคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เมื่อพิจารณาตามภารกิจแล้ว ไม่ใช่บทเฉพาะกาล เพียงแต่เอามาใส่ไว้ในหมวดบทเฉพาะกาลเท่านั้นเอง
“โดยในกลุ่มแรก คือ ม.269-272 เรื่องวุฒิสภาที่มานั้นชัดเจนว่าสัมพันธ์กับ คสช. อีกทั้งยังมีอำนาจหน้าที่เป็นพิเศษ เช่น ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี และประชุมร่วมกับ ส.ส. กรณีที่เป็นกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ ซึ่งก็ชัดว่า ส.ว. 250 คน ได้เข้ามาทำภารกิจสืบทอดอำนาจ คือ เลือกนายกรัฐมนตรี และปีนี้ก็เห็นหลายครั้งที่มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพราะเป็นกฎหมายปฏิรูปประเทศ อำนาจแบบนี้ทำให้ ส.ว. ขึ้นมาขี่คอ ส.ส. ทั้งๆ ที่ตัว ส.ว.นั้น ไม่ได้มีที่มาจากประชาชน” ปิยบุตร กล่าว
เลขาธิการคณะก้าวหน้า อธิบายต่อว่า อีกส่วนหนึ่งที่ตามภารกิจแล้วไม่ใช่บทเฉพาะกาล คือ ม.279 ที่ให้การรับรองประกาศคำสั่ง คสช. และการกระทำที่เกี่ยวเนื่องให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ นี่คือสิ่งที่รับรองให้การกระทำของ คสช. ทั้งสิ่งที่ทำไปแล้วในอดีต สิ่งที่ทำในปัจจุบัน และสิ่งที่จะทำในอนาคตทั้งหมด ถูกเสกให้ชอบโดยรัฐธรรมนูญ 2560
ยิ่งลองพิจารณาเปรียบเทียบกับ พ.ร.บ.ต่างๆ ซึ่งสภาให้ความเห็นชอบ นายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯ แล้วพระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ พ.ร.บ. ซึ่งมีพระปรมาภิไธยอยู่นั้นมีโอกาสขัดรัฐธรรมนูญได้ ถ้ามีการโต้แย้งไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ แต่ทว่าประกาศคำสั่ง คสช. ที่มีการลงนามโดยหัวหน้า คสช. เพียงคนเดียว ไม่มีการลงพระปรมาภิไธยโดยประมุขของรัฐ กลับไม่มีวันขัดรัฐธรรมนูญฉบับนี้เลย
นี่เป็นนัยสำคัญอย่างยิ่งว่า ตกลงแล้วหัวหน้า คสช. มีอำนาจล้นพ้นขนาดนี้เลยหรือ? แล้วจะปล่อยให้บทบัญญัติแบบนี้อยู่ต่อไปได้อย่างไร?
“บทบัญญัติแบบนี้ ยังทำลายหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ เพราะที่บอกว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดนั้น ไม่นำมาใช้กับประกาศคำสั่ง คสช. ทั้งหมด คือทุกสิ่งทุกอย่างมีโอกาสขัดรัฐธรรมนูญได้หมด ยกเว้นประกาศคำสั่ง คสช. การใช้อำนาจของ คสช. ไม่มีวันขัดรัฐธรรมนูญได้เลย เรื่องนี้สำคัญมาก ทำให้ความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญเสียหาย
และอีกเรื่องที่เสียหาย คือ องค์กรตุลาการต่างๆ ผมเชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญก็ดี ศาลปกครองก็ดี ศาลยุติธรรมก็ดี หลายครั้งอยากตรวจสอบว่า ประกาศ คสช. เหล่านี้ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ก็ทำไม่ได้ ติดล็อก ม.279 ทำให้อำนาจตุลาการหายไปเยอะมาก เวลานี้ประชาชนอยากโต้แย้ง ศาลอยากตรวจสอบก็ทำไม่ได้ เพราะติดล็อกนี้”
ถ้าดูจาก 18 มาตราในส่วนของบทเฉพาะกาลตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ส่วนที่เป็นบทเฉพาะกาลแท้ๆ จะหายไปเอง เช่น วันนี้ก็ไม่มี คสช. ไม่มี สนช. อยู่แล้ว หรือการกำหนดให้กระทำการต่างๆ ตามระยะเวลาหนึ่งก็ทำเสร็จแล้ว
หากแต่ใน 2 กลุ่มหลังที่ไม่ใช่บทเฉพาะกาลตามภารกิจ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเข้าไปจัดการ ต้องแก้รัฐธรรมนูญและเสนอให้มีการยกเลิก นอกจากจะทำให้สอดคล้องกับหลักนิติศาสตร์ที่ถูกต้องแล้ว ยังสอดคล้องกับสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันที่มีการชุมนุมหลายพื้นที่ ถ้าสถาบันการเมืองได้ตอบสนองบางสิ่งบางอย่างให้เป็นรูปธรรม ก็จะบรรเทาเบาบางอุณหภูมิทางการเมืองลงได้
“ข้อเสนอที่ผมพูดไปถือว่าน้อยมาก ไม่กระทบกระเทือนกับใครเลย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยังคงเป็นนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีก็ยังอยู่ ส.ส.องค์กรอิสระต่างๆ ก็ยังอยู่ องค์กรตุลาการก็ยังอยู่ และท่านก็ได้กลับมาทำหน้าที่ตรวจสอบอย่างเต็มที่ตามปกติได้ด้วย พี่น้องประชาชนก็ไม่เสียประโยชน์อะไร มีแต่เพียงคนกลุ่มเดียวที่ถูกกระทบ นั่นคือ ส.ว. 250 คน ที่จะต้องหลุดจากตำแหน่งไป ซึ่งจากที่ผมได้เคยเจอหลายท่านก็เห็นว่า เป็นคนมีความรู้ความสามารถ ท่านมีโอกาสเป็น ส.ว.ในระบบปกติ ตามการสรรหากลุ่มวิชาชีพได้ นี่เป็นข้อเสนอที่ Win-win Situation คือ ชนะด้วยกันทุกฝ่าย ไม่มีใครเสีย ทำให้หลักการที่ถูกต้องกลับมาด้วย และอุณหภูมิที่ร้อนแรงนอกสภาลดลงด้วย” ปิยบุตร กล่าว
#รัฐธรรมนูญใหม่ #ปิยบุตร #สภา #คณะก้าวหน้า #ประชาชน
ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ก่อนหน้านี้ (6 ส.ค. 63) นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เฟซบุ๊กไลฟ์ PEACETALK ว่า ขณะนี้บ้านเมืองมีความเปราะบางอย่างยิ่ง แต่การแก้ไข รธน. มาตรา 256 จะเกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย เพราะถ้ารัฐบาลมองการณ์ไกลแล้ว เมื่อมีแก้ไข รธน. จะไม่มีการยุบสภาเร็วขึ้น ตนจึงร้องขอนักการเมืองและทุกฝ่าย ควรร่วมกันเปิดประตู มาตรา 256 ก่อน อย่าเพิ่งเสนอรายละเอียดเพื่อแก้ไขในมาตราอื่นๆ ในช่วงนี้
สิ่งสำคัญการแก้ไขมาตรา 256 อยู่ที่การเสนอตั้ง ส.ส.ร.มายกร่างแก้ไข รธน. ซึ่งในอดีตรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินการมาแล้ว จนได้เลือกตั้ง ส.ส.ร.ทางอ้อมเป็นตัวแทนของแต่ละจังหวัดมาร่าง รธน. 2540 จนสำเร็จ
“เมื่อได้ ส.ส.ร.แล้ว จะเสนอให้ยกเลิก ส.ว. หรือยกเลิกมาตรา 272 ก็ต้องว่ากันต่อไป แต่ถ้าขณะนี้คุยมาตราอื่นก่อนแก้ ม.256 นั้น คงต้องรบกันก่อน จนไม่มีวันแก้ รธน.สำเร็จได้”
นายจตุพร ย้ำว่า การแก้ รธน.ถ้าต้องการความสำเร็จต้องไปทีละขั้น หากพรวดพราดแล้ว คงได้เรื่องกัน ไม่มีวันจะแก้ รธน.สำเร็จ เนื่องจาก รธน. 2560 ถูกออกแบบให้แก้ไขได้ยากที่สุดตั้งแต่ประเทศไทยมี รธน.มา
อีกอย่าง เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศพร้อมแก้ไข รธน.แล้ว คงต้องมีหน้าที่ไปคุยกับวุฒิสภา ส่วนสภาผู้แทนนั้น เสียงเป็นเอกฉันท์แล้ว มีความแตกต่างกันเพียงแก้มาตรา 256 ให้มี ส.ส.ร.กับแก้ไขรายมาตราเท่านั้น ส่วนตนเห็นว่า ถ้าแก้รายมาตราจะทำให้นักการเมืองถูกครหาว่า แก้เพื่อตัวเอง แล้วนำไปสู่ความขัดแย้งมากมายตามมาอีก
“ผมว่า ควรแก้มาตรา 256 มาตราเดียว ส่วนมาตราอื่นให้หุบปากไว้ก่อน ถ้าเสนอมาตราอื่นด้วยแปลความว่า ไม่ต้องการความสำเร็จ มันจะทะเลาะกันก่อน และถ้าอยากให้เกิด สสร.แล้ว เราจะไปคิดแทน ส.ส.ร.ได้อย่างไร ดังนั้น ต้องเกิด ส.ส.ร.ก่อน เราจึงเสนอความปรารถนาในฐานะประชาชน”
รวมทั้ง ตนยังยืนยันว่า รธน.ต้องได้รับการแก้ไข เมื่อหลายฝ่ายให้แก้ไขแล้ว ต้องกำหนดไทม์ไลน์ให้ชัดเจน จึงจะนำพาไปสู่ความสำเร็จได้ ส่วนการยื่นร่างแก้ไข รธน.มาประกบนั้น เป็นเพียงเทคนิคทางการเมือง แต่ต้องคุยกันให้แน่ชัดว่า จะแก้เฉพาะมาตรา 256 เท่านั้น...
แน่นอน, ประเด็นที่น่าสนใจ อยู่ที่คำพูดของ “ตู่-จตุพร” ว่า “ผมว่า ควรแก้มาตรา 256 มาตราเดียว ส่วนมาตราอื่นให้หุบปากไว้ก่อน ถ้าเสนอมาตราอื่นด้วยแปลความว่า ไม่ต้องการความสำเร็จ มันจะทะเลาะกันก่อน...”
โดยเฉพาะวลีที่ว่า “แปลความว่า ไม่ต้องการความสำเร็จ” ซึ่ง “ปิยบุตร” คงไม่ยอมอย่างแน่นอน เพราะข้อเสนอของ “ตู่-จตุพร” เกิดขึ้น ก่อนที่ “ปิยบุตร” จะมีข้อเสนอ... หรือ ว่า “ปิยบุตร” ไม่ต้องการให้สำเร็จ แล้วถ้าเช่นนั้นต้องการอะไร เพราะถ้าไม่สำเร็จก็มีแต่ความวุ่นวาย ขัดแย้งแตกแยกรุนแรง และหรือปฏิวัติรัฐประหาร นองเลือดกันเท่านั้น???
อย่าลืม นายปิยบุตร อยู่ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 สภาผู้แทนราษฎร ย่อมมีบทบาทมากกว่า “ตู่-จตุพร” นั่นหมายความว่า ข้อเสนอของใครจะถูกผลักดันมากกว่ากัน แล้วผลจะเป็นอย่างไร “รบกันตายก่อน” อย่างที่ “ตู่-จตุพร” ว่า หรือไม่ นับว่าน่าจับตามองอย่างใกล้ชิด