xs
xsm
sm
md
lg

ตั้งกมธ.ม็อบ-ฝ่ายค้านเมิน “จตุพร”ปรามม็อบก้าวล่วงฯ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นายกฯสั่งฝ่ายมั่นคงดูแลทำเนียบฯเข้ม "ตุ๊ดตู่"สอนน้องยึด 3 ข้อเรียกร้องเคร่งครัด ไม่ก้าวล่วงสถาบันฯ ระวังจุดแข็งเป็นจุดอ่อน แนะนายกฯเปิดเวทีรับฟังความเห็น สถาฯตั้ง กมธ.คุยม็อบ นศ.วางกรอบ 90 วัน ฝ่ายค้านโวยไม่เอาด้วย

จากกรณีการเคลื่อนไหวของกลุ่มนิสิตและนักศึกษา จัดการชุมนุมเรียกร้องรัฐบาลยุบสภาตลอดทั้งสัปดาห์ และล่าสุดมีการเชิญชวนให้ชุมนุมในกรุงเทพฯ เพื่อขับไล่รัฐบาล ในเย็นวันนี้ (24 ก.ค.) นั้น

วานนี้ (23 ก.ค.) พ.ต.อ.วัชรวีร์ ธรรมเสมา ผู้กำกับการ 4 กองบังคับการตำรวจ สันติบาล 3 ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ได้จัดเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาล และประสานกำลังจากสถานีตำรวจนครบาลในพื้นที่ เสริมกำลังตรวจตรา และลาดตระเวน บริเวณโดยรอบเพื่อป้องกันเหตุไม่ปกติ กรณีมีการชุมนุมของกลุ่มนิสิตนักศึกษา ในวันนี้ โดยจะเฝ้าระวังไม่ให้มีการบุกรุกเข้ามาในสถานที่ราชการ แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีรายงานข่าวความเคลื่อนไหว ว่าจะมีกลุ่มใดเข้ามาชุมนุมในบริเวณใกล้เคียง ทั้งนี้ นายกฯ ไม่ได้กำชับอะไรเป็นพิเศษ แม้ว่าในเดือนหน้าจะมีการยกเลิกคำสั่งห้ามการชุมนุมในช่วงที่มีการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ก็ตาม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่มีการชุมนุมของกลุ่มนักศึกษาเกิดขึ้น นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ฝ่ายความมั่นคง ดูแลความเรียบร้อย โดยเฉพาะทำเนียบรัฐบาลไม่ให้กลุ่มเคลื่อนไหวได้ดำเนินการทำสัญลักษณ์ใดๆโดยรอบทำเนียบรัฐบาลอย่างเด็ดขาด

“จตุพร”สอนน้องอย่าก้าวล่วงฯ

ที่อาคารรัฐสภา นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวก่อนเข้าให้ข้อมูลต่อคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาการปฏิรูป ทบทวน และแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ที่มี นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย เป็นประธานอนุ กมธ. ในหัวข้อเรื่องลดความเกลียดชังถึง การชุมนุมของนิสิตนักศึกษาว่า การชุมนุมต้องยึดข้อเรียกร้อง 3 ข้อ อย่างเคร่งครัด ประกอบด้วย ห้ามคุกคามบุคคล ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และให้มีการยุบสภา เชื่อว่าจะได้รับการยอมรับจากประชาชน เพราะเป็นเรื่องที่รับฟังได้ แต่ต้องไม่ก้าวล่วงสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะจะทำให้จุดแข็งกลายเป็นจุดอ่อน ที่สำคัญจะนำพาไปสู่การสูญเสียจำนวนมาก ช่วงการชุมนุมของ นปช. ปี 53 ก็ถูกกล่าวหาว่าล้มล้างสถาบันฯ ก่อการร้าย และเผาบ้านเผาเมือง ส่วนเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ภาพก็อธิบายชัดเจนว่าเดินอย่างไร ได้ผลลัพธ์อย่างไร ยุคสมัยใดก็เป็นยุคสมัยนั้น

“ที่เตือนไม่ได้ให้หวาดกลัว เพราะเชื่อว่านักศึกษาก็ไม่ได้กลัว แต่ห่วงว่าการต่อสู้อย่างไร จะได้ผลลัพธ์เช่นนั้น ถ้ายึดมั่นข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ไม่ล่วงละเมิดสถาบันฯ จะได้แนวร่วมจากประชาชนจำนวนมาก แต่ถ้าก้าวล่วงสถาบันฯ จุดจบจะไม่ต่างกัน ต้องตั้งสติ และยึดมั่นว่าประเทศไทยต้องปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเท่านั้น ใครก็ตามที่ยุยงสนับสนุนให้ทำนอกเหนือไปจากข้อเรียกร้อง 3 ข้อ เพราะเขารู้แล้วว่าปลายทางจะเกิดความรุนแรง ความชอบธรรมทั้งหมดจะหายไป แต่ถ้ายึดหลัก 3 ข้อ จะเป็นจุดแข็งที่สุดในการเคลื่อนไหวของนักศึกษา" ประธาน นปช. กล่าว

นายจตุพร เสนอด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ควรเป็นผู้ที่ลงมารับฟังความคิดเห็นจากนักศึกษามากที่สุด เพราะข้อเรียกร้อง 2 ข้อ ได้แก่ การแก้ไขรธน. และยุบสภา เกี่ยวข้องกับนายกฯ โดยตรง ส่วนข้อเรียกร้องเรื่องห้ามคุกคามบุคคล เป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้นอยู่แล้ว เรื่องนี้จะจบลงอย่างสง่างาม ด้วยการเปิดเวทีให้นักศึกษาได้เสนอเงื่อนไขทั้ง 3 ข้อ และนายกฯ ประกาศระยะเวลาที่ชัดเจนในการแก้รัฐธรรมนูญเสร็จ จะประกาศยุบสภา สิ่งนี้จะเป็นทางออก

สภาฯตั้ง กมธ.-ฝ่ายค้านเมิน

อีกด้านในห้องประชุมพระสุริยัน ได้มีการพิจารณาญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณามีมติให้มีการรับฟังความคิดเห็นของนักเรียน นิสิต และนักศึกษา ต่อจากเมื่อวาน (22 ก.ค.) โดยทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ก่อนลงมติ 260 เสียงต่อ 178 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง เห็นชอบให้ตั้ง กมธ.วิสามัญรับฟังความเห็นทางการเมืองนักเรียน นิสิต นักศึกษา จำนวน 39 คน จากสัดส่วนคณะรัฐมนตรี 9 คน และพรรคการเมือง 30 คน กำหนดระยะเวลา 90 วัน อย่างไรก็ตามพรรคฝ่ายค้านมีมติไม่ส่งชื่อเข้าร่วมเป็น กมธ.แม้แต่คนเดียว โดยมองว่าเป็นเพียงการซื้อเวลา และรัฐบาลควรจัดเวทีรับฟังความเห็นโดยตรง หรือใช้กลไก กมธ.สามัญ ที่มีหน้าที่รับฟังความเห็นอยู่แล้ว

ทั้งนี้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า พรรคก้าวไกลไม่ขอส่งสมาชิกเข้าร่วมคณะ กมธ. เพราะข้อเรียกร้องของนักศึกษาส่งสัญญาณชัดเจนไปยังนายกฯ ไม่ใช่สภา และคิดว่าการตั้ง กมธ.เป็นการประวิงเวลา จึงขอเรียกร้องนายกฯ ไปฟังข้อเรียกร้อง อีกทั้งสิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน ไม่ควรจำกัดอยู่แค่ในสภา และในวงจำกัด 90 วัน ดังนั้น ขอให้นายกฯ ไปรับฟังความคิดเห็นบนท้องถนน ขอให้โชคดี


กำลังโหลดความคิดเห็น