ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เก็บแต้มการควบคุมไวรัสโควิด-19 ระบาดได้ยอดเยี่ยมที่สุดในโลก แต่อีกด้านคือการแลกมาด้วยปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชนที่อดอยากทุกข์ยากแสนสาหัสจากผลกระทบปิดกิจการ ปิดน่านฟ้า และจนบัดนี้ยังไม่มีทีท่าว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย โลกยังวิกฤตติดเชื้อยังพุ่งไม่หยุด
ข่าวดีที่รัฐบาลตีปี๊บให้ดังๆ กลบเสียงโอดครวญของประชาชนในเวลานี้ตามที่ “ดร.แหม่ม” นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงเมื่อวันก่อนด้วยความภาคภูมิใจอย่างยิ่งว่า ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับในด้านการบริหารสถานการณ์โควิด-19 ดีที่สุดในโลก โดยดัชนี Global COVID-19 Index หรือ GCI ที่ดูภาพรวมในมิติต่างๆ ในด้านการฟื้นตัว (Global Recovery Index) และด้านความรุนแรงของการระบาด (Global Severity Index) ปรากฏว่า ประเทศไทยได้รับการประเมินให้ได้คะแนนดีที่สุดทั้งสองมิติจาก 184 ประเทศทั่วโลก
ทั้งนี้ ดัชนีด้านการฟื้นตัว เป็นดัชนีและคะแนนที่แสดงถึงการบริหารจัดการรับมือและการฟื้นตัวของแต่ละประเทศจากสถานการณ์โรคโควิด-19 โดยประเมินจากคะแนน 70% เป็นคะแนนรายวันที่ได้มาจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่ยังดูแลอยู่ (active case) ต่อประชากร ผู้ที่รักษาหายแล้วต่อผู้ติดเชื้อ จำนวนการตรวจต่อจำนวนผู้ติดเชื้อ และจำนวนการตรวจต่อประชากร
ส่วนคะแนน 30% เป็นคะแนนคงที่ที่ได้มาจากดัชนีความมั่นคงด้านสุขภาพโลก ที่ประเมินโดยมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอบกิ้นส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ในหมวดความสามารถตรวจพบและรายงานการติดเชื้อ ความสามารถตอบสนองอย่างรวดเร็วในการควบคุมโรค และความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานทางสาธารณสุขในการรักษาผู้ติดเชื้อและดูแลบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งประเทศไทย ได้คะแนนรวม 81.84 เป็นอันดับหนึ่งของโลก โดยคะแนนสูงหมายถึงฟื้นตัวได้ดี
สำหรับ Global Severity Index เป็นดัชนีคะแนนที่แสดงถึงความรุนแรงของสถานการณ์ของโรคโควิด-19 โดยประมวลผลจากคะแนน 70% เป็นค่าความรุนแรง ซึ่งวิเคราะห์ประจำวันมาจาก 2 ส่วน คือจำนวนผู้ติดเชื้อต่อประชากรและสัดส่วนผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 โดยเปรียบเทียบกับการเสียชีวิตจากโรคต่างๆ ต่อประชากร คะแนน 30% เป็นคะแนนคงที่ที่ได้มาจากดัชนีความมั่นคงด้านสุขภาพโลก ที่ประเมินโดยมหาวิทยาลัยจอน ฮอบกิ้นส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ในหมวดความสามารถในการป้องกันไม่ให้เกิดการระบาด ความสามารถของระบบสาธารณสุขในการควบคุมการระบาด ซึ่งประเทศไทยได้คะแนนรวม 10.69 เป็นอันดับหนึ่งของโลกโดยคะแนนน้อยหมายถึงความรุนแรงน้อย
ทั้งนี้ ประเทศที่อยู่ใน 5 อันดับแรกของโลกที่สามารถฟื้นตัวจากไวรัสโควิด-19 ได้ดีที่สุด ประจำวันที่ 28 กรกฎาคม โดยเรียงตาม 5 อันดับแรก ประกอบด้วย ไทย, เกาหลีใต้, ลัตเวีย, มาเลเซีย และ ไต้หวัน ส่วนประเทศที่เคยครองอันดับ 1 ในการรับมือโควิด-19 ได้ดีที่สุดอย่างออสเตรเลีย ตกลงมาอยู่ในอันดับที่ 8 และนิวซีแลนด์ อยู่ในอันดับที่ 6
ก่อนหน้านี้ ดัชนี GCI จัดอันดับให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ฟื้นตัวจากโควิด-19 เป็นอันดับ 2 ของโลก จาก 184 ประเทศทั่วโลก เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ที่ผ่านมา โดยมีวิธีคิดคำนวณ ร้อยละ 70 มาจากการใช้บิ๊กดาต้ารวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลรายวันจากฐานข้อมูล 184 ประเทศทั่วโลก ส่วนที่เหลือร้อยละ 30 อ้างอิงข้อมูลเชิงสถิติอีกส่วนหนึ่งจากดัชนี The Global Health Security Index (GHS) ซึ่งริเริ่มโดยมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอบกิ้นส์ จากข้อมูล 195 ประเทศทั่วโลก
ในการแถลงของนายแพทย์ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอนามัยโลก (WHO) เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมา ได้แนะนำให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกออกมาตรการด้านสาธารณสุขที่เข้มงวดมากขึ้นเพื่อควบคุมโรคไวรัสโควิด-19 เพื่อรักษาชีวิตของประชาชน และได้ยกย่องประเทศไทยและอีกหลายชาติที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี จนสามารถประกาศยกเลิกคำสั่งห้ามเดินทาง
สำหรับประเทศที่สามารถป้องกันการแพร่ระบาดในวงกว้างได้เป็นอย่างดีนอกจากไทยแล้ว ผอ.WHO ยังระบุว่ามีกัมพูชา นิวซีแลนด์ รวันดา เวียดนาม ประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกและแคริบเบียน แคนาดา จีน เยอรมนี และเกาหลีใต้
เป็นที่รู้กันว่า ทางเลือกในการรับมือกับสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาดของรัฐบาลแต่ละประเทศทั่วโลกมีความแตกต่างกัน บางประเทศใช้การควบคุมอย่างเข้มงวด มีการปิดกิจการที่เป็นจุดเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด และควบคุมการเดินทางเข้า-ออกประเทศอย่างเข้มงวด เช่น ไทย ซึ่งทำให้คุมการแพร่ระบาดได้ดี แต่เศรษฐกิจของประเทศพังพินาศและฟื้นตัวยากเมื่อเริ่มคลายล็อกดาวน์แบบมีเงื่อนไข
สำหรับบางประเทศซึ่งเป็นส่วนใหญ่ใช้การควบคุมโดยผ่อนปรนให้บางธุรกิจเดินหน้าไปได้ แต่บางประเทศปล่อยให้กิจกรรมทุกอย่างดำเนินไปตามปกติ และดูแลรักษาคนป่วยติดเชื้อเท่าที่ระบบสาธารณสุขจะสามารถรองรับได้ เช่น สวีเดน แต่เศรษฐกิจก็ยังไม่รับผลกระทบเช่นเดียวกัน เนื่องจากต่างพึ่งพิงการส่งออกท่ามกลางเศรษฐกิจโลกทรุดกันถ้วนหน้า
มาอัพเดทชีพจรเศรษฐกิจไทยกัน ล่าสุด กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) คาดการณ์ยอดใช้น้ำมันปี 2563 ดิ่งลง 8.7% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เมื่อเทียบกับปี 2562 จากพิษโควิด-19 โดยเฉพาะการใช้น้ำมันเครื่องบินคาดการใช้ดิ่งหนักสุดถึง 43.5%
นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดี ธพ. คาดการณ์การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในปีนี้คาดว่าเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 143.59 ล้านลิตรต่อวัน ปรับตัวลดลงจากปีก่อนที่การใช้น้ำมันอยู่ที่ 157.33 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งถือเป็นยอดการใช้น้ำมันที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ โดยยอดการใช้น้ำมันในครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย. 2563) ลดลง 13.8% เนื่องจาการล็อกดาวน์
ธพ. คาดการณ์ปี 2563 การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินอยู่ที่ 31.18 ล้านลิตรต่อวันเมื่อเทียบกับปี 2562 ลดลง 3.1% โดยเป็นการปรับลดลงทุกประเภทเว้นแก๊สโซฮอล์ 95 ที่การใช้คาดว่าจะอยู่ที่ 14.17 ล้านลิตรต่อวัน หรือปรับขึ้น 2.1% จากราคาที่ใกล้เคียงกับแก๊สโซฮอล์ 91
กลุ่มดีเซล คาดการณ์การใช้ทั้งปีที่ 67.66 ล้านลิตรต่อวันปรับขึ้น 0.4% โดยเป็นการปรับขึ้นของการใช้ดีเซลบี 20 และบี 10 น้ำมันอากาศยาน(JetA-1) การใช้อยู่ที่ 10.93 ล้านลิตรต่อวัน ลดลง 43.5% ก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG) 14.99 ล้านกิโลกรัมต่อวัน ลดลง 15.8% ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(NGV) 5.13 ล้าน กิโลกรัมต่อวัน ลดลง 4.8% น้ำมันเตาการใช้ 6 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้น 11.3% น้ำมันก๊าดการใช้ 0.04 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้น 94.1%
สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ปั๊มน้ำมัน ปิดตัวลงไปในไตรมาส 2 จำนวน 198 แห่ง จากที่มีอยู่ 2.67 หมื่นแห่ง และปั๊มก๊าซเอ็นจีวีปิดตัวลง 2 แห่ง จาก 446 แห่ง เมื่อเทียบกับไตรมาสแรก ส่วนปั๊มแอลพีจีทั้ง 1,940 แห่ง ยังเปิดบริการเช่นเดิม
การใช้น้ำมันที่ลดต่ำลงสะท้อนภาพเศรษฐกิจของประเทศที่ทรุดตัว เช่นเดียวกันกับการประเมินตัวเลขการใช้ไฟฟ้าที่ลดต่ำลงเช่นกัน โดยในช่วง 5 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.) การใช้น้ำมันลดลง 13.4% ส่วนไฟฟ้าลดลง 3.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ส่วนความต้องการใช้พลังงานของทั้งโลกก็ลดต่ำลงตามการหดตัวอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจโลกจากพิษโควิด-19 โดยสำนักงานพลังงานสากล (EIA) ประเมินว่า การใช้น้ำมันของโลกลดต่ำลงและการใช้ไฟฟ้าของโลกหดตัวลง 5% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา นับเป็นสถิติที่ต่ำที่สุดตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจโลกเมื่อปี 2473 หรือในรอบ 70 ปี
ตามมาดูการคาดการณ์การส่งออกที่ทรุดตัวเช่นกัน โดยนายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่าการส่งออกของประเทศครึ่งปีหลังจะทรุดตัวลงมากกว่าครึ่งปีแรก เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ยังคงมีตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และโอกาสของการมีวัคซีนเร็วที่สุดอาจเกิดขึ้นปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า
เขามองว่า เศรษฐกิจของโลกจึงยังลงไม่ถึงจุดต่ำสุด มีโอกาสที่จะลงต่ำได้อีก ส่งผลให้การส่งออกของไทยและคู่ค้าได้รับผลกระทบ บวกกับสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ ตอบโต้กันรุนแรงขึ้น การคลายล็อกดาวน์ของประเทศมีโอกาสเสี่ยงเกิดการระบาดรอบ 2 และ 3 ผสมโรงเข้าไปอีก
“มูลค่าการส่งออกไทยในปี 2563 จะอยู่ในระดับ 222,744 ล้านดอลลาร์ มีโอกาสจะหดตัวถึง -9.6% ซึ่งถือเป็นการส่งออกที่ติดลบหนักในรอบ 10 ปี โดยอยู่ภายใต้เศรษฐกิจโลกปีนี้หดตัว -5% เศรษฐกิจไทยหดตัว -7.7% ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกเฉลี่ยอยู่ที่ 40 ดอลลาร์/บาร์เรล ค่าเงินบาท 31 บาท/ดอลลาร์ และคาดว่าการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังอาจจะติดลบเพิ่มขึ้นเป็น -12 ถึง -19.8% จากครึ่งปีแรกที่หดตัว -7.1% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว....” นายอัทธ์ ประเมิน
ส่วนตัวเลขคนตกงานจากผลพวงเศรษฐกิจตกต่ำเพราะพิษโควิด-19 มีการบ้านสำหรับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานคนใหม่ ที่ฝากมาจากนายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) ว่า ขณะนี้มีแรงงานตกงานประมาณ 3-3.3 ล้านคน และตลอดทั้งปีอาจแตะระดับ 7-8 ล้านคน รัฐบาลควรดึงกระทรวงแรงงาน ให้เป็นกระทรวงเศรษฐกิจเพื่อบริหารงานเชิงรุกในการสร้างแรงงานใหม่ให้สอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงหากลไกใหม่ๆ ในการแก้ไขปัญหาแรงงาน
สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นปัจจัยกดดันให้กระทรวงแรงงาน ต้องทำงานเชิงรุกในการพัฒนาแรงงานในโลกหลังโควิด-19 ที่เปลี่ยนโฉมหน้ามีการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ต้องคิดและทำในสิ่งใหม่ๆ แต่ตอนนี้พื้นฐานสำคัญที่สุดที่ต้องทำก่อนเลยคือ จัดทำสถิติการว่างงานใหม่ให้สอดรับกับข้อเท็จจริงและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
ไม่เพียงแต่การว่างงานเท่านั้นที่น่าห่วง ไทยยังกำลังนับถอยหลังสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ หรือสังคมที่มีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปมากในสัดส่วน 20% ของประชากรรวม หรือประมาณ 13.28 ล้านคน เป็นอันดับสองรองจากสิงคโปร์ ซึ่งจะส่งผลให้ปัญหาแรงงานสูงวัยของไทยทวีความน่ากังวลมากขึ้น
ไม่นับว่าหลังโควิด-19 แรงงานที่มีอายุเฉลี่ย 45 ปีขึ้นไปเสี่ยงถูกให้ออกจากงานก่อนกำหนดเวลาจากการนำเทคโนโลยีมาใช้ทดแทนแรงงานที่มากขึ้น และจะกลายเป็นภาระในการดูแลของรัฐผ่านมาตรการต่างๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อมที่ตกประมาณปีละสองแสนล้านและจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต
นอกจากนี้ แรงงานของไทยที่สูงวัยมากขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านและอาเซียนจะยิ่งกดดันให้ผลิตภาพหรือ Productivity ของไทยยิ่งต่ำ สินค้าไทยจะแพงขึ้นเพราะการปรับสู่เทคโนโลยีของไทยยังค่อนข้างล่าช้า ระหว่างรอยต่อนี้จะส่งผลให้ไทยต้องพึ่งพิงแรงงานต่างด้าวในอัตราที่เพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะแรงงานภาคเกษตร เช่น แรงงานตัดอ้อย กรีดยาง ประมง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม จากการเปิดเผยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นเอสเอ็มอี ประจำเดือนมิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) มีข่าวดีให้ใจชื้นขึ้นมาบ้างเพราะปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 หลังจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยคลี่คลาย และมีการผ่อนปรนมาตรการต่างๆ รวมทั้งการเยียวยาจากรัฐบาลที่เริ่มเห็นผล
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สสว. ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2563 ที่ระดับ 40.9 มาอยู่ที่ 49.3 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง และใกล้ค่าฐานระดับ 50 ซึ่งถือว่าสูงสุดนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เนื่องจากองค์ประกอบด้านปริมาณการผลิต การค้า และบริการ คำสั่งซื้อ กำไร การลงทุน และการจ้างงาน ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 51.1, 50.0, 49.7, 49.5 และ 48.4 ตามลำดับ สะท้อนภาพรวมธุรกิจเอสเอ็มอีปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน
สำหรับปัจจัยที่ทำให้แนวโน้มดีขึ้น เป็นผลจากการผ่อนปรนมาตรการระยะที่ 3 และ 4 ทำให้สถานประกอบการเริ่มเปิดกิจการได้ และเดินทางภายในประเทศได้คล่องตัวมากขึ้น ประชาชนออกมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจขยายตัวในทุกสาขาธุรกิจและทุกภูมิภาค
ถึงแม้ว่าดัชนีฯจะปรับตัวดีขึ้นในทุกภาคธุรกิจก็ตาม แต่องค์ประกอบด้านการจ้างงานและการลงทุนเพิ่มขึ้นยังน้อย เมื่อเทียบกับองค์ประกอบด้านอื่น สะท้อนให้เห็นถึงการพยายามควบคุมต้นทุนของกิจการหลังเกิดวิกฤตโควิด-19 โดยองค์ประกอบด้านต้นทุนลดลงมาอยู่ที่ระดับ 47.0
ในส่วนของดัชนีความเชื่อมั่นฯในแต่ละภาคธุรกิจนั้น ในภาคการผลิต ภาคการค้า และภาคบริการ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 49.9, 48.7 และ 49.4 ตามลำดับ โดยเฉพาะสาขาที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางภายในประเทศปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า เช่น บริษัทจำหน่ายตั๋วสายการบิน และบริการขนส่งผู้โดยสาร (ไม่ประจำทาง) ที่มียอดจำหน่ายตั๋วและการใช้บริการเดินทางเพิ่มขึ้น รวมไปถึงบริการขนส่งสินค้า เพราะการผ่อนปรนมาตรการระยะที่ 4 โดยเฉพาะการยกเลิกเคอร์ฟิวที่ช่วยลดอุปสรรคการเดินทางภายในประเทศ
ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ยังปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาค โดยดัชนีความเชื่อมั่นฯ เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ที่ระดับ 46.8 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 37.1 ภาคเหนือ อยู่ที่ระดับ 49.7 เพิ่มขึ้นจาก 44.3 ภาคกลาง อยู่ที่ระดับ 51.9 เพิ่มขึ้นจาก 43.3 ภาคตะวันออก อยู่ที่ระดับ 50.4 เพิ่มขึ้นจาก 38.1 ภาคใต้ อยู่ที่ระดับ 49.9 เพิ่มขึ้นจาก 47.9 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ระดับ 49.9 เพิ่มขึ้นจาก 38.9
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 62.5 ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 60.6 เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นสถานการณ์ในปัจจุบันปรับตัวดีขึ้น และการออกมาตรการ “เที่ยวปันสุข” ของภาครัฐจะใช้กระตุ้นภาคการท่องเที่ยวในอนาคต ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี คาดการณ์แนวโน้มการจำหน่ายสินค้าและบริการยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่ยังมีความกังวลเรื่องต้นทุนสินค้า และการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวที่เน้นนักท่องเที่ยวต่างประเทศโดยเฉพาะเอสเอ็มอีในภาคใต้
ก่อนหน้านี้ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายน 2563 อยู่ที่ระดับ 80.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 78.4 ในเดือนพฤษภาคม 2563 โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เป็นผลจากรัฐบาลคลายล็อกดาวน์ ทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจฟื้นตัว และด่านการค้าชายแดนเริ่มทยอยเปิดในหลายพื้นที่ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าไทย แต่ยังกังวลต่อสภาพคล่องและการเข้าถึงสินเชื่อ ปัญหาค่าบาทแข็ง และต้นทุนประกอบการที่สูงขึ้น
สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 90.1 ลดลงจากระดับ 91.5 ในเดือนพฤษภาคม 2563 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับความอ่อนแอของกำลังซื้อในประเทศจากความเปราะบางเศรษฐกิจ และความกังวลเกี่ยวกับการกลับมาระบาดของไวรัสโควิด-19 ในระลอกสอง ขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงฤดูฝนมีไม่มากนัก
ความหวังของทุกภาคส่วนจึงอยู่ที่มาตรการภาครัฐในการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังจากโควิด-19 ซึ่งมีความสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าว่าจะรอดหรือร่วงยาว