xs
xsm
sm
md
lg

เปิดแผนยุทธศาสตร์กลุ่ม ปตท.อัดกระสุนพร้อมพลิกวิกฤตเป็นโอกาส

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบทุกภาคส่วนก่อให้เกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจโลกตามมา โดยเฉพาะภาคธุรกิจต่างเร่งปรับตัวรับมือกับวิกฤตดังกล่าว มีการชะลอการลงทุนเพื่อรักษาสภาพคล่อง รีดไขมันส่วนเกินและนำระบบดิจิทัลมาใช้ และวางมาตรการรับมือหากสถานการณ์ที่อาจพลิกผันได้ทุกรูปแบบ รวมถึงปรับลดพนักงานลงเพื่อให้องค์กรอยู่รอดผ่านพ้นช่วงวิกฤตนี้ไปให้ได้

บมจ.ปตท. ในฐานะองค์กรด้านพลังงานของประเทศเองก็หนีไม่พ้นที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว เพื่อรักษาการเป็นองค์กรของรัฐในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน และเป็นแรงขับเคลื่อนให้กับประเทศในภาวะที่ฟันเฟืองเศรษฐกิจหยุดชะงัก ไม่สามารถขับเคลื่อนได้ตามปกติ จำเป็นอย่างยิ่งที่ ปตท.ต้องยืนหนึ่ง กำหนดแนวทางต่างๆ เพื่อรับมือ ควบคู่กับติดตามประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แม้ว่าสถานการณ์ในปัจจุบันจะดีขึ้นกว่าช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาที่มีการประกาศล็อกดาวน์ก็ตาม

มีการจัดตั้งทีม PTT Group Vital Center ที่มีซีอีโอ ปตท. “อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์” นั่งหัวโต๊ะ เพื่อวางแผนและดำเนินการรับมือทั้งระยะสั้นและระยะยาวใน ปตท.เอง และส่งสัญญาณให้บริษัทลูกในเครือฯตัดลดค่าใช้จ่าย (OPEX) ที่ไม่จำเป็นลง รวมไปถึงทบทวนปรับลดแผนลงทุน (CAPEX) โครงการที่ยังไม่เร่งด่วน วางเป้าลดให้ได้ 10-15% ของงบประมาณที่เคยตั้งไว้เพื่อรักษาสภาพคล่องให้มากที่สุด

ล่าสุดผู้บริหารระดับสูง ปตท.ได้จัดประชุมกำหนดยุทธศาสตร์และทิศทางในอนาคตของกลุ่ม ปตท. (Strategic Thinking Session : STS) ร่วมกับผู้บริหารบริษัทในเครือเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นเวทีให้บริษัทลูก ปตท.ได้เสนอแผนยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ ตลอดจนแนวทางดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งการประชุม STS จัดขึ้นทุกปี แต่ปีนี้มีความสำคัญมากท่ามกลางวิกฤตที่เหนือการควบคุมรุมเร้าอย่างหนัก

ปตท.สผ.วางเป้า 10 ปีบริษัทติด Top quartile

พงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียมหรือ ปตท.สผ. กล่าวว่า บริษัทวางเป้าหมายเป็นบริษัทติดระดับ Top quartile ของกลุ่มอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) ที่มีต้นทุนต่อหน่วยเฉลี่ยอยู่ระดับ 25 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลให้ได้ภายใน 10 ปีข้างหน้าหรือในปี 2573 ดังนั้นบริษัทจึงมีเป้าหมายดำเนินการลดต้นทุนต่อหน่วยอย่างต่อเนื่อง จากปัจจุบันบริษัทมีต้นทุนต่อหน่วยอยู่ที่ 30 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล รวมทั้งรักษาอัตราการเติบโตของการผลิตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ร้อยละ 5

ขณะเดียวกันต้องแสวงหาโอกาสการลงทุนเพิ่มเพื่อสร้างการเติบโตในธุรกิจหลักอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าปี 2573 ในการรักษาอัตราส่วนปริมาณสำรองปิโตรเลียมต่อการผลิตให้ได้ 7 ปี พร้อมทั้งรุกธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) แบบครบวงจร รวมถึงการร่วมลงทุนทั้งต้นน้ำและโรงงานผลิต (Upstream & Liquefaction)

แม้ว่าบริษัทจะตัดลดค่าใช้จ่ายและระมัดระวังการลงทุน แต่ก็ได้เป้าหมายระยะยาวที่จะขยายการลงทุนไปสู่ธุรกิจใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการต่อยอดธุรกิจก๊าซธรรมชาติไปสู่ธุรกิจไฟฟ้า(Gas to Power) การขยายธุรกิจ A.I & Robotics Venture (ARV) เป็นการต่อยอดเทคโนโลยีที่มีอยู่ไปสู่ธุรกิจใหม่ใน 4 ภาคส่วน ได้แก่ การตรวจสอบและซ่อมบำรุงอุปกรณ์ใต้ทะเล การเกษตร การแพทย์ และการใช้ Drone ในการตรวจสอบทางเทคนิค ซึ่ง ปตท.สผ.ได้มีการลงทุนและพัฒนาไปบ้างแล้ว โดยวางกรอบเป้าหมายในปี 2573 จะมีกำไรสุทธิร้อยละ 20 จะมาจากธุรกิจใหม่

รวมทั้งให้ความสำคัญในการปรับเปลี่ยนรูปแบบทำงานให้สอดรับกับภาวะ New Normal ผ่านโครงการ Transformation โดยนำ Digital Transformation มาใช้ในการทำงาน โดยมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในระยะยาว ภายใต้แนวคิด “One Team, One Goal”

ทั้งนี้ ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสงครามราคาน้ำมันและการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ค่อนข้างหนัก เนื่องจากราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่ผลิตได้อิงกับราคาน้ำมันดิบโลกที่อ่อนตัวลงในช่วง มี.ค.-เม.ย.ที่ผ่านมา และการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้การใช้พลังงานโลกลดลง แต่การผลิตก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ที่เพิ่มขึ้นและมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง ถูกลง เป็นตัวกดดันราคาแอลเอ็นจีตลาดจรต่ำลงมาก จนทำให้ ปตท.ในฐานะผู้รับซื้อก๊าซฯ ต้องลดการซื้อก๊าซฯ จากโครงการบงกช และโครงการคอนแทรกต์ 4 ของ ปตท.สผ.ลงแล้วหันไปนำเข้าแอลเอ็นจีตลาดจรที่มีราคาถูกแทน

ทำให้ไตรมาส 2/2563 ปตท.สผ.มีปริมาณการขายเฉลี่ย 327,004 บาร์เรล/วัน ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่มีปริมาณการขาย 334,627 บาร์เรล/วัน ขณะที่ราคาขายปิโตรเลียมเฉลี่ยในไตรมาส 2/2563 ก็ปรับลดลงอยู่ที่ 34.97 ดอลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่เฉลี่ย 48.26 ดอลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และมีการด้อยค่าสินทรัพย์เพิ่มขึ้นในโครงการมาเรียนา ออยล์แซนด์ที่แคนาดา ส่งผลให้ไตรมาส 2/2563 ปตท.สผ.มีกำไรสุทธิ 134 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับ 4,323 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 69%

ส่วนแนวโน้มในครึ่งหลังปี 2563 ปตท.สผ.ยังต้องเผชิญกับทิศทางราคาน้ำมันที่ยังผันผวน และสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังคงแพร่ระบาด กดดันการใช้พลังงานโลก รวมทั้งราคาจำหน่ายก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยทยอยปรับลดราคาลงตามโครงสร้างราคาขายก๊าซฯ ที่สะท้อนราคาน้ำมันย้อนหลัง 6-25 เดือน ทำให้คาดการณ์ปริมาณการขายในไตรมาส 3 นี้อยู่ที่ระดับ 340,000 บาร์เรลต่อวัน ใกล้เคียงไตรมาส 2/2563

GPSC ชูกลยุทธ์ 3S

ชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) กล่าวว่า ในการประชุม STS ร่วมกับกลุ่ม ปตท.นั้น บริษัทได้นำเสนอแผนกลยุทธ์ และทิศทางการดำเนินงานในอนาคต ประกอบด้วย 1. แผนกลยุทธ์หลักภายใต้ 3S ได้แก่ Synergy การสร้างมูลค่าเพิ่มจากพลังร่วมในกลุ่ม GPSC บริษัท โกลว์พลังงาน (GLOW ) และบริษัทอื่นที่ร่วมลงทุน, Selective Growth เป็นการเติบโตร่วมกับกลุ่ม ปตท.ในเป้าหมายของประเทศที่จะเข้าไปลงทุน และ S-Curve ด้านนวัตกรรม อาทิ แบตเตอรี่ ที่บริษัทอยู่ระหว่างการดำเนินการ คาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในปลายปีนี้ ล่าสุดคณะกรรมการบริษัทฯ ได้อนุมัติสร้างศูนย์นวัตกรรมทางด้านแบตเตอรี่ เพื่อที่จะทดสอบความปลอดภัยของแบตเตอรี่และสามารถพัฒนาศูนย์การผลิตให้เหมาะสมในเชิงพาณิชย์ วงเงินราว 230 ล้านบาท

2. การบูรณาการจุดแข็งร่วมกับ ปตท.เพื่อบรรลุเป้าหมายการเติบโตในอนาคต โดยบริษัทมีความพร้อมด้านบุคลากร ข้อมูล มีความรู้ แต่ ปตท.มีความเข้มแข็งในหลายด้าน เมื่อมาร่วมมือกันจะเข้าสู่เป้าหมายได้เร็วขึ้น ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการตัดสินใจรูปแบบที่จะร่วมกันเป็นรูปแบบไหน คาดว่าจะเห็นความชัดเจนภายในไตรมาส 3 นี้

และ 3. การพิจารณาเรื่องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (LNG Shipper) ซึ่งอยู่ระหว่างการหารือกับธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ปตท. โดยจะมีทางเลือกและแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน โดยปตท.เองก็เป็นผู้ประกอบการธุรกิจแอลเอ็นจีครบวงจรรายใหญ่ที่สุดในไทย ซึ่งช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเทียบเท่ากับผู้ประกอบการธุรกิจไฟฟ้ารายอื่นๆ ที่ได้รับใบอนุญาต Shipper ไปก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) และบริษัท หินกอง เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด เบื้องต้นน่าจะได้ข้อสรุปแนวทางความร่วมมือเพื่อยื่นขอไลเซนส์ Shipper ภายใน 2-3 เดือนนี้ เนื่องจากยังมีรูมในการนำเข้าแอลเอ็นจีมาป้อนโรงไฟฟ้า SPP Replacement จำนวน 7 โรง กำลังการผลิตประมาณ 600 เมกะวัตต์

GPSC วางเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตอีก 1,500 เมกะวัตต์ในอีก 5 ปีข้างหน้า ทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 6,500 เมกะวัตต์ โดยกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นนั้นส่วนหนึ่งจะเป็นพลังงานทดแทน เนื่องจากบริษัทเป็น Flagship ธุรกิจไฟฟ้าของ ปตท. โดยกลุ่ม ปตท.ได้วางเป้าหมาย 10 ปีข้างหน้ามีการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนรวม 8,000 เมกะวัตต์

ซีอีโอ GPSC กล่าวยืนยันว่า ในครึ่งปีหลังนี้จะเห็นการเข้าซื้อกิจการ (M&A) โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในต่างประเทศอย่างน้อย 1 ดีล ซึ่งจะช่วยเพิ่มพอร์ตธุรกิจพลังงานทดแทนให้ครบตามเป้าหมาย 30% ภายใน 10 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตพลังงานทดแทนอยู่ที่ 500 กว่าเมกะวัตต์ หรือคิดเป็น 11% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าในมือ 5,026 เมกะวัตต์

บริษัทได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน 4 โครงการในประเทศพม่า เช่น โครงการ Gas to Power ขนาด 600 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นความร่วมมือกับ ปตท.สผ.อยู่ระหว่างรอการพิจารณาจากทางการพม่า, โครงการผลิตไฟฟ้าป้อนเมืองใหม่ย่างกุ้งของ New Yangon Development Company (NYDC) ซึ่งจะดำเนินการร่วมกับกลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติของ ปตท., โครงการความร่วมมือกับ ปตท. พัฒนาโครงการในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม และโครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ ซึ่งเป็นโครงการที่เดิม บมจ.โกลว์ พลังงานเคยศึกษาไว้

โครงการเหล่านี้เป็นการผนึกความร่วมมือภายในกลุ่ม ปตท.เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในการรุกตลาดในต่างประเทศ

“นพดล” ชูกลยุทธ์ Strengthen IRPC

นพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) ก็ได้เสนอกลยุทธ์ระยะยาว Strengthen IRPC เพื่อสร้างความเข้มแข็งผ่านการดำเนินการกลยุทธ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสำรองน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์ (Crude &Product Inventory) ลดลง เพื่อให้ได้รับผลกระทบการขาดทุนสต๊อกน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้อยสุดหากราคาน้ำมันดิบปรับลดลง, รวมทั้งลดการเก็บสต๊อกอุปกรณ์ชิ้นส่วนต่างๆ ลง, การลงทุนโครงการ Utra Clean Fuel Project (UCF) เพื่อรองรับการผลิตน้ำมันตามมาตรฐานยูโร 5 จะผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส 4 ปี 2566, เพิ่มช่องทางขนส่งน้ำมันทางท่อ, การขุดลอกร่องน้ำท่าเรือเพื่อรับเรือขนส่งน้ำมันขนาดใหญ่ขึ้น ช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งน้ำมันดิบ

บริษัทกำหนดเป้าหมายเพิ่มกำลังผลิตผลิตภัณฑ์ที่มูลค่าเพิ่มสูง เพื่อให้มีสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ 55% เป็น 60% รวมทั้งการปรับปรุงประสิทธิภาพการกลั่นเพื่อให้รับน้ำมันจากตลาดอื่น นอกเหนือจากตลาดตะวันออกกลางเพื่อทำให้ต้นทุนต่ำที่สุด

ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ได้ปรับลดงบการลงทุนบริษัทใน 5 ปี (2563-67) ลง 48% กล่าวคือ ลดลงเหลือ 28,065 ล้านบาท จากเดิมที่ตั้งไว้ที่ 53,953 ล้านบาท แบ่งเป็น การลงทุนในโครงการต่างๆ ลดลงเหลือ 16,533 ล้านบาท จากเดิมวางไว้ที่ 41,598 ล้านบาท อาทิ เลื่อนการลงทุนโครงการผลิตอะโรเมติกส์ หรือโครงการ MARS ออกไปอย่างไม่มีกำหนด แต่ยังคงการลงทุนในโครงการ Ultra Clean Fuel (UCF) ไว้เพื่อรองรับการผลิตน้ำมันตามมาตรฐานยูโร 5, การปรับปรุงโครงการต่างๆ  ลดลงเหลือ 9,356 ล้านบาท จากเดิมวางไว้ที่ 12,355 ล้านบาท และเพิ่มการลงทุนในโครงการ Strengthen IRPC จำนวน 2,176 ล้านบาท

นอกจากนี้ บริษัทยังตัดงบค่าใช้จ่าย (OPEX) ในปีนี้ลง 13% ขณะเดียวกัน บริษัทมีแผนออกหุ้นประมาณ 1 หมื่นล้านบาทในปี 2563 จากโครงการออกหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกันที่ได้ยื่นขออนุมัติสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ไว้ 28,000 ล้านบาทในช่วงปี 2563-65 เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและการลงทุนทั่วไป รวมถึงการชำระคืนเงินกู้ด้วย

TOP เดินหน้าสู่เป้าหมาย Last Man Standing

วิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไทยออยล์ (TOP) กล่าวว่า บริษัทวางเป้าหมายการเป็นบริษัทที่ยืนเป็นลำดับสุดท้ายของธุรกิจการกลั่น (Last Man Standing) เมื่อเทียบคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน โดยมีกุญแจสำคัญที่ช่วยให้บรรลุเป้าหมาย ประกอบด้วย 5 ด้าน ได้แก่
1. Competitive Configuration คือ การปรับปรุงหน่วยกลั่นให้มี complexity สูง เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน
2. Operation & Commercial optimization & Flexibility คือ การปรับเปลี่ยนการผลิตและการซื้อขายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ตลาดและพร้อมรับมือความผันผวนของตลาดเพื่อการทำกำไรสูงสุด
3. Productivity improvement คือ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยการพัฒนาปรับปรุงกระบวนการผลิต ผลิตภัณฑ์ บริการ การซื้อขาย และรูปแบบการทำธุรกิจ รวมถึงการนำเทคโนโลยีหรือความรู้ใหม่ๆ มาปรับใช้อย่างเหมาะสม
4. Cost control คือ การควบคุมต้นทุนในการดำเนินงานให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเพื่อคงความสามารถในการแข่งขันทางด้านต้นทุนและเกิดความคุ้มค่าในการทำธุรกิจ โดยตั้งเป้าลดค่าใช้จ่ายบริษัทให้ต่ำกว่าแผน 20-30% และ
5. Risk management คือ การบริหารความเสี่ยงในการดำเนินงาน เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นให้อยู่ในระดับที่รับได้

ขณะนี้ไทยออยล์อยู่ระหว่างก่อสร้างโครงการพลังงานสะอาด (CFP) เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะทำให้กำลังการกลั่นไทยออยล์เพิ่มขึ้นจาก 275,000 บาร์เรลต่อวันเป็น 400,000 บาร์เรลต่อวัน และยังมีผลพลอยได้จากการกลั่น คือ แนฟทา เพื่อนำไปต่อยอดในโครงการ Beyond CFP โดยจะมี Heavy naphtha ราว 900,000 ตันต่อปี ซึ่งจะใช้เป็นวัตถุดิบในสายอะโรเมติกส์ และ Light naphtha ราว 700,000 ตันต่อปีซึ่งจะใช้เป็นวัตถุดิบในสายโอเลฟินส์ และมีก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ออกมา 600,000 ตันต่อปี ซึ่งขณะนี้ไทยออยล์อยู่ระหว่างหารือร่วมกับกลุ่ม ปตท.เพื่อร่วมกันดำเนินการโครงการ Beyond CFP ร่วมกัน

เป้าหมายระยะยาวในปี 2573 ไทยออยล์มีพอร์ตรายได้และกำไรสมดุลมากขึ้นกว่าปัจจุบันที่สัดส่วนหลักมาจากธุรกิจการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม 70-80% ที่เหลือมาจากธุรกิจอะโรเมติกส์และไฟฟ้า เปลี่ยนมาเป็นปิโตรเลียม 40% ปิโตรเคมี 40% ไฟฟ้า 15% และอื่นๆ 5%

PTTGC ตั้งเป้า 10 ปีเพิ่ม Performance Product เป็น 30%

คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ในฐานะ Flagship ปิโตรเคมีของ ปตท. กล่าวว่า บริษัทให้ความสำคัญในการเพิ่มสัดส่วนการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง (High Value Product : HVP) และวัสดุขั้นสูงมากขึ้น ทั้งในรูปแบบการลงทุนเองหรือการควบรวมและเข้าซื้อกิจการ (M&A) แทนการลงทุนขยายการผลิตเม็ดพลาสติกเกรดทั่วไปที่มีราคาผันผวนตามทิศทางน้ำมัน ทั้งนี้เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าเชิงรุกและสร้างการเติบโตองค์กรอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ บริษัทฯ มีการพัฒนาเม็ดพลาสติกคอมพาวด์สำหรับชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งผ่านการทดสอบความสามารถในการทนต่อสภาวะแวดล้อมและมาตรฐานตามข้อกำหนดของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ นับเป็นก้าวแรกของบริษัทฯ ในการเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์เต็มตัว

PTTGC ได้เสนอเป้าหมายการดำเนินธุรกิจใน 10 ปีข้างหน้า บริษัทจะมีสัดส่วนผลิตภัณฑ์สมรรถนะสูง (Performance Product) และเคมีภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Product) เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 30 เนื่องจากผลิตภัณฑ์สมรรถนะสูงและเคมีภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมนั้นมีมาร์จิ้นที่สูงกว่าผลิตภัณฑ์พลาสติกเกรดทั่วไปถึง 2 เท่า แม้จะมีข้อจำกัดเรื่องปริมาณความต้องการใช้ที่ไม่มากเหมือนเม็ดพลาสติกเกรดทั่วไปก็ตาม

ส่วนงบลงทุน 5 ปีนี้ บริษัทมีการทบทวนโดยปรับลดค่าใช้จ่ายไม่จำเป็นลงได้ถึง 20% จากเดิมที่เคยตั้งไว้ 10% แต่ปรับลดงบการลงทุนโครงการต่างๆ ไม่มากเพราะเป็นการลงทุนเพื่อสร้างการเติบโตในองค์กร

นอกจากแผนกลยุทธ์ที่กลุ่มบริษัท ปตท.นำเสนอในการประชุม STS แล้ว จะเห็นได้ว่าในปีนี้ทุกบริษัทต่างออกหุ้นกู้ไม่ว่าจะเป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐหรือสกุลบาทเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ชำระคืนเงินกู้ที่ครบกำหนด รวมทั้งขยายธุรกิจ นับเป็นการเตรียมกระสุนพร้อมรับมือกับสิ่งต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น และพร้อมคว้าโอกาสที่จะเข้ามาในช่วงนี้อย่างระมัดระวัง ดังนั้น จะเห็นการลงทุนเข้าซื้อกิจการของกลุ่ม ปตท.ในช่วง 1-2 ปีนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น