xs
xsm
sm
md
lg

GPSC ลั่น M&A 1 โครงการครึ่งหลังปีนี้ จับมือ ปตท.เร่งสรุปรูปแบบลุยทดแทน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่มั่นใจสรุปรูปแบบร่วมทุน ปตท.รุกตลาดพลังงานทดแทนในไตรมาส 3 นี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ปตท.มีพลังงานทดแทนแตะ 8,000 เมกะวัตต์ใน 10 ปี ลั่นครึ่งปีหลังนี้ M&A โรงไฟฟ้าในต่างประเทศอย่างน้อย 1 โครงการ

นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างสรุปรูปแบบความร่วมมือในธุรกิจไฟฟ้าที่ชัดเจนกับ บมจ.ปตท. (PTT) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ รองรับการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ที่อาจจะมีขึ้นในอนาคต คาดว่าจะได้ข้อสรุปในไตรมาส 3/2563 ซึ่งกลุ่ม ปตท.ที่มีเป้าหมายขยายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในระดับ 8,000 เมกะวัตต์ (MW) ภายใน 10 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 2572 โดยระยะ 5 ปีแรกวางเป้าจะมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 3,000 เมกะวัตต์

ขณะที่บริษัทวางแผนเพิ่มพอร์ตธุรกิจพลังงานทดแทนให้ได้ตามเป้า 30% ภายใน 10 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ที่ 11% ของกำลังการผลิตในมือ 5,026 เมกะวัตต์ หรือกว่า 500 เมกะวัตต์

ในครึ่งหลังปี 2563 บริษัทคาดปิดดีลการเข้าซื้อกิจการ (M&A) โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนในต่างประเทศอย่างน้อย 1 ดีล ซึ่งจะช่วยเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยบริษัทวางเป้าหมายการลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศพม่า เวียดนาม ไต้หวัน เป็นต้น

นายชวลิตกล่าวถึงความคืบหน้าการลงทุนธุรกิจไฟฟ้าในพม่าว่า โครงการ Gas to Power ขนาด 600 เมกะวัตต์ โดยมี บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) เป็นเจ้าของโครงการ ขณะนี้ต้องรอการพิจารณาจากรัฐบาลพม่า, โครงการความร่วมมือกับ ปตท.พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม คาดว่าจะมีความชัดเจนในเร็วๆ นี้ และโครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ ซึ่งเป็นโครงการที่ บมจ.โกลว์ พลังงาน เคยศึกษาไว้เดิม

ส่วนโครงการผลิตไฟฟ้าป้อนเมืองใหม่ย่างกุ้ง ของ New Yangon Development Company (NYDC) ซึ่งจะดำเนินการร่วมกับกลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติของ ปตท.ยังอยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียด เบื้องต้นคาดว่าการผลิตไฟฟ้าจะเป็นรูปแบบไฮบริดระหว่างโซลาร์กับก๊าซธรรมชาติ โดยมีขนาดไม่ใหญ่ โดยจะนำเสนอข้อมูลไปยัง NYDC ต่อไป

นายชวลิตกล่าวถึงการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าในไทยว่า บริษัทยังมองโอกาสการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนในพื้นที่ จ.ระยอง และพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) แต่ไม่สนใจลงทุนในพื้นที่อื่นๆ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้จัดทำมาสเตอร์แพลนให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อการบริหารจัดการขยะชุมชนและขยะอุตสาหกรรม รวมถึงโอกาสพัฒนาโรงไฟฟ้าชุมชนในพื้นที่ EEC รวมทั้งได้ร่วมกับ ปตท.ศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนตามพื้นที่แนวท่อก๊าซธรรมชาติ เพราะเป็นพื้นที่ที่มีชุมชนและมีเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีศักยภาพอยู่ 4-5 พื้นที่ ส่วนโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลม 90 เมกะวัตต์ ตามร่างแผนพีดีพี 2018 ฉบับปรับปรุงใหม่ หากมีความชัดเจนบริษัทก็พร้อมศึกษาโอกาสการลงทุนด้วย

เมื่อเร็วๆ นี้ ในการประชุมกำหนดยุทธศาสตร์และทิศทางในอนาคตกลุ่ม ปตท. (Strategic Thinking Session : STS) บริษัทได้นำเสนอแผนการลงทุนช่วง 5 ปี (63-67) ภายใต้กลยุทธ์การเติบโต (3S) ประกอบด้วย 1. Synergy การสร้างมูลค่าเพิ่มจากการบริหารร่วมกับบริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) หรือ GLOW 2. Selective Growth เน้นการขยายงานตามกลุ่ม ปตท.และเป้าหมายมีสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็นสัดส่วน 30% จากปัจจุบันอยู่ที่ 11% หรือประมาณ 500 เมกะวัตต์ และ 3. S-Curve ลงทุนในธุรกิจแบตเตอรี่ และระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ล่าสุดคณะกรรมการบริษัทฯ ได้อนุมัติงบประมาณ 230 ล้านบาท จัดตั้งศูนย์บริการแบตเตอรี่ ซึ่งจะใช้ทดสอบความปลอดภัยของแบตเตอรี่และสามารถพัฒนาศูนย์การผลิตให้เหมาะสมในเชิงพาณิชย์


กำลังโหลดความคิดเห็น