โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ทุ่ม 6หมื่นล้านบาทใน 5ปี ขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มอีก 1.5พันเมกะวัตต์ จากปัจจุบันมีกำลังผลิตอยู่ 5.02 พันเมกะวัตต์โดยเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนจาก 11%เป็น 30%
นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน)( GPSC ) เปิดเผยว่าบริษัทตั้งงบลงทุน 5ปี(2563-67) รวม 6 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ในการเพิ่มกำลังการผลิตในอนาคต 1,500เมกะวัตต์ โครงการโรงไฟฟ้าเอสพีพีทดแทน (SPP Replacement) 7 โรง คิดเป็นกำลังการผลิต 600เมกะวัตต์ ที่จะทยอยเข้าระบบในปี 2565 รวมโรงงานผลิตแบตเตอรี่ขนาดกำลังการผลิต 30 เมกะวัตต์ชั่วโมง ที่คาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ในปลายปีนี้ และโครงการหน่วยผลิตไฟฟ้า ERUของโรงกลั่นไทยออยล์ ขนาดกำลังการผลิต 250เมกะวัตต์
ทั้งนี้ บริษัทฯได้มีการพิจารณาภายใต้สถานการณ์การเกิดโรคโควิด 19 จึงได้วางเป้าหมาย 5 ปีนี้ที่จะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าอีก1,500เมกะวัตต์ (ไม่รวมโรงไฟฟ้าเอสพีพีทดแทน 7โรง) จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 5,026เมกะวัตต์ และจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์(COD) แล้ว 4,766 เมกะวัตต์ โดยเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน(รวมพลังงานน้ำ)จากปัจจุบัน 11%เพิ่มเป็น30%ของกำลังการผลิตรวม ซึ่งเป้าหมายการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าดังกล่าวนี้ได้พิจารณาผลกระทบการแพร่ระบาดโควิด-19
โดยปีนี้บริษัทจะใช้เงินลงทุนรวม 1.2 หมื่นล้านบาทเพื่อใช้ในการลงทุนโรงไฟฟ้าขยะ ที่จังหวัดระยอง ขนาดกำลังการผลิต 9.8เมกะวัตต์คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 3 นี้ โครงการผลิตไฟฟ้าส่วนขยายนิคมฯนวนคร 18เมกะวัตต์ที่คาดว่าจะจ่ายไฟในไตรมาส 3-4 นี้ โรงงานผลิตแบตเตอรี่ขนาดกำลังการผลิต 30 เมกะวัตต์ชั่วโมง
สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดโควิด-19 บริษัทจึงให้ความสําคัญเรื่องการบริหารกระแสเงินสดให้เพียงพอต่อการดำเนินงาน และการลงทุนระยะยาว5ปีนี้ เพื่อให้บริษัทเติบโตภายใต้ New Normal
นายชวลิต กล่าวต่อไปว่า บริษัทฯเตรียมออกหุ้นกู้วงเงิน 5พันล้านบาทในช่วงไตรมาส 2- 3 นี้ เพื่อรองรับการลงทุนที่ได้เข้าซื้อโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม 9 โครงการ ราว 40เมกะวัตต์เมื่อเร็วๆนี้ โดยวงเงินออกหุ้นกู้ดังกล่าวนี้ได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อปี 2560 แล้ว
นอกจากนี้ ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นฯบริษัทฯเมื่อวันที่ 4มิ.ย.นี้ ได้มีมติอนุมัติแผนการออกหุ้นกู้ เพื่อออกและเสนอขายหุ้นกู้ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในวงเงินรวมที่ยังไม่ได้ไถ่ถอน ณ ขณะใดขณะหนึ่งรวมไม่เกินวงเงิน 4 หมื่นล้านบาท หรือในสกุลเงินอื่นในอัตราเทียบเท่า เพื่อรองรับแผนการลงทุน หรือแผนการชำระเงินกู้เดิม และใช้เป็นเงินหมุนเวียน หรือบริษัทในกลุ่ม เพื่อให้สามารถระดมทุนได้ทันที ที่ตลาดเอื้ออำนวย สอดคล้องกับความต้องการใช้เงินช่วง 5 ปีข้างหน้า