“บีซีพีจี” คาดปีนี้มีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 20% เหตุรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าพลังน้ำในลาวและการเข้าซื้อกิจการ (M&A) โรงไฟฟ้าที่จ่ายไฟเชิงพาณิชย์แล้วในครึ่งหลังปีนี้ เผยเดินหน้าลุยโรงไฟฟ้าในลาวเพื่อขายไฟให้เวียดนามทั้งโรงไฟฟ้าพลังลมและสายส่ง
นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) (BCPG) เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งหลังปี 253 บริษัทฯ คาดว่าจะเข้าซื้อกิจการ (M&A) มากกว่า 1 โครงการ โดยเป็นโรงไฟฟ้าที่จ่ายไฟเชิงพาณิชย์แล้ว โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เก่า ซึ่งบริษัทมีแผนจะนำมาปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเล็กน้อย เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่ดีอยู่ ทำให้ปีนี้บริษัทมั่นใจมีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เติบโต 20% จากปีก่อนที่ 2.58 พันล้านบาท
โดยปีนี้บริษัทฯ รับรู้ผลการดำเนินของโครงการพลังน้ำในลาวทั้ง Nam San 3A ที่เข้าซื้อเมื่อเดือน ก.ย. 2562 และ Nam San 3B ที่เข้าซื้อเมื่อเดือน ก.พ. 2563 รวมทั้ง M&A โรงไฟฟ้าที่ผลิตเชิงพาณิชย์ในครึ่งปีหลังด้วย
ส่วนแผนการลงทุนโรงไฟฟ้าในลาวเพื่อขายไฟไปยังเวียดนามพบว่า ปัจจุบันเวียดนามมีความต้องการไฟฟ้าสูงมาก โดยรัฐบาลลาวและเวียดนามมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันถึง 5,000 เมกะวัตต์ บริษัทมองโอกาสที่จะลงทุนโรงไฟฟ้าเพื่อขายไฟป้อนให้เวียดนามมากกว่าการตั้งโรงไฟฟ้าในเวียดนามโดยตรงที่มีการแข่งขันสูง อีกทั้งการลงทุนในลาวแล้วส่งไฟฟ้าไปยังเวียดนามยังได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าทั้งค่าไฟฟ้าที่ได้เป็นดอลลาร์สหรัฐ และสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ยาวนานกว่า รวมทั้งมีศักยภาพการกู้เงินที่ดี
โดยบริษัทเห็นศักยภาพการลงทุนโครงการไฟฟ้าในลาวมากถึง 2,500 เมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีอยู่ 2 โครงการพลังน้ำ ทางตอนเหนือ รวม 114 เมกะวัตต์ คือ Nam San 3A ขนาด 69 เมกะวัตต์ และ Nam San 3B ขนาด 45 เมกะวัตต์ ปัจจุบัน COD จ่ายไฟฟ้าภายในประเทศ ก่อนจะเริ่มส่งไฟฟ้าไปเวียดนามในปี 2565 ภายหลังจากที่บริษัทก่อสร้างสายส่ง 230 กิโลโวลต์ (kV) แล้วเสร็จ โดยศักยภาพสายส่งดังกล่าวเพียงพอที่จะรองรับการส่งไฟฟ้าได้ถึง 500 เมกะวัตต์ ทำให้บริษัทมองโอกาสที่จะก่อสร้างโซลาร์ฟาร์ม 100-200 เมกะวัตต์ทางตอนเหนือของลาว คาดว่าจะแล้วเสร็จไม่เกิน 2 ปี และอาจจะมีโครงการพลังน้ำขนาดเล็กอื่น ๆ ในบริเวณทางตอนเหนือที่จะมาใช้สายส่งเพื่อส่งไฟฟ้าไปยังเวียดนามด้วย
ส่วนทางตอนใต้ของลาว ปัจจุบันมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม 600 เมกะวัตต์ ที่บริษัทร่วมทุน 45% กับพันธมิตร ทำให้มีกำลังการผลิตตามสัดส่วน 270 เมกะวัตต์ แต่ในอนาคตคาดว่าการถือหุ้นจะเพิ่มเป็นระดับ 50% โดยโครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างรอเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับเวียดนาม คาดว่าจะลงนามได้ใน 2-3 เดือนข้างหน้าหรือไม่เกินสิ้นปีนี้ พร้อมทั้งจะสร้างสายส่งขนาด 500 kV ไปยังเวียดนาม ซึ่งเพียงพอรองรับการส่งไฟฟ้าได้ถึง 2,000 เมกะวัตต์ ทำให้มีโอกาสที่บริษัทอาจจะลงทุนโครงการอื่นๆ เพิ่มในพื้นที่ดังกล่าว หรืออาจมีโครงการของรายอื่นเข้ามาใช้บริการสายส่งดังกล่าวด้วย โดยโครงการน่าจะแล้วเสร็จภายใน 3 ปี
สำหรับในญี่ปุ่น บริษัทฯ มีโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มตามสัดส่วนการถือหุ้นที่จ่ายไฟเชิงพาณิชย์แล้วรวม 14.7เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างการพัฒนา 75 เมกะวัตต์ คาดว่าจะจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ได้ในปีหน้า ส่วนโรงไฟฟ้าพลังลมในฟิลิปปินส์ ปัจจุบันมีกำลังการผลิตตามสัดส่วนร่วมทุนรวม 14.4 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างพัฒนาอีก 5.6 เมกะวัตต์ โดยโครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อขอปรับขึ้นค่าไฟจากปัจจุบัน 13 เซ็นต์/หน่วย
โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานใต้พิภพในอินโดนีเซีย ปัจจุบันมีกำลังการผลิตตามสัดส่วนร่วมทุนที่จ่ายไฟเชิงพาณิชย์แล้วรวม 157.5 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างเตรียมสรุปเพื่อพัฒนาเฟส 3-4 อีก 24 เมกะวัตต์ ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานโครงการอย่างไร โดยเบื้องต้นจะรีไฟแนนซ์หนี้ราว 800 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อลดต้นทุนการเงินให้ได้กำไรที่ดีขึ้น และเจรจาขอปรับขึ้นค่าไฟฟ้าด้วย
นายบัณฑิตกล่าวว่า สำหรับโครงการในไทย บริษัทฯ มีกำลังการผลิตที่จ่ายไฟแล้ว 151.2 เมกะวัตต์ ทั้งโรงไฟฟ้าโซลาร์ และพลังงานลม ขณะที่อยู่ระหว่างพัฒนาโครงการโซลาร์อีก 15.5 เมกะวัตต์ รวมทั้งมองโอกาสการลงทุนโครงการโซลาร์รุ่นเก่าที่มีผู้เสนอขายออกมามากในช่วงนี้รวมประมาณ 300-400 เมกะวัตต์ หลังจากที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 โดยบริษัทจะนำโครงการโซลาร์เก่าดังกล่าวมาปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเพราะปัจจุบันต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์นับว่าถูกลงมาก ทำให้บริษัทน่าจะยังคงได้รับอัตราผลตอบแทนการลงทุนในระดับราว 10% ก็น่าจะสามารถปิดดีลได้ในเร็วๆ นี้
นอกจากนี้ ยังจับมือกับบริษัทแม่ คือ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) เพื่อหาโอกาสการลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชน โดยพบว่ามีศักยภาพในการลงทุน 10 โรง คิดเป็นกำลังการผลิตรวม 30 เมกะวัตต์ แต่ทั้งนี้คงต้องรอความชัดเจนจากนโยบายภาครัฐก่อน รวมถึงโอกาสการเปิดรับซื้อไฟฟ้าโครงการพลังงานลมอีก 90 เมกะวัตต์ ตามแผนพลังงานใหม่ หรือโอกาสที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) อาจจะนำโครงการพลังงานลมเก่าบริเวณเขาค้อ กำลังการผลิตรวม 100-200 เมกะวัตต์ ที่ยึด PPA กลับคืนไปแล้วออกมาประมูลใหม่ เป็นต้น