xs
xsm
sm
md
lg

“สศค.” คาดเศรษฐกิจไทยปี 63 ติดลบ 8.5% มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย 6.8 ล้านราย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สศค.” ประเมินตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปี 63 จะติดลบที่ 8.5% จากปัจจัยผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยในช่วงปลายปี 63 จะเริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปหลังภาคธุรกิจเริ่มกลับมาดำเนินกิจการ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีมากขึ้น และจะเห็นตัวเลขเศรษฐกิจที่ติดลบน้อยลงในช่วงครึ่งหลังของปี 63 แต่ในปี 64 เศรษฐกิจจะพลิกกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้อีกครั้งที่ระดับ 4-5% ด้าน “รอง ผอ.สศค.” ตั้ง 5 สมมติฐานประมาณการเศรษฐกิจปี 63 ระบุ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเมื่อมีการผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ เฟส 6 โดยรวมจะอยู่ 6.8 ล้านคน หรือคิดเป็นมูลค่ารายได้จากการท่องเที่ยว 3.4 แสนล้านบาท

และการบริโภคภาครัฐในปี 63 จะมีทั้งสิ้น 2.87 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 ซึ่งเป็นผลจากการที่มีเม็ดเงินเบิกจ่ายได้เพิ่มขึ้นตามกรอบงบประมาณที่เพิ่มขึ้น รวมถึงยังมีเม็ดเงินจาก พ.ร.ก.กู้เงินที่เพิ่มเข้าไปอีก และในส่วนของการลงทุนภาครัฐในปีงบฯ 63 คาดว่าจะมีทั้งสิ้น 1.07 ล้านล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีงบฯ 62 ร้อยละ 10.9% โดยส่วนใหญ่จะเป็นการใช้จ่ายงบฯ เหลื่อมปี และเงินจาก พ.ร.ก.เงินกู้

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงข่าวประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2563 ว่า เศรษฐกิจไทยปี 2563 คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -8.5 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -9.0 ถึง -8.0) จากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวที่ร้อยละ 2.4 ต่อปี โดยมีสาเหตุหลักมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ขยายตัวเป็นวงกว้าง ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักหดตัวลง

นอกจากนี้ คาดหมายว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะหดตัวที่ร้อยละ -11.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -11.5 ถึง -10.5) ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยราว 6.8 ล้านคน หรือหดตัว -82.9 แต่คาดว่าในปี 64 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข่้าไทยเพิ่มขึ้นเป็น 15-16 ล้านคน นอกจากนี้ การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -2.6 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -3.1 ถึง -2.1) และ -12.6 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -13.1 ถึง -12.1) ตามลำดับ สอดคล้องต่อทิศทางภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง

อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายของภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ การโอนงบประมาณตามพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ.2563 และพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 โดยมีกรอบวงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท โดยคาดว่าการบริโภคภาครัฐจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.3 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.8 ถึง 4.8) และการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวที่ร้อยละ 9.7 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 9.2 ถึง 10.2)

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปหลังภาคธุรกิจเริ่มกลับมาดำเนินกิจการ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีมากขึ้น ประกอบกับผลของมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนาของรัฐบาล ระยะที่ 1-3 และมาตรการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะช่วยสนับสนุนการบริโภคภาคเอกชน รักษาระดับการจ้างงาน และสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนให้เกิดการหมุนเวียนกิจกรรมเศรษฐกิจภายในประเทศต่อไป

อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้วในช่วงไตรมาส 2 ปี 2563 และจะเห็นตัวเลขเศรษฐกิจที่ติดลบน้อยลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยภายในประเทศ

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2563 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ -1.3 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -1.8 ถึง -0.8) ปรับตัวลดลงจากปีก่อน ตามแนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงและอุปสงค์ภายในประเทศที่ชะลอตัวลงจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 13.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 2.7 ของ GDP (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.2 ถึง 3.2 ของ GDP)

โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวย้ำว่า ในระยะต่อจากนี้ไปปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 การพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และการผ่อนคลายมาตรการการเดินทางระหว่างประเทศของประเทศต่างๆ ภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง ซึ่งจะมีผลต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาประเทศในช่วงที่เหลือของปี 2563 และอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2563

ทั้งนี้ คาดว่าธุรกิจที่จะฟื้นตัวได้เร็ว ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภค อาหารและเครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัล รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนสู่วิถีชีวิตใหม่ (New Normal) จะช่วยสนับสนุนธุรกิจบริการดิจิทัลและธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) ให้ขยายตัวได้ดี

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังมั่นใจว่า มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนาต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 1-3 เป็นหนึ่งในกลไกที่สำคัญในการช่วยเหลือและเยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และจะช่วยพยุงเศรษฐกิจให้เดินต่อไปได้ มาตรการดังกล่าวจะเป็นรากฐานสำคัญให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวได้อย่างมั่นคงเมื่อวิกฤตครั้งนี้ผ่านพ้นไป

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 64 จะสามารถกลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 4.0-5.0 ในปี 2564 ทั้งนี้ สศค. จะคอยติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะดำเนินมาตรการที่จำเป็นเหมาะสมเพิ่มเติมในแต่ละช่วงเวลา เพื่อดูแลเศรษฐกิจไทยอย่างทันท่วงทีเมื่อสถานการณ์ต่างๆ เปลี่ยนแปลงไป นายลวรณ ยังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า การประเมิภาพรวมทางเศรษฐกิจนั้น จะพิจารณาจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยไม่นำปัจจัยทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง

ด้าน นายพุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล รองผู้อำนวยการ สศค. กล่าวเพิ่มเติมถึงสมมติฐานประมาณการเศรษฐกิจในปี 63 ในครั้งนี้จะใช้สมมติฐานหลักๆ 5 ตัว ซึ่งจะประกอบไปด้วย 1.สมมติฐานการคาดการณ์อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ สศค. คาดว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจใน 15 ประเทศคู่ค้าของไทยจะหดตัวที่ร้อยละ -4.1 ต่อปี เทียบจากปี 62 ที่เคยขยายตัวได้ร้อยละ 3.1 โดยมีสาเหตุหลักๆ ที่มาจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ซึ่งการหดตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าจะรุนแรงสุดในไตรมาส 2 ของปี 63 และจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น โดยจะหดตัวในอัตราที่ต่ำลงอย่างต่อเนื่องในไตรมาสที่ 3 และ 4 ตามแนวโน้มการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่คาดว่าจะผ่อนคลายลงไปเรื่อยๆ

โดยหลังการพิจารณาเป็นเศรษฐกิจรายประเทศจะพบว่ายังมีบางประเทศที่สามารถขยายตัวได้เมื่อเทียบกับปี 62 ได้แก่ จีน เวียดนาม อินโดนีเซีย และไต้หวัน ส่วนประเทศอื่นๆ จะหดตัวทั้งหมด เนื่องจากเศรษฐกิจในไตรมาส 1 ของทั้ง 4 ประเทศอยู่ในระดับที่ดี เช่น เศรษฐกิจที่ไตรมาส 1 ติดลบ แต่สามารถปรับตัวเป็นบวกได้ในไตรมาส 2 ในขณะที่ประเทศในกลุ่มยูโรโซน อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ยังหดตัว ส่วนฮ่องกงเศรษฐกิจมีการหดตัวในระดับที่สูงมากขึ้นจากปัจจัยของโควิด-19 และการเมืองภายในประเทศด้วย

ส่วนปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจในปี 63 ยังคงเป็นผลจากทิศทางการการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะไปเป็นได้ด้วยดีแค่ไหน รวมถึง แนวโน้มการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะมีมากแค่ไหน นอกจากนี้ ยังต้องรอดูถึงอนาคตของทิศทางการปรับตัวทางเศรษฐกิจของประเทศขนาดใหญ่ เช่น สหรัฐฯ ยูโรโซน ญี่ปุ่นนั้นจะดีขึ้นได้แค่ไหน ขณะเดียวกัน ยังต้องพิจารณาถึงปัญหาความชัดแย้งทางเศรษฐกิจ การเมืองระหว่างจีนและสหรัฐฯ ด้วย

2.สมมติฐานอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หากพิจารณาตั้งแต่ต้นปี 63 จนถึงปัจจุบันจะเฉลี่ยอยู่ที่ 31.58 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าร้อยละ 1.7 ต่อค่าเฉลี่ยเมื่อปี 62 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับในช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค. ซึ่งเป็นช่วงการระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่มีการปรับตัวอ่อนค่าลงมา แต่ได้เริ่มมีการปรับตัวแข็งค่าอีกครั้งในช่วงเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งมีสาเหตุจากการอ่อนตัวลงของดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ค่าเงินสกุลอื่นๆ รวมทั้งเงินบาท แข็งค่าขึ้นโดยเปรียบเทียบ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เหลือของปี 63 คาดว่าค่าบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐจะทรงตัว ดังนั้น สศค. จึงมองว่าค่าเงินบาทตลอดปี 63 โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 31.7 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และหากเทียบกับปี 62 จะอ่อนค่าลงร้อยละ 2.1 ในส่วนของดัชนีค่าเงินบาทตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันจะมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 15.92 จุด อ่อนค่าลงร้อยละ -0.53 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยเมื่อปี 62 ขณะที่สมมติฐานตลอดปี 63 คาดว่าค่าเงินบาทเฉลี่ยจะอยู่ที่ร้อยละ 14.92 ซึ่งอ่อนค่าลงร้อยละ 1.4 จากค่าเฉลี่ยในปี 62 โดยเทียบกับค่าเงินสกลุต่างๆ จะพบว่าค่าบาทจะอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเยน ดอลลาร์สหรัฐ ดอลลาร์ไต้หวัน ดอลลาร์ฮ่องกง และเงินหยวนของจีนด้วย ในขณะเดียวกัน ค่าบาทจะแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินวอน

3.สมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบ ซึ่งปัจจุบันจะมีราคาอยู่ที่ 43.3 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปี 63 จะอยู่ที่ 41.09 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล แต่อย่างไรก็ตาม ในปี 63 ทั้งปี สศค. เคยคาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยจะอยู่ที่ 42 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากราคาเฉลี่ยครึ่งแรกของปีซึ่งอยู่ที่ 40.7 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล แต่เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของปี 62 จะลดลงร้อยละ 3.39

4.สมมติฐานจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโคงวด-19 ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวหายไปมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ช่วงเดือน เม.ย. และ พ.ค.เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ ระยะที่ 6 เพื่ออนุญาตให้ชาวต่างชาติส่วนหนึ่งเข้ามาเที่ยวในไทยได้ ดังนั้น สศค. จึงคาดว่า ในปี 63 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาได้โดยรวมทั้งหมด 6.8 ล้านคน ซึ่งจะคิดเป็นรายได้ที่ไทยจะได้รับจากภาคการท่องเที่ยว 3.4 แสนล้านบาท 

และ 5.สมมติฐานที่เกี่ยวกับรายจ่ายสาธารณะ ทั้งในรูป พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี และ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท รวมถึงการใช้จ่ายของรัฐวิสาหกิจ โดย สศค. คาดว่า รัฐบาลจะสามารถเบิกจ่ายเงินงบประมาณปี 63 โดยภาพรวมได้ร้อยละ 93.3% ส่วนการใช้จ่ายเงินงบประมาณเหลื่อมปีจากปีงบฯ 62 นั้นจะเบิกจ่ายได้ที่ร้อยละ 90 ขณะที่รายจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจในปีงบฯ 63 คาดว่าจะเบิกจ่ายได้ร้อยละ 75

อย่างไรก็ตาม หลังการแปลงการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อให้สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ใช้ในการประเมินตัวเลขจริงแล้วจะพบว่าการบริโภคภาครัฐในปี 63 จะมีทั้งสิ้น 2.87 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 ซึ่งเป็นผลจากการที่มีเม็ดเงินเบิกจ่ายได้เพิ่มขึ้นตามกรอบงบประมาณที่เพิ่มขึ้น รวมถึงยังมีเม็ดเงินจาก พ.ร.ก.กู้เงินที่เพิ่มเข้าไปอีก และในส่วนของการลงทุนภาครัฐในปีงบฯ 63 คาดว่าจะมีทั้งสิ้น 1.07 ล้านล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีงบฯ 62 ร้อยละ 10.9% โดยส่วนใหญ่จะเป็นการใช้จ่ายงบฯ เหลื่อมปี และเงินจาก พ.ร.ก.เงินกู้


กำลังโหลดความคิดเห็น