หุ้นไทยปิดตลาด -1.29 จุด โบรกฯ มองภาวะร่วงจากแรงกดดันหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ได้แก่ KBANK, SCB, BBL, KTB หลังจากที่ประกาศงบไตรมาส 2/63 ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ แนะลงทุนเน้นหุ้นที่ปัจจัยหนุนเฉพาะตัวและปันผลเด่น พร้อมจับตาปัจจัยต่างประเทศ
ตลาดหุ้นไทยปิดทำการซื้อขายวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 ปิดที่ 1,358.29 จุด -1.29 จุด หรือ 0.09% ระหว่างวันเคลื่อนไหวสูงสุด 1,365.71 จุด และต่ำสุดที่ 1,352.03 จุด มูลค่าการซื้อขาย 52,303.87 ล้านบาท
ด้านประเภทนักลงทุน พบว่าสถาบันในประเทศขายสุทธิ 887.76 ล้านบาท นักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ซื้อสุทธิ 642.34 ล้านบาท นักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิ 266.39 ล้านบาท นักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อสุทธิ 511.81 ล้านบาท
ขณะที่หลักทรัพย์ที่มีการซื้อขายสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่
1. KBANK ปิดที่ 87.00 บาท ลดลง -3.25 บาท มูลค่าการซื้อขาย 3,059.66 ล้านบาท
2. EA ปิดที่ 50.75 บาท เพิ่มขึ้น 1.50 บาท มูลค่าการซื้อขาย 2,502.05 ล้านบาท
3. BAM ปิดที่ 24.70 บาท เพิ่มขึ้น 0.90 บาท มูลค่าการซื้อขาย 1,962.29 ล้านบาท
4. CPF ปิดที่ 34.50 บาท เพิ่มขึ้น 0.50 บาท มูลค่าการซื้อขาย 1,685.86 ล้านบาท
5. SCC ปิดที่ 390.00 บาท เพิ่มขึ้น 5.00 บาท มูลค่าการซื้อขาย 1,402.24 ล้านบาท
นายฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการ ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดหุ้นไทยดัชนีปรับฐานลดลงตามตลาดหุ้นในภูมิภาคที่ส่วนใหญ่เคลื่อนไหวในแดนลบ ยกเว้นตลาดหุ้นจีนที่ปิดบวก 3% และญี่ปุ่น โดยกลุ่มหุ้นที่กดดันตลาดหลักเป็นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เช่น หุ้นธนาคารกสิกรไทย หลังจากที่ประกาศงบไตรมาส 2/2663 ที่ผ่านมาต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ รวมถึงหุ้นธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์
ขณะที่หุ้นในกลุ่มค้าปลีกก็ปรับตัวลงเช่นกัน เช่น ซีพีออลล์ แม็คโคร และโฮมโปร รวมถึงหุ้นขนส่ง ได้แก่ เอโอที โดยมีสาเหตุมาจากปัจจัยที่กดดันทางการเมืองภายในประเทศ โดยเฉพาะการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ใหม่ที่นักลงทุนติดตามอย่างใกล้ชิดและรอดูนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ตลอดจนการต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปต่อหรือไม่จากที่สิ้นสุดในเดือน ก.ค.นี้ การผ่อนคลายธุรกิจในเฟส 6 และการประกาศตัวเลขส่งออกของเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาของกระทรวงพาณิชย์
ส่วนต่างประเทศ ติดตามเรื่องการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจวงเงิน 7.5 แสนล้านยูโร เพื่อช่วยเยียวยาเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปว่าจะได้ข้อตกลงกันหรือไม่ และรอดูสภาคองเกรสจะพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในสหรัฐฯ อีก 1-1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐอีกหรือไม่ ทั้งนี้ หากดำเนินการจะทำให้ตลาดหุ้นโลกปรับตัวขึ้นต่อ แต่ถ้าตรงกันข้ามอาจทำให้ตลาดหุ้นถูกแรงเทขายได้
“ปัจจัยที่ต้องติดตามในต่างประเทศเป็นเรื่องการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจวงเงิน 7.5 แสนล้านยูโร เพื่อช่วยเยียวยาเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปว่ จะได้ข้อตกลงกันหรือไม่ และติดตามดูสภาคองเกรสของสหรัฐฯ จะพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในสหรัฐฯ อีก 1-1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐอีกหรือไม่ โดยหากสามารถดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในวงเงินดังกล่าวได้จะทำให้ตลาดหุ้นโลกปรับตัวขึ้นต่อ แต่หากตรงกันข้ามอาจทำให้ตลาดหุ้นถูกแรงเทขายได้ ด้านกลยุทธ์การลงทุน เน้นหุ้นที่ปัจจัยหนุนเฉพาะตัวและปันผลเด่น ประเมินกรอบแนวรับพรุ่งนี้ที่ 1,350 จุด แนวต้านที่ 1,375 จุด” นายฐกฤตกล่าว