xs
xsm
sm
md
lg

พ.ร.บ.คู่ชีวิต : ความเสมอภาคเบื้องต้น

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง



ตามนัยแห่งคำสอนของพุทธศาสนาในส่วนที่เป็นพระวินัยหรือศีล ซึ่งนักบวชอันได้แก่ ภิกษุ สามเณร ภิกษุณี ต้องถือปฏิบัติเพื่อขัดเกลากิเลสและเป็นเครื่องมือในการปกครอง สังฆมณฑลให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ได้ห้ามมิให้สงฆ์รับบุคคล 2 ประเภทเข้ามาบวชคือ

1. กะเทย ได้แก่ ผู้ที่ต้องการทางเพศกับเพศเดียวกัน คือ ชายกับชาย และหญิงกับหญิง

2. อุภโตพยัญชนก ได้แก่ คนที่มีสองเพศในคนเดียวกัน

เกี่ยวกับกะเทยหรือบัณเฑาะก์ในภาษาบาลีพระอรรถาจารย์ได้แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ กะเทยเทียม อันได้แก่ ผู้ที่มีร่างกายเป็นชาย แต่มีความรู้สึกนึกคิดเป็นเช่นหญิงปกติทั่วไป จะเห็นได้จากกิริยาท่าทาง การพูดจา และบางรายแต่งกายเป็นหญิง มีความต้องการทางเพศกับเพศเดียวกัน โดยแสดงออกชัดเจน และนี่เองน่าจะเป็นสาเหตุให้พระพุทธเจ้าทรงห้ามมิให้บวช เพราะถ้าเข้ามาบวชแล้วอาจเป็นเหตุให้สงฆ์วุ่นวาย ประกอบกับอากัปกิริยาที่แสดงออกอาจไม่เป็นที่ตั้งแห่งความศรัทธา และความเลื่อมใสของผู้ที่ได้พบเห็น

แต่มิได้กีดกันในการเป็นพุทธศาสนิกชน โดยการเป็นสาธุชนคนดีของสังคมคฤหัสถ์ โดยการถือศีล 5 เป็นอุบาสก อุบาสิกา โดยถือศีล 8 ทั้งยังสามารถบำเพ็ญเพียรภาวนาจนลุธรรมได้

ในสังคมโลกกะเทยมีอยู่ประมาณ 4 ล้านกว่าคนในปัจจุบัน ถ้าเทียบกับจำนวนรวมแล้วถือว่าเป็นคนส่วนน้อย จึงค่อนข้างจะมีอุปสรรคในการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการแสดงออกซึ่งความรักต่อเพศเดียวกัน เนื่องจากไม่สามารถใช้ชีวิตคู่ได้อย่างเปิดเผย เฉกเช่นคู่สมรสชาย-หญิงทั่วไป จึงเป็นความทุกข์ซึ่งคนกลุ่มนี้ได้รับ โดยที่พวกเขามิได้มีส่วนในการก่อขึ้น และเชื่อว่าพวกเราทุกคนไม่อยากจะเป็นดังที่เป็นอยู่ถ้าเลือกได้

ด้วยเหตุนี้ ในปัจจุบันผู้คนในสังคมส่วนหนึ่งเริ่มเข้าใจ และเห็นใจในความไม่เป็นธรรมที่พวกเขาได้รับ ทั้งนี้จะเห็นได้จากการยอมรับการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน โดยมีกฎหมายรองรับได้เกิดขึ้นในบางประเทศแล้ว

ส่วนในประเทศไทย ถึงแม้ผู้คนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน ทั้งยังไม่มีกฎหมายรองรับการใช้ชีวิตของคนเพศเดียวกัน แต่ในความเป็นจริง การครองคู่ของคนเพศเดียวกัน ก็ได้เกิดขึ้นแล้วและอยู่อย่างเปิดเผย ประกอบกับในขณะนี้ ประเทศไทยกำลังจะออก พ.ร.บ.คู่ชีวิต เพื่อรองรับการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน

แต่ในทันทีที่ข่าวนี้ปรากฏออกมา ปรากฏว่าได้มีเสียงเรียกร้องจากคนรักเพศเดียวกันให้มีการแก้ไขกฎหมายคู่สมรส โดยให้ครอบคลุมถึงคนรักเพศเดียวกัน แทนที่จะแยกเป็นกฎหมายต่างหาก ซึ่งทำให้เกิดความไม่เสมอภาคระหว่างคู่รักเพศเดียวกันกับคนรักต่างเพศ

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้เขียนเห็นว่าเมื่อยอมรับความต่างระหว่างเพศชายกับหญิงแต่งงานกันกับคนเพศเดียวกันแต่งงานกัน ก็จะต้องยอมรับกติกาซึ่งมีความต่างกันด้วย โดยเฉพาะในเวลาที่ผู้คนในสังคมส่วนใหญ่ยังไม่ยอมรับการแต่งงานของคนเพศเดียวกันว่าเป็นเรื่องถูกต้อง

แต่เมื่อใดผู้คนในสังคมส่วนใหญ่เข้าใจ และยอมความต่างเป็นความเหมือนระหว่างการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน กับการแต่งงานของคนต่างเพศกัน จึงค่อยแก้กฎหมายให้เสมอภาคกัน

ด้วยเหตุนี้ บุคคลที่รักเพศเดียวกันจึงน่าจะยอมรับความเสมอภาคเบื้องต้นจาก พ.ร.บ.คู่ชีวิตได้ในขั้นนี้ โดยยึดหลักที่ว่า หนึ่งย่อมดีกว่าศูนย์


กำลังโหลดความคิดเห็น