ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ไม่ใช่คดีแรกและยังคงไม่ใช่คดีสุดท้าย สำหรับเหตุการณ์รุนแรงทำร้ายแพทย์และทรัพย์สินในโรงพยาบาล แม้ที่ผ่านมาศาลพิพากษาลงโทษหนักโดยไม่รอลงอาญา แต่บรรดาผู้ก่อเหตุยังคงไม่เกรงกลัว ก่อเหตุอุกอาจทะเลาะวิวาทตีกันในโรงพยาบาล ยิ่งไปกว่านั้นยังเกิดเหตุการณ์ทำร้ายแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ ฯลฯ
กรณีวัยรุ่น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเด็กมหาวงษ์ และกลุ่มเด็กโรงเหล็ก ย่านสมุทรปราการ เปิดศึกตีรันฟันแทงกันจนได้รับบาดเจ็บ กระทั่งหนึ่งในนั้นมาเสียชีวิตที่โรงพยาบาล จนมีการยกพวกตามไปตีกันในโรงพยาบาล 2 แห่ง อาระวาดทำลายข้าวของ และทำร้ายร่างกายต่อยหน้าแพทย์หญิงคนหนึ่งจนได้รับบาดเจ็บ เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
ชนวนเหตุมาจากวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งต้องการนำเอายาบ้า 10 เม็ดไปส่ง แล้วต้องผ่านเส้นทางหน้าบ้านฝ่ายตรงข้าม แต่โดนสั่งห้ามและขู่ว่าจะแจ้งตำรวจข้อหาบุกรุก ทำให้เกิดมีปากเสียงกัน นำมาซึ่งเหตุทะเลาะวิวาทบานปลายดังกล่าว
ในแง่การดำเนินคดีตามกฎหมาย เจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามจับกุมตัวผู้ต้องทั้งหมดอย่างทันควัน โดยแบ่งเป็น 3 คดี คดีแรก ก่อเหตุชุลมุนต่อสู้กัน เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ คดีที่สอง ร่วมกันบุกรุก รพ.วิภารามชัยปราการ และทำร้ายร่างกายบุคลากรทางการแพทย์ และคดีที่สาม ร่วมกันบุกรุก รพ. เมืองสมุทรปู่เจ้าสมิงพราย ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์และร่วมกันทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บแก่กายและจิตใจ โดยเจ้าหน้าเร่งทำสำนวนในคดีแยกเป็นรายบุคคล ส่งฝากขังผลัดแรกที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ พร้อมคัดค้านการประกันตัวในชั้นพนักงานสอบสวน
เกี่ยวกับบทลงโทษของการก่อเหตุรุนแรงในโรงพยาบาล ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊คเปิดเผยในตอนหนึ่งความว่า
“...โรงพยาบาลในสังกัด กทม. มีมาตรการที่คำนึงถึงความปลอดภัยของบุคลากรและผู้มาใช้บริการทุกคน แต่หากมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น ผู้ก่อเหตุจะต้องได้รับโทษ "บุกรุกสถานที่ราชการ" เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 364 และการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นเวลากลางคืน มีผู้ร่วมกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไป และมีการใช้กำลังประทุษร้ายหรือมีการขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายต้องระวางโทษหนักขึ้น ตามมาตรา 365 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ "ทำลายทรัพย์สินของรัฐเสียหาย" กทม.จะแจ้งความดำเนินคดีฐานทำให้เสียทรัพย์ ซึ่งทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ มาตรา 360 ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ "ทำร้ายร่างกายแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่" เป็นความตามประมาลกฎหมายอาญามาตรา 391 295 297 ตามความรุนแรงของการทำร้าย ผู้กระทำต้องระวางโทษตามความผิดที่ได้กระทำ และยังอาจมีข้อหาอื่นตามมาอีกก็ได้นะครับ”
ที่ผ่านมาศาลพิพากษาลงโทษค่อนข้างหนักโดยไม่รอลงอาญา นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด และผู้อำนวยการโครงการในพระดำริฯ สำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า คดีก่เหตุรุนแรงในโรงพยาบาลศาลจะลงโทษสถานหนัก นอกจากคดีอาญาไม่รอลงอาญาเพราะมีพฤติกรรมร้ายแรง จะโดนฟ้องคดีแพ่งเรียกสินไหมทดแทนด้วย
"ใช้กำลังทะเลาะวิวาทในโรงพยาบาล พวกนี้อยากกร่าง ก็กร่างให้สุด แต่ต้องไปหยุดที่เรือนจำ อัยการฟ้องโทษหนักแน่นอน เตรียมก้มหน้ารับกรรมที่ก่อไว้ได้เลย คดีจำพวกนี้ศาลพิพากษาจำคุกโดยไม่รอลงอาญามาแล้ว กับเหตุตีกันในโรงพยาบาล เพราะก่อนหน้านี้ศาลมีคำพิพากษาอย่างรวดเร็วและเด็ดขาด” นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง กล่าว
อย่างไรตาม เหตุความรุนแรงในโรงพยาบาลเอกชนที่เกิดขึ้นครั้งนี้ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ได้ออกมากำชับให้สถานพยาบาลเอกชน ดูแลเรื่องมาตรการความปลอดภัย โดยเฉพาะห้องฉุกเฉินควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยเพื่อให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2562 ศาลจังหวัดอ่างทอง สั่งจำคุกวัยรุ่น 9 คน ที่ก่อเหตุทะเลาะวิวาทในสถานบันเทิงจนบาดเจ็บ แม้ส่งไปรักษายังโรงพยาบาลแต่คู่กรณียังตามมาทำร้ายกันในห้องฉุกเฉินจนอุปกรณ์ทางการแพทย์เสียหาย โดยศาลพิพากษาจำคุก 6 เดือน รับสารภาพเหลือ 3 เดือน ด้วยพฤติการณ์ร้ายแรงไม่ยำเกรงกฎหมายศาลจึงไม่รอลงอาญา
สำหรับสถิตการเกิดเหตุรุนแรงในโรงพยาบาลสังกัดสาธารณสุข ตั้งแต่ปี 2555 – 2563 มีจำนวนกว่า 65 เหตุการณ์ เกิดเหตุทะเลาะวิวาทตีกันในโรงพยาบาลสูงสุด และรองลงมาคือทำร้ายร่างกายแพทย์ พยาบาล ตลอดจนเจ้าหน้าที่
ตัวเลขเหตุการณ์รุนแรงในโรงพยาบาลเพิ่มจำนวนมากในปี 2560 - 2562 สูงสุดถึง 26 ครั้ง ทำให้กระทรวงสาธารณสุข กำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เข้มข้นขึ้น อาทิ มีระบบรักษาความปลอดภัย 24 ชั่งโมง จัดระบบควบคุมทางเข้า-ออก มีประตูห้องฉุกเฉิน 2 ชั้น ติดตั้งกล้องวงจรปิด จัดให้มีระบบคัดกรองผู้ป่วยห้องฉุกเฉิน จัดที่พักคอยญาติและสื่อสารกับญาติเพื่อให้คลายความกังวล ติดตั้งสัญญาณเตือนภัย หรือช่องทางแจ้งเหตุด่วนกับตำรวจ ฝ่ายปกครองและมูลนิธิต่างๆ แม้เหตุความรุนแรงลดลงแต่ตัวเลขยังคงไม่เป็นศูนย์
บุคลากรทางแพทย์ที่ทำงานเพื่อสังคมไม่ควรประสบเหตุความรุนแรงในโรงพยาบาล นับเป็นอีกหนึ่งบทเรียนสำคัญของสังคมไทย เป็นเหตุการณ์ที่ต้องประณามและเรียกร้องให้ดำเนินคดีผู้กระทำผิดอย่างเด็ดขาดเพื่อเป็นเยี่ยงอย่างให้หลาบจำ