ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ไม่รู้จะ “ผรุสวาท” ด้วยถ้อยคำไหนดีถึงจะสาสมกับการที่ “หน่วยงานภาครัฐ” การ์ดตกเสียงเอง โดยปล่อยให้บรรดา “อภิสิทธิ์ชน” คือ “อุปทูตซูดาน” และ “ทหารอียิปต์” ใช้ “เอกสิทธิทางการทูต” เข้ามาในประเทศแบบ “ไร้การควบคุม” โดยเฉพาะ “ทหารอียิปต์” ที่ถึงขั้นหนีไปเที่ยวห้างสรรพสินค้ากระทั่งตรวจพบว่า ติดเชื้อ “โควิด-19” ซึ่งนั่นหมายความว่า ประเทศและประชาชนคนไทยเสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับการระบาดระลอกที่ 2
ที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ สิ่งที่เกิดขึ้นกระทบกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ โดยเฉพาะ “การท่องเที่ยว” กำลังค่อยๆ เงยหัวให้พินาศย่อยยับยิ่งไปกว่าเก่า เอาเฉพาะแค่ที่ “ระยอง” ก็เล่นเอายอดจองที่พักหายวับไปกับตา โรงเรียนต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดระยองต้องปิดการเรียนการสอนนับเป็นร้อยๆ แห่ง ไม่นับรวมถึงคนตัวเล็กตัวน้อยที่พลอยฟ้าพลอยฝนรับเคราะห์จาก “ความห่วย” ที่เกิดขึ้น
ซ้ำร้ายในช่วงแรก ศบค.และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างพากันปกปิดข้อมูล ไม่ยอมเปิดเผยชื่อโรงแรมและสถานที่ต่างๆ ที่บรรดาอภิสิทธิ์ชนเหล่านี้เดินทางไป ด้วยข้ออ้างบรมห่วยว่า “เป็นประเด็นด้านความมั่นคง” ซึ่งก็ยิ่งโหมกระพือความโกรธของประชาชนหนักเข้าไปอีก เพราะนอกจากสะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลไม่เห็นว่าชีวิตประชาชนมีความสำคัญเมื่อเทียบกับอภิสิทธิ์ชนเหล่านี้แล้ว ยังบ่งบอกด้วยว่า การจัดการกับภาวะวิกฤติของรัฐบาลมีปัญหาอย่างยิ่งยวด
ความสุขของคนไทยที่เพิ่งจะได้รับกลับคืนมาจากความร่วมมือร่วมใจกัน “หยุดเชื้อเพื่อชาติ” ในช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมาหายวับไปกับตา
คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ ทำไมถึงปล่อยให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นได้ ช่องว่างช่องโหว่อยู่ที่ตรงไหนและใครควรรับผิดชอบ เพราะในขณะที่รัฐบาลเรียกร้องให้ประชาชน “การ์ดอย่าตก” แต่รัฐบาลกลับเป็นฝ่ายการ์ดตกเสียเอง
“เกิดจากการไม่เคารพกติกา ไม่มีวินัย ไม่คิดถึงส่วนรวม ทำให้เกิดปัญหา ความรับผิดชอบก็โทษกันไปมา ผมในฐานะ ผอ.ศบค.ขอรับผิดชอบตรงนี้ด้วย สิ่งสำคัญที่สุดต้องหาวิธีการปิดจุดหละหลวมเหล่านี้ให้ได้ และวันนี้ได้ส่งทีมลงพื้นที่ติดตามเก็บข้อมูลเชิงลึกแล้ว รวมถึงตรวจหาพื้นที่สัมผัส และผู้อยู่ในช่วงเวลาดังกล่าว และหาจุดการลงทะเบียนเข้าออกทางแอปพลิเคชันไทยชนะด้วย นอกจากนี้ จะมีการตรวจเชื้อเพิ่มเติมกับบุคคลที่สัมผัส และมีความกังวลในช่วงเวลาดังกล่าวเพื่อให้ทุกคนเกิดความสบายใจมากที่สุด และเร็วที่สุด...ขอให้เชื่อมั่นมาตรการสาธารณสุขของเรา ถ้ามองว่าจะเลวร้ายหรือไม่ดีทำนองนี้ก็ขอให้เชื่อมั่นระบบสาธารณสุขของเราที่รองรับได้ แต่ก็ไม่ควรจะเกิดขึ้น อันนี้เป็นสิ่งที่ผมเสียใจ ต้องขอโทษพี่น้องประชาชนคนไทยด้วย จะต้องมาดูแลกันให้มากที่สุดในหลายประเด็น หลายปัญหาเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด อาจเกิดข้อบกพร่องบางประการในหลายที่ ผมได้ย้ำในที่ประชุม ครม. และให้ ศบค.แก้ไขทบทวนทุกอย่างโดยเฉพาะมาตรการในการผ่อนคลายต่างๆ เพราะจะกระทบไปถึงเรื่องความเชื่อมั่น ความปลอดภัยของประชาชนโดยรวม รับปากว่าจะดำเนินการให้ดีที่สุด ขอเวลาให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง และ ศบค.ได้แก้ปัญหา”
นั่นคือถ้อยความที่ “ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2563 ถึงเรื่องที่เกิดขึ้น
แต่คำอธิบายของนายกฯ และคำ “ขอโทษ” ของศบค.และอีกหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงไม่เพียงพอ เพราะเรื่องนี้ควรมีคนต้องรับผิดชอบ และเมื่อไล่เรียงแล้วก็จะเห็นว่า มีช่องโหว่ในทุกจุด โดยไม่ต้อง “ปัดสวะ” ให้พ้นตัว เพราะเละในทุกขั้นตอนตั้งยอดปิรามิดลงไปจนถึงฐานปิรามิด เริ่มตั้งแต่ ศบค. กระทรวงการต่างประเทศ กองทัพอากาศ กองทัพเรือ สนามบินอู่ตะเภา ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กระทรวงสาธารณสุข
แต่ “จำเลยที่ 1” ที่สมควรถูกตำหนิมากที่สุดก็คือ “กระทรวงการต่างประเทศ” ที่มี “ดอน ปรมัตถ์วินัย” เป็นรัฐมนตรีว่าการ เพราะทั้ง 2 กรณีใช้ “เอกสิทธิทางการทูต” ในการเดินทางเข้ามาในประเทศไทย
หลายคนอาจจะไม่รู้ว่า แม้ประเทศไทยจะ “ล็อกดาวน์” หรือ “ปิดประเทศ” แต่ก็ยังมี “อภิสิทธิ์ชน” ได้รับการยกเว้นให้เดินทางเข้าประเทศไทย ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลพบว่ามีถึง 11 กลุ่มตามข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และประกาศเอาไว้ในราชกิจจานุเบกษา
และหนึ่งใน 11 กลุ่มก็คือ บุคคลในคณะทูต คณะกงสุล องค์การระหว่างประเทศ หรือผู้แทนรัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐต่างประเทศ ซึ่งมาปฏิบัติงานในประเทศไทย หรือบุคคลในหน่วยงานระหว่างประเทศอื่นตามที่กระทรวงการต่างประเทศอนุญาตตามความจำเป็น ตลอดจนคู่สมรส บิดา มารดา หรือบุตรของบุคคลดังกล่าว
ทั้ง 11 กลุ่มที่สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้ในช่วงที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่นายกรัฐมนตรีหรือผู้มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง กฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศและกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อกำหนด เพื่อการป้องกันการระบาดของโรคและจัดระเบียบจำนวนบุคคลที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรให้สอดคล้องกับความสามารถของเจ้าหน้าที่ในการคัดกรองและการจัดสถานที่ไว้แยกกัน กักกัน สำหรับผู้โดยสารหรือผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร
ข้อถกเถียงใหญ่ในเวลานี้ก็คือ การที่ ศบค.ออกข้อกำหนดยกเว้นให้แก่คนที่มีสถานะทางการทูต หรือคณะทหารเหล่านี้ ถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เป็นการใช้ตำแหน่งหน้าที่ทางราชการไปเอื้อประโยชน์ให้คณะบุคคลใดบุคคลหนึ่ง สร้างความเสียหายต่อประชาชนคนไทยทั้งประเทศ หรือไม่
และเมื่อกระทรวงการต่างประเทศอนุญาตให้ใช้สิทธิอันนั้นแล้ว ก็สมควรที่จะต้องดูแลประสานงานตั้งแต่เริ่มต้นจนบรรดาอภิสิทธิ์ชนเหล่านั้นเดินทางออกประเทศไทย ไม่ใช่สักแต่ว่ารับงานมาแล้วผลักภาระให้หน่วยงานอื่นรับผิดชอบ
สำหรับกรณี “ทหารอียิปต์” นั้น จากการตรวจสอบข้อมูลพบข้อเท็จจริงว่า สถานทูตได้ขออนุญาตมาไปยัง “กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) และกองทัพอากาศ” โดยเข้ามา 2 เที่ยวบิน คือ EGY1215 และ EGY1216 มีกัปตันเรือและลูกเรือรวม 31 คน
ทหารอียิปต์กลุ่มนี้เดินทางออกไคโร ประเทศอียิปต์ เมื่อวันที่ 6 ก.ค. และมา ถึงไทยเมื่อวันที่ 8 ก.ค. โดยสถานทูตอียิปต์กำหนดให้พักที่โรงแรมดีวารี อ.เมือง จ.ระยองต่อมาวันที่ 9 ก.ค. เดินทางออกจากโรงแรม ไปสนามบินอู่ตะเภา เพื่อไปทำภารกิจทางทหารที่ประเทศจีน เมื่อเสร็จภารกิจก็บินกลับมาแวะพักที่ประเทศไทยในโรงแรมเดิม
ปัญหาก็คือ แทนที่ทหารอียิปต์จะอยู่แต่ในโรงแรมแต่มีจำนวนหนึ่ง เดินทางออกจากที่พักไปยังห้างสรรพสินค้า 2 แห่งในอำเภอเมือง จ.ระยอง คือ “ แหลมทอง และเซ็นทรัล”
เมื่อทีมสอบสวนโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ระยอง รับทราบจึงพยายามขอเข้าตรวจคัดกรอง แต่เกิดปัญหาจนต้องประสานตำรวจ และประสานสถานทูต โดยผลตรวจคือ ไม่ติดเชื้อ 30 คน และผลกำกวม 1 คน จนต้องตรวจซ้ำ โดยผลออกวันที่ 12 ก.ค. ว่าติดเชื้อ แต่คณะเดินทางกลับประเทศไปเมื่อวันที่ 11 ก.ค.
จะเห็นได้ว่า ทหารอียิปต์ใช้ไทยเป็นแค่จุดพักและเติมน้ำมันเท่านั้น มิได้มีส่วนเกี่ยวของกับรัฐไทยแต่อย่างใด
คำถามที่เกิดขึ้นมีอยู่ว่า ทำไมรัฐไทยถึงอนุญาตให้ทหารอียิปต์กลุ่มนี้พักในโรงแรมดีวารีซึ่งมิได้เป็นสถานเฝ้าระวังที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) ที่ขึ้นทะเบียนไว้
คำตอบก็คือ เป็นเพราะสถานทูตอียิปต์ในประเทศไทยเป็นผู้เลือก และด้วยความที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวทางการทูต หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงไม่กล้าเข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง แถม “กระทรวงการต่างประเทศ” ก็มิได้สนใจใยดีในการเข้ามาติดตาม ทั้งๆ ที่เป็นรับรู้กันทั้งโรคว่า ปัญหา “เชื้อนำเข้า” คือเรื่องใหญ่ของทุกชาติและสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดรอบสองได้
เป็นไปได้อย่างไรที่ปล่อยให้ชาวต่างชาติที่เดินทางมาจากประเทศที่มีการแพร่ระบาดหนักไปพักอยู่ในโรงแรมที่ไม่ได้เป็นสถานเฝ้าระวังที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) และไม่ได้มีเจ้าหน้าที่ภาครัฐใดๆ เข้าไปควบคุม
ส่วนกรณี “ลูกอุปทูตซูดาน” จากการสอบสวนโรคพบว่า เดินทางมายังประเทศไทยด้วยสายการบินอียิปต์แอร์ MZ3277 ซึ่งมีคนไทยโดยสารรวมอยู่ด้วยจำนวน 245 คน โดยมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิวันที่ 10 ก.ค. ผ่านขั้นตอนตรวจทางมาตรฐานควบคุมโรค โดยตรวจเชื้อหาโพรงจมูกที่สนามบินสุวรรณภูมิ จากนั้นบิดาซึ่งเป็นอุปทูต พร้อมคนขับรถ 1 คน เจ้าหน้าที่ทูต 1 คน ใส่มารับไปที่พักอาศัย คือ “คอนโดมีเนียม One X”
ประเด็นลูกอุปทูตซูดานนั้น มีการตรวจพบเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่อยู่ที่สนามบินสุวรรณภูมิ จริงหรือไม่ เพราะข้อมูลจากหลายสายไม่ตรงกัน แต่ที่น่าจะพอคาดการณ์ว่าติดก็คือการที่ พลเอก ณัฐพล นาคพาณิชย์ รองผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะประธานคณะทำงานกลั่นกรองกิจการและกิจกรรมตามมาตรการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า “ขณะที่อยู่สนามบินสุวรรณภูมิยังไม่ทราบว่าเด็กหญิงอายุ 9 ขวบ ติดเชื้อโควิด-19 ไม่มีอาการของผู้ป่วยโควิด-19 ทราบเพียงว่าเด็กป่วยเป็นโรคปอดบวมจากข้อมูลที่พ่อของเด็กแจ้ง และด้วยความที่เป็นเด็กจึงมีอาการงอแง จึงให้กลับไปฟังผลตรวจที่พำนัก”
จากคำให้สัมภาษณ์ดังกล่าว ไม่อาจมองเป็นอื่นได้ว่า เด็กติดโควิด-19 แน่ๆ เพราะตัวอุปทูตผู้เป็นพ่อบอกกล่าวเองว่า ป่วยเป็นโรคปอดบวม
คนที่ป่วยเป็นปอดบวมจะเดินทางมาบนเครื่องบินได้อย่างไร ถ้าไม่มี “เอกสิทธิทางการทูต”
เมื่อมาถึงประเทศไทย ด่านกักกันโรคที่สนามบินสุวรรณภูมิย่อมต้องตรวจวัดอุณหภูมิ ซึ่งเมื่อปอดบวมก็ย่อมต้องมีไข้ขึ้นสูง เพราะฉะนั้น จึงถือเป็นบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงยิ่งที่จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดในประเทศไทย
ทำไมถึงไม่ควบคุมตัวหรือกักตัวเอาไว้?
แน่นอนว่า ย่อมเป็นเพราะพ่อของเด็กเป็นอุปทูต ซึ่งย่อมต้องมีเอกสิทธิทางการทูต เจ้าหน้าที่จึงนิ่งเฉยเลยผ่าน หรือ “หยวนๆ” กันไป
แต่ถามว่า จะเป็นเหตุให้ปล่อยตัวไปง่ายๆ เช่นนั้นหรือ เพราะรู้ทั้งรู้ว่าเด็กปอดบวม อันเป็นหนึ่งในอาการต้องสงสัยของโรคโควิด-19
นี่คือปัญหาที่ทำให้เห็นถึงช่องว่างช่องโหว่ของระบบ และไม่รู้ว่า นอกเหนือจากกรณีอุปทูตซูดานแล้ว ยังมีการใช้เอกสิทธิทางการทูตในทำนองนี้อีกหรือไม่
อย่างไรก็ดี ปัญหาที่เหนือความคาดหมายก็คือ ตามข้อกำหนดในการดูแลคณะทูตและบุคคลขององค์กรระหว่างประเทศ ระบุว่า ให้ไปยังที่พักที่กำหนดที่สถานทูตดูแล หากเป็นกรณีของเอกอัครราชทูตเองจะไปอยู่ที่ทำเนียบของเอกอัครราชทูต ส่วนเจ้าหน้าที่การทูตอื่นๆ ก็จะไปอยู่ตามที่พัก ซึ่งอุปทูตรายนี้มีบ้านพักอยู่ที่คอนโดมีเนียม One X เพราะฉะนั้นพวกเขาจึงเข้าพักที่คอนโดมีเนียมแห่งนี้
ดังนั้น จึงเห็นได้ชัดว่า “ข้อกำหนด” ของมีปัญหา ดังคำสารภาพของ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 โดยมีผลสรุปความตอนหนึ่งว่า:
“1.เรื่องการทูตมีข้อสรุปว่า การให้ทูตไปพำนักในสถานทูต มีความเสี่ยงและทำให้เกิดกรณีซูดานขึ้น กระทรวงการต่างประเทศจะขอให้ผู้ที่เป็นนักการทูตที่เข้ามาในประเทศ เข้าสู่การกักตัว State Quarantine ที่รัฐจัดให้ 14 วัน
และ 3.ให้ชะลออนุญาตการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรแบบผ่อนคลาย ตามข้อกำหนดฉบับที่ 12 ในวงเล็บ 2, 3, และ 11 ไปก่อน โดยวงเล็บ 2 คือกลุ่มที่มีเหตุยกเว้นหรือได้รับอนุญาต วงเล็บ 3 คือบุคคลในคณะทูตทั้งหลาย และวงเล็บ 11 คือกลุ่มนักธุรกิจเข้ามาในระยะสั้น โดยขอใช้เวลานี้ทบทวนระบบทั้งหมด เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนอีกครั้ง ก่อนรับคนต่างชาติมา
และต้องขออภัยคนระยอง และ กรุงเทพมหานคร อย่างระยองเด็กต้องปิดโรงเรียนมากกว่า 10 โรงเรียน พวกเราก็ไม่สบายใจ ต้องขออภัยอย่างสูง และจะทำให้ดีกว่านี้ ละเอียดกว่านี้”
และช่องว่างช่องโหว่อันนี้เองได้ทำให้ผู้ที่อยู่อาศัยร่วมมีความเสี่ยงตามไปด้วย
ก็จะไม่ให้คนที่อยู่ร่วมคอนโดมิเนียมเดียวกับ “ท่านอุปทูต” ตื่นตระหนกและมีความเสี่ยงได้อย่างไร เพราะเพิ่งมีรายงานออกมาจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติ (CDC) สหรัฐฯ เมื่อไม่นานที่ผ่านมานี้ว่า ผู้หญิงผู้ติดเชื้อรายหนึ่งเดินทางจากสหรัฐฯ กลับไปยังบ้านเกิดเมืองนอนของเธอ ในมณฑลเฮยหลงเจีย ประเทศจีน เมื่อวันที่ 19 มีนาคม โดยแม้ไม่แสดงอาการใดๆ แต่เธอยังกักกันโรคอยู่ในอพาร์ตเมนต์ของตนเอง และหลีกเลี่ยงสัมผัสใกล้ชิดกับเพื่อนบ้าน ทว่า 3 สัปดาห์ต่อมา เพื่อนบ้านของเธอคนหนึ่งและบุคคลอื่นๆ อีก 4 คน ที่สัมผัสใกล้ชิดกับเพื่อนบ้านรายนี้ มีผลตรวจโควิด-19 ออกมาเป็นบวก ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว ผลการตรวจพบว่าเธอเป็นพาหะนำโรคไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ไม่แสดงอาการ
อย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่น่าคลางแคลงใจ ก็คือ มีเพื่อนบ้านอีก 2 คน ติดเชื้อโควิด-19 เช่นกัน ทั้งที่ทั้งสองไม่ได้พบเจอกับเธอ โดยเพียงแค่เคยใช้ลิฟต์ตัวเดียวกันเท่านั้น แถมยังใช้ต่างเวลากันด้วย
จากผลการศึกษาของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐฯ ระบุว่า มีความเป็นไปได้ที่เพื่อนบ้านจะติดเชื้อจากการใช้ลิฟต์ในอพาร์ตเมนต์ ตัวเดียวกับผู้เป็นพาหะไม่แสดงอาการใช้ และการติดต่ออาจเกิดขึ้นตอนที่เพื่อนบ้านสัมผัสพื้นผิวหรือปุ่มกดภายในลิฟต์
นอกเหนือจากบุคคลที่กล่าวมา ไม่มีผู้พักอาศัยคนอื่นๆ ในอพาร์ตเมนต์ที่มีผลตรวจออกมาเป็นบวก แต่จากการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดพบว่า เพื่อนบ้านคนที่สัมผัสใกล้ชิดกับเธอ คือ คนไข้หมายเลขศูนย์ (patient zero) ของกลุ่มก้อนผู้ติดเชื้อ 71 คน
ก่อนหน้านี้ พวกนักวิทยาศาสตร์ระบุว่า ลิฟต์คือแหล่งเพาะเชื้อที่สมบูรณ์แบบของไวรัส เนื่องจากเป็นสถานที่แคบๆ และเป็นพื้นที่ปิด โดยเหล่านี้คือสภาพแวดล้อมอันเลอเลิศต่อการแพร่กระจายเชื้อของไวรัส เนื่องจากโควิด-19 สามารถแพร่เชื้อผ่านละอองฝอย ตอนที่ผู้ติดเชื้อไอ จามหรือพูด
ด้วยเหตุดังกล่าว มาตรการ “วัวหายแล้วล้อมคอก” จึงเกิดขึ้น โดย ศบค.มีมติทบทวนสิทธิพิเศษทางการทูต คู่สมรส บิดามารดา บุตร ต้องกักตัว 14 วันในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ พร้อมยกเลิกเที่ยวบินของกองทัพอากาศอียิปต์ที่ได้อนุญาตไปแล้ว นอกจากนี้ ยังให้ชะลอการอนุญาตการเดินทางเข้าไทยแบบผ่อนคลายมาตรการ State Quarantine ตามข้อกำหนดฉบับที่ 12(2) ,(3) และ(11) และทบทวนมาตรการควบคุมให้รัดกุมและรอบคอบยิ่งขึ้น
วันนี้ ถ้าหากรัฐบาลสัมผัสได้ถึง “อารมณ์” และ “ความรู้สึก” ของประชาชนคนไทยต่อทั้งสองเหตุการณ์ดังกล่าว ย่อมรับรู้ได้ว่า กระแสความไม่พอใจได้ขยายวงกว้างไปทุกมิติ ทุกระดับและทุกชนชั้น ไม่เว้นแม้กระทั่ง “ติ่ง” ที่เชียร์รัฐบาลมาตั้งแต่ต้น
ความเชื่อมั่นที่มีต่อรัฐบาลซึ่งสามารถจัดการกับการแพร่ระบาดของ “โควิด-19” ได้เป็นอย่างดีกำลังเลือนหายไปทีละน้อย ส่วนจะเป็น “ฟางเส้นสุดท้าย” หรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป ยิ่งเมื่อผสมโรงกับการลาออกของ “กลุ่มสี่กุมาร” ด้วยแล้ว ก็ยิ่งน่าเป็นห่วง เพราะถ้า “รัฐมนตรีใหม่” ที่ออกมาจัดอยู่ในประเภท “ยี้” มิใช่ “แบรนด์เนม” ที่จะสร้างความเชื่อมั่นในการนำพาประเทศฝ่าฝันวิกฤติเศรษฐกิจด้วยแล้ว พูดได้เลยว่า น่าเป็นห่วงมากถึงมากที่สุด.