"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"
ในที่สุดกลุ่ม “สามผู้เฒ่า” ก็สลัดกลุ่ม “สี่กุมาร” ทิ้งไปอย่างไม่ไยดี วันวานที่แสนหวาน กลายเป็นวันนี้ที่ขื่นขม นั่นเป็นผลตอบแทนจากการรับใช้อย่างเหน็ดเหนื่อย ทั้งในการเป็นตัวแทนจัดตั้งพรรค การรณรงค์หาเสียง การตากหน้ารับแรงกระแทกจากเสียงวิจารณ์จากสังคม การสานต่อในการสืบทอดอำนาจ และการทุ่มเทการทำงานในรัฐบาล แต่ด้วยเหตุที่ปราศจากฐานเสียงทางการเมือง ยามไม่เป็นที่ต้องการก็กลายเป็นภาระดุจขุนศึกยามไร้สงครามที่ต้องถูกปลดทิ้งไป
กลางเดือนเจ็ด วันที่ 15 ก.ค.2563 หนึ่งในสามผู้เฒ่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหมได้ส่งข้อความทางไลน์ ไปหานายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้ากลุ่มสี่กุมาร ระบุว่า “รู้สึกลำบากใจ รู้สึกแย่ ไม่รู้จะพูดต่อหน้าอย่างไร” เหตุผลที่พลเอกประยุทธ์บอกต่อนายสมคิดคือ “มีความจำเป็นอย่างยิ่งต้องปรับรัฐมนตรีทีมเศรษฐกิจ ด้วยเหตุผลทางการเมือง”
“ไม่รู้จะพูดต่อหน้าอย่างไร” เป็นประโยคที่ฟังแล้ว ช่างน่าเห็นใจพลเอกประยุทธ์เสียจริง ราวกับว่าท่วมท้นไปด้วยความรู้สึกที่ไม่ใช่ความรู้สึกที่แท้จริงอันเป็นความปรารถนาของตนเอง หากแต่เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นด้วยความจำเป็นและจำใจ ขอให้เห็นใจด้วยนะ ราวกับละครย้อนยุค ที่ผู้มีอำนาจในอดีตเล่นบทขอความเห็นใจและเข้าใจจากคนที่ถูกปลด เพื่อผู้ถูกปลดไม่ชิงชังรังเกียจตนเอง และแม้แต่ถูกปลดแล้วก็ยังสำนึกขอบคุณผู้ที่ปลดตนเอง
ความสำคัญของเรื่องนี้คือ ในที่สุดพลเอกประยุทธ์ จันท์โอชานายกรัฐมนตรีก็ไม่สามารถทนทานแรงกดดันจากแกนนำพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)ได้ ทำให้ต้องสื่อสารถึงนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เพื่อให้ลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี แต่ไม่มีความกล้าหาญเพียงพอที่จะพูดแบบเผชิญหน้า จึงต้องอาศัยการสื่อสารผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ และถ้อยคำที่ใช้ก็มิได้เขียนอย่างตรงไปตรงมาประเภท “คุณสมคิด ผมขอให้คุณและทีมของคุณลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีด้วยนะครับ เพื่อเปิดทางให้ผมได้ปรับคณะรัฐมนตรีอย่างสะดวก” หากแต่เขียนแบบอ้อม ๆ ให้ตีความ ผู้รับสารอย่างนายสมคิด ก็หาได้ทำมึนงงไม่เข้าใจสารที่ตนเองได้รับ หากแต่แสดงออกถึงความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงความปรารถนาของพลเอกประยุทธ์และกลุ่มสามผู้เฒ่าเป็นอย่างดีว่าต้องการสลัดพวกตนเองทิ้งไป จึงทำให้คณะของนายสมคิดตัดสินใจประกาศลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี ภายหลังได้รับข่าวสารเพียงไม่กี่ชั่วโมง
สิ่งที่น่าสนใจคือ พลเอกประยุทธ์ได้กล่าวอย่างชัดเจนว่า เหตุผลของการปรับทีมรัฐมนตรีเศรษฐกิจคือเหตุผลทางการเมือง ซึ่งเท่ากับเป็นการสารภาพต่อสาธารณะว่า การปรับคณะรัฐมนตรีมิได้ขึ้นอยู่กับผลงานและความสามารถของรัฐมนตรีในการบริหารประเทศ และมิใช่การปรับเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ หากแต่เป็นการปรับด้วยเหตุผลทางการเมืองที่มุ่งการจัดสรรผลประโยชน์และอำนาจของนักการเมืองที่เป็นฐานของรัฐบาลเป็นหลัก เป็นการปรับเพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มอำนาจภายในพรรค พปชร. และเป็นการปรับเพื่อลดปัญหาคลื่นใต้น้ำที่เกิดจากแรงปรารถนาแห่งอำนาจของแกนนำพรรค พปชร. ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลล้วนมิใช่เป็นการปรับครม.เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนและผลประโยชน์ต่อประเทศแต่อย่างใด
เมื่อกลุ่มนายสมคิดไม่สามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มทุนการเมืองภายในพรรค พปชร.ได้อย่างที่พวกเขาคาดหวัง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่กลุ่มทุนการเมืองรวมตัวกันกดดันเพื่อปลดนายอุตตม สาวนายนและนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ซึ่งเป็นตัวแทนของนายสมคิดออกจากหัวหน้าพรรค พปชร. และเลขาธิการพรรค และดำเนินกระบวนการกดดันต่อให้กลุ่มสี่กุมารลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีเพื่อเปิดทางให้คนของตนเองเข้าไปคุมกระทรวงที่เป็นแหล่งผลิตความมั่งคั่งให้แก่พวกเขาได้
ในระยะแรกดูเหมือนว่าพลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีแสดงอาการแข็งขืนและพยายามต้านแรงกดดันเอาไว้ โดยยืนกรานว่าไม่มีการปรับคณะรัฐมนตรี ขณะที่นายสมคิดและกลุ่มสี่กุมารเองก็ไม่มีท่าทีใด ๆ ที่แสดงให้เห็นว่าประสงค์จะลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี และพยายามเกาะอำนาจบารมีของพลเอกประยุทธ์ เพื่อรักษาตำแหน่งของตนเอาไว้ให้นานที่สุด แต่ในไม่นานพวกเขาก็ตระหนักว่า อำนาจบารมีของนายกรัฐมนตรีไม่อาจคุ้มครองพวกเขาได้เสียแล้ว และรู้แจ้งแก่ใจว่าพวกเขา ถูกสามผู้เฒ่าทิ้งเสียแล้ว
เกมอำนาจในครั้งนี้ นายสมคิดและสี่กุมารประสบความพ่ายแพ้อย่างไม่เป็นท่า ทั้งที่พวกเขาได้ทุ่มเทไม่น้อยเพื่อให้สามผู้เฒ่าสามารถสืบทอดอำนาจต่อไปได้ พวกเขายอมทำตัวเป็นนายหน้าในการจัดตั้งพรรค พปชร. และร่วมการหาเสียงเลือกตั้งอย่างแข็งขันจนทำให้ พปชร.ชนะเป็นพรรคลำดับสองในการเลือกตั้งและสามารถช่วงชิงเป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลได้ สามผู้เฒ่าตอบแทนพวกเขาโดยมอบตำแหน่งรัฐมนตรีในกระทรวงที่สำคัญ ทว่า เวลาผ่านไปเพียงประมาณปีเดียวเท่านั้น ก็สลัดพวกเขาทิ้งไปเพื่อความอยู่รอดทางการเมืองของตนเอง ดังนั้นในอนาคตหากใครคิดจะพึ่งบารมีของพลเอกประยุทธ์เพื่อดำรงและรักษาตำแหน่งรัฐมนตรีก็คงต้องคิดกันหลายรอบเสียแล้วกระมัง เพราะเมื่อไรก็ตามที่มีเหตุผลทางการเมืองเกิดขึ้น สามผู้เฒ่าก็พร้อมสลัดทิ้งได้ตลอดเวลาอย่างไม่ลังเล
หากถามว่ารัฐมนตรีชุดใหม่ที่จะเข้ามาแทนที่นายสมคิดและทีมงานมีความคิดกระบวนทัศน์ในการแก้ปัญหาภาพรวมของประเทศแตกต่างจากลุ่มนายสมคิดหรือไม่ ผมประเมินว่าไม่มีความแตกต่างแต่อย่างใด คงใช้ทิศทางและแนวทางเดิมที่กลุ่มนายสมคิดวางไว้นั่นแหละ นั่นคือการผลิตนโยบายที่เอื้อต่อกลุ่มทุนขนาดยักษ์เป็นหลัก และหากถามว่าความสามารถในการบริหารและแก้ปัญหาเศรษฐกิจประจำวันเหนือกว่าทีมนายสมคิดหรือไม่ ผมคิดว่าคงทำได้พอ ๆ กัน หรือบางทีอาจจะแย่กว่าเสียด้วยซ้ำ โดยเฉพาะหากกระทรวงเศรษฐกิจใดที่มีตัวแทนของกลุ่มทุนการเมืองเข้าไปเป็นรัฐมนตรี สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้น ไม่เพียงแต่การผลิตนโยบายที่เอื้อผลประโยชน์แก่กลุ่มทุนบางกลุ่มเท่านั้น แต่อาจเกิดความผิดปกติในการนำนโยบายไปปฏิบัติด้วย ซึ่งจะกลายเป็นเรื่องอื้อฉาวตามมาในภายหลังได้
หากพิจารณาในเรื่องสถานภาพทางอำนาจของนายกรัฐมนตรีในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ การที่นายกรัฐมนตรีตัดสินใจปฏิบัติตามแรงกดดันของกลุ่มทุนการเมืองของพรรค พปชร.ในครั้งนี้ ด้านหนึ่งแสดงให้เห็นว่าอำนาจบารมีในการบริหารประเทศของพลเอกประยุทธ์ลดลงอย่างเห็นได้ชัด คำประกาศต่าง ๆ เกี่ยวกับการบริหารประเทศตามวิถีใหม่ของนายกรัฐมนตรีก่อนหน้านั้นก็ดูเหมือนกลายเป็นสิ่งที่ปราศจากความหมายแม้แต่น้อย อีกด้านหนึ่งบ่งบอกถึงการเพิ่มขึ้นของพลังอำนาจของพลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณและกลุ่มทุนการเมืองในพรรค พปชร.
กล่าวถึงที่สุดแล้วปัญหาเศรฐกิจ สังคม และการเมืองที่รุมเร้าประเทศไทยในเวลานี้ ไม่อาจแก้ไขได้โดยการปรับคณะรัฐมนตรี เพราะสาเหตุของปัญหาที่แท้จริงมีแกนกลางอยู่ที่ “กลุ่มสามผู้เฒ่า” ซึ่งผลิตระบบการเมืองอันพิกลพิการที่รับใช้พวกเขา และใช้วิถีการบริหารประเทศแบบรวมศูนย์ภายใต้วัฒนธรรมแบบอำนาจนิยมนั่นเอง ดังนั้นตราบใดที่กลุ่มสามผู้เฒ่ายังเป็นศูนย์กลางของจักรวาลแห่งอำนาจการเมืองไทย ตราบนั้นปัญหาของประเทศก็คงยังดำรงอยู่ และนับวันก็จะเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ
กล่าวสำหรับประชาชนไทย การปรับนายสมคิดและกลุ่มสี่กุมารออกไปจากรัฐบาล หาได้มีความหมายในการสร้างการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและนโยบายเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่พิกลพิการแต่อย่างใด ทุกอย่างยังเป็นเช่นเดียว เพียงแต่เปลี่ยนหน้าบุคคล ซึ่งอาจเป็น “กุมาร” อื่น ๆ เข้ามาเพื่อรับใช้และตอบสนองความปรารถนาของ “กลุ่มสามผู้เฒ่า” ต่อไปนั่นเอง