xs
xsm
sm
md
lg

เปิดเอกสาร “ใครลงนามข้อยกเว้นเพื่อวีไอพี” หรือ “ใครละเมิดข้อกำหนด”?/ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การรักษาสถิติที่ไม่มีผู้ป่วยภายในประเทศเกินกว่า 50 วันที่เกิดขึ้นมาได้นั้น ก็เพราะการเสียสละของพี่น้องประชาชน ที่ต้องอดทนกับความยากลำบากเพื่อให้สังคมไทยสามารถดำเนินชีวิตและเศรษฐกิจให้ดีขึ้นมาบ้าง ซึ่งแม้ว่าจะไม่ถึงขั้นจะดีเป็นปกติเพราะขาดรายได้จาการท่องเที่ยวและส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ แต่อย่างน้อยก็ขอให้การดำเนินธุรกรรมทางเศรษฐกิจ “ภายในประเทศ” เป็นไปให้ได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด

อีกทั้งประเทศไทย ยังต้องใช้งบประมาณของชาติหันมากระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างมหาศาลเพื่อประคองสถานการณ์ให้ยื้อการพังทลายทางเศรษฐกิจให้ได้นานที่สุด การยื้อนี้ก็เพื่อรอให้ภาวะเศรษฐกิจของโลกกลับมาดีขึ้นภายหลังจากมียาหรือวัคซีนที่ดูแลความปลอดภัยของมนุษยชาติได้แล้ว

การรักษาสถิติระยะเวลา “ไม่มีผู้ป่วยรายใหม่ภายในประเทศ” นานที่สุด ประชาชนต้องเสียสละอย่างมากมาย ทั้งในทางเศรษฐกิจ วิถีชีวิต และสังคม ด้วยความเสียสละยาวนานหลายเดือนเช่นนี้นี่เอง จึงทำให้ประเทศไทยรักษาสถิติได้ดีมากในระดับโลก

ประเทศไทยมีสัดส่วนการตรวจต่อประชากรในระดับกลางๆ ไม่น้อยเกินไป จึงสร้างความเชื่อมั่นในระดับโลก ประเทศไทยไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศอย่างต่อเนื่องยาวนานในระดับต้นๆของโลกจึงทำให้เชื่อมั่นว่าประเทศไทยมีความปลอดภัยเพียงพอที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศ ประเทศไทยสามารถแยกแยะผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่มาจากต่างประเทศได้หมดว่ามาจากที่ไหนและไปที่ไหนบ้างทำให้มีความน่าเชื่อถือว่าสามารถควบคุมการระบาดของโรคได้ ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตต่อผู้ป่วยติดเชื่ออยู่ในระดับต่ำที่สุดระดับโลกสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นว่าประเทศไทยมีการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดในระดับโลก

ด้วยเหตุผลข้างต้น ข้อสงสัยในกรณีการเกิดเหตุที่ทหารอียิปต์ และบุตรขออุปทูตจากซูดานได้ตรวจพบการติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยโดยที่ไม่ถูกกักตัวในสถานกักตัว 14 วันตามสถานที่รัฐกำหนดให้หรือไม่? จึงทำให้เกิดคำถามและความเคลือบแคลงสงสัยในหมู่ประชาชนว่า มีความแตกต่างมาตรฐานของประชาชนไทยที่เดินทางมาจากต่างประเทศแล้วต้องอยู่ในสถานกักกันตามที่รัฐกำหนดให้เป็นเวลา 14 วันหรือไม่?

ภาครัฐซึ่งพยายามชี้แจงว่า “มีการตรวจคัดกรอง” ไม่แตกต่างจากประชาชนไทยที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และไม่มีวีไอพี แต่ยังมีประเด็นที่ประชาชนคาใจคือ “การกักตัว 14 วัน” มีความแตกต่างจาก “ชาวต่างชาติบางกลุ่ม”หรือไม่?

และคำถามสำคัญต่อมาคือควรจะมีผู้รับผิดชอบกรณีที่เกิดขึ้นนี้อย่างไรหรือไม่? ซึ่งคงจะต้องแยกเป็น 2 กรณีคือกรณีของทหารอียิปต์เป็นกรณีหนึ่ง และลูกของอุปฑูตซูดานเป็นอีกกรณีหนึ่ง

แน่นอนว่ากรณีทหารอียิปต์นั้น น่าจะเป็นความประมาทและไม่ตระหนักของทหารอียิปต์กลุ่มนั้นฝ่าฝืนมาตรการของประเทศไทย โดยออกนอกสถานที่จากสนามบินอู่ตะเภาและเดินทางไปในที่ต่างๆทั้งโรงแรม ห้างสรรพสินค้า และขึ้นรถแท็กซี่โดยไม่สวมหน้ากากอนามัย ซึ่งแน่นอนว่าต้องเป็นความผิดของทหารอียิปต์คนนั้นและกลุ่มนั้นซึ่งฝ่าฝืนกฎหมายไทย แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นความผิดของฝ่ายไทยด้วยที่ปล่อยให้ทหารคนดังกล่าวออกนอกสนามบินอู่ตะเภาไปได้

จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้นสถานทูตอียิปต์จึงได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 ยอมรับและแสดงความเสียใจต่อกรณีที่ทหารอียิปต์ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของประเทศไทย[1] และในเวลาต่อมาในวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรคนั้น จึงได้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อสืบข้อเท็จจริง และพิจารณาให้ย้ายหัวหน้าด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ และผู้ปฏิบัติงานทั้งหมดที่สนามบินอู่ตะเภาออกไปก่อน พร้อมกับให้บุคลากรจากสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 จังหวัดชลบุรี ไปปฏิบัติหน้าที่แทน [2]

ความเสียหายที่เกิดขึ้นท่ามกลางการเสียสละของคนไทยทั้งประเทศ ความจริงแล้วรัฐไทยก็ควรดำเนินคดีตามกฎหมายกับบุคคลที่ฝ่าฝืนมาตรการของไทยเสียด้วยซ้ำเพื่อไม่ให้ใครทำเป็นเยี่ยงอย่างอีก เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้กระทบต่อความเชื่อมั่นอย่างรุนแรงต่อการท่องเที่ยวไม่เพียงแต่จังหวัดระยองเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อระบบของประเทศไทยโดยรวมอีกด้วย

ส่วนกรณีอุปฑูตซูดานนั้นไม่ได้ถูกกักตัวในสถานที่รัฐได้จัดให้ อีกทั้งยังมีการเข้าที่พักโดยตรงโดยไม่ต้องมีการถูกกักตัวเป็นเวลา 14 วันอีกด้วย ในกรณีนี้สะท้อนให้เห็นว่ามีการใช้มาตรการสำหรับนักการทูตเหลื่อมล้ำกว่าประชาชนไทยที่เดินทางมาจากต่างประเทศที่ถูกกักตัวตามสถานที่รัฐจัดให้อย่างชัดเจน คำสารภาพดังกล่าวเกิดขึ้นตามมาตรการปรับปรุงแก้ไขที่มีการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 โดย นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) โดยมีผลสรุปความตอนหนึ่งว่า:

“1.เรื่องการทูตมีข้อสรุปว่า การให้ทูตไปพำนักในสถานทูต มีความเสี่ยงและทำให้เกิดกรณีซูดานขึ้น กระทรวงการต่างประเทศจะขอให้ผู้ที่เป็นนักการทูตที่เข้ามาในประเทศ เข้าสู่การกักตัว State Quarantine ที่รัฐจัดให้ 14 วัน

2.กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการยกเลิกการอนุญาตการบินเข้าของเที่ยงบินกองทัพอากาศอียิปต์ทั้งที่อนุญาตไปแล้วและกำลังจะอนุญาต รวม 8 เที่ยวบิน ในวันที่ 17-20 กรกฎาคม และวันที่ 25-29 กรกฎาคม และ

3.ให้ชะลออนุญาตการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรแบบผ่อนคลาย ตามข้อกำหนดฉบับที่ 12 ในวงเล็บ 2, 3, และ 11 ไปก่อน โดยวงเล็บ 2 คือกลุ่มที่มีเหตุยกเว้นหรือได้รับอนุญาต วงเล็บ 3 คือบุคคลในคณะทูตทั้งหลาย และวงเล็บ 11 คือกลุ่มนักธุรกิจเข้ามาในระยะสั้น โดยขอใช้เวลานี้ทบทวนระบบทั้งหมด เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนอีกครั้ง ก่อนรับคนต่างชาติมา

และต้องขออภัยคนระยอง และ กรุงเทพมหานคร อย่างกรณีระยอง เด็กต้องปิดโรงเรียนมากกว่า 10 โรงเรียน พวกเราก็ไม่สบายใจ ต้องขออภัยอย่างสูง และจะทำให้ดีกว่านี้ ละเอียดกว่านี้” [3]

เรื่องกรณีที่เกิดขึ้นกับลูกอุปทูตซูดาน จึงมีความแตกต่างกับกรณีทหารอียิปต์ที่ละเมิดข้อกำหนดของประเทศไทย โดยกรณีทหารอียิปต์น่าจะเกิดขึ้นเพราะความบกพร่องของทหารอียิปต์ที่มาพร้อมกับความหละหลวมของเจ้าหน้าที่รัฐเอง แต่กรณีของลูกอุปทูตซูดานที่ติดเชื้อนั้นน่าจะเกิดขึ้นเพราะ “ข้อกำหนด”ของฝ่ายประเทศไทยเองเสียมากกว่า ใช่หรือไม่?

โดยเฉพาะ “ข้อกำหนด ฉบับที่ 12” ที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2558 ที่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ที่ประกาศโดย “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ซึ่งมีข้อกำหนดเอาไว้ในข้อ 1 ว่า

“การเดินทางจากต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรไม่ว่าจะเป็นการใช้เส้นทางคมนาคมทางบก ทางน้ำ หรือทางอากาศ หรือโดยการใช้ยานพาหนะไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ หรือ อากาศยาน หรือ ยานพาหนะอื่นใดเพื่อเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรย่อมกระทำได้ โดยเป็นไปตามเงื่อนไข เงื่อนเวลา และหลักเกณฑ์ที่นายกรัฐมนตรีหรือผู้มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง กฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศและกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อกำหนด เพื่อการป้องกันการระบาดของโรคและจัดระเบียบจำนวนบุคคลที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรให้สอดคล้องกับความสามารถของเจ้าหน้าที่ในการคัดกรองและการจัดสถานที่ไว้แยกกัก กักกัน หรือคุมไว้สังเกต สำหรับผู้โดยสารหรือผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ดังต่อไปนี้” [4]

นั่นหมายความว่าการออกหลักเกณฑ์เงื่อนไข เงื่อนเวลา การคัดกรอง การแยกกัก การกักกัน เป็นอำนาจสำคัญของนายกรัฐมนตรีด้วย !!!

สำหรับกลุ่มคนภายใต้ข้อกำหนดฉบับที่ 12 นี้ ยังรวมถึงอำนาจของนายกรัฐมนตรีที่ให้ข้อยกเว้นต่างหากสำหรับใครก็ได้ ที่คำแถลงของนายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน
โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.)ที่ยอมรับใช่หรือไม่ว่ามีเคยข้อกำหนดมีการเดินทางเข้ามาในประเทศ “แบบผ่อนคลาย” ให้คน 3 กลุ่มจนเกิดเรื่องจนเป็นที่มาของการ “ชะลออนุญาต”[3] ปรากฏในข้อกำหนด ข้อ 1 (2) (3) และ (11) ความว่า

“ (๒) ผู้มีเหตุยกเว้นหรือเป็นกรณีที่นายกรัฐมนตรีหรือหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินกำหนด อนุญาต หรือเชิญให้เข้ามาในราชอาณาจักรตามความจำเป็นโดยอาจกำหนดเงื่อนไขและเวลาได้”

(๓) บุคคลในคณะทูต คณะกงสุล องค์การระหว่างประเทศ หรือผู้แทนรัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐต่างประเทศ ซึ่งมาปฏิบัติงานในประเทศไทย หรือบุคคลในหน่วยงานระหว่างประเทศอื่นตามที่กระทรวงต่างประเทศอนุญาตตามความจำเป็น ตลอดจนคู่สมรส บิดามารดา หรือบุตรของบุคคลดังกล่าว

(๑๑) ผู้ไม่มีสัญชาติไทยซึ่งได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรตามข้อตกลงพิเศษ (Special Arrangement) กับต่างประเทศ”

นั่นแสดงว่าอำนาจนายกรัฐมนตรีมีอำนาจโดยตรงให้ “ข้อยกเว้น” ที่รวมถึง “เงื่อนไข” และ “เวลา” ได้ คำถามสำคัญคือนายกรัฐมนตรีได้ให้ข้อยกเว้นนี้กับใครบ้าง ด้วยเงื่อนไข และเวลาอย่างไร ข้อตกลงพิเศษที่หมายถึง “นักธุรกิจระยะสั้น” มีข้อตกลงพิเศษคืออะไร และมีใครได้รับข้อตกลงพิเศษด้วยเงื่อนไขและเวลาอย่างไร นับตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2563 เป็นต้นมานั้นคือใครบ้าง?

เรื่องดังกล่าวนี้ควรจะเปิดเผยเพื่อให้เกิดความโปร่งใสด้วยเพราะมีเดิมพันความเสียสละของคนชาติหรือไม่?

และคำว่า “ผ่อนคลาย” ที่ซ่อนอยู่โดยคำแถลงของ นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ที่มีมาโดยก่อนหน้านี้ คืออะไร?

แต่คำเฉลยส่วนหน่งดูเหมือนอาจจะถูกซ่อนปริศนาเอาไว้ในข้อกำหนดข้อที่ 2 ความตอนหนึ่งว่า


“ ข้อ ๒ มาตรการป้องกันโรคสําหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อควบคุมดูแลให้ผู้ท่ีเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรปฏิบัติตามเงื่อนไข เงื่อนเวลา และหลักเกณฑ์ท่ีทางราชการกําหนดไว้โดยเคร่งครัด และให้ผู้ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่หรือ เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อส่ังหรือกําหนดเป็นเงื่อนไขในการเดินทางหรือการเข้ามาในราชอาณาจักร รับการแยกกัก กักกัน หรือคุมไว้สังเกต ณ สถานที่และตามระยะเวลาซึ่งทางราชการกําหนด หรือปฏิบัติตามระบบการตรวจสอบการเดินทางในราชอาณาจักรหรือการใช้แอปพลิเคชั่นติดตามตัว เพื่อให้มารับการตรวจหาเชื้อเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการติดเชื้อก็ได้” [4]

ข้อความข้างต้นแสดงให้เห็นว่ามีข้อกำหนดไม่เหมือนกัน 2 ส่วน ด้วยคำเชื่อม “หรือ” ของมาตรการตามข้อความในข้อกำหนดข้างต้นใช่หรือไม่ว่า...

“ส่วนหนึ่งมีการการปฏิบัติกับผู้ที่เดินทางมาจากต่างชาติไม่เหมือนกัน ส่วนหนึ่งต้องมีการแยกกัก กักกัน คุมไว้สังเกต ณ สถานที่และเวลาตามที่ราชการกำหนด และดำเนินการอย่างเคร่งครัด”

หรือ

“อีกส่วนหนึ่งคือการปฏิบัติตามระบบการตรวจสอบการเดินทางในราชอาณาจักรหรือการใช้แอปพลิเคชั่นติดตามตัว เพื่อให้มารับการตรวจหาเชื้อเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการติดเชื้อก็ได้”

นี่คือเหตุผลใช่หรือไม่ที่ประชาชนชาวไทยเกือบทั้งหมดที่เดินทางมาจากต่างประเทศต้อถูกกักตัว กักกัน และควบคุม อยู่ในสถานที่และเวลาตามที่ราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด และนี่คือเหตุผลใช่หรือไม่ซึ่งมีคนอีกกลุ่มหนึ่งไม่ต้องถูกกักตัว กักกัน อยู่ในสถานที่และเวลาราชกำหนด?


ยังดีที่ยังไม่พบการระบาดติดเชื้อโควิด-19 ดังนั้นจึงไม่แปลกเลยว่าเหตุใดคำแถลงของ นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2563 ในข้อความสำคัญว่า

“ในนาม ศบค. ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้” และ “ผมตัวแทน ศบค. ผอ.หัวหน้าส่วนทำงานเต็มที่ ฝากขออภัย” [3] คำถามที่ตามต่อมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้ลงนามในประกาศและมีอำนาจกำหนดเงื่อนไข เวลา และข้อยกเว้น ควรจะเปิดเผยข้อมูลการอนุญาตทั้งหมดว่ามีหรือไม่? และอย่างไร?

และคำว่า “รับผิดชอบ” คืออะไร !?

ยังโชคดีที่ถึงขณะนี้ยังไม่พบการระบาดใหญ่จากข้อกำหนด และข้อยกเว้นตามที่กล่าวมาข้างต้น แต่ถึงกระนั้นประชาชนตาดำๆที่ไม่รู้เรื่องด้วย ก็ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่รุนแรงขึ้นมาอีกระลอก รัฐบาลจึงควรเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้นครั้งนี้โดยเร็วด้วยเช่นกัน

บทเรียนครั้งนี้ราคาแพงยิ่ง รัฐบาลจะละเลยการเสียสละของประชาชนอยู่บ้าน ปิดกิจการ หยุดเชื้อเพื่อชาตินานหลายเดือน แล้วเพิ่มปัญหาการเดินทางของอภิสิทธิ์ชนต่างชาติให้ประชาชนชาวไทยต้องเดือดร้อนยาวนานไม่ได้เด็ดขาด

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต

อ้างอิง

[1] ผู้จัดการออนไลน์, ทูตอียิปต์ยื่นแถลงการณ์ แสดงความเสียใจ-ขอโทษทหารไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดไทย, เผยแพร่: 14 กรกฎาคม 2563 เวลา 18:10 น., ปรับปรุง: 14 กรกฎาคม 2563 เวลา 19.32 น.
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9630000072291

[2] ผู้จัดการออนไลน์, สั้งตั้ง กก.สอบ-ย้าย หน.ด่านควบคุมโรค,ผู้ปฏิบัติงานสนามบินอู่ตะเภาเซ่นทหารอียิปต์, เผยแพร่: 15 กรกฎาคม 2563
https://mgronline.com/uptodate/detail/9630000072671

[3] ผู้จัดการออนไลน์, ศบค.แถลงขอโทษหละหลวมคุมโควิด สั่งยกเลิกกักตัวในสถานทูต-แคนเซิลทหารอียิปต์เข้าไทย-ชะลอ 3 กลุ่มเข้าประเทศ, เผยแพร่: 14 กรกฎาคม 2563, 13.17 น., ปรับปรุง: 14 กรกฎาคม 2563, 14.02 น.
https://mgronline.com/qol/detail/9630000072092

[4] ข้อกำหนดออกตามความ ในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2558 (ฉบับที่ 12) ที่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 137 ตอนพิเศษ 153 ง เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 หน้า 35,36
http://www.samutsongkhram.go.th/covid/attachments/article/172/T_0035.PDF


กำลังโหลดความคิดเห็น