xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ฝรั่งดัดจริต “แบนกะทิไทย” อ้างทรมานลิงเก็บมะพร้าว เปิดสงครามกีดกันทางการค้า

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - กรณีซูเปอร์มาร์เก็ตในประเทศฝั่งตะวันตก “แบนกะทิไทย” ตลอดจนผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะพร้าวนำเข้าจากประเทศไทย หลังจาก “องค์กรประชาชนเพื่อการปฏิบัติต่อสัตว์อย่างมีจริยธรรม (People of the Ethical Treatment of Animals) หรือ พีต้า (PETA)”โจมตีไทยทรมานลิงเก็บมะพร้าว เป็นประเด็นร้อนข้ามโลกที่คนไทยให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ด้วยเห็นว่าเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นวิถีชาวบ้าน ไม่ใช่การทารุณกรรณสัตว์ตามที่กล่าวหา

เบื้องหลังดรามาข้ามโลก มองเป็นอื่นไม่ได้นอกจากเป็นการหาเหตุกีดกันทางการค้าของชาติตะวันตก เพราะการใช้ลิงเก็บมะพร้าวในเมืองไทยถือเป็นภูปัญญาท้องถิ่นไทยที่มีมาเนิ่นนาน เป็นวิถีชาวบ้านที่สืบทอดกันมา ลิงเก็บมะพร้าวอยู่กับชาวสวนเหมือนสมาชิกในครอบครัว ลิงสำหรับเก็บมะพร้าวได้ต้องผ่านการฝึก มีการเลี้ยงดูอย่างดีเป็นการตอบแทนจากเจ้าของ การกล่าวหาทารุณสัตว์ใช้ลิงเก็บมะพร้าว เป็นการย่ำยีความรู้สึกของชาวสวนไทย

ยิ่งไปกว่านั้น ยังเกิดกรณีนักการเมืองดึงดรามา นายนิติพล ผิวเหมาะ ส.ส .บัญชีรายชื่อ แห่งพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Nitipon Piwmow เหยียบหัวใจชาวสวนมะพร้าวไทยโดยเห็นดีเห็นงามและเห็นชอบตามที่ฝรั่งกล่าวหา

สุดท้ายโดนเพจดัง “แหม่มโพธิ์ดำ” จับโป๊ะแฉนำเสนอภาพเหตุการณเก่าที่เกิดขึ้นในประเทศอินโดนีเซีย และภาพเก่าๆ มีคนถ่ายไว้เมื่อหลายปีก่อน สงสัยอยากมีซีนขณะกำลังมีดรามาประเทศไทยถูกให้ร้ายทรมานลิงเก็บมะพร้าว เป็นผู้แทนประชาชนแทนที่จะให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ให้ความเป็นธรรมกับชาวสวนมะพร้าว ปกป้องธุรกิจมะพร้าวไทย กลับกลายเป็นซ้ำเติมให้ร้ายไม่ตรวจสอบข้อมูลก่อนนำเสนอต่อสาธารณะ

-1-
ช่วงต้นเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา สำนักข่าวบีบีซี รายงานว่าซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งในอังกฤษ สหรัฐฯ และเนเธอร์แลนด์ เริ่มนำผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวของไทยออกจากชั้นวางสินค้า หลังองค์กรประชาชนเพื่อการปฏิบัติต่อสัตว์อย่างมีจริยธรรม (พีตา) องค์กรไม่หวังผลกำไร ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในรัฐเวอร์จิเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา นำเสนอรายงานกล่าวหาว่าผลิตภัณฑ์มะพร้าวแปรรูปนำเข้าจากไทยมาจากการใช้แรงงานลิงกังที่ถูกจับมาจากป่า และถูกนำมาฝึกให้เก็บมะพร้าว พร้อมระบุว่ามีฟาร์ม 8 แห่งในไทย บังคับใช้แรงงานลิงเก็บลูกมะพร้าวเพื่อส่งออกไปทั่วโลก โดยลิงตัวผู้เก็บมะพร้าวได้วันละ 1,000 ลูก ส่วนมนุษย์เก็บได้วันละประมาณ 80 ลูกเท่านั้น


นอกจากนี้ พีต้ายังระบุอีกว่ามีโรงเรียนลิงเพื่อฝึกสอนให้ลิงเก็บผลไม้ ขี่จักรยาน หรือเล่นบาสฯ เพื่อแสดงโชว์สร้างความบันเทิงให้นักท่องเที่ยว รวมทั้ง เผยแพร่วิดีโอลิงถูกล่ามโซ่กับยางรถยนต์เก่า หรือจำกัดอยู่ในกรงขนาดใหญ่ ทั้งถูกกักขังในกรงบนกระบะ มีท่าทีเขย่าลูกกรงเพื่อพยายามหนี ทั้งถูกผูกเชือกส่งเสียงกรีดร้องพยายามวิ่งหนี

พีต้า อ้างว่าการใช้ลิงเก็บมะพร้าวถือเป็นการทรมานสัตว์ ในอุตสาหกรรมการแปรรูปมะพร้าวที่ส่งออกจากไทย และเรียกร้องให้มีการยกเลิกการขายผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวไทย ตลอดจนการทวีตข้อความของ แคร์รี ไซมอนด์ส นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม คู่หมั้นของ บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เรียกร้องให้ซูเปอร์มาร์เก็ตยกเลิกการขายผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวที่เกี่ยวข้องกับการใช้ทารุณกรรมสัตว์ ทำให้ห้างสรรพสินค้าและร้านปลีกหลายแห่ง ที่มีสาขามากมายทั้งในสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และเนเธอร์แลนด์ ร่วมแบนกะทิกล่องและผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากมะพร้าวจากไทย

ขณะที่สำนักข่าวบีบีซี ระบุว่าซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งในอังกฤษ อาทิ เวทโทรส, โอคาโด, โค-ออป, และ บู๊ทส์ ได้นำผลิตภัณฑ์มะพร้าวนำเข้าจากเมืองไทย อาทิ น้ำมะพร้าว น้ำกะทิ และน้ำมันมะพร้าว ออกจากชั้นวางเป็นที่เรียบร้อย

ทันทีที่เป็นประเด็นร้อนข้ามโลก นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ สั่งการให้สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ประจำกรุงลอนดอน ของอังกฤษ เข้าชี้แจงกรณีดังกล่าวกับ คู่ค้าที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค เพื่อทำความเข้าใจว่าการนำลิงมาเก็บมะพร้าวเป็นวิถีชีวิตของชาวบ้าน

โดยเจ้าภาพกระทรวงพาณิชย์ เตรียมส่งเทียบเชิญทูตสหภาพยุโรป (อียู) และองค์กรพีต้า ดูกระบวนการผลิต โรงงานการผลิต การเก็บเกี่ยวมะพร้าวในภาคอุตสาหกรรม ทำความเข้าใจการใช้ลิงเก็บมะพร้าวของไทยเป็นภูมิปัญหาดั้งเดิมเป็นวิถีชาวบ้านสืบทอดมานาน แสดงความชัดเจนและจิตใจไทยไม่มีการนำลิงเข้ามาทรมานอย่างที่เกิดความเข้าใจผิด

อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก ที่ผ่านมาต่างชาติได้กล่าวหาอุตสาหกรรมมะพร้าวไทยทรมานลิงเก็บมะพร้าว ซึ่งมีความคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ลิงกับชาวสวนมะพร้าวอยู่กันเป็นครอบครัว ลิงเก็บมะพร้าวเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชาวสวนมะพร้าว

ขณะที่ นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าอุตสาหกรรมผลิตสินค้าจากมะพร้าวของไทยปัจจุบันเป็นการปลูกเพื่ออุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก จะมีพื้นที่เฉพาะ มีการพัฒนาพันธุ์ให้มีต้นเตี้ยทั้งในส่วนของมะพร้าวน้ำหอม และมะพร้าวกะทิ ทำให้เก็บง่าย ไม่ต้องพึ่งแรงงานลิงเพียงอย่างเดียว และมีกระบวนการผลิตที่ควบคุมทั้งจากเกษตรกรและผู้ประกอบการที่รับซื้อไปใช้ ทำให้การใช้ลิงเก็บมะพร้าวในประเทศไทยมีน้อยมาก

-2-
ข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปแห่งประเทศไทย ระบุว่า ปี 2562 ไทยส่งออกะทิไปยัง 119 ประเทศทั่วโลก มูลค่า 411 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (12,766 ล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้น 4% และล่าสุดในช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค. - พ.ค.) 2563 ไทยส่งออก 163 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (5,073 ล้านบาท) หดตัว 4.5%

ในส่วนผลิตภัณฑ์มะพร้าวไทย ผลผลิตในปี 2562 ประมาณ 788,000 ตัน และมีโรงงานแปรรูป 15 โรงงาน ทั้งหมดเป็นกะทิ 113,000 ตัน ซึ่ง 70% บริโภคในประเทศ ที่เหลือคือการส่งออกที่จำเป็นต้องนำมะพร้าวจากประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มเติม

สำหรับตลาดส่งกะทิไทยส่งออก อันดับ 1 คือ สหรัฐฯ สัดส่วน 35% อับดับ 2 คือ ออสเตรเลีย 9% และ อันดับ 3 คือ อังกฤษ 8% อันดับ 4 คือ แคนาดา 6% และอันดับ 5 คือ เนเธอร์แลนด์ 5% เป็นต้น

สถานการณ์ฝรั่งแบนกะทิไทย มีการประเมินมูลค่าความเสียหายแล้วกว่า 30 % คิดเป็นมูลค่าประมาณ 300 ล้านบาท จากยอดส่งออกมะพร้าวไทยไปอังกฤษ เมื่อปี 2562 อยู่ที่ 1,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 70 % ยังไม่มีการแบน เพราะเจ้าของเป็นชาวเอเชียเข้าใจสถานการณ์ดี

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่าการส่งออกผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว มีผลิตภัณฑ์ที่สำคัญ 2 ชนิด คือ กะทิ และ มะพร้าวอ่อน ซึ่งประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือ เรื่องของกะทิ ซึ่งมียอดการส่งออกเมื่อปีที่แล้วตกประมาณ 12,300 ล้านบาท ส่งออกไปยังสหภาพยุโรป (อียู) 18% มูลค่า 2,250 ล้านบาท ซึ่ง 8% ที่ส่งออกไปยังอียูนี้ มาจากสหราชอาณาจักร ตลาดที่กำลังมีปัญหานี้อยู่ราว 8% มูลค่า 1,000 ล้านบาท สินค้าที่ส่งออกไปยังสหราชอาณาจักร จะวางจำหน่ายอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร และโรงแรมของชาวเอเชียประมาณ 70% ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบ เพราะในโซนเอเชียเข้าใจว่าเป็นอย่างไร แต่ที่มีผลกระทบ คือ 30% ที่มีเจ้าของเป็นอียู หรือยุโรป ซึ่งต้องทำความเข้าใจต่อไป

นายเกียรติศักดิ์ เทพผดุงพร กรรมการบริหารและผู้จัดการโรงงานชาวเกาะ บริษัทเทพผดุงพรมะพร้าว จำกัด ผู้ผลิตแบรนด์กะทิชาวเกาะ ยอมรับว่ากระทบยอดขายหายไปประมาณ 30% ถือว่าสูงมาก อาจเพราะในรายงานของพีต้าระบุชื่อแบรนด์กะทิชาวเกาะชัดเจน ทั้งนี้ โดยข้อเท็จจริงบริษัทใช้แรงงานคน และมีการลงนามเอ็มโอยูกับสวนมะพร้าวบางแห่งแล้ว

นายแจ๊ค วัฒนาพร รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทสุรีย์ อินเตอร์ฟู้ดส์ จำกัด ผู้ผลิตแบรนด์สุรีย์ และเอกไทย เปิดเผยว่าบริษัทให้ความสำคัญกับการซื้อมะพร้าวจากสวนที่ใช้แรงงานคนสอย พร้อมกับลงนามทำความเข้าใจกับชาวสวนว่าจะต้องไม่มีการใช้ลิง เนื่องจากมีลูกค้าในยุโรปเน้นสิทธิสัตว์ มีกฎหมายเข้มงวดเกี่ยวกับการใช้แรงงานสัตว์

กระทรวงพาณิชย์ยอมรับว่าประเด็นลิงเก็บมะพร้าวไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เมื่อเกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน สิ่งสำคัญคือต้องชี้แจงให้เข้าใจ และไม่จำเป็นต้องตอบโต้ทางการค้ากลับคืน เพราะภาพหรือคลิปที่ปรากฏลิงเก็บมะพร้าว เป็นภาพที่ใช้แสดงโชว์ หรือส่งเสริมการท่องเที่ยว และเป็นวิถีชีวิตของชาวบ้านเท่านั้น

ในประเด็นนี้ นายโรเจอร์ โลหะนันท์ นายกสมาคมพิทักษ์สัตว์ไทย และประธานอนุกรรมการบังคับใช้กฎหมายป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ ได้เสนอแนวทางการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมมะพร้าวของไทย ให้เร่งออกกฎหมายการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ในส่วนของลิงเข้าไปภายใต้พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2547 ซึ่งปัจจุบันดูแลสวัสดิภาพสัตว์หลายชนิด เช่น สุนัข แมว ช้าง แต่ยังไม่มีการออกกฎหมายเพื่อสวัสดิภาพของลิง

“ทางออกที่ดีที่สุดคือการทำให้ทั่วโลกเข้าใจว่าประเทศไทยให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพและคุณภาพชีวิตของสัตว์ที่เรานำมาใช้แรงงานตามมาตรฐานที่สากลยอมรับ” นายโรเจอร์ โลหะนันท์ นายกสมาคมพิทักษ์สัตว์ไทย กล่าวพร้อมมองว่าอุตสาหกรรมมะพร้าวเป็นเพียงเหยื่อและจุดเริ่มต้นของการโจมตีขององค์กรด้านพิทักษ์สวัสดิการสัตว์อื่นๆ ต่อไป เชื่อว่าจะมีนำประเด็นการทารุณสัตว์ออกมาเรื่อยๆ หากไทยไม่มีการยกระดับสวัสดิภาพสัตว์โดยเฉพาะทั้งลิง และสัตว์ที่ใช้แรงงานชนิดอื่นๆ


-3-
ทางด้านเสียงจากชาวสวนมะพร้าวเกาะสมุย แหล่งผลิตมะพร้าวชื่อดัง ตอกย้ำว่าใช้ลิงเก็บมะพร้าวไม่ใช่เป็นการทรมานสัตว์ แต่เป็นวิถีชีวิตที่ทำกันมานมนาน รักและดูแลลิงเหมือนลูก การใช้ลิงขึ้นไปเก็บมะพร้าวไม่ใช่เป็นการทารุณหรือทรมานลิงแต่อย่างใด แต่ลิงกับชาวสวนมะพร้าวเป็นของคู่กัน

หากไม่ใช้ลิงก็ไม่สามารถนำมะพร้าวลงจากต้นได้ เพราะมะพร้าวสูงมากกว่า 20 เมตรปัจจุบันหาคนขึ้นไม่ได้แล้ว เป็นอันตรายกับมนุษย์ หากพลาดตกลงร้ายแรงถึงขั้นพิการและเสียชีวิต แต่ลิงมีความคล่องตัวเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของชาวสวนมะพร้าว การใช้ลิงเก็บผลมะพร้าวทำกันมาตั้งแต่โบราณ

นายนิรัน วงศ์วานิช เกษตรกรชาวสวนมะพร้าวและเป็นครูสอนลิงเก็บมะพร้าว ในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่าชาวสวนมีการรวมตัวกัน เพื่อยืนยันว่าการใช้ลิงเก็บมะพร้าวไม่ใช่การทรมานสัตว์ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับแรงงานลิงสำหรับเก็บมะพร้าว จะผ่านการฝึกฝนจนชำนาญโดยลิง 1 ตัว เก็บมะพร้าวได้วันละ 400 - 1,000 ลูก โดยขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละตัว ขึ้นเก็บมะพร้าววันละประมาณ 3 - 4 ชั่วโมง สลับกันขึ้น ช่วงเช้า 8.00 - 11.30. น. ช่วงบ่าย 14.30 - 17.00 น. เพื่อให้ลิงได้พักผ่อน ลิงที่จะขึ้นเก็บมะพร้าวคัดเลือกอายุประมาณ 5 - 6 ปี วัยหนุ่มฉกรรจ์เป็นตัวผู้เท่านั้น เพราะตัวผู้มีเขี้ยวใช้ในการเก็บมะพร้าว ส่วนตัวเมียจะไม่มีเขี้ยว นอกจากนี้ ลิงเก็บมะพร้าวในเมืองไทย ไม่ใช่ลิงป่าแต่เป็นลิงที่เกิดจากการผสมพันธุ์กันเอง

ทั้งนี้ การฝึกสัตว์เป็นการสอนให้สัตว์ตอบสนองต่อเงื่อนไข หรือสิ่งเร้า (Stimuli) มีวัตถุประสงค์ในการทำให้สัตว์สามารถทำสิ่งที่สอนให้ทำได้ เพื่อทำให้สัตว์กลายเป็นเพื่อนอยู่กับมนุษย์ เป็นต้นว่า ช่วยนำทางคนตาบอด ช่วยดมกลิ่นตรวจจับสิ่งที่เราพยายามตามหา เช่น ยาเสพติด สิ่งของผิดกฎหมาย ช่วยปกป้องจากคนร้ายหรือเหตุร้ายต่างๆ หรือใช้ทำงาน ไถนา ลากเกวียน บรรทุกของ เก็บมะพร้าว ฯลฯ เป็นสิ่งที่ผู้คนทั่วโลกกระทำกันมานานและยังถือปฏิบัติอยู่ ดังนั้น ไม่อาจเหมารวมว่าการใช้แรงงานสัตว์เป็นการทารุณกรรมไปเสียทุกกรณี

กรณีต่างชาติแบนกะทิไทย หากมองอีกแง่มุมเป็นการกีดกันทางการค้า เป็นที่รู้กันดีว่าผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะพร้าวของไทยเป็นของดีคุณภาพสูง เหตุการณ์เช่นนี้ประเทศไทยเสียประโยชน์ หากหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ คงต้องตอบโต้เสียบ้าง ไม่ใช่ยอมตกเป็นรองให้ต่างชาติกระทำอยู่ฝ่ายเดียว

ดังเช่นที่ ดร. เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน ตั้งข้อสังเกตในรายการ "เรื่องลับมาก (NO CENSOR) ต่อกรณีการแบนกะทิไทย จากการเรียกร้องขององค์กรพีต้าที่กล่าวหาไทยทารุณลิงเก็บมะพร้าว ในตอนหนึ่งความว่า

“เรื่องกีดกัน จะบอกว่ากะทิไทยมีส่วนครองตลาดมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์เพราะเรามีหลายยี่ห้อ เราไม่ได้ขายดีแค่กะทินะ เรามีน้ำมะพร้าวก็ขายดี น้ำมันมะพร้าวเราเอาทำน้ำยาบ้วนปาก ทำยาสระผม ทำครีมล้างหน้าสารพัด ประเทศไทยเราเก่งมาก เราได้ดุลการค้าประเทศใหญ่ๆ ฉะนั้น เขาอาจต้องการลดปัญหาเรื่องดุลการค้าก็ได้"

อย่างไรก็ตาม ทางออกที่ดีที่สุดคงไม่ใช่การโต้แย้ง แต่ต้องทำให้ทั่วโลกเข้าใจว่าประเทศไทยให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพและคุณภาพชีวิตของสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์ที่มีการนำมาใช้แรงงานในภาคอุตสาหกรรม

ย้ำอีกครั้งว่า “ลิงเก็บมะพร้าว” เป็นภูปัญญาดั้งเดิมของไทย เป็นส่วนหนึ่งในวิถีชาวสวนมะพร้าว ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม และไม่ได้เป็น “เครื่องเก็บมะพร้าว” ตอบสนองอุตสาหกรรมตามที่ฝรั่งกล่าวหา

กำลังโหลดความคิดเห็น