xs
xsm
sm
md
lg

ลิงเก็บมะพร้าวในอังกฤษ / กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์ EYE ON SPORTS โดย กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน

กรณีต่างชาติหาเรื่องเอาเปรียบไทยดื้อๆ เพราะสินค้าของเราดันมีคุณภาพสูง ขายดิบขายดี จึงต้องหาหนทางบ่อนทำลายนั้นมีมานานแล้วและเกิดขึ้นบ่อยๆด้วย หากทางฝ่ายเราทั้งภาครัฐและเอกชนไม่ตอบโต้บ้าง เราก็ต้องตกเป็นรองเขาอย่างนี้ไปตลอด ทั้งๆที่โลกพัฒนาเปลี่ยนไปแล้ว ศูนย์กลางแห่งเศรษฐกิจโลก การผลิต ฝีมือแรงงานมันอยู่ในทวีปเอเชียของเราต่างหาก

องค์กรพิทักษ์สัตว์ (People for the Ethical Treatment of Animals - PETA) ได้เผยแพร่คลิพวีดิโอการใช้ลิงเก็บมะพร้าวในประเทศไทยและระบุว่าเป็นการทารุณสัตว์ โดยฝึกแล้วนำมาใช้แรงงาน ส่งผลให้ซุพเพ่อร์มาร์เข็ทใน อังกฤษ หลายแห่งแบนกะทิจากไทย และรณรงค์ให้หยุดซื้อผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวของไทยที่มาจากการใช้แรงงานลิง เรื่องนี้ชาวสวนออกมายืนยันว่า การใช้ลิงเก็บมะพร้าวเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นและไม่ได้เป็นการทารุณสัตว์

การฝึกสัตว์เป็นการสอนให้สัตว์ตอบสนองต่อเงื่อนไขหรือสิ่งเร้า (Stimuli) โดยมีวัตถุประสงค์ในการทำให้สัตว์สามารถทำสิ่งที่เราสอนให้ทำได้ ทั้งนี้ ก็เพื่อทำให้สัตว์กลายเป็นเพื่อนอยู่กับเรา ช่วยนำทางคนตาบอด ช่วยดมกลิ่นตรวจจับสิ่งที่เราพยายามตามหา เช่น ยาเสพติด สิ่งของผิดกฎหมาย ช่วยปกป้องเราจากคนร้ายหรือเหตุร้ายต่างๆ ฝึกเพื่อความบันเทิง การแข่งขัน ใช้ในการแสดง ใช้ทำงาน ไถนา ลากเกวียน บรรทุกของ เก็บมะพร้าว นั่นเป็นสิ่งที่ผู้คนทั่วโลกกระทำกันมานานและยังถือปฏิบัติอยู่ ซึ่งหากใครจะคิดว่าเป็นการทารุณสัตว์ไปทุกกรณี คงต้องเหมาห้ามดำเนินกิจกรรมทั้งหมดที่เกี่ยวกับสัตว์ในทุกประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะใน สหราชอาณาจักร

เกรย์ฮาวน์ด (Greyhound) สุนัขที่ อังกฤษ อ้างว่ามีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ประเทศของตน นิยมใช้ไล่กวดกระต่ายป่า ในปัจจุบันการแข่งขันเกรย์ฮาวน์ด์ (Greyhound racing) เป็นกีฬายอดฮิทใน สหราชอาณาจักร มีสนามแข่ง 21 แห่ง ทำการแข่งขันปีละเกือบ 6 พันรายการ เปิดโอกาสให้ผู้ชมกว่า 3 ล้านคนร่วมแทงพนันและสามารถทราบผลสดๆผ่านการถ่ายทอดในร้านรับแทงพนันที่ตั้งอยู่แพร่หลายในทุกๆตำบล

พร้อมๆกันนั้นก็มีการแข่งม้าที่เป็นกีฬาที่มีผู้ชมมากเป็นอันดับ 2 รองจากฟุตบอล ผมไม่รู้ว่าตลอดปีจะมีการแข่งขันทั้งสิ้นกี่รายการ แต่หากเป็นรายการใหญ่ๆระดับเทศกาลประจำเดือนก็อย่างน้อย 31 รายการ การแข่งม้าทำเงินให้ สหราชอาณาจักร ปีละกว่า 3 พัน ล้าน พาวน์ดส

เมื่อพูดถึงกีฬาแข่งม้าก็ต้องมองไปถึงการแข่งขันรถเทียมม้า ขี่ม้ามาราธอน การแข่งขันเดร๊สซ้าช (Dressage) หรือศิลปะการบังคับม้า ที่มีขั้นตอนการฝึกที่ยากมาก ค่อนข้างทรมานม้า การแข่งขันขี่ม้ากระโดดข้ามเครื่องกีดขวาง ซึ่งม้ามีโอกาสบาดเจ็บได้มากทีเดียว นอกจากนั้น ยังมีกีฬาขี่ม้าโปโล ที่ อังกฤษ นำมาจาก อินเดีย เมื่อราวร้อยกว่าปีที่แล้ว ผมต้องย้ำว่า สิ่งเหล่านี้สัตว์ก็ไม่ได้มีความสุขหรอก แต่จำต้องกระทำตามบังคับของคนทั้งสิ้น

ไหนๆพูดถึงเรื่องการทารุณสัตว์แล้ว ผมขอเลยไปถึงการใช้แรงงานเด็กด้วยเลย นั่นคือ เด็กเก็บบอล ที่เห็นใช้กันในเกมฟุตบอล เท็นนิส และกีฬาอื่นๆ โดยเฉพาะการแข่งขันเท็นนิส วิมเบิลเดิ้น (Wimbledon) รายการระดับ แกรนด์ สแลม ของ อังกฤษ ผมอยากให้ดูว่าเขาปฏิบัติกับเด็กอย่างไร พวกเด็กเก็บบอล (Ball Boys and Girls - BBGs) มีหน้าที่เก็บบอลด้วยความรวดเร็วและส่งให้ผู้เล่นที่กำลังจะเสริฟ ซึ่งถือว่าเป็นบทบาทสำคัญที่ช่วยให้การแข่งขันดำเนินไปอย่างราบรื่น ไม่เสียเวลา

เด็กเก็บบอลอายุเฉลี่ย 15 ปีประมาณ 250 คนจะถูกคัดมาฝึกฝนและทำงานตลอด 13 วัน บางครั้งอาจโดนลูกบอลหวดใส่บ้าง วิ่งล้มบาดเจ็บบ้าง ซึ่งแต่ละคนจะได้รับค่าจ้างราว 120-180 พาวน์ดส ขึ้นอยู่กับจำนวนวันที่ทำงาน แถมของที่ระลึกกลับบ้านคือชุดทำงานนั่นเอง แต่สิ่งที่ BBGs ต้องสำเหนียกก็คือ “ พวกเขาต้องไม่มีใครมองเห็น ทำตัวให้กลมกลืนไปกับฝาผนังและทำงานของเอ็งไปอย่างเงียบๆ ” โทนสีของ วิมเบิลเดิ้น คือ เขียวเข้มและม่วง ดังนั้น ก่อนหน้านี้เด็กเก็บบอลจะสวมสีเขียว นี่ยังดีที่ค่าย ร้าลฟ์ ลอเร็น มาออกแบบชุดให้ในปี 2006 พวกเขาจึงได้สวมชุดสีน้ำเงินน้ำทะเลและสีครีม

การใช้สัตว์ทำงาน ใช้แรงงานเด็ก ใน อังกฤษ ที่กล่าวมาผสมกับนโยบายและเงื่อนไขมากมายของ เพรอมิเอ ลีก ที่ค่อนข้างกีดกันการจ้างนักเตะจากไทยก็น่าจะถือเป็นเหตุให้ทางฝ่ายเราสั่งห้ามการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดกีฬาจากอังกฤษได้เช่นกันครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น