xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ชำแหละกฎหมายคุม “เกม” ปูทาง “นักกีฬา อี-สปอร์ต” หรือมีไว้ “หวดเด็กติดเกม”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ประเด็นร้อนวงการเกม หลังจาก “อีสปอร์ต ( E-Sport)” ได้รับการประกาศให้เป็นกีฬาไปแล้วในปี 2561 ตามมาด้วยการผลักดัน “กฎหมายควบคุมเกม” หรือ ร่างกฎหมายการกำกับดูแลเกม และการประกอบกิจการเกม เพื่อคุ้มครองเด็กและเยาวชน พ.ศ. ...” เพื่อกำหนดมาตรการกฎเกณฑ์ ตลอดจนสร้างความเข้าใจอี-สปอร์ตในทุกมิติ แต่จู่ๆ เกิดกระแสต่อต้านจากบรรดาเกมเมอร์ เพราะมีข่าวเล็ดลอดทำนองว่า จะมีห้ามแข่งขันเกม FPS หรือเกมที่มีเนื้อหารุนแรง จำกัดอายุต่ำกว่า 18 ห้ามแข่งขัน และห้ามสตรีมเกมเกิน 2 ชม. ต่อวัน เพราะข้อกังวลเรื่องสุขภาพ

ข้อห้ามกลายเป็นข้อจำกัดในการสนับสนุนส่งเสริมการแข่งขันกีฬาอีสปอร์ตในประเทศไทย จนเกิดคำถามสำคัญว่าคนในวงการอี-สปอร์ต มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นในกฎหมายฉบับนี้แค่ไหน กลายเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในวงการเกม แม้ยังไม่มีความชัดเจนว่าเนื้อหาของ “กฎหมายควบคุมเกม” จะเป็นไปตามกระแสข่าวดังกล่าวหรือไม่

สำหรับที่มาที่ไปของของกระแสต่อต้านกฎหมายที่ยังไม่ทันคลอดฉบับนี้ เกิดขึ้นหลังจาก นายชนิกนันท์ ทิพย์ไพโรจน์ ผู้ก่อตั้งทีมอีสปอร์ต MiTH และเจ้าของเว็บไซต์ FPSThailand.com เปิดเผยว่ามีองค์กรของทางภาครัฐจำนวนมากสนับสนุนกฎหมายให้มีการรองรับเกมออนไลน์ โดยหนึ่งในข้อกฎหมายที่สำคัญ คือ การแบนเกมที่มีความรุนแรง เกมประเภท FPS ต้องมีการขออนุญาต หากจะมีการจัดแข่งขัน และสตรีมเมอร์จะต้องสตรีมเกมไม่เกินวันละ 2 ชม. แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องรอฟังผลสรุปการประชุมในวันที่ 13 ก.ค. 2563

ทั้งนี้ เป็นข้อเรียกร้องจากกลุ่มภาคีเครือข่าย 84 องค์กรด้านสุขภาพ ที่ตามมาซึ่งข้อสงสัยว่าองค์กรเหล่านี้มีอำนาจในการผลักดันร่างกฎหมายควบคุมเกมมากมากน้อยเพียงใด เพราะเจตนารมณ์ของตัวกฎหมายต้องปกป้องคุ้มครองเด็ก พร้อมสร้างสมดุลระหว่างสุขภาวะกับการเล่นเกม ดังนั้น หากเนื้อหาสาระของกฎหมายมีจำกัดตามที่กล่าวมา จะขาดความสมดุลโดยปริยาย

ในประเด็นนี้ เอก HEARTROCKER สตรีมเมอร์และนักแคสต์เกมชื่อดัง ได้แสดงความคิดเห็นผ่านทวิตเตอร์ MisterHeartz ความว่า หากมีการกำหนดเวลาให้สามารถสตรีมเมอร์ได้แค่ 2 ชม. จริง จะส่งผลกระทบอย่างมาก เพราะเวลาแค่นั้นไม่เพียงพอต่อการเล่นเกมสำหรับคนที่เป็นมืออาชีพอย่างแน่นอน นี่ยังไม่รวมการจัดแข่งเกมต่าง ๆ บางรายการจัดเดือนละ 30 รอบ ให้เล่นวันละ 2 ชม. จะเป็นไปได้อย่างไร และยังระบุอีกว่า ประเด็นเรื่องสุขภาพนั้นไม่น่าจะใช่เรื่องที่ต้องเป็นห่วง เพราะพวกนักสตรีมเมอร์นอนมากกว่า 10 ชม.

ระหว่างรอความชัดเจนของเนื้อหาสาระร่างกฎหมายฯ ดังกล่าว มีการจัดเสวนา “ตีป้อม เปิดแมพ ปล่อยของ: วิถีแห่งเกมและสุขภาวะของเยาวชนไทย” ส่งเทียบเชิญเกมเมอร์หารือกฎหมายควบคุมเกม จะทำอย่างไรให้การออกกฎหมายควบคุมเกมไม่ขัดขวางกับอุตสาหกรรมของเกมมิ่ง โดยตัวแทนของสตรีมเมอร์ ตั้งข้อสงสัยว่าคนที่ออกกฎหมายเข้าใจหรือไม่ ว่าวิถีชีวิตของเกมเมอร์ หรือคนสตรีมเกม เป็นอย่างไร หากกฎหมายออกมาจริงๆ และนึกภาพไม่ออกว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร หากเด็กจะเล่นจะบังคับใช้กฎหมายกับเด็กอย่างไร มองว่าคณะทำงานร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้รู้ทุกมุม และจะเกิดผลกระทบกับทุกส่วน ทั้งเรื่องการหารายได้ก็ยากยิ่งขึ้น การจัดการแข่งขันก็ยากขึ้น ในส่วนตัวแทนผู้ผลิตเกม แสดงความกังวลว่างกฎหมายควบคุมเกมอาจส่งผลกระทบต่อศักยภาพและโอกาสในการพัฒนาบุคคลากรในประเทศ ให้มีความสามารถพอที่จะผลิตเกมที่จะส่งออกไปทั่วโลกได้

สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกีบร่างกฎหมายควบคุมเกม ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะอเนก ประธานคณะทำงานติดตามและขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติด้านเด็กกับสื่อ คณะทำงานขับเคลื่อน (ร่าง) กฎหมายการกำกับดูแลเกมและการประกอบกิจการเกมเพื่อคุ้มครองเด็กและเยาวชน พ.ศ. ... ภายใต้มาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 กล่าวว่าเป้าหมายว่าไม่ได้มีเจตนาต่อต้านการแข่งขันเกม แต่ต้องการสร้างสมดุล ที่จะช่วยกันทำให้เด็กในแต่ละกลุ่มวัยสามารถเล่นเกมได้อย่างเหมาะสม มีสุขภาวะที่ดี ไม่กระทบต่อชีวิตของเด็ก เยาวชนและครอบครัว

โดยขับเคลื่อนให้เกิดผลใน 4 ประเด็นสำคัญ 1) สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสังคมเกี่ยวกับอี-สปอร์ต 2) สร้างมาตรฐานที่เป็นสากลเพื่อการปกป้องคุ้มครองเด็ก 3) บังคับใช้กฎหมายเท่าที่มีอยู่ในการควบคุมกำกับ และ 4) จัดทำกฎหมายเพื่อกำกับดูแลเกมและการประกอบกิจการเกี่ยวกับเกม

อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าแม้อุตสาหกรรมเกมจะทำให้ภาพรวมในเชิงของเศรษฐกิจเติบโต แต่เม็ดเงินส่วนใหญ่นั้นกลับมาจากกลุ่มเด็กที่ไม่มีรายได้ และถึงแม้ว่าการแข่งขันเกมหรืออีสปอร์ตจะเป็นอาชีพที่ทำเงินได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในความใฝ่ฝันของเด็กหลากหลายคน แต่ความเป็นจริงนั้นในกลุ่มคนที่เล่นเกม 1 ล้านคน จะมีราว 10 คนเท่านั้นที่สามารถสร้างเป็นอาชีพและรายได้ แต่อีกกว่า 1 - 2 แสนคน กลับเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดอาการติดเกม

“แม้แต่นมผงหรือของเล่นเด็กยังมีการระบุช่วงวัยที่เหมาะสม แต่เกม ซึ่งมีทั้งเกมที่เนื้อหาลามกอนาจาร ความรุนแรง มีการพนัน หรือพบเจอคนแปลกหน้าหลากหลายรูปแบบโดยที่พ่อแม่ไม่อาจรู้ได้ กลับยังไม่มีการจัดเรตติ้งหรือเนื้อหาที่เหมาะสมกับช่วงวัย และกลายเป็นธุรกิจที่มีเงินหมุนเวียนมหาศาล แต่เป็นเงินที่มาจากกระเป๋าเด็ก ซึ่งก็เป็นเงินของผู้ปกครองที่อาจรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว” ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะเอนก ระบุ

ทั้งนี้ คณะทำงานฯ ได้ศึกษาสถานการณ์เพื่อจัดทำ (ร่าง) กฎหมายการกำกับดูแลเกมและการประกอบกิจการเกมเพื่อคุ้มครองเด็กและเยาวชน พ.ศ. ... ภายใต้มาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 โดยการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ซึ่งเมื่อวันที่ 8 และ 22 พฤษภาคม 2563 ได้จัดเวทีรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อ (ร่าง)กฎหมาย ดังกล่าว ที่มีทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนครู ผู้ปกครองและเยาวชน ที่สำคัญคือ ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง เช่น สมาคมอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย ผู้ประกอบธุรกิจด้านเกม ผู้ให้บริการสื่อออนไลน์ DTAC AIS TRUE เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม กระทรวงศึกษาธิการเป็นหนึ่งในคณะทำงานผลักดันกฎหมายควบคุมเกม หาแนวทางการจัดการที่เหมาะสมและสมดุล เพื่อไม่ให้กระทบกับสุขภาวะของเด็กในอนาคต โดย นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ย้ำว่าเป้าหมายไม่ต้องการขัดขวางการเจริญเติบโตของอีสปอร์ต แต่เป็นการสนับสนุนให้เกิดความเหมาะสม เพราะเด็กในวัยที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ มีหลายประเด็นที่ต้องกังวล ทั้งเรื่องค่าใช้จ่ายและการเขาถึงที่ยังควบคุมไม่ได้ การจัดสรรเวลา ที่สำคัญคือ ผลกระทบของพัฒนาการทางสมองสติปัญญา ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องสำคัญและส่งผลต่อเนื่องไปถึงกำลังคนที่เป็นอนาคตของประเทศ

ขณะที่ นายสันติ โหลทอง นายกสมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าสมาคมฯ ได้มีส่วนร่วมขับเคลื่อนร่างกฎหมายกำกับดูแลการประกอบกิจการเกมเพื่อคุ้มครองเด็กและเยาวชน ซึ่งมีการพูดคุยกันมาแล้วประมาณ 2 ปี เพื่อผลักดันกีฬาอี-สปอร์ตให้มีทิศทางที่สามารถเป็นไปได้ไม่ถูกห้ามหรือจำกัด โดยเนื้อหาของร่างกฎหมายควบคุมเกมจะสอดคล้องกับวัฒนธรรมของไทย ซึ่งวัตถุประสงค์ของกฎหมายเพื่อปกป้องเยาวชนให้สามารถเข้าถึงเกมได้อย่างมีวินัยมากขึ้น ซึ่งมุ่งเน้นไปที่ความห่วงใยต่อเยาวชนเป็นหลัก

ปัจจุบันแคมป์นักกีฬาอี-สปอร์ตมีจำนวนผู้เล่นอยู่ประมาณ 500 คน และเกม 10 ประเภทที่มีการแข่งขัน โดยมีการคัดเลือกทีมชาติเพื่อเก็บตัวฝึกซ้อมและส่งไปแข่งขัน ทั้งนั้ อัตราความสำเร็จของนักกีฬาอี-สปอร์ตที่เข้ามาและออกไปจะเป็นอัตราหมุน เวียนที่เกิดขึ้น 100% เนื่องจากนักกีฬาจะต้องหมั่นฝึกฝนให้มีความสามารถ พัฒนาทักษะอย่างสมํ่าเสมอ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการฝึกอบรมนักกีฬานั้นอยู่บนพื้นฐานของกฎระเบียบที่นักกีฬาต้องปฏิบัติตาม

สำหรับโอกาสและศักยภาพของนักกีฬาอี-สปอร์ต จะต้องเป็นผู้ที่มีแพสชันเปลี่ยนความชอบความคลั่งไคล้ในการเล่นเกมสู่การเป็นนักกีฬา มีการฝึกซ้อมตามตารางหลังจากปฏิบัติกิจวัตรประจำวันเรียบร้อย นอกจากนี้ นักกีฬาจะต้องมีการพูดคุยปรึกษาจิตแพทย์เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติในการเล่นเกมไม่ให้มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิต

แม้ภาพรวมของกีฬาอี-สปอร์ตในปัจจุบันได้รับการรับรองจากหน่วยงานต่างๆ เพิ่มขึ้น ประมาณ 300% แต่ก็ยังคงมีหลายภาคส่วนที่ออกมาแสดงความห่วงใยในด้านสาธารณสุข อย่างปัญหาการติดเกมซึ่งได้มีข้อตกลงต่างๆ ระหว่างสมาคมและหน่วยงาน เช่น หน่วยงานภาครัฐที่ต้องการให้ตัดเกมประเภท Shooting หรือเกมยิง ออกจากประเภทของกีฬาในการแข่งขันอี-สปอร์ต เพราะเกม Shooting ถือได้ว่าเป็นเกมที่มีปัญหาอยู่ รวมถึงเรื่องของการพนันและการเติมเงินที่เกิดขึ้นภายในเกม

ทั้งนี้ สมาคมกีฬาอีสปอร์ตฯ ตั้งเป้ายกระดับมาตรฐานของกีฬาอี-สปอร์ตให้เทียบเท่ากับกีฬาประเภทอื่นๆ และการพัฒนาบุคลากรด้านอี-สปอร์ตทั้งในแง่ของใบอนุญาตกรรมการผู้ตัดสิน ใบอนุญาตผู้ฝึกสอน ใบอนุญาตผู้จัดการแข่งขัน

ส่วนบทสรุปของกฎหมายควบคุมเกมจะเป็นเช่นไร ท้ายที่สุด ข้อห้ามต่างๆ ทั้งห้ามแข่งขันเกม FPS หรือเกมที่มีเนื้อหารุนแรง จำกัดอายุต่ำกว่า 18 ห้ามแข่งขันอี-สปอร์ต และห้ามสตรีมสตรีมเกมเกิน 2 ชม. ต่อวัน จะเป็นเพียงกระแสข่าวที่คลาดเคลื่อน หรือจะมีการบังคับใช้ท่ามกลางเสียงคัดค้านของคนในวงการเกม อีกไม่นานได้รู้กัน


กำลังโหลดความคิดเห็น