xs
xsm
sm
md
lg

เรื่อง ‘ทรงผม’ เด็กนักเรียนกับโลกยุค 5G/ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บ้านเรานี่วนเวียนอยู่กับเรื่อง “ทรงผม” ของเด็กมายาวนานนนนน....

ไม่คิดว่าเรื่อง “ทรงผม” ของเด็กนักเรียนในปีนี้ ปีที่พวกเราต้องเผชิญปัญหาเรื่องโควิด-19 จะกลายมาเป็นประเด็นร้อนในช่วงเปิดเทอมอีกจนได้ ทั้งที่มี “ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. ๒๕๖๓” ที่ดูเหมือนผ่อนคลายค่อนข้างมากออกมาแล้ว

ย้อนกลับไปดูรายละเอียดกันสักนิดนะ...

ข้อ 4 นักเรียนต้องปฏิบัติตนเกี่ยวกับการไว้ทรงผม ดังนี้

(1) นักเรียนชายจะไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาวด้านข้าง ด้านหลังต้องยาว ไม่เลยตีนผม ด้านหน้าและกลางศีรษะให้เป็นไปตามความเหมาะสมและมีความเรียบร้อย

(2) นักเรียนหญิงจะไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาวให้เป็นไปตามความเหมาะสมและรวบให้เรียบร้อย

ข้อ 5 นักเรียนต้องห้ามปฏิบัติตน ดังนี้

(1) ดัดผม

(2) ย้อมสีผมให้ผิดไปจากเดิม

(3) ไว้หนวดหรือเครา

(4) การกระทำอื่นใดซึ่งไม่เหมาะสมกับสภาพการเป็นนักเรียน เช่น การตัดแต่งทรงผมเป็นรูปทรงสัญลักษณ์หรือเป็นลวดลาย

ข้อ 6 ความในข้อ 4 และข้อ 5 มิให้นำมาใช้บังคับแก่นักเรียนที่มีเหตุผลความจำเป็นในการปฏิบัติตามหลักศาสนาของตนหรือการดำเนินกิจกรรมของสถานศึกษา ให้หัวหน้าสถานศึกษาเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาอนุญาต ข้อ 7 ภายใต้บังคับข้อ 4ให้สถานศึกษาโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสถานศึกษาหรือคณะกรรมการบริหารโรงเรียนวางระเบียบเกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียนที่มีความเฉพาะเจาะจงได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้
......
สรุปก็คือ กระทรวงศึกษาธิการออกระเบียบว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียนมาบังคับใช้ โดยเปิดให้นักเรียนทั้งชายและหญิงมีอิสระในการเลือกทรงผมมากขึ้น แม้จะยังมีข้อจำกัดบางอย่างอยู่ โดยนักเรียนชายจะไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาวด้านข้าง ด้านหลังต้องยาวไม่เลยตีนผม ด้านหน้าและกลางศีรษะให้เป็นไปตามความเหมาะสมและมีความเรียบร้อย ส่วนนักเรียนหญิงจะไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาวให้เป็นไปตามความเหมาะสมและรวบให้เรียบร้อย

เรียกว่ากฎใหม่นี่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น แต่สุดท้ายก็ไม่วายเกิดเหตุการณ์ซ้ำ ๆ อีกจนได้

กรณีที่เด็กนักเรียนหญิงวัย 15 ปี จากโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดศรีสะเกษ โดนครูลงโทษใช้กรรไกรตัดทรงผมแหว่ง ทำให้เด็กอับอาย จนผู้เป็นแม่ได้ออกมาร้องเรียน ภายหลังจากเกิดความไม่พอใจ เมื่อลูกสาวถูกคุณครูลงโทษ

ขณะที่ผู้อำนวยการของโรงเรียนได้ออกมาชี้แจงถึงเรื่องนี้ว่า ทางโรงเรียนมีกฎระเบียบกำหนดไว้ชัดเจนว่าเด็กนักเรียนหญิงจะต้องมีผมยาวไม่เกินติ่งหู และโรงเรียนก็มีชื่อเสียงเรื่องกฎระเบียบ

ที่สุดก็กลายเป็นประเด็นร้อนอีกครั้งอย่างที่ทราบกัน

จะว่าไปใครที่ผ่านชีวิตวัยรุ่นในระดับมัธยมศึกษา คงได้เคยลิ้มลองเรื่องระเบียบวินัยทรงผมที่ต้องเป็นทรงที่ถูกระเบียบของโรงเรียน และทรงที่ถูกระเบียบของโรงเรียนก็มักเป็นทรงที่ทรมานชีวิตวัยว้าวุ่นของเด็กหนุ่มสาวที่กำลังจะก้าวไปสู่นายและนางสาว

ใครจะไปคิดว่าวันเวลาผ่านไปเกือบ 4 ทศวรรษ เรื่องทรงผมในยุคดิฉันก็ยังเป็นปัญหาที่เด็กวัยรุ่นยุคนี้มองว่าเป็นเรื่องใหญ่

และเรื่องทรงผมก็ยังคงเป็นประเด็นจนถึงทุกวันนี้ที่ยังคงเป็นประเด็นให้ถกกันต่อในสังคม ถึงความเหมาะสมต่าง ๆนานา ว่าการที่เด็กนักเรียนต้องตัดผมตามกฎระเบียบของโรงเรียนเท่านั้น ถ้าไม่ทำตามก็ต้องถูกลงโทษ ถูกต้องแล้วหรือไม่ !

ความจริงนี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแทบทุกปี เพียงแต่ในยุคสมัยก่อนการถูกทำโทษให้อับอายจะอยู่เพียงในโรงเรียน แต่ยุคปัจจุบันกลับมีการถ่ายภาพและนำไปเผยแพร่ในโลกออนไลน์

จนกลายมาเป็นประเด็นเรื่องการลงโทษเด็กนักเรียนนี่แหละว่าควรจะแค่ไหน อย่างไร ?

ประเด็นเรื่องระเบียบวินัยเป็นเรื่องที่ดี ไม่มีใครปฏิเสธ แต่ประเด็นเรื่องพัฒนาการตามวัย การเรียนรู้ที่สะท้อนให้เห็นถึงช่วงวัยของเด็กวัยรุ่น ก็เป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ไม่ควรมองข้าม

พัฒนาการของเด็กวัยรุ่นมีความเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม พวกเขาต้องการความเป็นอิสระอยากทำอะไรได้ด้วยตัวของตัวเอง อยากรู้ อยากเห็น อยากลอง รวมไปถึงความตื่นเต้น ท้าทาย ความต้องการหาประสบการณ์แปลก ๆ ใหม่ ๆ บางคนสร้างความตื่นเต้นท้าทายกับการที่กระทำผิดต่อสารพัดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ทั้งจากที่บ้าน โรงเรียน และสังคม

เรื่องทรงผมก็เรื่องหนึ่ง แต่เรื่องท้าทายก็อีกเรื่องหนึ่งเช่นกัน !

เราอยู่ในสังคมที่ผู้ใหญ่จ้องจะสอนเด็กมาโดยตลอด ความคิดที่ว่าเด็กดีต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่เท่านั้น ถ้าไม่เชื่อฟังก็เป็นเด็กไม่ดี แล้วผู้ใหญ่ก็ชอบพูดซ้ำ ๆ ว่าทำเพื่อเด็ก หวังดีกับเด็ก เวลากำหนดกฎเกณฑ์ใด ๆ ก็บอกว่าเพื่อเด็ก โดยที่เด็กไม่เคยมีส่วนร่วมเลยด้วยซ้ำ

ความคิดที่ต้องการควบคุมจึงเน้นไปที่บทลงโทษ โดยไม่ได้คำนึงถึงบริบททางสังคมอื่น ๆ ที่ควรจะคู่ขนานเอื้อให้เด็กกลุ่มเหล่านี้ด้วย

ถ้าผู้ใหญ่เข้าใจสักหน่อย ถึงพัฒนาการช่วงวัยของเด็ก เมื่อเข้าระดับชั้นมัธยมหรือช่วงวัยรุ่น ก็เริ่มสนใจเรื่องรักสวยรักงามมากขึ้น เริ่มอยากไว้ผมยาวบ้าง เด็กจำนวนมากที่เกิดคำถามว่าทำไมถึงไว้ผมยาวซักหน่อยไม่ได้ ทำไมผมยาวถึงดูไม่เป็นระเบียบ ทั้ง ๆ ที่การไว้ผมยาวไม่ได้แปลว่าเป็นคนเกเร หรือทำให้การเรียนแย่ลง

ปัญหาอยู่ที่วิธีจัดการปัญหาของโรงเรียน ที่ควรจะมีขั้นตอน มีการตักเตือน การลงโทษสามารถทำได้แต่ไม่ใช่วิธีการแบบนี้ การลงโทษแต่ละครั้งต้องมีความพอดี ความเหมาะสม และมีเมตตา

กรณีดังกล่าว แบ่งออกเป็น 2 ประเด็น คือ ประเด็นเรื่องระเบียบทรงผม และประเด็นเรื่องการลงโทษ
เรื่องทรงผมก็มีระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 ที่ผ่อนคลายไปมาก

ส่วนเรื่องการลงโทษเด็กในบ้านเราก็ยังคงเป็นปัญหาต่อไป ทั้งมี่บ้านเรามี “ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษา พ.ศ. 2548” ระบุวิธีการลงโทษในประเด็นที่เป็นสาระสำคัญดังนี้

ข้อ 4. ...“การลงโทษ” หมายความว่า การลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษาที่กระทำความผิด โดยมีความมุ่งหมายเพื่อการอบรมสั่งสอน

ข้อ 5. โทษที่จะลงโทษแก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่กระทำผิดมี 4 สถาน ดังนี้

(1) ว่ากล่าวตักเตือน

(2) ทำทัณฑ์บน

(3) ตัดคะแนนประพฤติ

(4) ทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

ข้อ 6. ห้ามลงโทษนักเรียนและนักศึกษาด้วยวิธีรุนแรง หรือแบบกลั่นแกล้ง หรือลงโทษด้วยความโกรธ หรือด้วยความพยาบาท โดยให้คำนึงถึงอายุของนักเรียนหรือนักศึกษา และความร้ายแรงของพฤติการณ์ประกอบการลงโทษด้วย การลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษาให้เป็นไปเพื่อเจตนาที่จะแก้นิสัยและความประพฤติไม่ดีของนักเรียนหรือนักศึกษาให้รู้สำนึกในความผิด และกลับมาประพฤติตนในทางที่ดีต่อไป ให้ผู้บริหารโรงเรียนหรือสถานศึกษา หรือผู้ที่ผู้บริหารโรงเรียนหรือสถานศึกษามอบหมายเป็นผู้มีอำนาจในการลงโทษ นักเรียน นักศึกษา

ข้อ 7. การว่ากล่าวตักเตือน ในกรณีนักเรียนหรือนักศึกษากระทำความผิดไม่ร้ายแรง

ข้อ 8. การทำทัณฑ์บนใช้ในกรณีนักเรียนหรือนักศึกษาที่ประพฤติตนไม่เหมาะสมกับสภาพ นักเรียนหรือนักศึกษา ตามกฎกระทรวงว่าด้วยความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา หรือกรณีทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงและเกียรติศักดิ์ของสถานศึกษา หรือฝ่าฝืนระเบียบของสถานศึกษา หรือได้รับโทษว่ากล่าวตักเตือนแล้ว แต่ยังไม่เข็ดหลาบ การทำทัณฑ์บนให้ทำเป็นหนังสือ และเชิญบิดามารดาหรือผู้ปกครองมาบันทึกรับทราบความผิดและรับรองการทำทัณฑ์บน ไว้ด้วย

ข้อ 9. การตัดคะแนนความประพฤติ ให้เป็นไปตามระเบียบปฏิบัติว่าด้วยการตัดคะแนนความประพฤตินักเรียน และนักศึกษาของแต่ละสถานศึกษากำหนด และให้ทำบันทึกข้อมูลไว้เป็นหลักฐาน

ข้อ 10. ทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ใช้ในกรณีที่นักเรียนและนักศึกษากระทำความผิดที่สมควรต้องปรับเปลี่ยน พฤติกรรม การจัดกิจกรรมให้เป็นไปตามแนวทางที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด

จะพบว่า ไม่มีข้อใดที่ให้อำนาจของคุณครูละเมิดเหนือสิทธิร่างกายของนักเรียน

การตัดผมให้แหว่งแม้ไม่ได้ส่งผลรุนแรงเกิดความเจ็บปวดต่อร่างกาย แต่ก็สร้างความอับอายให้แก่เด็ก ซึ่งอาจถูกล้อเลียนจากผู้พบเห็น อันจะทำให้เกิดบาดแผลทางด้านจิตใจอย่างรุนแรงแก่นักเรียนได้

นี่ยังไม่นับการนำรูปไปโพสต์บนโลกออนไลน์ที่ยังเข้าข่ายผิดพ.ร.บ.คุ้มครองเด็กอีกต่างหาก
อย่าลืมว่าการลงโทษเด็ก ไม่ว่าจะด้วยน้ำมือของพ่อแม่ หรือคุณครู ฯลฯ ถ้าปราศจากการลงโทษด้วยความรัก ความเมตตา แต่ลงโทษด้วยข้ออ้างว่าทำเพื่อเด็ก หรือเพียงเพราะเด็กไม่ทำอย่างที่ผู้ใหญ่ต้องการ หรือไม่ระมัดระวัง หรือไม่รู้ตัวเพราะคิดว่าหวังดีต่อเด็ก ฯลฯ สุดท้ายเด็กก็ตกเป็นเหยื่อของโมหะและโทสะของผู้ใหญ่อยู่ดี

นึกไม่ถึงว่าเรื่องแบบนี้จะยังเกิดขึ้นได้ในสังคมไทยยุคปัจจุบัน ยุคที่มาถึงเทคโนโลยี 5G แต่แนวทางและวิธีคิดของผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อยในบ้านเมืองยังย่ำอยู่กับวิถีเดิม !

ถ้าคนที่เป็น “ครู” ที่ควรจะมีเมตตาธรรมต่อลูกศิษย์เป็นพื้นฐาน ยังทำลงไปแล้วสารภาพผิดว่าที่ทำลงไปเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แล้วคนอื่นที่ไม่ใช่ “ครู” ล่ะ เราจะคาดหวังอะไรได้

ท่ามกลางช่องว่างทางความคิดและมุมมองในด้านค่านิยมระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า เด็กกับผู้ใหญ่ ถ้าเรื่องแบบนี้ไม่ระมัดระวังและบริหารจัดการให้ดี...

จะยิ่งเป็นตัวซ้ำเติมช่องว่างให้ถ่างกว้างขึ้น !


กำลังโหลดความคิดเห็น