xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เปิดเทอม New Normal พร้อมเสิร์ฟดรามา How you like that?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - How you like that? เป็นยังไง...ชอบไหมหล่ะ? สำหรับเปิดเทอมวันแรก 1 ก.ค. 2563 ในรูปแบบ New Normal หลังโรงเรียนปิดนานร่วม 5 เดือน เพื่อลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากการเรียนการสอนที่นักเรียนและครูอาจารย์ต้องปรับตัว ยังมีประเด็นดรามาการศึกษาไทยต้อนรับเปิดเทอม ตั้งแต่เรื่องการยกเลิกปักชื่อบนเสื้อนักเรียน ยกเลิกทรงผมนักเรียนหัวเกรียน – เท่าติ่งหู ตลอดจนข้อเสนอเกี่ยวกับการผ่อนปรนสวมใส่เครื่องแบบนักเรียน

กรณีล่าสุดกำลังเป็นกระแสในโซเชียลมีเดีย ประเด็นการเรียกร้องให้ยกเลิกชื่อบนเสื้อนักเรียน เพื่อปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล เนื่องจากเกิดกรณีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์ภาพในกลุ่ม “รูปเก่าในวันวาน 1960' Old Siam Photo” หลังจากซื้อหนังสือมือสองแล้วพบว่าภายในหนังสือมีรูปติดบัตรชุดนักเรียนติดมาด้วย จากนั้นมีผู้ทำสืบค้นเกี่ยวกับชื่อ-นามสกุลของบุคคลในภาพ กระทั่งพบว่าเคยก่ออาชญากรรมคดีทำร้ายและทารุณกรรมเป็นผู้มีคดีติดตัว

เป็นที่มาของการจุดประเด็นยกเลิกการปักชื่อ-สกุลลงไปบนเสื้อนักเรียน โดยเฟซบุ๊กเพจหนูน้อยบนยอดเขาอันหนาวเหน็บ เพื่อปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล เพราะปัจจุบันการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวทำได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมมาก จนกลายเป็นดรามาถกเถียงในมีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

ย้อนกลับไปปี 2516 กรมสามัญศึกษามีระเบียบให้นักเรียนทุกโรงเรียน ต้องปักชื่อของนักเรียนบนเสื้อ หากพบถ้าหากนักเรียนทำผิดจะได้เรียกถูกคน ส่วนในปัจจุบันโรงเรียนในไทยมีทั้งให้นักเรียนปักชื่อ และไม่ปักชื่อ

อ้างอิงตาม พ.ร.บ.เครื่องแบบนักเรียน 2551 ไม่ได้บังคับให้ปักชื่อและนามสกุลของนักเรียน กำหนดไว้ว่า เครื่องแบบนักเรียน เสื้อ เป็นผ้าสีขาว แบบคอเชิ้ต หรือคอปกกลม แขนสั้น เครื่องหมายให้ใช้ชื่ออักษรย่อของสถานศึกษาปักที่อกเสื้อเบื้องขวา บนเนื้อผ้าด้วยด้ายหรือไหม โดยสถานศึกษารัฐบาลใช้สีน้ำเงิน สถานศึกษาเอกชนใช้สีแดง แม้จะไม่ระบุว่าให้ปักชื่อนักเรียนไว้ด้วย แต่โรงเรียนมีอำนาจระบุเพิ่มเติมได้

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันโรงเรียนไทยหลายแห่งไม่มีระเบียบบังคับให้ปักชื่อสกุลนักเรียน แต่กำหนดปักเฉพาะอักษรย่อ-ตราสัญลักษณ์ หรือ ติดเข็มสัญลักษณ์ของโรงเรียนแทน

นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงการปักชื่อสกุลบนเสื้อนักเรียนและข้อกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว ประเด็นการยกเลิกต้องมีการฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วนและรอบด้าน เบื้องต้นผู้อำนวยการโรงเรียนสามารถตัดสินใจได้ในเรื่องนี้ได้ กระทรวงศึกษาฯ ไม่ต้องถึงขั้นทำเป็นนโยบาย

ขณะที่ นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ให้ข้อมูลว่าการปักชื่อนักเรียนนั้นถือเป็นการแสดงตัวตน ให้ครูสามารถจดจำนักเรียนได้ โดยเฉพาะโรงเรียนที่มีนักเรียนจำนวนมาก การปักชื่อสามารถทำให้ครูจดจำนักเรียนได้รวดเร็ว ไม่อยากนำกรณีเดียวมาตัดสินทั้งภาพรวมหรือทั้งระบบ

อย่างไรก็ตาม หากมองเรื่องความปลอดภัยเรื่องสิทธิของนักเรียน เป็นหน้าที่ของกระทรวงศึกษาฯ ที่ต้องนำประเด็นนี้มาทำประชาพิจารณ์หาความเหมาะสมและหาทางออกร่วมกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ตัวนักเรียนเอง

ประเด็นต่อมา จุดจบทรงผมนักเรียนหัวเกรียน -เท่าติ่งหู เริ่มบังคับใช้ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 อนุญาตให้นักเรียนชาย-หญิงไว้ผมสั้นหรือยาวได้ โดยห้ามดัด ย้อมสี ไว้หนวดเครา หรือตัดแต่งเป็นลวดลายที่ไม่เหมาะสม ต้อนรับเปิดเทอมหลังจากปิดนานกว่า 5 เดือน

ระเบียบ ศธ. ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน เป้าหมายให้นักเรียนมีอิสระในการเลือกไว้ทรงผมมากขึ้น แต่ยังคงข้อจำกัดบางอย่างเอาไว้ เช่น ระบุว่า ข้อ 4 นักเรียนชายจะไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาวด้านข้าง ด้านหลังต้องยาวไม่เลยตีนผม ด้านหน้าและกลางศีรษะให้เป็นไปตามความเหมาะสมและมีความเรียบร้อย ขณะที่นักเรียนหญิงจะไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาวให้เป็นไปตามความเหมาะสมและรวบให้เรียบร้อย

หรือ ระบุว่า ข้อ 5 ห้ามนักเรียนดัดผม ย้อมสีผมให้ผิดไปจากเดิม ไว้หนวดหรือเครา หรือการกระทำอื่นใดซึ่งไม่เหมาะสมกับสภาพการเป็นนักเรียน เช่น การตัดแต่งทรงผม เป็นรูปทรงสัญลักษณ์หรือเป็นลวดลาย แต่ก็มีการกำหนดไว้ว่า อนุโลมระเบียบข้อที่ 4 และ 5 ให้กับนักเรียนที่มีเหตุผลความจำเป็นในการปฏิบัติตามหลักศาสนาของตน หรือการดำเนินกิจกรรมของสถานศึกษา โดยให้โรงเรียนเป็นผู้พิจารณา

เกิดคำถามตามมาว่าในทางปฏิบัติจะแตกต่างไปจากเดิมอย่างไร แล้วมีประสิทธิภาพในการบังคับใช้มากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาฯ เพียงกำหนดเกณฑ์พื้นฐาน และให้โรงเรียนแต่แห่งสามารถกำหนดรายละเอียดเพิ่มเติมได้เอง ซึ่งในตอนท้ายของระเบียบดังกล่าวระบุว่า ข้อ 6 ในระเบียบดังกล่าว ระบุเอาไว้ว่า “ให้หัวหน้าสถานศึกษาเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาอนุญาต” แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องไม่ขัดกับกฎกระทรวงฯ

อย่างไรก็ตาม องค์กรต่อต้านทรงผมนักเรียนไทย วิพากษ์ระเบียบว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 จะสามารถนำไปใช้จริงได้หรือไม่ เพราะต้องขึ้นอยู่กับการให้ความร่วมมือของผู้ควบคุมสถานศึกษา เทียบเคียงกรณีที่ ศธ. ออกหนังสือกำหนดแนวทางการปฏิบัติกฎทรงผมนักเรียน เมื่อปี พ.ศ.2556 ซึ่งกำหนดให้ยกเลิกทรงผมนักเรียน และอนุญาตให้ไว้ทรงผมอย่างรองทรงได้ แต่ก็ยังมีหลายสถาบันยังคงมีการบังคับตัดผมทรงนักเรียนอยู่ดี


องค์กรต่อต้านทรงผมนักเรียนไทย มองว่านักเรียนควรมีสิทธิ์ไว้ผมยาวหรือสั้น และหรือกระทำการใดๆ กับผมของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการตัด แต่ง หรือย้อมสีผม แม้ระเบียบดังกล่าวเป็นอีกก้าวของกฎระเบียบทรงผมนักเรียน แต่ถือว่ายังเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของนักเรียนอยู่ ภายใต้หลักสิทธิมนุษยชน

อีกประเด็นเกี่ยวกับการศึกษาไทยว่าด้วยเรื่องเครื่องแบบนักเรียน เหรียญสองด้านที่มีการถกเถียงกันมาอย่างยาวนาน ฝ่ายหนึ่งมองว่าการให้นักเรียนทุกคนใส่ชุดนักเรียน เพื่อแสดงถึงความเสมอภาคทางการศึกษาและแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ แต่ก็เพิ่มค่าใช้จ่ายโดยไม่สมควร ทั้งนี้ ชุดนักเรียนอาจมีราคาถูก ไม่ต้องปรับเปลี่ยนตามแฟชั่นเหมือนเสื้อผ้าทั่วไป แต่บางโรงเรียนมีการผูกขาดเครื่องแต่งกายนักเรียนกำหนดให้ซื้อเฉพาะจากหนึ่งแถมมีราคาแพง

อีกฝ่ายหนึ่งมองว่าการที่นักเรียนสวมใส่ชุดนักเรียนไม่สามารถลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ หรือสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาได้ เพราะมีปัจจัยอื่นๆ ประกอบอยู่หลายประการ ซ้ำร้ายยังเป็นการซ้ำเติมพ่อแม่ผู้ปกครอง ต้องแบกรักษาค่าใช้จ่ายลูกหลานในยามเปิดเทอมเพิ่มขึ้น ตามที่ปรากฏเป็นข่าวดังแม่ขโมยชุดนักเรียนในห้างให้ลูกใส่ไปโรงเรียน เป็นต้น

จุดชนวนให้พรรคการเมืองหนึ่งขันอาสาเรียกร้องให้ ศธ. ออกประกาศกระทรวงฯ ให้โรงเรียนทั่วประเทศเพิ่มความยืดหยุ่นต่อการแต่งกายของนักเรียนในปีการศึกษานี้ ด้วยภาวะเศรษฐกิจช่วงวิกฤตโควิด-19 ระบาดที่ส่งผลให้มีผู้ปกครองจำนวนมากประสบปัญหาขาดรายได้ ตกงาน เป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษา ส่วนประเด็นยกเลิกชุดนักเรียนยังคงต้องมีการถกเถียงกันอีกนาน

สำหรับข้อเรียกร้องต่างๆ นานา เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์ในระบบการศึกษาไทย เป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาฯ ต้องรับฟังเพื่อพิจารณาปรับแนวทางให้สอดคล้องกับยุคสมัยอย่างมีประสิทธิภาพ




กำลังโหลดความคิดเห็น