xs
xsm
sm
md
lg

เรียนแบบ New Normal ก็ต้องเปลี่ยนวิธีประเมินด้วย !/ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปีนี้น่าจะเป็นปีแรกที่บรรดานักเรียนแทบทุกคน ทุกระดับชั้น อยากไปโรงเรียน และพ่อแม่ผู้ปกครองก็ลุ้นให้โรงเรียนเปิดเทอมโดยเร็ว หลังจากปิดเทอมมายาวนานเพราะสถานการณ์โควิด-19

วันเปิดเทอมใหม่คือวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 จึงเป็นวันเปิดเทอมที่มีการตื่นตัวกันมากที่สุด !

เพราะต้องมีการปรับตัวกันหมดทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน เพื่อต้อนรับปรับสู่วิถีแบบ New Normal ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก กลาง หรือใหญ่ก็ต้องเตรียมมาตรการให้เหมาะสมกับขนาดและวัยของเด็ก

มาตรการหลัก ๆ ที่ทุกโรงเรียนเตรียมการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในสถานศึกษา ประกอบด้วย

หนึ่ง – มีมาตรการคัดกรองวัดไข้ก่อนเข้าสถานศึกษา

สอง – สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา

สาม – เตรียมจุดล้างมือ หรือเจลแอลกอฮอล์อย่างเพียงพอ

สี่ – จัดระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1-2 เมตร

ห้า – ทำความสะอาดฆ่าเชื้อภายในบริเวณห้องเรียน และพื้นผิวสัมผัสร่วม

หก – เลี่ยงการจัดกิจกรรมกลุ่มคนจำนวนมาก ให้เหลื่อมเวลา และลดเวลาทำกิจกรรม

ในขณะที่การจัดการเรียนการสอนก็มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบเพื่อให้ปลอดภัยด้วย

โดยโรงเรียนที่สังกัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) ทั้ง 437 แห่ง ยังเน้นให้ครูเป็นผู้สอนและดูแลนักเรียนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับชั้นเด็กเล็ก อนุบาลถึงป. 3 หรือโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนไม่เกิน 400 คน จะให้เด็กไปเรียนตามปกติทุกวัน

ส่วนชั้นเรียนเด็กโต ระดับชั้น ป. 4 - ม. 6 หรือโรงเรียนขนาดกลางและขนาดใหญ่ ซึ่งมีนักเรียนมากกว่า 400 คนขึ้นไป จะเป็นการเรียนแบบผสมผสาน โดยให้โรงเรียนพิจารณาความเหมาะสม ทั้งการเรียนในชั้นเรียนแบบปกติและสลับวันเรียน หรือการสลับวันมาเรียนทั้งหมด ซึ่งวันที่นักเรียนไม่ได้มาเรียน ก็จะมีการเรียนการสอนออนไลน์ หรือมอบแบบฝึกหัดและการบ้าน ใบงาน หรือกิจกรรมต่าง ๆ ให้ทำระหว่างอยู่ที่บ้าน

เรียกว่าเปิดเทอมคราวนี้ ทั้งนักเรียน ผู้ปกครอง และครู ต้องปรับตัวในเรื่องของการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ด้วยกัน

ในขณะที่โรงเรียนในสังกัดอื่น ๆ ทั่วประเทศต่างก็มีแผนการเตรียมรับมือที่คล้ายคลึงกัน จะแตกต่างก็ในรายละเอียดของรูปแบบการเรียนการสอน ที่โรงเรียนบางแห่งจำกัดจำนวนนักเรียนห้องละประมาณ 20 คน ฉะนั้น โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนต่อห้องจำนวนมาก ก็จะมีการสลับวันกันไปโรงเรียน เพื่อลดความแออัดและความเสี่ยง ส่วนเด็กที่อยู่บ้านก็ใช้วิธีเรียนออนไลน์

ส่วนใหญ่โรงเรียนทุกแห่งให้ความร่วมมือ และพยายามหาทางปรับตัวให้เหมาะกับสถานศึกษานั้น ๆ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่โรงเรียนเตรียมคือมาตรการความปลอดภัย

แต่สิ่งสำคัญที่อยากจะย้ำไม่ใช่แค่เรื่องความปลอดภัย แต่อยากให้เน้นเรื่อง “เนื้อหาการเรียนรู้” ด้วย

เนื้อหาการเรียนรู้ในสถานการณ์โควิด-19 ควรจะมีการปรับให้ยืดหยุ่นและเหมาะสมกับสถานการณ์ ซึ่งหมายรวมถึงวิธีการประเมินการเรียนการสอนด้วย เพราะเมื่อสถานการณ์วิกฤติ การเรียนรู้เปลี่ยนไป มีความยืดหยุ่นมากขึ้น การประเมินก็ต้องเปลี่ยนด้วย

การให้เกรดแบบเดิม ๆ และการประเมินผลจากการสอบ ยังจำเป็นแค่ไหนในสถานการณ์เช่นนี้ ?

แล้วจะดีกว่าไหมถ้าการศึกษาแบบวิถีใหม่นี้ การประเมินจะถูกเปลี่ยนจาก “การประเมินผลการเรียนจากการสอบ” ไปเป็น “การประเมินผลจากการเรียนรู้” ทำให้การประเมินผลในวิถีการศึกษาใหม่เน้นที่การทำความเข้าใจ ไม่ใช่การตัดสินด้วยการสอบอย่างเดียว !

“ความปกติใหม่” ของการประเมินผลควรเป็นการให้น้ำหนักแบบใหม่ เพราะต้องคำนึงถึงภาพรวมด้วยว่าสถานการณ์ของโควิด-19 ที่ทำให้นักเรียนไม่ได้ไปโรงเรียน ครูจัดการเรียนการสอนเหมือนเดิมไม่ได้ การเรียนแบบออนไลน์ก็ไม่สามารถทำได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

ฉะนั้น เราควรจะต้องมีวิธีคิดในการออกแบบโดยให้น้ำหนักกับสิ่งที่สำคัญต่อการเรียนรู้ของนักเรียน มากกว่าต้องเรียนรู้ตามหลักสูตรเดิม หรือเงื่อนไขที่ถูกกำหนดเพื่อตอบสนองนโยบาย หรือแนวคิดที่ไม่สอดคล้องกับการเรียนรู้ของนักเรียน

การปรับน้ำหนักในการประเมินผลควรคำนึงถึงอะไรบ้าง

ประเด็นแรก – ควรให้น้ำหนักกับการปฏิสัมพันธ์ที่มีคุณภาพระหว่างการเรียนรู้ของครูและนักเรียน มากกว่าจำนวนชั่วโมงที่นักเรียนอยู่ในห้องเรียน หรือเรียนผ่านสื่อออนไลน์ เพราะการเรียนรู้จะต้องทำรูปแบบผสมผสานทั้งเรียนในห้องเรียนและเรียนออนไลน์

ประเด็นที่สอง – ควรให้น้ำหนักกับการเรียนรู้ที่เกิดจากความเข้าใจและเชื่อมโยงกับความสนใจของนักเรียนเป็นรายบุคคล มากกว่าการเรียนรู้ที่อิงตามมาตรฐานแบบเดียวกันทั้งประเทศ ระดับนโยบายต้องให้ความสำคัญกับระดับพื้นที่ ระดับโรงเรียน ให้แต่ละพื้นที่มีวิธีประเมินผลเบื้องต้นของตัวเอง

ประเด็นที่สาม – ควรให้น้ำหนักกับการประเมินผลแบบ Formative Assessment คือประเมินระหว่างจัดการเรียนรู้ของนักเรียน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการปรับปรุงและพัฒนา จะเน้นที่ตัวผู้เรียนเป็นสำคัญเพื่อพัฒนาผลการเรียนรู้ให้ได้ผลลัพธ์ที่ดี มากกว่าแบบ Summative Assessment คือ การประเมินผลสรุป ซึ่งประเมินเมื่อสิ้นสุดการจัดการเรียนรู้เพื่อตัดสินคุณภาพ แนวทางการประเมินจะให้เป็นคะแนนและเกรด ทำให้เน้นเรื่องการจำแนกสติปัญญาของผู้เรียน แต่ไม่ได้มุ่งเน้นส่งเสริมผลลัพธ์ที่ดี

การสร้างความปกติใหม่สามารถทำได้โดยเริ่มจากการปรับมุมมองของผู้กำหนดนโยบาย ปรับกระบวนการทำงานของบุคลากรทางการศึกษา สร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ รวมถึง ถอดบทเรียนองค์ความรู้จากทั้งในและต่างประเทศที่มีตัวอย่างมากมายอยู่ในขณะนี้

แม้ไม่มีโควิด-19 ระบบการศึกษาไทยก็จะต้องเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยทั้งด้านเศรษฐกิจ โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลง หรือแม้แต่ด้านเทคโนโลยีที่เกิด Disruptive Technology และเจ้าโควิด-19 เป็น ตัวเร่งปฏิกิริยาที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น

ไหน ๆ จะปรับเปลี่ยนกันทั้งทีแล้ว อย่าทำกันแค่ “รูปแบบ” แต่ต้องทำลึกลงไปใน “เนื้อหา” ด้วย

ไม่อย่างนั้นก็จะเป็น “New” Normal ได้แค่ชื่อ แต่สารัตถะแล้ว “Old” เหมือนเดิม



กำลังโหลดความคิดเห็น