xs
xsm
sm
md
lg

ร.ร.ทุกสังกัดผ่านประเมิน 85% พร้อมเปิดเรียน 1 ก.ค. สธ.เตรียมส่งทีมช่วยเหลือให้ผ่านเกณฑ์ใน 2 สัปดาห์ ให้เด็กกลับมาเรียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมอนามัย เผย ร.ร.ทุกสังกัด 3.84 หมื่นโรง ประเมินความพร้อมป้องกัน “โควิด แล้ว 3.3 หมื่นโรง ผ่านประเมินทุกข้อ 85% ทยอยขอ ศธจ.- คกก.โรคติดต่อจังหวัด อนุญาตเปิดเรียน 1 ก.ค. ส่วนที่ยังไม่ผ่านยังเปิดเรียนไม่ได้ เตรียมส่งทีมช่วยเหลือให้ผ่านภายใน 2 สัปดาห์ พร้อมติดตามใกล้ชิดการควบคุมโรค จัดผู้พิทักษ์อนามัย ร.ร.ช่วยดู ด้าน ร.ร.อนุบาลพิบูลเวศม์-ร.ร.วัดเขมาฯ พร้อมเปิดเรียน 100% วางมาตรการเข้มสกัดแพร่โรค

วันนี้ (30 มิ.ย.) พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงการเตรียมเปิดเทอมวันที่ 1 ก.ค.นี้ ว่า เรามีการใช้แพลตฟอร์ม Thai Stop COVID ตรวจประเมินความพร้อมสถานศึกษา 44 ข้อ แบ่งเป็น มาตรการหลัก 20 ข้อ และมาตรการเสริม 24 ข้อ โดยโรงเรียนทั้งประเทศมีจำนวน 38,450 โรง ประเมินเบื้องต้น 33,597 โรงในทุกสังกัด ทั้งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) กศน. และโรงเรียนพระปริยัติธรรม ซึ่งโดยส่วนใหญ่ 85.7% ผ่านมาตรการทั้ง 44 ข้อ ส่วนที่ยังไม่ผ่านมาตรการข้อใดข้อหนึ่งใน 20 มาตรการหลัก จะต้องผ่านให้พร้อมก่อนเปิดเรียน

พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดในสถานศึกษา 6 มาตรการ คือ 1. คัดกรองวัดไข้และอาการเสี่ยงก่อนเข้าสถานศึกษา ขอความร่วมมือคุณพ่อคุณแม่คุยกับทางโรงเรียนในจุดรับส่ง ถ้าร่วมมือได้ดี เด็กจะเข้าสู่โรงเรียนได้สะดวกยิ่งขึ้น 2. การสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาเมื่ออยู่ในสถานศึกษา ต้องแนะนำให้เข้าใจ หากรู้สึกอึดอัดสามารถขยับหน้ากากผ้าบางเวลาได้ 3. จุดล้างมือ ซึ่งเด็กในโรงเรียนจะถูกฝึกเป็นประจำ 4. การจัดชั้นเรียนแบบมีระยะห่าง 5. ทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสบ่อยๆ ที่ใช้ร่วมกัน อะไรที่เตรียมมาจากที่บ้านเป็นอุปกรณ์ส่วนตัวได้ก็จะช่วยลดปัญหา และ 6. ลดความแออัด ไม่จัดกิจกรรมที่มีการสัมผัสร่วมกัน


“ขณะนี้เหลือโรงเรียนจำนวนไม่มากที่ยังไม่ได้ลงไปดู แต่ภายใน 2 สัปดาห์แรกของการเปิดเรียนวันที่ 1 ก.ค. ซึ่งเราออกแนวทางมาตรการการควบคุมโรค ก็จะมีการทำงานร่วมมือกันระดับพื้นที่ทุกจังหวัด มีกลไกกำกับติดตามตามปกติ และมีทีมงานจิตอาสาผู้พิทักษ์อนามัยโรงเรียน ลงไปช่วยดู 20 มาตรการหลัก และแนวทางการควบคุมโรค นอกจากนี้ ครูต้องบันทึกการเจ็บป่วยของเด็กทุกวัน ซึ่งปกติทำอยู่แล้ว แต่จะเน้นย้ำกลุ่มอาการเสี่ยง เช่น ไข้ ไอ จาม อาการใกล้เคียงกลุ่มโรคเกี่ยวกับโควิดทั้งหมด ซึ่งทางสาธารณสุขก็จะรับทราบ แต่ถ้าเมื่อไรมีเด็กเจ็บป่วยพร้อมกัน ไอ จาม มีไข้พร้อมกัน 5 รายขึ้นไป ครูจะรายงานไปยังหน่วยงานสาธารณสุขที่อยู่คู่กันทันที เพื่อลงไปดูแลเด็ก ควบคุมโรคโดยเร็ว ลดความเสี่ยงที่จะป่วยจากโควิด หรือหากเจ็บป่วยจะไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในโรงเรียน” พญ.พรรณพิมล กล่าว

พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า การเตรียมแผนรองรับกรณีพบผู้เรียนเป็นผู้ป่วยยืนยันโควิด คือ ต้องมีช่องทางติดต่อกับผู้ปกครอง และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข มีการจัดพื้นที่แยกส่วน การส่งต่อสถานบริการสาธารณสุข การปิดห้องเรียนหรือปิดสถานศึกษา และการทำความสะอาด ทั้งนี้ ถ้ามีเด็กสงสัยจำเป็นต้องแยกเด็กออกจากชั้นเรียนมาพื้นที่แยกก่อน เพื่อให้ทีมสาธารณสุขลงไปดำเนินการ หากวินิจฉัยว่าเป็นโควิดจะมีวิธีการควบคุมโรคลงไปสนับสนุนโรงเรียน ขอให้ความมั่นใจว่าเราจะทำงานคู่ขนานกัน เช่น ถ้า 1 คนติดโควิด จะดูต่อว่าเป็นห้องชั้นเรียนเดียวหรือไม่ ถ้าใช่ก็หยุดชั้นเรียนนั้น และจัดการความสะอาด ดูแลควบคุมสังเกตอาการทุกคนในห้องเรียนเดียวกัน ถ้าเป็น 2-3 คน แสดงว่ากระจายตัวมากกว่า 1 ชั้นเรียนก็จำเป็นต้องปิดทั้งโรงเรียนเพื่อมั่นใจว่าควบคุมโรคและจำกัดวงของโรคได้


ดร.พีรานุช ไชยพิเดช ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลพิบูลเวศม์ กล่าวว่า โรงเรียนมีความพร้อม 100% ในการเปิดเทอมวันที่ 1 ก.ค. ขณะนี้เราผ่านการประเมินทั้ง 44 ข้อแล้ว และเสนอไปยังคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) และได้รับการอนุมัติให้เปิดเรียนในรูปแบบผสมผสาน ทั้งนี้ การคัดกรองขอให้ผู้ปกครองช่วยดูอาการลูกก่อนออกจากบ้าน หากมีแนวโน้มป่วยก็ขอให้พักก่อน หากมาถึงจุดคัดกรองเจอนักเรียนอุณหภูมิสูงเกิน 37.5 องศาเซลเซียส จะมีห้องพยาบาลแยกนักเรียนไว้ เพื่อส่งผู้ปกครอง หรือโรงพยาบาล จากทดลองวันที่ 27 มิ.ย. ในการสลับมาเรียน พบว่า เด็กมีความเข้าใจในการสวมหน้ากากตลอดเวลา การคัดกรอง การทำกิจกรรม การล้างมือครบ 7 ขั้นตอน ส่วนการเว้นระยะห่างดำเนินการทั้งในห้อง นอกห้อง มีการทำจุดสัญลักษณ์เพื่อให้เว้นระยะ ทำความสะอาดฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อทุกวันศุกร์ การลดความแออัด เราจัดกิจกรรมให้เด็กเหลื่อมเวลาพักกลางวัน งดกิจกรรมที่ต้องรวมเป็นกลุ่ม ใช้การเรียนการสอนผสมผสานเพื่อลดการแออัดของนักเรียน


ดร.จรุญ จารุสาร ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม จ.นนทบุรี กล่าวว่า โรงเรียนมีความพร้อมเปิดภาคเรียนแล้ว เนื่องจากโรงเรียนเราเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษ ต้องแบ่งนักเรียนมาเรียนแน่นอน จึงมีการประชุมคณะครูเพื่อวางแผนการเรียนการสอน โดยเลือกวิธีเรียนแบบผสมผสาน ส่วนหนึ่งมาเรียนที่โรงเรียน บางส่วนมาเรียนที่บ้าน ส่วนมาตรการความปลอดภัย เราผ่านการประเมินทั้ง 44 ข้อ เรามีการใช่เครื่องวัดอุณหภูมิอัตโนมัติ หากเกิน 37.5 องศาเซลเซียส เครื่องจะร้อง ก็จะแยกตัวเพื่อวัดซ้ำ หรือทำตามมาตรการสาธารณสุขต่อไป มีการทำความสะอาดใหญ่ก่อนเปิดเรียน สำหรับการเว้นระยะห่าง เมื่อจัดแล้ว ทำให้สามารถมาเรียนได้ทุกวัน 17 ห้องเรียน ส่วนอีก 75 ห้องเรียน จะแบ่งนักเรียนเป็น 2 กลุ่มในการมาเรียน ซึ่งเราประชาสัมพันธ์ถึงผู้ปกครองนักเรียนให้ดูว่าตัวเองอยู่กลุ่มไหน ต้องมาเรียนวันไหน ตารางเรียนขึ้นให้อย่างชัดเจน และผ่านสื่อต่างๆ ของโรงเรียน

ดร.จรุญ กล่าวว่า แม้จะสลับกันมาเรียน แต่จากการประเมินในวันหนึ่งจะมีนักเรียนมาเรียนประมาณ 1,900 คน ซึ่งโรงอาหารเราจะแบ่งเป็น 2 รอบ คือ รอบ ม.ต้น กับ ม.ปลาย มีการประชุมแม่ค้า ผู้ประกอบการถึงมาตรการความปลอดภัย โต๊ะมีการทำฉากกั้น เว้นระยะห่าง และจัดเพิ่มโรงอาหารชั่วคราว การล้างมือ มีการติดตั้งเจลล้างมือกับอ้างล้างมือแบบเท้าเหยียบเพิ่มขึ้น ติดเครื่องจ่ายแอลกอฮอล์อัตโนมัติทั่วโรงเรียนที่คิดว่าเดินผ่านแล้วมาใช้ รวมถึงในห้องเรียน ห้องน้ำ มีมาตรการทำความสะอาด มีสบู่เหลวเพียงพอ ห้องปฏิบัติการต่างๆ มีตารางทำความสะอาดทุกชั่วโมง ส่วนกิจกรรมที่ต้องรวมกลุ่ม เครื่องเล่น ของดไว้ก่อน ให้สถานการณ์ดีขึ้นกว่านี้ก่อน เราถึงจะดำเนินการจัดได้ เรื่องเครื่องเล่น ร.ร.มัธยม เราให้ไปเรียนรู้ในวิชาสุขศึกษาแทน เราพร้อมดูแลนักเรียนทุกคนเต็มกำลัง เพื่อจะได้มาเรียนครบถ้วน และปลอดภัย


เมื่อถามถึงกรณีโรงเรียนที่ยังไม่ผ่านการประเมิน จะกระทบเรื่องของการเปิดการเรียนการสอนหรือไม่ พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า ข้อที่ไม่ผ่าน หรือเป็นข้อจำกัด ส่วนใหญ่คือ การเว้นระยะห่าง โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดใหญ่ แต่ตอนนี้เรามีต้นแบบของโรงเรียนทุกขนาดแล้ว อย่างโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษก็มี ร.ร.วัดเขมาภิรตาราม ในการจัดการเรียนแบบออนไซต์ และออนไลน์ อย่างไรก็ตาม โรงเรียนที่ผ่านการประเมินแล้วก็จะเสนอไปยังต้นสังกัดของสถานศึกษา และส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เพื่อขออนุญาตเปิดเรียน ส่วนที่ยังไม่ผ่านการประเมินก็ยังไม่สามารถเปิดเรียนได้ หากยังไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งโรงเรียนเองก็ต้องรีบปรึกษาต้นสังกัดเพื่อเร่งแก้ไขให้ผ่าน โดยทางสาธารณสุขก็จะลงไปให้คำแนะนำปรึกษาและช่วยเหลือเพื่อให้ผ่านด้วย ซึ่งจะพยายามดำเนินการให้เสร็จใน 2 สัปดาห์แรกหลังเปิดเทอม เพื่อให้เด็กทุกคนได้ไปเรียน


กำลังโหลดความคิดเห็น