หลังจากปลดล็อกให้โรงเรียนขนาดเล็กไม่เกิน 120 คน โรงเรียนตระเวนชายแดน โรงเรียนนานาชาติ และโรงเรียนกวดวิชา เปิดการเรียนการสอนไปตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย. ที่ผ่านมา คราวนี้ถึงคิวของโรงเรียนทุกสังกัดทั่วประเทศที่จะกลับมาเปิดเทอมหรือเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 พร้อมกันในวันที่ 1 ก.ค.ที่จะถึงนี้
ความปลอดภัยในการเปิดเรียนนั้น กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ออกคู่มือการปฏิบัติสำหรับสถานศึกษา ได้แจกจ่ายไปยังทุกโรงเรียนแล้ว โดยด้านความปลอดภัยจากการลดการแพร่เชื้อโรค มีข้อกำหนด 20 ข้อ โรงเรียนต้องสามารถทำครบทุกข้อถึงจะเปิดเรียนได้
แม้จะมีการวางมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันโรคโควิด-19 แต่ยังมีอยู่ 6 เรื่องใหญ่ ที่ไม่อาจมองข้าม และต้องบริหารจัดการอย่างดี เพื่อลดความเสี่ยงในการติดโรคภายในโรงเรียน คือ
1. รถโรงเรียน ถือเป็นความเสี่ยงอย่างมาก เพราะต้องอยู่ร่วมกันบนรถในการเดินทางไปกลับ ดังนั้น รถโรงเรียนต้องมีมาตรการ คือ นั่งเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากตลอดการเดินทาง ทำให้รถ 1 คันรองรับจำนวนนักเรียนได้น้อยลง บางโรงเรียนอาจต้องเพิ่มจำนวนรถ ซึ่ง ศธ.ได้มอบงบประมาณให้โรงเรียนแล้ว แต่บางโรงเรียนที่มีเด็กเยอะต้องสลับกันมาเรียน ก็อาจลดปัญหาตรงนี้ลงไปได้บางส่วน หากบริหารจัดการในส่วนนี้ไม่ดี อาจเกิดการติดเชื้อภายในรถได้
2. กลุ่มเด็กเล็ก คือ เด็กปฐมวัยจนถึง ป.1-2 กลุ่มนี้ยังดูแลได้ยาก เนื่องจากความรับผิดชอบต่อตัวเองยังน้อย ครูต้องดูแลใกล้ชิด และเป็นเรื่องยากที่ห้ามเด็กคลุกคลีเล่นกัน จึงต้องจับเด็กเป็นกลุ่มเล็กๆ และให้เด็กอยู่ในกลุ่มของตัวเอง ส่วนการนอนกลางวัน ก็ต้องนอนห่างกัน 1.5 เมตร และปรับโดยการนอนเอาเท้าชนกัน เพื่อไม่ให้เอาศีรษะมาชนหรือใกล้กันกัน ส่วนตอนนอนไม่ต้องสวมหน้ากาก
3. อาหารกลางวัน เป็นเรื่องของแออัด เนื่องจากโรงอาหารมีพื้นที่จำกัด หากปล่อยให้เด็กลงมาพักเที่ยงพร้อมกัน ก็จะเกิดความแออัด และเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ ทุกโรงเรียนจะต้องมีการเหลื่อมเวลาในการพักกลางวัน เช่น แบ่งเป็น 4 ผลัด รอบ 11.00 น. 11.30 น. 12.00 น. และ 12.30 น. เป็นต้น ซึ่งโรงเรียนสามารถแบ่งผลัดได้ตามจำนวนนักเรียนที่มี และการจัดพื้นที่นั่งในโรงอาหารก็ต้องมีการเว้นระยะห่างด้วย
4. การทำความสะอาดพื้นผิวต่างๆ ต้องเพิ่มการทำความสะอาด โดยเฉพาะโต๊ะ เก้าอี้ อุปกรณ์เครื่องมือในการเรียนการสอน ทั้งอาชีวศึกษา หรือระดับชั้นเล็ก ที่มีอุปกรณ์ในการทำกิจกรรมต่างๆ ต้องทำความสะอาดทันทีหลังใช้งานเสร็จ ก่อนที่จะมีนักเรียนมาใช้ใหม่ เพราะเชื้อสามารถตกลงบนผิวสัมผัสเหล่านี้ หากสัมผัสร่วมกันและนำมือที่มีเชื้อมาจับหน้าตา จมูก ปาก ก็มีโอกาสรับเชื้อต่อกันได้
5. การสอบสวนโรคในโรงเรียนทำได้ดีแค่ไหน เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะหากระบบที่วางไว้ไม่ดี อาจเกิดการระบาดใหญ่เป็นกลุ่มก้อนในโรงเรียน หรืออาจนำเชื้อไปติดสู่คนในบ้านของนักเรียนและครูได้ โดยคนที่ต้องสงสัยติดโควิด-19 ให้ส่งต่อสาธารณสุขทันที ห้ามนำนักเรียนพักห้องพยาบาล เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ ถ้าตรวจไม่พบก็กลับมาเรียนได้ ถ้าพบต้องรักษา โรงเรียนหยุด 3 วันเพื่อทำความสะอาด และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะมาดูว่าใครสัมผัสใกล้ชิด และให้หยุดดูอาการ 14 วัน และเรียนที่บ้าน ซึ่ง ศธ.จะให้สถานศึกษาต้องใช้ไทยชนะในการลงทะเบียน ส่วนเด็กที่ไม่มีโทรศัพท์ก็จะใช้วิธีการจดชื่อว่าใครนั่งใกล้ใคร เพื่อตรวจสอบย้อนหลังได้
6. โรงเรียนชายขอบที่จะมีการข้ามแดนมาเรียนนั้น อาจนำเชื้อมาติดได้ ซึ่งขณะนี้ยังไม่อนุญาตให้มีการข้ามแดนมาเรียน แต่หากจะมาเรียนต้องเข้ามากักตัว 14 วันและอยู่ในเมือไทยตลอด แต่หากไม่ข้ามมา ก็จะช่วยเหลือโดยประสานด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ครูเอาใบงานไปใส่ในกล่องที่ ตม. และให้เด็กมาเอาใบงานและเอาการบ้านมาส่ง โดยไม่ต้องเจอกัน
ดังนั้น การเปิดเทอมที่จะถึงนี้แค่ Back to School ตามปกติ แต่ต้องเป็น Back to Healthy School ที่ต้องคำนึงถึงสุขภาพ การป้องกันการแพร่ระบาดด้วย และด้านวิชาการ เด็กก็ต้องได้เรียนอย่างทั่วถึง เนื้อหาครบถ้วนตามหลักสูตร ไม่ตกหล่น
โดยแนวทางปฏิบัติสำหรับสถานศึกษาระหว่างเปิดภาคเรียน เพื่อช่วยให้นักเรียนมีสุขภาพที่ดี ห่างไกลจากโรค พ่อแม่ผู้ปกครองลดความกังวล เป็นชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ของการศึกษาไทย คือ
1. คัดกรองสุขภาพ ตรวจอุณหภูมิ โดยจะต้องมีการจุดรับส่งภายนอกโรงเรียนที่ชัดเจน จากนั้นเมื่อจะเข้ามาโรงเรียนต้องผ่านจุดคัดกรอง ตรวจวัดไข้ หากมีไข้ มีอาการ มีประวัติเสี่ยง จะไม่ให้เข้าเรียน แต่ให้พบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างชัดเจน มีจุดล้างมือตั้งแต่ทางเข้า
2. สวมหน้ากาก โดยจะต้องสวมหน้ากากตั้งแต่ออกจากบ้าน และสวมหน้ากากตลอดเวลาที่อยู่ในโรงเรียน หากไม่เตรียมมาโรงเรียนจะจัดเตรียมไว้ให้ 3. จัดสถานที่ล้างมือ จัดเตรียมสบู่ แอลกอฮอล์เจล เพื่อให้สามารถล้างมือได้อย่างทั่วถึง 4. ทำความสะอาดโต๊ะ ที่นั่ง ถ้าเป็นอาชีวศึกษาที่มีเครื่องมือก็ต้องทำความสะอาดก่อนคนถัดไปมาใช้ รวมไปถึงอุปกรณ์กีฬาต่างๆ ก็ต้องมีการทำความสะอาด 5. เว้นระยะห่าง 1.5 เมตรของห้องเรียน และ 6. ลดความแออัด
ส่วนในด้านวิชาการนั้น แน่นอนว่าการเว้นระยะห่างโดยเฉพาะภายในห้องเรียน ย่อมทำให้โรงเรียนบางแห่งไม่สามารถรองรับนักเรียนทุกคนได้ การจัดการเรียนการสอนจึงต้องทำให้เด็กได้รับการเรียนรู้ที่ครอบคลุม ครบถ้วน ไม่ตกหล่น
จากข้อมูลพบว่า ในส่วนของโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่มีจำนวนมากที่สุดถึง 3.4 หมื่นกว่าโรง สามารถจัดมาตรการเว้นระยะห่าง 1.5 เมตรในห้องเรียน และให้นักเรียนทุกชั้นมาเรียนที่ห้องตามปกติครบทุกคนได้ 3.1 หมื่นโรง ส่วนอีก 4.5 พันโรง เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ ยังต้องสลับกันมาเรียน ซึ่งแนวทางการจัดการเรียนการสอนจะเป็นแบบผสมผสาน แล้วแต่การบริหารจัดการของโรงเรียน เช่น เรียน 5 วันหยุด 9 วัน หรือเรียนอาทิตย์เว้นอาทิตย์ หรือเรียนสลับเช้าบ่าย สลับวันคู่วันคี่ เป็นต้น โดยนักเรียนที่ต้องเรียนที่บ้านก็จะให้เรียนผ่านรูปแบบออนแอร์และออนไลน์
ขณะที่โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) จำนวน 437 โรง จะเน้นให้ครูเป็นผู้สอนและดูแลนักเรียนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะระดับชั้นเด็กเล็ก คือ อนุบาล - ป. 3 หรือโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนไม่เกิน 400 คน จะให้เด็กมาเรียนตามปกติทุกวัน
ส่วนชั้นเรียนเด็กโต ระดับชั้น ป.4 - ม.6 หรือโรงเรียนขนาดกลางและขนาดใหญ่ ซึ่งมีนักเรียนมากกว่า 400 คนขึ้นไป จะเป็นการเรียนแบบผสมผสาน โดยให้โรงเรียนพิจารณาความเหมาะสม ทั้งการเรียนในชั้นเรียนแบบปกติและสลับวันเรียน หรือการสลับวันมาเรียนทั้งหมด ซึ่งวันที่ไม่ได้มาเรียน ก็จะมีการเรียนออนไลน์ หรือมอบแบบฝึกหัดและการบ้าน ใบงาน หรือกิจกรรมต่างๆ ให้ทำ หรือการสอนชดเชยกลุ่มเล็กที่โรงเรียนในกรณีจำเป็น เพื่อลดความแออัด
การเปิดเทอมอย่างปลอดภัย จึงต้องอาศัยความร่วมมือ 3 ฝ่าย คือ โรงเรียน ต้องมีมาตรการป้องกันควบคุมโรค ปิดจุดเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการติดเชื้อ จัดระบบการเรียนการสอนที่ช่วยให้เด็กเรียนได้เท่าเทียมและทันกัน ตัวเด็กนักเรียนต้องร่วมมือในการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรค โดยเฉพาะการสวมหน้ากาก ล้างมือ และเว้นระยะห่างระหว่างกัน ด้านพ่อแม่ผู้ปกครองก็เตรียมพร้อมให้ความใส่ใจดูแล
หากทำได้ตามนี้ โอกาสเกิดการแพร่ระบาดขึ้นในโรงเรียนก็จะน้อยมาก หรือหากมีการติดเชื้อก็จะตรวจจับและจำกัดวงแพร่ระบาดได้ ไม่ให้เกิดการระบาดในวงกว้าง