ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - นับเป็นผลการตัดสินคดีของศาลอาญาที่สังคมให้ความสนใจอย่างยิ่ง เนื่องจากคดีข้อกล่าวหาฉ้อโกงสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ที่มีก๊วนนายศุภชัย ศรีศุภอักษร เป็นหัวหอก โยงใยไปถึงสำนักวัดธรรมกายและสานุศิษย์คนดัง เป็นมหากาพย์ที่มีผู้เสียหายมากมาย มูลค่าความเสียหายกว่าหมื่นล้าน มีคดีทั้งฉ้อโกง ฟอกเงิน ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ทำสำนวนรวม 27 คดี และมีคดีที่ผู้เสียหายรวมตัวกันฟ้องร้องเองอีกด้วย
คดีแรกเป็นหมายเลขดำ อ.1260/2561 ที่ น.ส.นวลฉวี เกตุวัฒนเวสน์ กับพวกรวม 410 คน เป็นโจทก์ฟ้อง สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด และนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น จำกัด เป็นจำเลยที่ 1-2 ในข้อหาฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343
คดีที่สองเป็นคดีหมายเลขดำ อ.235/2562 ที่นายคนอง จุลมนต์ กับพวกรวม 292 คน โดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด กับนายศุภชัย อดีตประธานสหกรณ์ฯ เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 83
ทั้งสองคดี ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา โดยพิเคราะห์ตามพยานหลักฐานแล้ว รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้อง จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย พิพากษายกฟ้อง
ทั้งนี้ หากจะสรุปรวดรัดถึงเหตุผลที่ศาลพิพากษายกฟ้อง ก็คือ สหกรณ์ฯ บอกชัดอยู่แล้วว่ามีสถานะเป็น “สหกรณ์” ไม่ใช่แบงก์ถึงจะโฆษณาว่า “U BANKW ก็ตาม และการดำเนินงานที่ผ่านมายาวนาน สามารถจ่ายดอกเบี้ยให้สมาชิกได้จริง เพิ่งมามีปัญหาในตอนหลัง จึงไม่ได้หลอกลวง ส่วนที่ว่ามีการฉ้อโกง ตกแต่งบัญชี ส่อทุจริต ผู้ฟ้องก็ไม่นำผู้ตรวจการณ์สหกรณ์ มาเบิกความยืนยัน และการดำเนินงานของสหกรณ์ฯ ก็อยู่ในรูปคณะกรรมการฯ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนายศุภชัย เพียงคนเดียวแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ตัวเองนายศุภชัย เองนั้น ตอนนี้ก็ชดใช้กรรมอยู่ในคุก จากคดีที่ก่อนหน้านี้ศาลฎีกาได้พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้จำคุก 7 ปี ฐานยักยอกเงินสหกรณ์ฯ จำนวน 22,132,000 บาท เป็นของตนเองโดยทุจริต ไม่รอลงอาญา
และถึงแม้ว่าสองคดีฉ้อโกงข้างต้น ศาลอาญาจะพิพากษายกฟ้อง และผู้ฟ้องยังสามารถอุทธรณ์ตามกระบวนการยุติธรรมได้ นายศุภชัย ยังมีคดีอาญาที่ถูกฟ้องซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของศาลอีกหลายคดี ทั้งความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนและความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินที่ได้จากการทุจริตสหกรณ์ฯ ด้วย
หากจะย้อนดูว่า นายศุภชัย ยังต้องขึ้นโรงขึ้นศาลอีกกี่มากน้อย ต้องสืบสวนทวนความไปเมื่อประมาณเดือนสิงหาคม ปี 2562 ที่ผ่านมา เมื่อครั้งที่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ขันนอตกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้เร่งคดีสำคัญที่มีผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือคดีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ที่มีการสอบสวนขยายผลไปถึงกระบวนการฟอกเงิน ออกหมายจับผู้หลบหนี และนำคดีขึ้นสู่ชั้นศาล
ช่วงเวลานั้น พันตำรวจเอก ไพสิฐ วงศ์เมือง ซึ่งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้เรียกประชุมหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง แจกแจงที่มาที่ไปของคดีโดยรวมสรุปความได้ว่า คดีพิเศษที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตภายในสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น เกิดเมื่อปี 2556 มีกลุ่มสมาชิกสหกรณ์ฯ ได้เข้าร้องขอให้ดีเอสไอ สอบสวนดำเนินคดีเกี่ยวกับการทุจริตภายในสหกรณ์ฯ โดยกล่าวหา นายศุภชัย ศรีศุภอักษร ซึ่งเป็นอดีตผู้บริหารสหกรณ์ฯ กับพวก ว่ากระทำความผิดฐานยักยอกทรัพย์และ/หรือฉ้อโกงประชาชน
ต่อมา คณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) มีมติในการประชุมเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2556 รับเรื่องดังกล่าวไว้ โดยเป็นคดีพิเศษที่ 146/2556 โดยคดีดังกล่าวมีมูลค่าความเสียหายประมาณ 13,000 ล้านบาท ทางคดีพนักงานอัยการ ได้ให้แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม และยื่นฟ้องนายศุภชัย ฯ กับพวก ในความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้าง ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอาญา
เมื่อปี 2557 ในระหว่างที่สอบสวนคดีพิเศษที่ 146/2556 มีกลุ่มผู้เสียหายที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ เข้าร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีอาญากับนายศุภชัย และผู้เกี่ยวข้องเพิ่มเติมในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน เนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงว่า ระหว่าง พ.ศ.2549 – 2556 มีการตบแต่งบัญชีงบการเงินให้เห็นว่าสหกรณ์ฯ มีผลประกอบการดีจนได้รับรางวัลสหกรณ์ดีเด่น ทำให้ประชาชนทั่วไปหลงเชื่อและนำเงินเข้าฝากกับสหกรณ์เป็นจำนวนมาก ภายหลังมีการนำเงินออกจากสหกรณ์ไปโดยทุจริตดังที่สอบสวนพบ จึงแยกสอบสวนเป็นคดีพิเศษที่ 63/2557 เมื่อทำสำนวนคดีเสร็จ พยานหลักฐานพอฟ้อง อัยการจึงได้ยื่นฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอาญา
สืบเนื่องจากคดีดังกล่าว ต่อมา ในปี 2559 พนักงานอัยการผู้พิจารณาสำนวนได้มีหนังสือแนะนำให้ดีเอสไอ ดำเนินคดีอาญากับผู้ที่มีพฤติการณ์โอน รับโอน หรือได้มาซึ่งทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิดมูลฐาน แล้วปกปิด ซุกซ่อน เปลี่ยนแปลงสภาพทรัพย์สินในความผิดฐานฟอกเงินแยกต่างหากจากคดีอาญามูลฐานเรื่องฉ้อโกงประชาชน
จากนั้น ดีเอสไอ มีการสอบสวนดำเนินคดีในความผิดฐานฟอกเงิน จำนวน 23 คดี ในกลุ่มนี้มีการสอบสวนเสร็จและส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการแล้ว จำนวน 12 คดี และมี 1 คดี ที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐ จึงส่งสำนวนไปยังคณะกรรมการป้องกันการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยยังมีคดีฟอกเงินที่อยู่ระหว่างการสอบสวนอีก 10 คดี
ดีเอสไอ ยังดำเนินคดีกับนายศุภชัย ในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ของสหกรณ์ฯ คิดรวมดอกเบี้ย ตกประมาณ 27 ล้านบาทเศษ เป็นคดีพิเศษที่ 64/2557 อีกคดีหนึ่ง โดยคดีนี้ศาลอาญาพิพากษาจำคุกนายศุภชัยฯ 14 ปี จำเลยให้การสารภาพลดโทษลงกึ่งหนึ่งเหลือ 7 ปี และศาลฎีกา ตัดสินยืนตามศาลอุทธรณ์ ขณะนี้นายศุภชัยฯ ถูกจำคุกตามคำพิพากษาดังกล่าว หากรวมคดีที่สอบสวนดำเนินคดี โดยดีเอสไอ มีทั้งหมด 27 คดี
บ่วงกรรมของนายศุภชัย ซึ่งโยงใยไปถึงพวกพ้อง รวมทั้งเจ้าสำนักวัดธรรมกาย และสานุศิษย์คนดัง เช่น นายอนันต์ อัศวโภคิน เจ้าสัวแลนด์แอนด์เฮ้าส์ ที่อัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องแต่ดีเอสไอมีความเห็นแย้ง จึงเรียกได้ว่ายังอีกยาว