อดีตรองโฆษก ปชป.เชื่อคดี “โอ๊ค” ยื่นอุทธรณ์ใหม่ได้ ยกคำวินิจฉัย อสส.เทียบคำพิพากษาศาลฎีกา การชี้ขาดคดีเป็นอำนาจเฉพาะตัว อสส. ทำแทนไม่ได้ คำสั่งรอง อสส.ไม่ชอบด้วย กม. แนะ DSI ยื่นเพิกถอน บี้ อสส.กวาดบ้านตัวเองก่อนความเชื่อถือล้มละลาย
วันนี้ (2 ก.ค.) นายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง “ชี้ช่องข้อกฎหมาย จุดตาย คดี “โอ๊ค พานทองแท้” ที่จะต้องนับหนึ่งใหม่” มีเนื้อหาระบุว่า คดีนายพานทองแท้ ชินวัตร จำเลยคดีทุจริตฟอกเงินแบงก์กรุงไทยปล่อยสินเชื่อให้บริษัทในเครือกฤษฎามหานคร โดยมีเช็คเงินลงชื่อนายวิชัย กฤษดาธานนท์ อดีตผู้บริหารบริษัที่ได้สินเชื่อจากแบงก์กรุงไทยจำนวน 10 ล้านบาท เข้าบัญชีนายพานทองแท้ ที่ศาลอาญาคดีทุจริตพิพากษายกฟ้อง ซึ่งต่อมานายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด มีคำสั่งชี้ขาดใม่ยื่นอุทธรณ์ ทั้งๆ ที่อธิบดีดีเอสไอมีความเห็นแย้งให้อุทธรณ์ และผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนมีความเห็นแย้งให้ลงโทษจำคุกนายพานทองแท้ แต่คดีกลับจบลงด้วยการใช้ดุลพินิจของรองอัยการสูงสุด ทำให้คดีถึงที่สุดตามกฎหมาย สร้างความเคลือบแคลงสงสัยในการสั่งคดีของรองอัยการสูงสุดจนมีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง
อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ระบุต่อไปว่า มีนักกฎหมายหลายคนได้นำเรื่องนี้ไปยื่นต่อ ป.ป.ช.และยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้เอาผิดรองอัยการสูงสุด ฐานปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบตาม ปอ.157 แต่ตนเห็นว่ายังมีประเด็นหนึ่งที่หลายคนไม่เคยมีคนพูดถึงเลย คือ เรื่องอำนาจการชี้ขาดความเห็นแย้ง หรืออำนาจในการสั่งคดี ซึ่งกฎหมายบัญญัติไว้ให้เป็นอำนาจของอัยการสูงสุด ที่ถือเป็นดุลพินิจเฉพาะตัวเฉพาะตำแหน่งทางกระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะ และไม่อาจมอบอำนาจให้ผู้อื่นทำการแทนได้ ตามคำวินิจฉัยอัยการสูงสุดที่ 41/2533 และเทียบเคียงแนวคำสั่งฎีกาที่ 30/2542 นอกจากนี้ยังเทียบเคียงได้กับเรื่องการรับรองอุทธรณ์หรือฎีกาตาม ป.วิอาญา ซึ่งในชั้นอุทธรณ์และฎีกาจะแยกอำนาจของอธิบดีอัยการหรืออัยการสูงสุดระบุไว้แจ้งชัด ดังนั้น การสั่งคดีชี้ขาดความเห็นแย้งของนายเนตร รองอัยการสูงสุด ถึงแม้จะอ้างว่าได้รับมอบอำนาจให้ปฏิบัติราชการแทนอัยการสูงสุด ก็ไม่สามารถกระทำได้ เพราะขณะสั่งคดีนายเนตรไม่ใช่อัยการสูงสุด จึงขอเสนอให้อธิบดีดีเอสไอในฐานะพนักสอบสวนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นำประเด็นนี้ไปยื่นต่อศาลปกครองเพื่อให้เพิกถอนคำชี้ขาดไม่อุทธรณ์ของรองอัยการสูงสุดดังกล่าว เนื่องจากเป็นคำสั่งที่สั่งโดยไม่มีอำนาจ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขอให้อัยการสูงสุดทำความจริงประเด็นนี้ให้กระจ่าง ตามแนวคำวินิจฉัยของอัยการสูงสุด เพราะเรื่องนี้หลักสำคัญไม่ได้อยู่ที่คำสั่งชี้ขาดไม่อุทธรณ์ แต่อยู่ที่คนชี้ขาดไม่มีอำนาจ
“ทั้งหมดเป็นความเห็นในฐานะนักกฎหมายที่ไม่ต้องการเห็นความเสื่อมเกิดแก่องค์กรอัยการซึ่งเป็นทนายของแผ่นดิน และเพื่อรักษาหลักนิติธรรมของบ้านเมือง ต่อจากนี้เป็นหน้าที่ของดีเอสไอในฐานะเจ้าของสำนวนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต้องเดินเรื่องต่อเพื่อเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวซึ่งจะเป็นช่องทางให้คดีกลับเข้าสู่สถานะเดิมในอำนาจชี้ขาดของอัยการสูงสุดตามกฎหมาย คดีจะได้ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลสูงตัดสินให้สิ้นกระแสความ ส่วนอัยการสูงสุดก็ต้องไม่ละเลยประเด็นนี้ต้องดำเนินการทุกอย่างแบบตรงไปตรงมา เปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้ให้สาธารณชนรับทราบ การชี้ขาดคดีที่ยังเป็นปัญหาให้ถึงที่สุดลงดื้อๆ ทั้งที่มีความเห็นแย้งทั้งผู้พิพากษาและอธิบดีดีเอสไอ อย่าให้ใครกล่าวหาได้ว่า พอเป็นคดีคนรวยแล้วเป่ากันได้ง่ายๆ เพราะมิฉะนั้นจะทำให้ความน่าเชื่อถือต่อสถาบันอัยการล้มละลายในสายตาของประชาชน” นายเชาว์ระบุทิ้งท้าย