1.“สิระ” ได้ไปต่อ ศาล รธน.ชี้ ไม่ต้องพ้น ส.ส. ด้าน “ธรรมนัส” รอดเช่นกัน หลังศาลฯ ไม่รับคำร้อง!
เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ศาลรัฐธรรมนูญ ได้อ่านคำวินิจฉัยกรณีที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ส่งความเห็นของ ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน 57 คน ขอให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่าสมาชิกภาพการเป็น ส.ส.ของนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (7) ประกอบมาตรา 185 (1) หรือไม่ กรณีที่นายสิระเดินทางลงไปตรวจสอบพื้นที่ก่อสร้างคอนโดมิเนียม ที่ จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 18-19 ส.ค.2562 และได้แสดงพฤติกรรมและใช้วาจาไม่เหมาะสมกับ พ.ต.ท.ประเทือง ผลมานะ รองผู้กำกับการป้องกันปราบปราม สภ.กะรน ผู้บริหารเทศบาลตำบลกะรน
โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 1 ว่า การกระทำของนายสิระยังไม่เข้าลักษณะใช้ตำแหน่งหน้าที่ ส.ส.หรือสถานะก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติราชการ หรือการดำเนินงานในหน้าที่ประจำของข้าราชการฯ จนเป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดลง
โดยศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายสิระให้การยอมรับว่า ได้ลงพื้นที่ จ.ภูเก็ต เพื่อตรวจสอบ และได้พูดคุยกับ พ.ต.ท.ประเทืองตามที่ร้องจริง แม้จะไม่ได้รับมอบหมาย ซึ่งการกระทำมี 2 กรณี คือ 1.พูดจาไม่เหมาะสมกับ พ.ต.ท.ประเทือง และ 2.กรณีไม่จัดเจ้าหน้าที่มาดูแลรักษาความปลอดภัยนายสิระ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากเห็นว่า การกระทำดังกล่าวของนายสิระเป็นเพียงต้องการให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย การแสดงพฤติกรรมและการใช้ถ้อยคำของนายสิระนั้น เป็นเพียงการไม่เห็นด้วยกับการทำหน้าที่ของ พ.ต.ท.ประเทืองเท่านั้น ส่วนการพูดจาต่อนายกเทศมนตรีและผู้บริหารเทศบาล ต.กระรน ก็เป็นเพียงการสอบถามข้อมูล และรับฟังคำชี้แจงจากเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายกับการก่อสร้างอาคารชุดดังกล่าว เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายกำหนด จึงยังฟังไม่ได้ว่า นายสิระใช้สถานะหรือตำแหน่งก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 185(1)”
ด้านนายสิระ กล่าวหลังทราบคำวินิจฉัยว่า ขอบคุณศาลรัฐธรรมนูญที่ยังให้เป็น ส.ส.อยู่ และจะนำไปปรับปรุงและปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้งประเทศให้มากที่สุด และว่า เบื้องต้นได้ให้ฝ่ายกฎหมายดูว่าความผิดของผู้ร้องมีอะไรบ้าง ถ้าพบว่าผู้ร้องมีเจตนาหรือความผิดสำเร็จตามมาตรา 157 ผมจะดำเนินคดีกับผู้ที่ลงรายชื่อทั้งหมด เพื่อเป็นเยี่ยงอย่างกับ ส.ส.ที่ใช่ว่าจะร้องใครก็ร้อง และไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย
นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญยังได้ออกเอกสารข่าวกรณีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ส่งคำร้องของ 54 ส.ส. ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่าสมาชิกภาพ ส.ส.ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พรรคพลังประชารัฐ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (7) ประกอบมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (2) และวรรคสามหรือไม่ โดยศาลพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารแล้วเห็นว่า แม้ ส.ส. 54 คน ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของ ส.ส. เข้าชื่อร้องต่อประธานสภาฯ ขอให้ส่งคำร้องมายังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพ ส.ส.ของ ร.อ.ธรรมนัส สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแล้วก็ตาม แต่การที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องไว้พิจารณาหรือไม่นั้น นอกจากพิจารณากระบวนการการส่งคำร้องแล้ว ยังต้องพิจารณาเนื้อหาของคำร้องก่อนส่งมายังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ ร.อ.ธรรมนัส
โดยศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่า แม้ภริยาของ ร.อ.ธรรมนัส ถือหุ้นในบริษัท ตลาดคลองเตย (2551) จํากัด และบริษัททําสัญญาเช่าพื้นที่กับการท่าเรือแห่งประเทศไทย แต่ไม่มีลักษณะเป็นการเข้าทําสัญญาอันเป็นการผูกขาดตัดตอน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 วรรคหนึ่ง (2) และวรรคสาม มูลกรณีไม่ต้องด้วยเหตุตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (7) ที่ผู้ร้องจะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ได้ จึงมีคําสั่งไม่รับคําร้องนี้ไว้พิจารณา
ด้าน ร.อ.ธรรมนัส กล่าวหลังทราบคำวินิจฉัยว่า รู้สึกดีใจ หลังจากนี้จะเดินหน้าทำงานเพื่อประชาชนต่อไป โดยไม่มีอะไรมาติดขัด
2.ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนประหารชีวิต “นวัธ” อดีต ส.ส.เพื่อไทย คดีจ้างวานฆ่าปลัด อบจ.ขอนแก่น!
เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. รายงานข่าวแจ้งว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. คดีที่พนักงานอัยการจังหวัดขอนแก่น เป็นโจทก์ และนางลำดวน โคตรทุม โจทก์ร่วม ยื่นฟ้องนายวัธ เตาะเจริญสุข อดีต ส.ส.ขอนแก่น เขต 7 พรรคเพื่อไทย ฐานก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิด
คดีนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2556 ได้มีคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงนายสุชาติ โคตรทุม ขณะดำรงตำแหน่งปลัด อบจ.ขอนแก่น เสียชีวิตที่หน้าบ้านพักในหมู่บ้านจอมพล อ.เมืองขอนแก่น ขณะจะออกจากบ้านไปทำงาน และต่อมา สามารถจับกุมผู้ร่วมก่อเหตุได้ทั้งหมด 5 คน ประกอบด้วย ด.ต.วีระศักดิ์ ชำนาญผล จำเลยที่ 1, พ.ต.ท.สมจิตร แก้วพรม จำเลยที่ 2, นายประพันธ์ ศรีพิลัย จำเลยที่ 3, นายบุญช่วย จูงกลาง จำเลยที่ 4 และนายปิยะพงษ์ มีกำบัง จำเลยที่ 5
ต่อมา ศาลพิพากษาว่า จำเลยร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและไตร่ตรองไว้ก่อน และผิด พ.ร.บ.อาวุธปืน ตัดสินประหารชีวิต พ.ต.ท.สมจิตร แก้วพรม จำเลยที่ 2, ตัดสินจำคุกตลอดชีวิต ด.ต.วีระศักดิ์ ชำนาญผล จำเลยที่ 1 นายประพันธ์ ศีรพิลัย จำเลยที่ 3 และนายบุญช่วย จูงกลาง จำเลยที่ 4 ส่วนนายปิยะพงษ์ มีกำบัง จำเลยที่ 5 ศาลยกฟ้อง
ระหว่างนั้น ศาลจังหวัดขอนแก่นได้ออกหมายจับนายนวัธ เตาะเจริญสุข ในข้อหากระทำความผิดฐานจ้างวานผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน หลังมีพยานหลักฐานเชื่อมโยงกับผู้ต้องหาที่ร่วมกันก่อเหตุใช้อาวุธปืนยิงนายสุชาติ โคตรทุม โดยระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น นางลำดวน โคตรทุม ภรรยาของนายสุชาติ โคตรทุม ได้ขอเป็นโจทก์ร่วม และยื่นคำร้องบังคับขอให้จำเลยคือนายนวัธ เตาะเจริญสุข ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนค่าปลงศพ และค่าใช้จ่ายที่จำเป็น
กระทั่ง ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2562 ว่า นายนวัธเป็นผู้ใช้ผู้อื่นฆ่าผู้ตาย คือนายสุชาติ โดยไตร่ตรองไว้ก่อนจริง จึงพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 84 ลงโทษประหารชีวิต และให้จำเลยชดใช้ค่าปลงศพ 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค. 2556 เป็นต้นไป ต่อมา นายนวัธได้ยื่นอุทธรณ์
ล่าสุด ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้ประหารชีวิตนายนวัธ และให้จำเลยชดใช้ค่าปลงศพ 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ทั้งนี้ มีรายงานว่า นายนวัธ ซึ่งต้องโทษสูงสุดอยู่ในการควบคุมตัวของกรมราชทัณฑ์ที่เรือนจำในกรุงเทพฯ อย่างแน่นหนา โดยทีมทนายความเตรียมยื่นฎีกาตามขั้นตอนต่อไป
3.ศาลยกฟ้อง “ศุภชัย” อดีต ปธ.สหกรณ์คลองจั่นฯ คดีฉ้อโกง ปชช. กว่า 1,000 ล้านบาท ชี้หลักฐานยังมีข้อสงสัย ยกประโยชน์ให้จำเลย!
เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ศาลอาญาได้นัดฟังคำพิพากษา คดีที่ น.ส.นวลฉวี เกตุวัฒนเวสน์ กับพวกรวม 410 คน เป็นโจทก์ฟ้อง สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด และนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อายุ 63 ปี อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น จำกัด เป็นจำเลยที่ 1-2 ในข้อหาฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343
โดยโจทก์ฟ้องระบุพฤติการณ์สรุปว่า ระหว่างปี 2552-2556 สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำเลยที่ 1 โดยมีนายศุภชัย จำเลยที่ 2 ในฐานะประธานคณะกรรมการ ได้โฆษณาเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปทราบว่า กิจการของจำเลยที่ 1 เป็นธนาคาร มีสถานะทางการเงินมั่นคง ความจริงแล้วจำเลยที่ 1 เป็นเพียงสถาบันการเงินเพื่อชุมชนเท่านั้น ไม่มีสถานะเป็นธนาคาร การที่จำเลยที่ 1 โฆษณาเผยแพร่ว่าตนเองมีสถานะเป็นธนาคาร มีสถานะทางการเงินที่มั่นคงและน่าเชื่อถือ สามารถจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์พิเศษในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์อื่นพึงจ่ายได้ เป็นเหตุให้โจทก์และประชาชนหลงเชื่อ ทำให้จำเลยทั้งสองได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินของโจทก์จำนวนทั้งสิ้น 1,115,567,027.51 บาท ซึ่งจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ทั้งนี้ ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์ทั้ง 410 คน และจำเลยทั้งสองแล้ว เห็นว่า สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำเลยที่ 1 ได้จัดตั้งขึ้นตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2526 โดยใช้คำว่า “สหกรณ์” เป็นส่วนหนึ่งของชื่อที่แสดงออกต่อบุคคลภายนอกมาโดยตลอด แม้ในช่วงเวลาเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 จะใช้คำว่า “U BANK” และข้อความว่า “ธนาคารที่คุณเป็นเจ้าของ” ประกอบเข้าเป็นส่วนหนึ่งของป้ายชื่อบริเวณหน้าอาคารที่ทำการ แผ่นพับโฆษณา สมุดประจำตัวสมาชิก และคู่มือสมาชิกก็ตาม
แต่เมื่อพิจารณาจากภาพถ่ายป้ายชื่อและเอกสารต่างๆ แล้วก็ยังปรากฏชื่อ “สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด” รวมอยู่ด้วย ทั้งวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการของจำเลยที่ 1 ตามที่จดทะเบียนในฐานะของสหกรณ์ออมทรัพย์กับการประกอบกิจการของธนาคารพาณิชย์ยังมีข้อแตกต่างกันในรายละเอียด อีกทั้งประชาชนทั่วไปรวมถึงโจทก์ทั้งหมด ก็จะต้องสมัครและมีการเข้าอบรมก่อนเข้าเป็นสมาชิกของจำเลยที่ 1 จึงย่อมทราบดีว่าจำเลยที่ 1 ดำเนินกิจการโดยมีสถานะเป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ ลำพังการใช้ข้อความดังกล่าว จึงยังไม่อาจทำให้โจทก์ทั้งหมดและประชาชนทั่วไปหลงเชื่อได้ว่า จำเลยที่ 1 มีสถานะเป็นธนาคารพาณิชย์
ส่วนที่โจทก์ทั้ง 410 คน กล่าวอ้างว่า มีการปกปิดหรือจัดทำงบประมาณการเงินอันเป็นเท็จเพื่อหลอกลวงสมาชิก ศาลเห็นว่า โจทก์ก็ไม่ได้นำผู้ตรวจการณ์สหกรณ์มาเป็นพยานยืนยันว่า จำเลยที่ 1 จัดทำบัญชีงบการเงินเป็นเท็จจริงหรือไม่ แม้คณะกรรมการดำเนินการของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จะบริหารงานโดยฝ่าฝืนข้อบังคับและไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนสหกรณ์ แต่ก็เป็นการกระทำที่อยู่นอกวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 เมื่อสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล จึงย่อมกระทำผ่านทางคณะกรรมการดำเนินการ ซึ่งเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 หากคณะกรรมการดำเนินการกระทำการนอกวัตถุประสงค์และเป็นการกระทำที่ส่อไปในทางที่ไม่สุจริตเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือบุคคลอื่น จะถือเอาการกระทำของคณะกรรมการดำเนินการเป็นการกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่ได้
ประกอบกับก่อนเกิดเหตุ คดีนี้โจทก์ทั้ง 410 คน ก็สามารถเบิกถอนเงิน และได้รับดอกเบี้ยและเงินปันผลจากจำเลยที่ 1 ตามปกติ เพิ่งมาเกิดเหตุการณ์ที่โจทก์ทั้ง 410 คน ไม่สามารถทำธุรกรรมเบิกถอนเงินได้เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2556 พฤติการณ์จึงเป็นข้อบ่งชี้ว่า จำเลยที่ 1 มิได้หลอกลวงโจทก์ทั้ง 410 คน และประชาชนโดยมีเจตนาที่จะไม่คืนเงินที่ลงทุนหรือไม่จ่ายผลตอบแทนให้มาตั้งแต่ต้น ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถทำธุรกรรมเบิกถอนเงินและจ่ายผลตอบแทนให้แก่สมาชิกได้ จึงไม่ใช่เกิดจากการหลอกลวงโจทก์ทั้ง 410 คนและประชาชนว่า หากสมัครเป็นสมาชิกด้วยการเปิดบัญชีเงินฝากหรือสะสมทุนกับจำเลยที่ 1 แล้ว จะได้รับผลตอบแทนในอัตราที่สูง พยานหลักฐานของโจทก์จึงยังรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้อง
สำหรับนายศุภชัย จำเลยที่ 2 นั้น โจทก์นำสืบโดยไม่มีรายละเอียดถึงพฤติการณ์ว่า กระทำการหลอกลวงอันเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนต่อโจทก์ทั้ง 410 คนอย่างไร อีกทั้งในการจัดประชุมใหญ่ประจำปีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ซึ่งจะมีการจัดทำวาระรายงานงบการเงินประจำปี ก็ไม่ปรากฏว่า โจทก์ทั้ง 410 คน หรือสมาชิกคนใดคัดค้านหรือโต้แย้ง นอกจากนี้โจทก์ก็มิได้นำผู้ตรวจการณ์สหกรณ์มาเบิกความยืนยันว่า มีการจัดทำงบการเงินเป็นเท็จจริงหรือไม่
ส่วนที่โจทก์ทั้ง 410 คน อ้างคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ในคดีหมายเลขดำที่ 2472/2556 ซึ่งวินิจฉัยไว้ว่า นายศุภชัย จำเลยที่ 2 กับพวกได้ทุจริตยักยอกเงินของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำเลยที่ 1 แต่เมื่อนายศุภชัย จำเลยที่ 2 มิได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าว คำพิพากษาของศาลปกครองกลางจึงไม่ผูกพันกับนายศุภชัยในคดีนี้ อีกทั้งแม้ในขณะเกิดเหตุ นายศุภชัย จำเลยที่ 2 จะดำรงตำแหน่งประธานกรรมการดำเนินการของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ก็ตาม แต่ในการบริหารงานและดำเนินกิจการต่างๆ ก็จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการดำเนินการ ซึ่งเป็นผู้แทนจำเลยที่ 1 โดยผ่านมติของที่ประชุมใหญ่ หาใช่นายศุภชัย จำเลยที่ 2 จะเป็นผู้มีอำนาจสั่งการแต่เพียงผู้เดียวไม่
เมื่อโจทก์ทั้ง 410 คน กล่าวอ้างว่า นายศุภชัย จำเลยที่ 2 กระทำความผิดและมีผู้ที่ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก แต่กลับไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบให้ได้ความชัดเจนว่า นายศุภชัย จำเลยที่ 2 กระทำการหลอกลวงโจทก์ทั้ง 410 คน และประชาชนอย่างไร โดยมีเพียงพยานบุคคลซึ่งมิได้รู้เห็นการกระทำของจำเลยที่ 2 โดยตรงมาเบิกความเพียง 3 ปากเท่านั้น พยานหลักฐานของโจทก์ ยังมีข้อสงสัยตามสมควรว่า นายศุภชัย จำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยที่ 2 พิพากษายกฟ้อง
4.ศบค. คลายล็อกเฟส 5 ไฟเขียวเปิด “ผับ-บาร์” แต่ถ้าพบผู้ติดเชื้อ ต้องถูกลงโทษ!
เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงหลังการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ที่ประชุมเห็นชอบมาตรการผ่อนคลายระยะที่ 5 ที่จะเริ่มวันที่ 1 ก.ค. ดังนี้ 1.การใช้อาคารสถานที่ สถาบันการศึกษา เปิดเรียนทั้งหมด 2.ห้างสรรพสินค้า คอมมูนิตีมอลล์ ให้เปิดปิดการดำเนินงานตามเหมาะสมของพื้นที่ โดยที่ประชุมมีข้อสรุปเพิ่มเติม คือ ปิดเวลา 22.00 น. ส่วนร้านสะดวกซื้อ เปิดได้ 24 ชั่วโมง
3. กลุ่มผับบาร์ คาราโอเกะ เปิดบริการได้ไม่เกิน 24.00 น.ในทุกกรณี การไปต่อร้านข้าวต้มหลังปิดผับบาร์แล้วไปนั่งดื่มเหล้าต่อ ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากกฎหมายเรื่องการอนุญาตการดื่มสุรา ยังอยู่ที่ 24.00 น. เรื่องนั่งยืนห่าง 1 เมตร โต๊ะห่าง 2 เมตร หากทำไม่ได้ต้องมีฉากกั้นสูงมากกว่า 1.5 เมตร ส่วนจะทำได้จริงหรือไม่ เมื่อดื่มกันแล้วขาดสติ อาจย่อหย่อนได้นั้น ที่ประชุมบอกว่าสำคัญที่สุดคือ การกำกับติดตามตั้งแต่ก่อนเข้า ดังนั้น ต้องได้รับการลงทะเบียนไทยชนะก่อนเข้า ลูกค้าต้องปฏิบัติตามทุกราย
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวด้วยว่า “หากไม่เป็นไปตามที่ว่า ขอให้ฝ่ายมั่นคงตรวจเข้ม เพราะมีตัวอย่างต่างประเทศแล้วว่าเป็นจุดเสี่ยงสูงมาก และทำให้เกิดการติดเชื้อขึ้นมา และจะเกิดผลกระทบอย่างมาก ทั้งการติดเชื้อ และความมั่นใจในระบบสาธารณสุข และความมั่นคง ผู้ประกอบกิจการกิจกรรม ต้องทำอย่างเข้มงวด หากพบว่าผิดหรือไม่ปฏิบัติตาม ให้กำหนดบทลงโทษลงไปด้วย ตอนจะเปิดหลายคนบอกอะไรก็ยอม แต่หากเกิดการติดเชื้อที่ใดต้องมีบทลงโทษด้วย ติดเชื้อ 1 คน ต้องรับการรักษาเป็นหลักแสนหรือล้านบาท กระบวนการตรวจหาเชื้อก็เป็นพันเป็นหมื่น อย่างต่างประเทศตรวจเป็นหมื่นคน ต้องเสียค่าใช้จ่ายอีกเท่าไร ผู้ประกอบกิจการต้องรับฟังและรับรู้ว่าจะต้องมีส่วนในความรับผิดชอบด้วย”
4. ร้านเกม และร้านอินเทอร์เน็ต เป็นไปตามข้อเสนอที่เคยกล่าวไปแล้ว และ 5. สถานประกอบกิจการอาบ อบ นวด โรงน้ำชา มีความห่วงใยกับพื้นที่ที่ต้องเปิด เรื่องใบอนุญาตสถานบริการที่ถูกกฎหมาย ให้ฝ่ายมั่นคงตรวจเข้มทุกแห่ง และต้องใช้แอปพลิเคชัน เพื่อป้องกันตั้งแต่ต้น แม้จะมีข้อซักถามและข้อห่วงใย หลายคนอาจไม่แสดงตัว ใช้ข้อมูลที่ผิดพลาดมาแอบอ้าง เจ้าของกิจการต้องรับผิดชอบ หากมีการติดเชื้อขึ้นมาจากกิจการของท่าน ต้องรับผิดชอบและมีบทลงโทษเช่นกัน พนักงานต้องรับการตรวจเชื้อโควิดเป็นระยะๆ และระวังโรคอื่นด้วย ที่สำคัญคือ การห้ามขายประเวณี ละเมิดไม่ได้
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า เจ้าหน้าที่ที่ต้องไปตรวจประเมิน ต้องรับการรับรองลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน ผู้พิทักษ์ไทยชนะ เพื่อลดการแอบอ้าง ลดการเป็นข่าวในเชิงไม่สุจริตที่จะเกิดขึ้น อย่างอื่นก็เป็นไปตามที่เคยแจ้งมา ส่วนการขยายเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้นำเสนอที่ประชุม ครม. ขอยืดระยะเวลาต่อออกไปอีก 1 เดือน
นอกจากนี้ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ยังเสนอเพิ่มบุคคล 6 กลุ่มเดินทางเข้าประเทศ ได้แก่ 1.คู่สมรสและบุตรของผู้ที่มีใบอนุญาตทำงานหรือได้รับอนุญาตจากทางราชการให้ทำงานในราชอาณาจักร หรือคนที่ได้ Work Permit เดิมได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่แล้ว แต่ญาติไม่ได้เข้ามา ก็อนุญาตให้เข้ามาได้ 2.ผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทย หรือคนต่างด้าวที่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร 3.คู่สมรสต่างชาติและบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้มีสัญชาติไทย หรือคนต่างชาติที่แต่งงานกับคนไทยและบุตร อนุญาตให้เข้ามา
4.ผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยหรือต่างชาติที่ต้องการเข้ามารับการรักษาในประเทศไทยและมีผู้ติดตามเข้ามา คือ Medical Hub โดยจะเน้นบางโรคบางกลุ่ม ยืนยันว่าไม่ได้เอาคนป่วยโควิด-19 เข้ามา เพราะหากป่วยโควิดจะต้องถูกกันไว้ตั้งแต่แรก แต่ผู้ที่จะเข้ามารับการรักษา เช่น มาทำตา มาเสริมจมูก ตรวจเรื่องการมีบุตรยาก ซึ่งชื่อเสียงแพทย์ไทยดังด้านนี้ ก็มาได้ 5.นักเรียนนักศึกษาต่างชาติ และผู้ปกครองของบุคคลดังกล่าว และ 6.ผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยหรือต่างชาติที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าราชอาณาจักรตามข้อตกลงพิเศษ (Special Arrangement) กับประเทศเป้าหมาย อาจจะรวมแขกของรัฐบาล นักลงทุนพิเศษทั้งหลาย
ทั้งนี้ กลุ่มที่เข้ามาอยู่หลายวันต้องกักตัว 14 วัน และออกค่าใช้จ่ายเอง คาดให้เข้ามาได้วันละ 200 คน สำหรับกลุ่มที่เข้ามาด้วยข้อตกลงพิเศษ มี 4 ประเทศเป้าหมาย คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ จีน และฮ่องกง ส่วนกลุ่มที่เข้ามาระยะสั้น เร่งด่วน หรือแขกของรัฐบาล ต้องเป็นคณะเล็กไม่เกิน 10 คน โดยตรวจเชื้อก่อนมาและเมื่อถึงไทย ตรวจซ้ำ ผลต้องเป็นลบ 2 ครั้ง
5.ช็อก! พนง.องค์การค้า สกสค. ถูกเลิกจ้างเกือบพันคน อ้างต้องลดคน หนี้สะสม 6.7 พันล้าน!
เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. มีรายงานว่า ที่สำนักงานองค์การค้าคุรุสภา ลาดพร้าว ได้เกิดความโกลาหลในหมู่พนักงาน หลังทราบว่ามีการแจ้งเลิกจ้างพนักงานเกือบ 1,000 คน โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า เมื่อพนักงานทราบ ถึงกับหลั่งน้ำตา บางรายถึงกับเป็นลม บางคนให้กำลังใจซึ่งกันและกัน
โดยพนักงานรายหนึ่งที่ถูกเลิกจ้าง กล่าวว่า รู้สึกตกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และไม่คิดมาก่อนว่าจะต้องตกงาน นอกจากนี้ ตนและเพื่อนพนักงานประมาณ 700 คน ยังไม่ได้รับเงินเดือนของเดือน มิ.ย.แต่อย่างใด
ทั้งนี้ นายดิศกุล เกษมสวัสดิ์ เลขาธิการ กศน. ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ได้ลงนามคำสั่งขององค์การค้าของ สั่งเลิกจ้างพนักงานเจ้าหน้าที่องค์การค้าของ สกสค. โดยระบุเหตุผลว่า ประสบปัญหาขาดทุนมากว่า 15 ปี ดังนั้น จำเป็นต้องเลิกจ้างพนักงาน เจ้าหน้าที่ รวม 961 คน โดยให้ได้สิทธิประโยชน์ตามที่กฎหมายกำหนด มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.เป็นต้นไป
ขณะที่นายธนพร สมศรี รองเลขาธิการ สกสค. ในฐานะโฆษก สกสค. กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายดิศกุล เกษมสวัสดิ์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค.ได้ลงนามในคำสั่งองค์การค้าของ สกสค. เรื่อง เลิกจ้างพนักงาน 961 ราย จากทั้งหมด 1,035 ราย โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.เป็นต้นไป และว่า การที่คำสั่งเลิกจ้างจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. ถือเป็นการบอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย โดยพนักงานที่ถูกเลิกจ้างจะได้รับเงินชดเชยตามที่กฎหมายแรงงานกำหนดทุกประการ ส่วนสาเหตุที่เลิกจ้าง เนื่องจากองค์การค้าฯ ไม่สามารถผูกขาดพิมพ์ตำราเรียนเพียงรายเดียวตามกฎหมายที่ออกมาในปี 2546 ทำให้องค์การค้าของ สกสค.ขาดทุนสะสมเพิ่มขึ้นทุกปี ขณะนี้เป็นหนี้สะสมกว่า 6,700 ล้านบาท ซึ่งเฉพาะค่าใช้จ่าย ในส่วนของเงินเดือนพนักงานมีจำนวน 40 ล้านบาทต่อเดือน ดังนั้นหากไม่ดำเนินการปรับลดพนักงาน อาจจะส่งผลให้องค์การค้าของ สกสค.ติดหนี้สะสมถึงหมื่นล้านบาทในเร็วๆนี้ หากเราไม่ดำเนินการตอนนี้เลือดก็จะไหลไม่หยุด ดังนั้นเราจึงต้องทำ เพราะเมื่อทำแล้ว แม้จะเจ็บแต่จบ ซึ่งคนที่กล้าตัดสินใจ คือนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) และนายดิศกุล ที่พร้อมยอมรับแรงเสียดทานที่จะเกิดขึ้นตามมาในอนาคต
นายธนพร กล่าวด้วยว่า “สำหรับเงินที่จะนำมาจ่ายชดเชยให้แก่พนักงานองค์การค้าของ สกสค.นั้น สำนักงาน สกสค.จะให้ยืมมาจ่ายชดเชย ประมาณ 1,500 ล้านบาท ซึ่งหลังจากนี้องค์การค้าของ สกสค.จะมีการรวบรวมหนี้ทั้งหมด ทั้งหนี้ภาคเอกชนและหนี้จาก สกสค.ก่อนจะนำทรัพย์สินขององค์การค้าของ สกสค.ที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และเครื่องจักร มาบริหารจัดการหนี้ โดยคาดว่าเมื่อนำมารวมชำระหนี้แล้ว องค์การค้าของ สกสค.อาจเหลือหนี้อยู่เพียง 1,000 ล้านบาท”
ขณะที่นายนิวัติชัย แจ้งไพร ประธานสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภา กล่าวว่า พนักงานองค์การค้าของ สกสค. จำนวน 961 ราย ถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม เนื่องจากวันที่ 22 พ.ค. ผอ.องค์การค้าฯ มีคำสั่งขยายเวลาให้เจ้าหน้าที่หยุดงานถึงวันที่ 30 มิ.ย. จากเหตุผลการระบาดของโรคโควิด-19 โดยไม่ถือเป็นวันลา ให้รับค่าจ้างในอัตรา 75% ของเงินเดือน แต่วันที่ 19 มิ.ย. กลับมีหนังสือคำสั่งอีกฉบับให้งดจ่ายเงินค่าจ้างในเดือน มิ.ย. โดยให้ไปรับเงินว่างงานจากสำนักงานประกันสังคม (สปส.) แทน ในอัตราร้อยละ 62 ตามสิทธิประโยชน์ทดแทนว่างงาน จากเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากโรคระบาดของโรคติดต่ออันตราย นอกจากนี้วันที่ 25 มิ.ย. ยังมีประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่หยุดงานตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. เป็นต้นไป โดยไม่ถือเป็นวันลา และให้ใช้สิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน อัตราร้อยละ 62 ของค่าจ้างรายวัน ให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่นายจ้างหยุดประกอบกิจการ แต่ไม่เกิน 90 วัน จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง และถึงมามีคำสั่งเลิกจ้างดังกล่าวโดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2563
นายนิวัติชัย กล่าวอีกว่า “ผมมองว่า องค์การค้าฯ มีหนี้สินสะสมจริง แต่ไม่ถึงกับล้มละลายหรืออยู่ไม่ได้ ขอตั้งคำถามว่า การกระทำเช่นนี้ถูกกฎหมายตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน กำหนดหรือไม่ การเลิกจ้างเช่นนี้มีธรรมาภิบาลและเป็นธรรมกับพนักงานหรือไม่ ...ผลกระทบที่ได้รับคือ หนังสือที่จะพิมพ์ในปีถัดไปจะดำเนินการอย่างไร นักเรียน ผู้ปกครองก็กังวลว่าเมื่อองค์การค้าฯ เลิกจ้างพนักงานไป การจัดพิมพ์ คุณภาพหนังสือ และราคาขายจะได้ราคาที่เป็นธรรมและเป็นกลางเพื่อช่วยเหลือผู้ปกครองหรือไม่ และพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ถูกเลิกจ้างได้รับความเดือดร้อนแน่นอน บางคนมีภาระต้องหาเลี้ยงครอบครัว เมื่อถูกเลิกจ้างในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ พนักงานจะทำอย่างไร”
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 2 ก.ค. กลุ่มสหภาพแรงงานองค์การค้าของ สกสค. กว่า 300 คน ได้นัดชุมนุมใหญ่ ที่วัดสามัคคีธรรม เขตลาดพร้าว กทม. เรียกร้องให้ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ และคณะกรรมการองค์การค้าฯ ทบทวนมติและยกเลิกคำสั่งองค์การค้าที่ให้เลิกจ้างพนักงาน เจ้าหน้าที่ไว้ก่อน โดยให้เหตุผลหลายอย่าง เช่น หนี้สินและความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมดมาจากความผิดพลาดในการบริหารจัดการของผู้บริหารทั้งสิ้น การที่คณะกรรมการองค์การค้าฯ มีมติเลิกจ้างพนักงาน จึงเป็นการรกระทำที่ไม่เป็นธรรมส่งผลกระทบกับการดำรงชีพ นอกจากนี้ปัญหาการขาดทุนขององค์การค้าฯ เนื่องจากมีการนำงานไปจ้างบริษัทเอกชนภายนอกมาพิมพ์หนังสือ จึงเป็นการเปิดช่องให้มีการทุจริต ซึ่งมีการร้องเรียนมาที่สหภาพแรงงานฯ และเรื่องถูกส่งไปกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และ ป.ป.ช. โดยการสอบสวนบางคดีมีการชี้มูลความผิดแล้ว แต่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบไม่ดำเนินการเอาผิดให้ถึงที่สุด ฯลฯ