ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ฉบับนี้เขียนถึงเรื่อง"ความคืบหน้า" ในการทำงานของ คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ตามพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 พ.ศ. 2563 (เงินกู้ 400,000 ล้านบาท) อีกครั้ง
หลังจาก สำนักงานสภาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กำหนดให้จังหวัดส่งแผนงาน/โครงการกลุ่มที่ 3 มายังคณะกลั่นกรองฯ เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. และหมดเวลาส่งเมื่อ 15 มิ.ย. ที่ผานมา (ข้อมูล 12 มิ.ย.) สรุปรายงานผ่านเว็บไซต์ "Thaime"โครงการเบื้องต้น 34,263 โครงการ ขอรับจัดสรร 841,269 ล้านบาท เฉพาะ แผนงานที่ 3.2 "ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม" ผ่าน เงินกู้ 4 แสนล้านบาท เสนอมาแล้ว 33,798 โครงการ เกินวงเงินแล้วถึง 465,149 ล้านบาท
การประชุมเมื่อ วันที่ 12 มิ.ย. ฝ่ายอนุกรรมการกลั่นกรองฯ (แผนงาน/โครงการกลุ่มที่ 3) ที่มีนายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการสภาพัฒน์ ในฐานะประธาน ได้มีหนังสือด่วนที่สุด 2 ฉบับ
ฉบับแรก หนังสือด่วนที่สุด ที่ นร 1125/ว 3348 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.บ.จ.) แจ้งให้ทุกจังหวัดทบทวนและพิจารณาจัดลำดับความสำคัญโครงการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทุกประเภทเป็นชุดเดียวกัน โดยไม่ต้องแยกประเภทและสรุปบัญชี โดยให้จังหวัดจัดทำสรุปบัญชีข้อเสนอโครงการเบื้องต้น มายังสภาพัฒน์ ภายวันที่ 22 มิ.ย.เนื่องจากโครงการของ อปท. ที่จังหวัด (กบจ.) จัดส่งมายังสำนักงานฯ มีจำนวนมาก เพื่อให้การพิจารณากลั่นกรองฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตอบสนองการแก้ไขปัญหาและความต้องการของประชาชนในพื้นที่
อีกฉบับ หนังสือด่วนที่สุด ที่ นร 1125/ว 3350 ถึงปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.บ.จ.) เรื่องการประเมินโครงการเบื้องต้นภายใต้แผนงานที่ 3.2 "ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม" รายจังหวัด รวม 76 จังหวัด ตามที่จังหวัดเสนอมา "รอบแรก"
"ให้แจ้งจังหวัดที่ขอรับงบประมาณ และหน่วยงานในพื้นที่/ส่วนราชการจังหวัดที่เกี่ยวข้องที่เป็นหน่วยรับงบประมาณ จัดทำรายละเอียดโครงการฉบับสมบูรณ์ บัญชีสรุปโครงการ ภาพรวมของจังหวัด พร้อมจัดทำแบบฟอร์มประเมินความเสี่ยง เสนอขอความเห็นจาก ก.บ.จ. และหน่วยงานต้นสังกัด ก่อนรายงานรัฐมนตรีต้นสังกัด มายังสภาพัฒน์ ภายในวันที่ 18 มิ.ย."
โดยให้หน่วยงานรับผิดชอบและจังหวัด ที่เสนอโครงการเบื้องต้น จัดทำรายละเอียดแผนโครงการ พร้อมการประเมินความเสี่ยงตามแบบฟอร์มของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ทุกโครงการมีการสรุปผลการประเมินโครงการเบื้องต้น "รอบแรก" ระดับจังหวัด ใน 6 ภูมิภาค รวม 750 โครงการ เพื่อให้จังหวัดจัดทำโครงการฉบับสมบูรณ์ ประกอบด้วย ภาคเหนือ ผ่านการประเมินโครงการเบื้องต้น 153 โครงการ ภาคอีสาน ผ่าน 191 โครงการ ภาคกลาง ผ่าน 181 โครงการ ภาคตะวันออก ผ่าน 91 โครงการ ภาคใต้ ผ่าน 119 โครงการ และ ภาคใต้ชายแดน ผ่าน 15 โครงการ นอกจากนั้นเมื่อวันอังคารที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบ "กลไกเฝ้าระวังการใช้จ่ายงบประมาณ 1.9 ล้านล้านบาท "
ตามที่สำนักงาน ป.ป.ท.เสนอ ร่วมกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบ ติดตาม และเฝ้าระวังในการจัดซื้อจัดจ้างของ อปท. พบข้อสังเกตเบื้องต้นว่า "อปท. บางแห่ง" ยังมีการจัดซื้อจัดจ้างไม่เป็นไรตามหลักเกณฑ์หรือระเบียบของทางราชการ และส่อไปในการกระทำที่เป็นการทุจริตและประพฤติมิชอบ
มีกลไกเฝ้าระวังการใช้จ่ายงบประมาณ 4 ด้าน ดังนี้
1. "การเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแส" กำหนดให้หน่วยงานที่รับผิดชอบแผนงาน/โครงการต้องเปิดเผยข้อมูล เพื่อให้ภาคประชาชน ภาคเอกชน ร่วมเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแสการทุจริต ผ่านเว็บไซต์และจุดบริการข้อมูลข่าวสาร “ภาษีไปไหน” ของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) ส่งเสริมสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมีการรวมตัวเป็นเครือข่ายในการเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแสการทุจริต เปิดช่องทางการรับแจ้งเบาะแสการทุจริตของประชาชน
2. "การป้องกันและลดโอกาสการทุจริต" - ก่อนการดำเนินงานตามแผนงาน/โครงการ ให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบทำการประเมินและจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงการทุจริต ให้ ศอตช. ทำการวิเคราะห์และจัดทำข้อเสนอแนะ เพื่อแจ้งเตือน และเผยแพร่ข้อมูลและสร้างการรับรู้ความเข้าใจ
3. "การตรวจสอบ" - ให้ ศอตช. ทำการตรวจสอบการดำเนินโครงการเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยหรือมีเรื่องร้องเรียน ทั้งก่อน ระหว่างและหลังการดำเนินโครงการ เมื่อมีเบาะแสการทุจริตให้หน่วยงานเจ้าของโครงการรายงานข้อเท็จจริง
4. "การดำเนินมาตรการทางปกครอง วินัย และอาญา" - เมื่อมีข้อร้องเรียนหรือการแจ้งเบาะแสการทุจริต ให้หน่วยงานต้นสังกัดดำเนินการทางปกครอง วินัย และอาญากับผู้ที่กระทำความผิดอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม
อีกด้าน ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เขียนเข้าไป ตรวจสอบโครงการ ที่หน่วยราชการและท้องถิ่น เสนอเข้ามาผ่านเว็บไซต์ "Thaime"โครงการ
เบื้องต้น มาถึงทีมกลั่นกรองเงิน 4 แสนล้าน เฉพาะ "โครงการกลุ่มที่ 3.2"
ฉบับนี้เอาตัวอย่างโครงการ ว่าด้วย "การฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม" ผ่าน "โครงการกีฬาในชุมชน" โดยเฉพาะ มาให้ดูคร่าว ๆ พบว่า หลายโครงการ ที่ อปท.ขนาดเล็ก และกลาง เสนอเอง มีตัวเลขขอรับงบหลักหมื่นถึงแสนบาท น้อยนักที่จะเสนอโครงการระดับสิบล้าน มีแต่โครงการที่ อปท.ขนาดใหญ่ เสนอผ่านหน่วยงานงานกลาง ที่มีมูลค่าสูง เป็นสิบล้าน ถึงหลักร้อยล้าน
"โครงการยอดฮิต" หนึ่งในหลาย ๆ โครงการนั้น ก็คือ"ก่อสร้างสนามกีฬาแห่งใหม่" หรือ "ปรับปรุงสนามกีฬาเดิม" ยังสอดแทรก สร้างสนามกีฬาชุมชน ลานกีฬาชุมชน ปรับปรุงสาธารณูปโภค จัดหาเครื่องออกกำลังกาย ปรับปรุงอาคารที่พักนักกีฬา หลักระหว่าง 4 แสนบาท ถึง 10 ล้านบาท "ที่พบว่าฮิตที่สุด" ก็น่าจะเป็น "สนามฟุตซอล" ที่ขอรับงบจัดสร้างใหม่มากกว่า 100 โครงการ มูลค่าระหว่าง 1-4 แสนบาท เป็นต้น
ทีนี้มาดูตัวอย่าง โครงการที่น่าสนใจ หลักสิบล้านบาท ขึ้นไป ที่เสนอเข้ามายัง ทีมกลั่นกรอง โครงการ 3.2 หลักพันโครงการ เช่น ส่งเสริมสาธารณประโยชน์ระดับชุมชน และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการกีฬา มูลค่า 176.3 ล้านบาท ของมหาวิทยาลัยการกีฬา จ.กระบี่ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกสนามกีฬาอ่าวนาง มูลค่า 573 ล้านบาท ของการกีฬาแห่งประเทศไทย จ.กระบี่
ปรับปรุงระบบไฟฟ้าสนามกีฬากลาง จ.กาญจนบุรี (กลีบบัว) มูลค่า 28.8 ล้านบาท ของ อบจ.กาญจนบุรี ก่อสร้างปรับปรุงสนามกีฬาและลู่วิ่งลานกรีฑาภายในสวนธารณะสมเด็จพระญาณสังวร 40 ล้านบาท ของ จ.กาญจนบุรี ก่อสร้างสนามกีฬากลาง ต.คลองใหม่ อ.ยะรัง 17 ล้านบาท ก่อสร้างสนามฟุตบอล (สนาม 2) สนามกีฬากลาง อบจ.ปัตตานี 20.1 ล้านบาท ปรับปรุงสนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา เทศบาล ต.ยะหริ่ง อ.ยะหริ่ง 28.6 ล้านบาท ก่อสร้างลู่วิ่งยางสังเคราะห์พื้น SYNTHETIC สนามกีฬากลาง อบจ.ปัตตานี 34.9 ล้านบาท
ปรับปรุงสนามกีฬากลางเทศบาลนครตรัง 12.7 ล้านบาท ปรับปรุงสนามกีฬากลาง อ.ห้วยยอด 24.9 ล้านบาท โครงการปรับปรุงสนามกีฬา 2 (ทุ่งแจ้ง) 35 ล้านบาท ก่อสร้างอาคารที่พักศูนย์พัฒนาการกีฬาและส่งเสริมสุขภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ เทศบาล ต.รือเสาะ จ.นราธิวาส 22.3 ล้านบาท ก่อสร้างทางเดิน-วิ่ง บริเวณศูนย์ส่งเสริมการท่องเที่ยวและกีฬาเทศบาล ต.ทับสะแก หมู่ที่ 3 ต.ทับสะแก อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ 16 ล้านบาท ก่อสร้างระบบไฟฟ้าสนามฟุตบอล 1600 LUK สนามกีฬาอ.บางสะพานน้อย 28 ล้านบาท ของ อบจ.ประจวบคีรีขันธ์
ก่อสร้างโครงหลังคาคลุมสนามกีฬา จ.พะเยา 6.3 ล้านบาท ปรับปรุงสนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติเทศบาลตำบลแม่ใจ 6.37 ล้านบาท ก่อสร้างสนามกีฬา(ท.3) จ.พะเยา 27.4 ล้านบาท ปรับปรุงซ่อมแซมสนามกีฬา อบจ.พังงา 23.4 ล้านบาท ต่อเติมอัฒจันทร์สนามกีฬากลาง อบจ.พัทลุง ต.เขาเจียก อ.เมืองพัทลุง 4.85 ล้านบาท ก่อสร้างและปรับปรุงสนามกีฬาเทศบาล ต.มะกอกเหนือ จ.พัทลุง 10.3 ล้านบาท
“ก่อสร้างสนามกีฬากลาง ต.นาปะขอ อ.บางแก้ว จ.พัทลุง 264,878,640 บาท”พัฒนาก่อสร้างสระว่ายน้ำ พร้อมโครงหลังคา เทศบาล ต.บางไผ่ อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร 10 ล้านบาท ซ่อมแซมปรับปรุงลู่วิ่งยางสังเคราะห์ ภายในสนามกีฬา จ.พิจิตร 14.6 ล้านบาท ปรับปรุงภูมิทัศน์สนามกีฬาสวนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ต.ท่ายาง (ลู่กรีฑาวัสดุยางสังเคราะห์) 30.9 ล้านบาท พัฒนาสนามกีฬาสะพานหิน เทศบาลนครภูเก็ตสู่เมืองกีฬา 50.2 ล้านบาท ปรับปรุงสนามกีฬากลางเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน 16.8 ล้านบาท ปรับปรุงสนามกีฬากลางเทศบาลเมืองเบตง 97.5 ล้านบาท
ปรับปรุง - ลู่ ลานกรีฑาวัสดุยางสังเคราะห์ และรางระบายน้ำรอบสนามกีฬากลางจังหวัดระนอง หมู่ที่ 1 ต.บางริ้น อ.เมืองฯ จ.ระนอง 17.6 ล้านบาท ก่อสร้างปรับปรุงสนามกีฬา 18 ไร่ ถนนชุมแสง 6 ต.บ้านพรุ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 10 ล้านบาท ก่อสร้างสนามกีฬาประจำอ.สิงหนคร จ.สงขลา และก่อสร้างสนามกีฬาประจำอ.คลองหอยโข่ง มูลค่าเท่ากัน 31.89 ล้านบาท ของ อบจ.สงขลา พัฒนาศักยภาพสนามกีฬา อบจ.สตูล (เฟส 1) 15 ล้านบาท ปรับปรุงและปรับภูมิทัศน์สนามกีฬากลาง อ.ทุ่งหว้า 24.19 ล้านบาท พัฒนาศักยภาพสนามกีฬามาตรฐานแห่งที่ 2 อบจ.สตูล 28 ล้านบาท พัฒนาศักยภาพสนามกีฬา อบจ.สตูล (เฟส 2) 92 ล้านบาท ก่อสร้างสนามกีฬา (ประจำตำบล) ซอยแหลมพระเมรุหมู่ที่ 9 ต.ในคลองบางปลากด อ.พระสมุทรเจดีย์ 23.6 ล้านบาท ของจ.สมุทรปราการ ปรับปรุงสนามกีฬา อบต. บ้านใหม่ไชยมงคล จ.สุโขทัย 14 ล้านบาท
ปรับปรุงสนามกีฬา หมู่ที่ 4 บ้านขนาย ต.บางงอน อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี 12.48 ล้านบาท ปรับปรุงสนามกีฬาในสวนสาธารณะเกาะลำพู อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี 13 ล้านบาทของบจ.สุราษฎร์ธานี ก่อสร้างสนามกีฬาโรงเรียนเทศบาลเมืองท่าข้าม 2 เทศบาลเมืองท่าข้าม อ.พุนพิน 16.4 ล้านบาท ปรับปรุงสนามกีฬาเทศบาลตำบลเวียงสระ หมู่ที่ 2 ต.บ้านส้อง อ.เวียงสระ 19.3 ล้านบาท ปรับปรุงสนามกีฬาโรงเรียนอบจ.อุตรดิตถ์ 35 ล้านบาท ก่อสร้างสนามกีฬาประจำอำเภอ หมู่ที่ 6 ต.บ้านหม้อ อบต.บ้านหม้อ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ 38.2 ล้านบาท ก่อสร้างสนามฟุตบอล ลู่-ลานกีฬาฯ พร้อมอัฒจันทร์ โรงเรียนวังโป่งดำรงวิทย์ หมู่ที่ 3 ต.ผักขวง อ.ทองแสนขัน จ.อุตรดิตถ์ 40.3 ล้านบาท ปรับปรุงสนามกีฬากลาง ต.พญาแมน หมู่ที่ 2 บ้านดง ต.พญาแมน อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ 42.6 ล้านบาท
ปรับปรุงสนามกีฬา อบจ.อุตรดิตถ์ 55..1 ล้านบาท ก่อสร้างสนามกีฬาประจำ ต.แม่สาว 10 ล้านบาท ปรับปรุงสนามกีฬาองค์การบริหารส่วนตำบลเวียง 12.7 ล้านบาท ปรับปรุงสนามกีฬาเทศบาล ต.สุเทพ โดยทำการปรับปรุงผิวลู่วิ่งยางสังเคราะห์ประเภท B 23.1 ล้านบาท ก่อสร้างสนามกีฬาประจำ อ.เวียงแหง(ได้รับอนุญาตที่ราชพัสดุเรียบร้อยแล้ว) 24.5 ล้านบาท จ.เชียงใหม่ ปรับปรุงสนามกีฬา อบจ.ปราจีนบุรี และปรับปรุงภูมิทัศน์ลานกีฬาเพื่อการออกกำลังกาย 189 ล้านบาท ปรับปรุงสนามกีฬา และปรับภูมิทัศน์ลานกีฬาเพื่อการออกกำลังกาย โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า กบินทร์บุรี 25 ล้านบาท ของ อบจ.ปราจีนบุรี ปรับปรุงหอประชุมภายในสนามกีฬากลาง จ.พระนครศรีอยุธยา 58 ล้านบาท ก่อสร้างสนามยิงปืนภายในสนามกีฬากลางจ.พระนครศรีอยุธยา 56.6 ล้านบาท ปรับปรุง สนามเทนนิสภายในสนามกีฬากลางจ.พระนครศรีอยุธยา 36.4 ล้านบาท ของอบจ.พระนครศรีอยุธยา
พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงกีฬา รอบอ่างเก็บน้ำบ้านชัฏป่าหวาย เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี 22.3 ล้านบาท ปรับปรุงพร้อมติดตั้งระบบไฟฟ้าแสงสว่างสนามกีฬาเทศบาลนครอุดรธานี 11 ล้านบาท ปรับปรุงสนามกีฬาเทศบาลนครอุดรธานี 12.7 ล้านบาท พัฒนาปรับปรุงสนามกีฬา จ.เลย 40 ล้านบาท ปรับปรุงภูมิทัศน์สนามกีฬากลาง จ.มุกดาหาร 79.9 ล้านบาท ปรับปรุงสนามฟุตบอล และลู่ ลาน กรีฑา สนามกีฬาอำเภอหนองสูง 46 ล้านบาท
ปรับปรุงสนามกีฬา อบจ. โดยการก่อสร้างถนนแอสฟัลท์คอนกรีต พร้อมระบบระบายน้ำ 22.4 ล้านบาท
ทั้งหมดเป็นตัวอย่าง โครงการ“ด้านพัฒนากีฬา”ผ่านเงินกู้เพื่อฟื้นฟูชุมชน จากภัยโควิด-19 ที่ท้องถิ่น และส่วนกลาง เสนอผ่านมา มากกว่า 1 หมื่นโครงการ เพื่อสร้างสนามกีฬาแห่งใหม่ ปรับปรุงสนามกีฬา
ย้ำอีกที เป็นตัวอย่าง "โครงการเงินกู้เพื่อฟื้นฟูชุมชนจากภัยโควิด-19
หลายคนฟันธงว่า โครงการก่อสร้างสนามกีฬาเหล่านี้ ไม่น่าผ่าน “ทีมกลั่นกรอง 4 แสนล้าน”