ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - Sex Workers หรือผู้ค้าบริการทางเพศ เป็นหนึ่งในปัญหาที่ซุกซ่อนอยู่ใต้พรมของสังคมไทย เป็นหนึ่งในกลุ่มอาชีพที่ได้ผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากรายได้กลายเป็นศูนย์ ยังเข้าไม่ถึงการเยียวยาของภาครัฐ ยิ่งไปกว่านั้นภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทำให้ Sex Workers หน้าใหม่มุ่งสู่เส้นทางค้าประเวณีเพิ่มขึ้น นับตั้งแต่ทางการ “ล็อกดาวน์” ช่วงเดือนเมษายน 2563
ข้อมูลจากมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ หรือ Swing Thailand เปิดเผยว่าปัจจุบันผู้ยึดอาชีพขายบริการทางเพศทั่วประเทศไทย มีจำนวนมากกว่า 200,000 คน และในช่วงวิกฤตการณ์โรคระบาดโควิด-19 มีคนเข้าสู่ธุรกิจเพศพาณิชย์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งกลุ่ม Sex Workers หน้าใหม่ที่มุ่งเข้าสู่ถนนโลกีย์เพิ่มขึ้นในช่วงนี้ เป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ส่วนใหญ่ถูกเลิกจ้างในอาชีพอื่นๆ เป็นคนตกงาน จึงหันมาเสี่ยงค้าบริการทางเพศแลกเงิน
จากกรณีคลิปวิดิโอหญิงกลุ่มสาวขายบริการ บริเวณซอยปันสุข ย่านคลองเจ็ด จ.ปทุมธานี ออกมายืนขายบริการกลางดึก โดยไม่สวมหน้ากากาอนามัยฝ่าฝืนมาตรการสาธารณสุข หลังรัฐบาลยกเลิกเคอร์ฟิวในช่วงการแพร่ของโควิด-19 พร้อมกับอ้างว่า “เที่ยวได้เลย เคลียร์เจ้าหน้าที่แล้ว” ทว่า ไล่หลังไม่กี่วัน เจ้าหน้าที่เข้าตรวจจสอบกลับไม่พบการขายบริการ กลายเป็นประเด็นร้อนสั่นสะเทือนเจ้าของพื้นที่ สภ.ธัญบุรี โดนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ก่อนมีการขยายผลจับกุมหญิงสาวที่ปรากฏในคลิป ความผิดฐาน ติดต่อ ชักชวน แนะตัว ติดตาม หรือรบเร้า บุคคลบนถนนหรือสาธารณะสถานหรือกระทำการดังกล่าวในที่อื่นเพื่อการค้าประเวณี
ข้อมูลเปิดเผยว่าพื้นที่บริเวณนี้มีหญิงค้าบริการเข้ามายืนขายบริการเป็นประจำหลายปีแล้ว แต่หายไปในช่วงรัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และกลับมาอีกครั้งหลังจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 คลี่คลาย
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เกิดคำถามถึงการจัดการ Sex Workers ผู้ค้าบริการทางเพศในสังคมไทย
การค้าประเวณีในเมืองไทยผิดถูกตีตราทั้งในแง่กฎหมายและศีลธรรม แต่กลับพบเห็นการขายบริการได้ทุกซอกทุกมุมทั่วประเทศ เป็นช่องโหว่ให้คนมีสีแสวงหาผลประโยชน์เรียกรับเงินสินบน ซ้ำร้ายคนในธุรกิจเพศพาณิชย์ยังถูกลิดรอนในเรื่องสวัสดิการทางสังคม ไม่ได้รับสิทธิความคุ้มครองเหมือนอาชีพอื่นๆ
การขายบริการทางเพศเป็นอาชีพที่ไม่ได้รับการยอมรับในสังคมไทย ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ปัญหาของคนทำงานขายบริการชัดเจนขึ้น ตั้งแต่ทางการประกาศเคอร์ฟิว สถานบันเทิงต้องหยุดดำเนินการกิจการชั่วคราว ส่งผลกระทบต่อพวกเขาอย่างหนัก ทว่า กลับเป็นกลุ่มตกหล่นไม่สามารถเข้าถึงการเยียวยาของรัฐบาล ถูกตีตราเป็นคนบาป ไม่มีสวัสดิการขั้นพื้นฐานใดๆ ในอาชีพ มิหนำซ้ำ ภาครัฐกลุ่มคนมีสีบางกลุ่มยังซ้ำเติมผู้ค้าบริการเหล่านี้ให้ลำบากมากขึ้น
ที่ผ่านมา มีการถกเถียงอยู่หลายครั้งในเรื่องการจัดระเบียบเพศให้การค้าประเวณีถูกกฎหมายในประเทศไทย ภาคประชาสังคมและรัฐบาลร่วมกันพยายามหาทางแต่ยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก เพราะเป็นประเด็นละเอียดอ่อนทับซ้อนหลายมิติทั้งเรื่องสิทธิเสรีภาพในการประกอบอาชีพ เรื่องศีลธรรมอันดีงามที่ฉาบเคลือบสังคมไทย นอกจากนี้ ยังเกิดข้อกังวลถึงปัญหาการส่งเสริมการค้ามนุษย์ทางอ้อม
สำหรับแนวคิดทางกฎหมายเกี่ยวกับการค้าบริการทางเพศแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มเสรีนิยม มองว่าการประกบอาชีพเป็น “สิทธิส่วนบุคคล” บุคคลใดจะมีความสัมพันธ์ทางเพศกับใครก็ได้หาตนเองยินยอม เป็นสิทธิเสรีภาพที่บุคคลอื่นไม่สามารถก้าวล่วงได้ แต่กลุ่มอนุรักษ์นิยม จะมีแนวคิดว่าการประกอบกาชีพโสเภณีเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นที่มาของการ “ละเมิดสิทธิมนุษยชน” ขัดต่อหลักกฎหมาย ทำให้เกิดการค้ามนุษย์ การทารุณกรรมทางเพศและอื่นๆ เป็นต้น
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม รองประธานกรรมาธิการกิจการเด็กและสตรีฯ อธิบายถึงสถานการณ์ที่กลุ่มผู้ค้าบริการทางเพศกำลังเผชิญว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 กระทบกับอาชีพค้าบริการอย่างหนัก คนเหล่านี้ตกงาน 100 % มีการจ้างงาน ส่วนการช่วยเหลือจากรัฐโครงการเราไม่ทิ้งกัน เงินเยียวยา 5,000 บาท มีเพียง 3-5 % ที่ได้รับเงินเยียวยาจากการทะเบียนอาชีพอื่นๆ
และสนับสนุนให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 เพราะนอกจากไม่ได้ให้ความคุ้มครองผู้เสียหาย ยังมีช่องโหว่ให้เกิดการแสวงหาประโยชน์ ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องการผลักดัน คือ การคุ้มครองคนเหล่านี้ให้เป็นอาชีพที่มีสวัสดิการเหมือนอาชีพอื่น
ในต่างประเทศ มากกว่า 50 ประเทศทั่วโลกการขายบริการทางเพศถูกกฎหมาย เช่น สวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมัน นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย เบลเยียม บราซิล แคนาดา กรีซ เนเธอร์แลนด์ ฯลฯ แรงงานในอุตสาหกรรมทางเพศได้รับการดูแลคุ้มครองโดยรัฐ นับเป็นการจัดการการค้าบริการอย่างเป็นระบบ ทั้งเรื่องสวัสดิการคุ้มครองผู้ประกอบอาชีพ การตรวจโรคติดต่อทางเพศ ฯลฯ เปลี่ยนเส้นทางเงินธุรกิจใต้ดินเข้าสู่รัฐสร้างรายได้มหาศาล
Sex Workers ในธุรกิจเพศพาณิชย์เมืองไทย เป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใต้ดินทีมีมูลค่านับแสนล้าน แต่เป็นอาชีพผิดกฎหมาย ไม่มีสวัสดิการขั้นพื้นฐานใดๆ ไม่ได้รับการคุ้มครองในฐานะแรงงานเหมือนกับอาชีพอื่นๆ คนกลุ่มนี้ต้องเผชิญความเสี่ยงในการประกอบอาชีพสูง เช่น การทำร้ายร่างกาย การข่มขืนการล่วงละเมิดทางเพศ จากลูกค้านอกจากที่ทำการตกลงกันไว้ ถูกขูดรีดจากเจ้าหน้ารัฐ เป็นต้น
ภายในงานเสวนา “โครงการทบทวนกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี” โดยทีมวิจัยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขับเคลื่อนให้มีการยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 และยกร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่แทน เพราะเห็นว่ากฎหมายเดิมขาดประสิทธิภาพในการจัดการปัญหาค้าประเวณี
โดยหัวใจสำคัญต้องการให้เป็นเสมือนกฎหมายทางเลือกในการผู้ประกอบอาชีพค้าประเวณีให้สามารถประกอบอาชีพได้โดยชอบด้วยกฎหมายภายใต้เงื่อนไขอย่างหนึ่ง เพื่อ “ควบคุม” และ “คุ้มครอง” ผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการค้าประเวณีทั้งหมด กฎหมายไม่ส่งเสริมประกอบกาชีพการค้าประเวณี แต่เป็นการอำนวยความสะดวกการประกอบอาชีพการค้าประเวณีตามความจำเป็น ให้สิทธิประโยชน์ให้ความคุ้มครองเท่าที่จำเป็น และส่งเสริมให้ผู้ประกอบอาชีพออกจากกระบวนการค้าประเวณีโดยง่าย
เจตนารมณ์ของกฎหมายใหม่โดยทีมวิจัยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่ใช่การควบคุมผู้ประกอบอาชีพค้าประเวณี แต่ทำการคุ้มครองให้มีสิทธิเสรีภาพในการประกอบอาชีพ ควบคุมไม่ให้เกิดการแสวงหาผลประโยชน์รูปแบบต่างๆ เกี่ยวกับเด็กและการค้ามนุษย์ ทั้งนี้ กฎหมายจะคำนึงถึงการรักษาสมดุลในสังคม ไม่เกิดผลกระทบกับกลุ่มอื่นๆ ที่อยู่ร่วมกันทางสังคม
นายอัครวัฒน์ เลาวัณย์ศิริ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่าประเทศไทยมีความจำเป็นต้องคุ้มครองสิทธิของคนกลุ่มนี้ ทั้งตามพันธะกรณีระหว่างประเทศ เช่น อนุสัญญาว่าด้วยการจัดการการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women - CEDAW) ที่รัฐบาลไทยไปลงนามรับรองไว้ รวมถึงรัฐธรรมนูญไทยฉบับ 2560 ในมาตรา 40 ว่าด้วยเสรีภาพในการประกอบอาชีพ
ตลอดจนประเด็นด้านสุขภาพ ไม่เฉพาะผู้ขายบริการเท่านั้น แต่รวมถึงผู้ซื้อบริการและครอบครัวของคนเหล่านี้ จำเป็นต้องมีมาตรการทางกฎหมายเพื่อคุ้มครองให้ทั่วถึง โดยยึดหลักบูรณภาพในร่างกายและชีวิต อาทิ ผู้ขายบริการต้องสามารถปฏิเสธไม่รับลูกค้าบางประเภทหากเห็นว่าตนเองสุ่มเสี่ยงจะได้รับอันตราย การถูกเอารัดเอาเปรียบกรณีเป็นลูกจ้างในสถานบริการ รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อรักษาความลับของข้อมูลส่วนบุคคล
ทั้งนี้ หน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบอย่าง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กำลังอยู่ระหว่างทบทวนแนวทางแก้ไขกฎหมายค้าประเวณี เพื่อให้เข้ากับยุคสมัย แต่ยังไม่มีรายละเอียดเปิดเผยออกมา
แม้การค้าประเวณีถูกกฎหมายในประเทศไทยยังไม่มีข้อสรุปว่าจะเป็นไปในทิศทางใด แต่เชื่อว่าหลังพ้นวิกฤตโควิด-19 ธุรกิจเพศพาณิชย์จะเป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจใต้ดินมูลค่าแสนล้านต่อไป