ป้อมพระสุเมรุ
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เป็นเรื่องเป็นราว เป็นข่าวใหญ่โตขึ้นมาทันที
หลังคำตอบทำนอง * “ส่งเดช” ของ “ซือแป๋ลอดช่อง” วิษณุ เครืองาม รองนายกฯฝ่ายกฎหมาย เกี่ยวกับความคืบหน้าการจัดการ “เลือกตั้งท้องถิ่น” หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น โดยระบุว่ารัฐบาลมีการเตรียมความพร้อมที่จะจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นมา 6 เดือนแล้ว แต่งบประมาณที่เตรียมไว้สำหรับจัดการเลือกตั้ง ถูกนำมาใช้ในการแก้ปัญหาเรื่องโควิด-19 ส่วนหนึ่งแล้ว
“วันนี้งบประมาณดูจะกลายเป็นเรื่องสำคัญ จริงๆ เขามีความพร้อมมา 6 เดือนแล้ว แต่ตอนนี้เขานำงบประมาณไปใช้กับโควิดแล้ว”
จน “เรียกแขก” ถูกถล่มด่าขรมจมธรณี โดยเฉพาะซีก “ฝ่ายค้าน” ที่หมายมั่นปั้นมือหวังใช้ “สนามท้องถิ่น” คานอำนาจการเมืองระดับชาติมากเป็นพิเศษ
ก่อนที่อีก 2-3 วันถัดมา “วิษณุ” ต้องมา “กลืนน้ำลายตัวเอง” บอกว่า งบประมาณจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นเพียงพอ โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลส่งร่างงบประมาณปี 2564 เข้าสภาฯไปเป็นที่เรียบร้อย และหากไม่มีอะไรผิดพลาด ก็พร้อมใช้จ่ายได้หลังวันที่ 1 ต.ค.63 ตามวงรอบของปีงบประมาณ
“ที่สื่อมวลชนถามมานั้นเมื่อวันก่อน หมายถึง 2-3 เดือน แต่ตอนที่สื่อถามมานั้นมันวันที่ 12 มิ.ย. ซึ่งเดือน ก.ค., ส.ค.หรือ ก.ย. มันจะมีปัญหาเรื่องงบประมาณ ซึ่งเมื่อไม่จัดการเลือกตั้งในตอนนี้ ก็ไปจัดการเลือกตั้งหลังวันที่ 1 ต.ค. เพราะงบประมาณปรากฎในงบประมาณปี 64 อยู่แล้ว” คือสิ่งที่ “รองฯวิษณุ” อธิบายกับสื่อ
แปลความว่า ถ้าจะให้เลือกตั้งท้องถิ่นภายในวันนี้-วันพรุ่ง หรือช่วง 1-2 เดือนนี้ คงไม่สะดวกในเรื่องงบประมาณ
แต่ในระหว่าง 2-3 วันที่ “วิษณุ” จะออกมาแก้เกี้ยวให้ตัวเองนั้น ต้องบอกว่า “ตัวละคร” สำคัญอื่นๆ ตามท้องเรื่องต่างออกมา “แทงสวน” ทั้งสิ้น
ไม่ว่าจะเป็น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต.ยืนยันว่า กกต.พร้อมที่จะดำเนินการทันทีที่รัฐบาลประกาศให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น โดยงบประมาณในส่วนของ กกต.ที่จัดสรรไว้ 800 ล้านบาทในการกำกับดูแลการเลือกตั้งท้องถิ่นในงบประมาณรายจ่ายประจำปี 63 ยังอยู่ครบถ้วน ขณะที่ที่งบประมาณหลักจะอยู่ในส่วนของกระทรวงมหาดไทย
สอดคล้องกับ “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ที่ชี้แจงคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร โดยมี “หมออ๋อง” ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล เป็นประธาน ได้หารือประเด็นการตรวจสอบเเละติดตามการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น โดยได้เชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าชี้เเจง ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ มอบหมายให้ “บิ๊กป๊อก” ไปเป็นผู้ชี้เเจงเเทน
โดย “มท.1” ยืนยันเช่นกันว่า กระทรวงมหาดไทยมีความพร้อม แต่ออกตัวทันทีเช่นกันคือ ตอบแทนคณะรัฐมนตรีไม่ได้ในการกำหนดกรอบเวลาการจัดการเลือกตั้งเมื่อใด และจะจัดให้พื้นที่ใด รูปแบบใดก่อน ที่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นทั้งหมด 7,852 แห่ง รวม 97,940 ตำแหน่งทั่วประเทศ
แบ่งเป็นองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 76 แห่ง, เทศบาลนคร 30 แห่ง, เทศบาลเมือง 189 แห่ง, เทศบาลตำบล 2,242 แห่ง และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 5,313 แห่ง, เมืองพัทยา 1 แห่ง และกรุงเทพมหานคร(กทม.) 1 แห่ง
“ยังไม่ได้มีข้อสรุปจากคณะรัฐมนตรี และยังต้องรอคณะกรรมการการเลือกตั้งแบ่งเขตเลือกตั้งให้เสร็จสิ้น แล้วประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา โดยในส่วนของงบประมาณมีเพียงพอ และไม่มีปัญหาใดต้องกังวล”
ทางด้าน “นายกฯตู่” เองก็หล่นคำมั่นไว้ว่า ขึ้นอยู่กับกฎหมายและความพร้อมของกระทรวงมหาดไทย และ กกต. ถ้าเป็นไปได้จะมีการเลือกตั้งสักอย่างในปีนี้ ขอให้รอเวลาก่อน
เอาเข้าจริงก็มีการตระเตรียมเลือกตั้งท้องถิ่นล่วงหน้ามาพอสมควรแล้ว โดย “บิ๊กป๊อก” ก็เคยประกาศไว้กลางสภาฯเมื่อปีกลายว่า ในปี 2563 จะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นแน่นอน คาดกันว่าในปี 2563 จะได้เปิดคูหากาบัตรกันครั้งแรกในรอบ 8 ปี แต่เกิดวิกฤตโควิดขึ้นเสียก่อน
จนผู้สมัครบางจังหวัดออกตัวไปแล้วด้วยซ้ำ เช่น “บิ๊กแจ๊ส” คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง อดีตตำรวจดัง ที่ประกาศจองเก้าอี้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ปทุมธานี มีงานเปิดตัวยิ่งใหญ่อลังการ เช่นเดียวกับรายของ “แม่ยิ้ม” วิสารตี เตชะธีรวัฒน์ ลูกสะใภ้ “เฮียพงษ์” สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ที่แต่งตัวลงชิงนายก อบจ.เชียงราย
หรือที่เมืองหลวงพรรคเพื่อไทย “เสี่ยก๊อง” ชูชัย เลิศพงศ์อดิศร** อดีต ส.ว.เชียงใหม่ ก็ท้าชน “เสี่ยโต๊ะ” บุญเลิศ บูรณุปกรณ์ เจ้าของตำแหน่งนายก อบจ.เชียงใหม่ หลายสมัยไปแล้ว
เมื่อสถานการณ์กลับสู่ปกติ ฝ่ายค้านจึงเริ่มกลับมาทวงถามอีกครั้ง เพราะต้องการให้มีการจัดเลือกตั้งท้องถิ่นให้เร็วที่สุด ด้วยรู้ดีว่าเมื่อถึงสิ้นปีงบประมาณ ก็เป็นวงรอบเดียวกับการแต่งตั้งโยกย้ายผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ
ในภาวการณ์ที่ “ฝ่ายค้าน” เสียเปรียบทุกประตูอยู่ ยิ่งปล่อยให้จัดทัพผู้ว่าฯ เสร็จ สนามเลือกตั้งท้องถิ่นก็ยิ่งหินไปใหญ่
แม้ฝ่ายค้านอย่างพรรคเพื่อไทย ยังมั่นในกระแส และพื้นที่อิทธิพลเดิม ทั้งภาคเหนือ-อีสาน หรือตามเขตเมือง ที่ทาง “ค่ายก้าวไกล” ซึ่งว่ากันว่าจะส่งผู้สมัครในนาม “กลุ่มก้าวหน้า” ก็หมายตาอยู่ แต่ก็ต้องยอมรับว่า “กลไกสีกากี” มีส่วนสำคัญอย่างมาก
อีกมิติที่มีส่วนเร่งเร้าให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นภายในปีนี้ ก็ภารกิจสำคัญของรัฐบาลในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ที่ว่ากันว่ายิ่งมีเลือกตั้งเร็วเท่าไร ก็อาจจะมีส่วนช่วยปลุก “เศรษฐกิจฐานราก” ได้เร็วยิ่งขึ้น
เพราะการต่อสู้ในสนามท้องถิ่นยุคนี้ดุเดือดเลือดพล่านยิ่งกว่าสนามใหญ่ ระดมสรรพกำลังเกทับบลัฟกันแหลก ด้วยมีประโยชน์โภชผลงบประมาณให้บริหาร ต่างจาก ส.ส.ผู้ทรงเกียรติ ที่ถูกรัฐธรรมนูญกันห่างไกล “งบประมาณ” ไปทุกขณะ
ยิ่งห่างหายร้างรามานานถึง 6 ปี เชื่อเถอะว่า แต่ละฝ่ายยิงกันสลุต ชาวบ้านแฮปปี้กันทุกหย่อมหญ้าแน่นอน.