xs
xsm
sm
md
lg

ความขัดแย้งกับจีนคือทางออกของเศรษฐกิจอินเดีย???

เผยแพร่:   โดย: ทับทิม พญาไท


นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย
ปิดฉากสัปดาห์นี้...คงต้องเป็นไปในแบบเดิมๆ กันอีกนั่นแหละทั่น คือโอกาสที่จะไปควานหา “ข่าวดี” หรือข่าวที่ออกไปทางเบาๆ สบายๆ ยังคงยากยากเย็นแสนเข็ญ พอๆกับหาหนวดเต่า-เขากระต่าย อะไรประมาณนั้น เพราะนอกจากเรื่องความเป็นไปในอเมริกาที่ทำท่าว่าใกล้ๆ ล่มสลาย จนต้องลากยาวมาตั้งแต่ต้นสัปดาห์ จู่ๆ...ก็ดันมาเกิดเรื่อง เกิดราว เกิดการไล่ทุบ ไล่กระทืบระหว่างทหารอินตะระเดียกับทหารจีน ตายกันไปเป็นสิบๆ บริเวณพรมแดนจีน-อินเดีย เมื่อช่วงวันจันทร์ (15 มิ.ย.) ที่ผ่านมา...

ซึ่งต้องถือเป็นเรื่องที่คงต้องหันไปจับตาอย่างมิอาจกะพริบตากันอีกนั่นแหละ...โดยเฉพาะเมื่อนายกรัฐมนตรีอินตะระเดียแห่งพรรคชาตินิยมฮินดู (ภารติยะ ชนะตะ) ออกมาป่าวประกาศแบบเสียงดัง-ฟังชัด ว่าจะไม่ยอมให้ทหารอินเดียที่ตายไปประมาณ 20 ราย เพราะถูกทหารจีนเอาเหล็กทุบ หรือเอาก้อนหินปาก็แล้วแต่ ต้อง “ตายเปล่า” (not be in vain) โดยเด็ดขาด!!! ความตึงเครียด ความขัดแย้งระหว่าง 2 พี่เบิ้มแห่งเอเชียด้วยกันทั้งคู่ จึงเป็นสิ่งที่ประเทศเล็กๆ ในอาเซียน อย่างประเทศไทยแลนด์แดนสยามของหมู่เฮา จะเอาหูไปนา-เอาตาไปไร่ ก็คงมิได้ หรือคงจะไม่เหมาะสักเท่าไหร่นัก...

แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว...การปะทะ ขัดแย้งบริเวณพรมแดนที่ยาวที่สุดในโลก หรือยาวถึง 4,057 กิโลเมตร ระหว่าง 2 พี่เบิ้มแห่งเอเชียอย่างจีนและอินตะระเดีย ก็เริ่มมีควันกรุ่นๆ หรือเริ่มส่อสัญญาณให้เห็นมาตั้งแต่ต้นเดือนที่แล้ว หรือตั้งแต่ช่วงวันที่ 9 พฤษภาคม ที่เกิดการปะทะกันที่ชายแดนรัฐสิกขิม อันถือเป็นช่วงประจวบเหมาะที่ทั้งสองประเทศ รวมทั้งทั่วทั้งโลกกำลังต้องเจอกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสเมืองจีน หรือเชื้อไวรัส “COVID-19” กันแบบพอดิบ พอดี ขณะที่คุณพี่จีนแม้เป็นจุดเริ่มต้นการแพร่ระบาด แต่อาจเพราะตั้งหลัก ตั้งการ์ดได้ทันท่วงที จึงไม่ถึงกับหนักหนาสาหัสอะไรมาก แค่ประมาณคางเหลือง ก้นเตี้ยไปพอประมาณ แต่สำหรับคุณปู่อินตะระเดียนี่สิ!!! เจอกับการออกฤทธิ์ ออกเดช ออกอาละวาดของเชื้อ “COVID-19” คราวนี้ ต้องเรียกว่า...อีนี่ ถึงแขกไม่ตาย แต่ก็อาจเลี้ยงไม่โต กันเลยนะนายจ๋า...

หรืออย่างที่อดีตผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย “IMF” ชาวอินตะระเดีย “นายRaghuram Rajan” เคยสรุปเอาไว้นั่นแหละว่า... “ถือเป็นภาวะวิกฤตที่ใหญ่ที่สุดนับจากประเทศอินเดียได้รับเอกราช” เอาเลยถึงขั้นนั้น ไม่ใช่แค่เฉพาะชาวอินตะระเดียต้องติดเชื้อชนิดงอมๆ แงมๆ ปาเข้าไป 3 แสนเกือบ 4 แสนราย จนกลายเป็นประเทศผู้ติดเชื้ออันดับ 4 ของโลกไปแล้วทุกวันนี้ แต่ “เศรษฐกิจอินเดีย” ที่เคยมาแรงแซงโค้งมาโดยตลอด ต้องหัวทิ่มดิน อย่างไม่มีทีท่าว่าจะเงยหน้าอ้าปากเอาเลยแม้แต่น้อย บรรดาบริษัทธุรกิจภายในประเทศ ไม่ต่ำกว่า 53 เปอร์เซ็นต์ ต้องหายใจทางเหงือก ไม่ก็เด๊ดสะมอเร่ อิน เดอะ เท่งทึง อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ จำนวนตัวเลข “คนว่างงาน” แค่ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ปาเข้าไปถึง 140 ล้านราย มูลค่าความเสียหายที่เกิดจากการ “ล็อกดาวน์” เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสในแต่ละวัน ว่ากันว่า...ไม่ต่ำกว่าวันละ 4,500 ล้านดอลลาร์ ฯลฯ แถมยังเจอกับโรคซ้ำกรรมซัดวิบัติ เจอฝูงตั๊กแตนบุกเข้ากัดกินพืชผลการเกษตรพังพินาศ เสียหาย อีกไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่ ชนิดที่ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจอินเดีย ถึงกับประมาณการเอาไว้ว่า โอกาสที่จะฟื้นเศรษฐกิจอินเดียให้คืนกลับมาเป็นปกติ อาจต้องใช้เงินอัดฉีด เยียวยาไม่น้อยกว่า 10 ล้านล้านดอลลาร์...

ภายใต้สภาพเช่นนี้นี่เอง...มันเลยออกจะมีความเกี่ยวโยง พัวพันกับความร้อนระอุที่อุบัติขึ้นมาบริเวณพรมแดนจีน-อินเดียอย่างมิอาจปฏิเสธ คือโดยปกติ...ด้วยความเป็นพื้นที่พรมแดนที่เชื่อมต่อกันยาวเหยียดถึง 4,000 กว่ากิโลเมตร โอกาสที่จะเกิดการกระทบกระทั่งระหว่างกันและกัน ย่อมถือเป็นเรื่องธรรมดาๆ หรือประมาณ “เหงือกกับฟัน” หรือ “ลิ้นกับฟัน” อะไรทำนองนั้น แต่ภายใต้สภาพที่ลิ้นชักแข็งๆ เหงือกเริ่มชาๆ อันเนื่องมาจาก “ปัญหาเศรษฐกิจ” ที่กระหน่ำซ้ำเติมอย่างหนักหนาสาหัส ย่อมก่อให้เกิดสภาวะ “ลิ้นจ๋าฟันลาก่อน” หรือ “เหงือกจ๋าฟันลาก่อน” ได้ไม่ยากส์ส์ส์ หรือด้วยเหตุเพราะความพยายามหาทางออก ทางไปของเศรษฐกิจอินเดีย ที่เริ่มเห็นช่อง เห็นจังหวะ ว่าอาจพลิกฟื้นคืนสภาพเศรษฐกิจขึ้นมาได้บ้าง ถ้าหากอาศัยสภาพความขัดแย้งระหว่างอภิมหาอำนาจระดับโลก อย่าง “จีนกับอเมริกา” ที่กำลังเปิดฉาก “สงครามเย็นยุคใหม่” ระหว่างกันและกัน ดึงเอาบรรดาการลงทุนทางเศรษฐกิจของบริษัทธุรกิจอเมริกัน ที่เคยไปปักหลัก ปักฐาน สร้าง “ห่วงโซ่อุปทาน” ไม่ว่าในเมืองจีน หรือในเกาะฮ่องกง ให้ย้ายเข้าปักหลักในอินตะระเดียกันแทนที่...

ความพยายามหาทางออก ทางไป ของเศรษฐกิจอินเดียในลักษณะเช่นนี้ ต้องเรียกว่า...ออกจะเอาจริง-เอาจัง เอามากๆ ถึงขั้นพร้อมแก้ไขกฎหมายแรงงานกันเป็นฉบับๆ ยกเว้นไม่ให้เกิดการตั้งสหภาพแรงงาน เพิ่มช่วงเวลาทำงานของแรงงาน มอบสิทธิพิเศษและเงื่อนไขต่างๆ ให้กับบรรดาบริษัทธุรกิจสหรัฐฯ จนปรากฏข่าวคราวตามรายงานของนิตยสาร “Economic Times” ว่าด้วยความพยายามอย่างเป็นระบบและเป็นกระบวนการของอินเดีย สามารถดึงดูดบริษัทธุรกิจอเมริกันไม่น้อยกว่า 1,000 บริษัท ให้ย้ายฐานการผลิตไปตั้งอยู่ในอินเดียเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งก็ไม่ได้ถือเป็นเรื่องแปลก หรือน่าปลาบปลื้มยินดีอะไรมากมายนัก เพราะความพยายามหาทางออก ทางไป ของอินเดียในลักษณะเช่นนี้ ย่อมเป็นอะไรที่สอดรับไปกับความปรารถนา ความต้องการ ของคุณพ่ออเมริกาแบบพอดิบ พอดี ในอันที่จะใช้อินเดียเป็น “กุญแจ” ในการ “ปิดล้อมจีน” ตาม “ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก” ซึ่งถูกประดิษฐ์ คิดค้น ขึ้นมาในยุค “ทรัมป์บ้า” นั่นเอง...

หรือสอดรับกับคำพูด คำประกาศ ของหัวหน้าที่ปรึกษาเศรษฐกิจทำเนียบขาว “นายแลร์รี คัดโลว์” (Larry Kudlow) ที่ได้ป่าวประกาศไว้ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ว่า “วาระเร่งด่วน” ทางการค้าของอเมริกาช่วงนี้ ไม่ใช่การพูดคุยเจรจาความขัดแย้งทางการค้ากับจีนอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นการหาทางทำให้บริษัทธุรกิจอเมริกาที่ไปลงทุนในเมืองจีน ย้ายฐานการผลิตกลับมาสู่อเมริกา หรือไม่ก็ไปยังบรรดาประเทศที่อเมริกาพยายามรวบรวมไว้เป็นพันธมิตร ในนามกลุ่มประเทศ “Economic Prosperity Network” นั่นเอง ยิ่งถ้าเป็นอินเดียที่ถือเป็น “กุญแจ” ของ “ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก” ด้วยแล้ว ยิ่งเป็นไปตามความปรารถนา ความต้องการ ของอเมริกายิ่งขึ้นไปใหญ่...

ดังนั้น...แม้ว่าก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีชาตินิยมฮินดู อย่าง “นายนเรนทรา โมดี” จะเคยแสดงความเป็นอิสระ ชนิดแทบไม่ได้ให้ค่ากับ “ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก” ที่มีเป้าหมายในการปิดล้อมจีนแต่อย่างใด โดยถึงกับสรุปคำว่า “อินโด-แปซิฟิก” เป็นแค่ “คำนิยามทางภูมิรัฐศาสตร์” ไม่ได้ถือเป็น “ยุทธศาสตร์” แต่อย่างใด แต่ท่ามกลางสภาวะที่...อีนี่แขกกำลังจะแขกตี้ หรือกำลังจะตายนะนายจ๋า เมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานี่เอง รัฐบาลโดยกระทรวงกลาโหมอินเดียได้หันไปให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์ที่ว่านี้ อย่างชนิดเป็นเรื่อง เป็นราว คือได้ลงนามใน “ข้อตกลงทางทหาร” กับประเทศออสเตรเลีย หนึ่งในประเทศสำคัญของยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก โดยถือเป็น “ก้าวแรก” ของความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดเอามากๆ ระหว่าง 2 ประเทศ หรือทำให้เกิดข้อตกลงที่ให้ชื่อไว้ยาวเหยียดว่า “Australia-India Mutual Logistic Support Arrangement and the Defense Science and Technology Implementing Arrangement” นั่นเอง อันสะท้อนถึงความร่วมมือตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ดังกล่าวอย่างแจ่มแจ้งชัดเจน การปะทะบริเวณพรมแดนระหว่างจีนและอินเดีย จึงถือเป็นคำตอบ และคำอธิบาย ว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นระหว่าง 2 พี่เบิ้มใหญ่แห่งเอเชีย ที่บรรดา “หญ้าแพรก” ทั้งหลาย พึงต้องระมัดระวังเอาไว้ซะแต่เนิ่นๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น