ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังเตรียมลงนามในข้อตกลงการค้ากับจีนในวันพุธ (15 ม.ค.) นี้ โดยที่เขาจะต้องป่าวร้องว่าเป็นชัยชนะครั้งสำคัญ ถึงแม้อันที่จริงมันได้มาด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงลิบ ภายหลังการเผชิญหน้ากันอย่างขมขื่นเป็นระยะเวลา 2 ปี ระหว่างมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับหนึ่งและอันดับสองของโลก 2 รายนี้
“ประเด็นปัญหาหนักๆ ระหว่างสหรัฐฯกับจีนยังคงค้างคาไม่ได้รับการแก้ไขคลี่คลาย” นี่เป็นความเห็นของ เอดเวิร์ด แอลเดน (Edward Alden) ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายการค้า ของสภาว่าด้วยความสัมพันธ์ต่างประเทศ (Council on Foreign Relations) องค์การคลังความคิดด้านการต่างประเทศอันทรงอิทธิพล ซึ่งตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ที่นครนิวยอร์ก
แต่เขาก็ยอมรับเช่นกันว่า “ในทางการเมืองแล้ว เรื่องนี้ส่งผลดีมากให้แก่ตัวทรัมป์” ในช่วงเวลาที่เขากำลังลงแข่งขันเพื่อให้ได้รับเลือกตั้งอีกสมัยหนึ่งในปลายปีนี้
ทำเนียบขาวสามารถที่จะคุยได้ว่า ตนกำลังใช้ “ไม้แข็งอย่างหนักแน่นกับจีน” และ “ในทางเทคนิคแล้วเขาก็ทำข้อตกลงกับจีนได้จริงๆ” ซึ่งเป็นอะไรที่เขาได้ให้สัญญากับพวกผู้ออกเสียงเอาไว้ในคราวเลือกตั้งปี 2016 แอลเดน กล่าว
อย่างน้อยที่สุด ดีลนี้ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นข้อตกลงสงบศึกชั่วคราว ก็ทำให้ตลาดการเงินเกิดความมั่นใจขึ้นมาใหม่ ภายหลังปั่นป่วนจากความผันผวนครั้งแล้วครั้งเล่าในปี 2018 และ 2019 ท่ามกลางการข่มขู่, การตอบโต้ด้วยการข่มขู่กลับ, และกระแสของการขึ้นอัตราภาษีศุลกากรเข้าใส่กัน
การหยุดยิงในเวลานี้ยังอาจช่วยเหลือทรัมป์ผู้กำลังอยู่ระหว่างรณรงค์หาเสียง ด้วยการทำให้เศรษฐกิจอเมริกันขยับอัตราเติบโตขึ้นไปอีก
ขณะที่ความไม่แน่นอนมีการคลี่คลายตัว พวกผู้บริโภคก็มีเหตุผลงามๆ ยิ่งขึ้นที่จะจับจ่ายใช้สอยด้วยความเชื่อมั่น และธุรกิจทั้งหลายก็อาจจะกล้าเดินหน้าด้วยการลงทุนต่างๆ ซึ่งได้พักเอาไว้ก่อนสืบเนื่องจากกลัวเกรงไม่ทราบว่าความขัดแย้งนี้จะออกหัวออกก้อยยังไง
ทรัมป์นั้นประกาศอย่างเอิกเกริกเลื่อนลั่นในช่วงส่งท้ายปีเก่าว่า เขาจะลงนามในข้อตกลงการค้าที่เรียกกันว่า “เฟส 1” นี้ ในวันที่ 15 มกราคมที่ทำเนียบขาว
พิธีการอันงดงาม
แต่ต้องรอจนกระทั่งถึงวันพฤหัสบดี (9) ที่ผ่านมานั่นแหละ ทางฝ่ายปักกิ่งโดยกระทรวงพาณิชย์จีนจึงได้แถลงยืนยันการไปเยือนวอชิงตันของรองนายกรัฐมนตรี หลิว เหอ ตั้งแต่วันจันทร์ (13) ไปจนถึงวันพุธ (15)
กระนั้น รายละเอียดเกี่ยวกับขนาดขอบเขตของดีลฉบับนี้ก็ยังคงเป็นความลี้ลับ
“เอกสารทั้งหมดจะได้รับการเปิดเผยในวันพุธ (15)” แลร์รี คุดโลว์ ผู้อำนวยการสภาเศรษฐกิจแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้ช่วยทางด้านเศรษฐกิจคนสำคัญคนหนึ่งของทรัมป์ บอกกับพวกผู้สื่อข่าวในวันศุกร์ (10)
เขากล่าวอีกว่า จะมีการจัด “พิธีการอันงดงาม” โดยในคืนก่อนหน้าวันลงนามจะมีการเลี้ยงดินเนอร์อย่างเป็นทางการ แล้วติดตามด้วยงานเลี้ยงอาหารกลางวันในวันทำพิธีลงนาม
คุดโลว์ยังบอกปัดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ว่า ดีลฉบับนี้มีสิ่งที่ตกลงกันได้น้อยกว่าที่เคยคาดหมายกันไว้ โดยเขายืนยันว่าคณะผู้เจรจาฝ่ายสหรัฐฯชนะ ทำให้ฝ่ายจีนอ่อนข้อในหลายๆ เรื่อง
ทั้งนี้ ทำเนียบขาวระบุว่า ข้อตกลงฉบับนี้ครอบคลุมเรื่องการแก้ไขปรับปรุงข้อกำหนดต่างๆ ในการถ่ายโอนเทคโนโลยีซึ่งปักกิ่งได้บังคับใช้กับพวกบริษัทต่างประเทศที่เข้าไปลงทุนในแดนมังกร ตลอดจนเรื่องการทำให้บริษัทและแบงก์สหรัฐฯสามารถเข้าถึงตลาดจีนในด้านบริการทางการเงินได้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม
นอกจากนั้น ทำเนียบขาวยังเน้นย้ำว่าปักกิ่งจะซื้อผลิตภัณฑ์อเมริกันเพิ่มขึ้นเป็นมูลค่า 200,000 ล้านดอลลาร์ในช่วงระยะเวลา 2 ปีจากนี้ โดยถือตัวเลขปี 2017 เป็นเกณฑ์ ในนี้จะเป็นพวกสินค้าเกษตร 50,000 ล้านดอลลาร์
ในทางกลับกัน คณะบริหารทรัมป์ตกลงยกเลิกการขึ้นอัตราภาษีศุลกากรที่จะจัดเก็บจากพวกสินค้าประทับตราทำในจีน อย่างเช่นพวกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเดิมทีมีกำหนดจะขึ้นไปตั้งแต่เดือนที่แล้ว นอกจากนั้นยังจะลดภาษีที่ขึ้นไปแล้วลงมาครึ่งหนึ่ง สำหรับพวกที่ถูกจัดเก็บเพิ่มตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนเป็นต้นมา โดยที่ส่วนหลังนี้ครอบคลุมผลิตภัณฑ์จีนคิดเป็นมูลค่า 120,000 ล้านดอลลาร์
แต่ยังมีภาษีศุลกากรอีกมากที่ปรับขึ้นไปแล้วจะยังคงมีผลบังคับอยู่ รวมทั้งสงครามการค้าที่ผ่านมาก็สร้างแรงบีบคั้นต่อพวกธุรกิจสหรัฐฯ
เอสวาร์ ปราซาด (Eswar Prasad) อาจารย์ด้านนโยบายการค้า ที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล และก็เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีนคนหนึ่ง ชี้ว่า ดีลฉบับนี้ควรถือว่าเป็น “ความสำเร็จที่มีทั้งบวกบ้างลบบ้าง” และได้มาโดยต้องเสียค่าใช้จ่าย
“ทรัมป์สามารถสกัดแคะคุ้ยเอาการอ่อนข้อบางอย่างบางประการออกมาจากจีน และจากพวกคู่ค้าของสหรัฐฯรายอื่นๆ แต่ได้มาในราคาค่าใช้จ่ายที่หนักโขสำหรับเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมทั้งได้มาด้วยการบั่นทอนฐานะระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ในเรื่องการเป็นประเทศคู่ค้าที่ทรงคุณค่าควรแก่การเชื่อถือ และสามารถไว้วางใจได้”
เป็นความจริงที่เศรษฐกิจจีนมีอัตราเติบโตชะลอตัวลงอย่างเห็นชัด ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลของสงครามการค้านี้แหละ ทว่าพวกอุตสาหกรรมการผลิตของอเมริกันและเกษตรกรอเมริกันก็ได้รับบาดเจ็บเช่นเดียวกัน
เพื่อบรรเทาความสูญเสียในภาคการเกษตรสหรัฐฯ คณะบริหารทรัมป์จำเป็นต้องจัดหาเงินงบประมาณรวม 28,000 ล้านดอลลาร์มาใช้จ่ายช่วยเหลือเกษตรกรในปี 2018 และ 2019
ส่วนภาคอุตสาหกรรมการผลิตของอเมริกาก็ย่ำแย่เข้าสู่ภาวะถดถอยในเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว
“มีผลกระทบสร้างความเสียหายอย่างสำคัญต่อเกษตรกรอเมริกัน และมีผลกระทบสร้างความเสียหายอย่างสำคัญต่ออุตสาหกรรมการผลิตสหรัฐฯ โดยที่คำมั่นสัญญาของฝ่ายจีนที่จะซื้อหาครั้งใหม่ ไม่น่าที่จะลบล้างความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วเหล่านี้ได้” แอลเดน บอก
เมื่อตอนที่เปิดฉากทำสงครามการค้านั้น เป้าหมายหลักๆ ประการหนึ่งซึ่งทรัปม์ประกาศออกมา ก็คือจะลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ และยุติการปฏิบัติทางการค้าอย่างไม่เป็นธรรม ทว่าพวกผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าต่างข้องใจสงสัยว่า วอชิงตันสามารถที่จะทำให้ปักกิ่งยินยอมเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอย่างมีนัยสำคัญจริงๆ หรือ
ปราซาดบอกว่า จีนไม่น่าที่จะยินยอมต่อข้อเรียกร้องหลักๆ จากคณะบริหารทรัมป์ อย่างเช่นเรื่องการอุดหนุนภาครัฐที่ปักกิ่งให้แก่พวกบริษัทจีน ซึ่งวอชิงตันเรียกร้องให้ลดลงมาอย่างเป็นเนื้อเป็นหนัง
ส่วน สีว์ ปิน (Xu Bin) อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์และการเงิน แห่งวิทยาลัยธุรกิจระหว่างประเทศจีนยุโรป (China Europe International Business School ใช้อักษรย่อว่า CEIBS) ในเซี่ยงไฮ้ กล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายสามารถประกาศว่าพวกเขาทำข้อตกลงกันได้ โดยเป็นข้อตกลง “ซึ่งจะเป็นที่ยอมรับกันได้ ทว่าไม่ได้เป็นชัยชนะ” แต่อย่างใด
“ผมคิดว่าโดยสาระสำคัญแล้วการสู้รบกันระหว่างจีนกับสหรัฐฯจะยังดำเนินต่อไปอีกยาวนานทีเดียว มันอาจจะเป็นช่วงระยะเวลาสองสามปีข้างหน้า, 10 ปีข้างหน้า, 20 ปีข้างหน้า หรือกระทั่งยาวนานกว่านั้นอีก” โดยวนเวียนกันไประหว่างความขัดแย้งกันและการสงบศึกชั่วคราว
(เก็บความจากเรื่อง US-China trade deal a mixed success for Trump ของสำนักข่าวเอเอฟพี)