Trump, the deal maker, blinks before China
By M.K. Bhadrakumar
16/01/2020
สำหรับทรัมป์แล้ว ผลดีข้อสำคัญของข้อตกลงการค้าสหรัฐฯ-จีน เฟส 1 คือ ทำให้เขาสามารถก้าวเลยเรื่องสงครามการค้าพร้อมกับคำอวดอ้างว่าประสบความสำเร็จ ในช่วงเวลาที่การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกากำลังจะเข้าสู่ระยะเข้มข้น ทว่าความเสียหายต่อเนื่องที่เกิดขึ้นมา โดยเฉพาะความเสียหายต่อความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนนั้น เป็นสิ่งที่จะส่งผลกระทบอย่างกว้างไกล
พิธีลงนามข้อตกลงทางเศรษฐกิจและการค้าจีน-สหรัฐฯ เฟส 1 ซึ่งจัดขึ้นที่ห้องอีสต์รูม (East Room) ของทำเนียบขาวในกรุงวอชิงตันเมื่อวันพุธที่ 15 มกราคม 2020 กลายเป็นเหตุการณ์อันโดดเด่นนับจับตา เมื่อสาวย้อนไปในประวัติศาสตร์แล้ว ห้องอีสต์รูมเคยเป็นประจักษ์พยานของพิธีลงนามสำคัญๆ มาแล้วเป็นจำนวนมาก ว่าเฉพาะที่ลือเลื่องยิ่งกว่าธรรมดาก็มีอาทิ การลงนามสนธิสัญญากำลังนิวเคลียร์พิสัยกลาง (Intermediate-Range Nuclear Forces Treaty) เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 1987 ของประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ของสหรัฐฯ กับผู้นำสหภาพโซเวียต มิฮาอิล กอร์บาชอฟ นอกจากนั้นแล้ว ห้องอีสต์รูมยังเป็นสถานที่ซึ่งประธานาธิบดี จอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช กับ กอร์บาชอฟ เซ็นสนธิสัญญากัน 5 ฉบับรวดในวันที่ 2 มิถุนายน 1990 ซึ่งฉบับหนึ่งคือ ข้อตกลงอาวุธเคมีปี 1990 (the 1990 Chemical Weapons Accord)
แต่ครั้งนี้คงต้องเป็นครั้งแรกที่ห้องอีสต์รูมได้เป็นประจักษ์พยานการลงนามในข้อตกลงระหว่างประธานาธิบดีสหรัฐฯ กับผู้มีเกียรติชาวต่างประเทศซึ่งเมื่อวัดกันในทางพิธีการทูตแล้วถือว่าอยู่ในตำแหน่งอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า เมื่อเดือนธันวาคม 2019 ที่ผ่านมา ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (United States Trade Representative) โรเบิร์ต ไลต์ไฮเซอร์ (Robert Lighthizer) เคยแถลงว่า “คณะผู้แทนจากทั้งสองประเทศ” จะลงนามในข้อตกลงการค้า เฟส 1 กันในสัปดาห์แรกของเดือนมกราคม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในครั้งนี้คือหลักฐานยืนยันอันชัดเจนที่ว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ยืนกรานที่จะลงนามในข้อตกลงฉบับนี้ด้วยตัวเขาเอง ถึงแม้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนยังคงอยู่ที่ปักกิ่ง และกำลังเตรียมตัวสำหรับการเดินทางไปเยือนพม่าครั้งประวัติศาสตร์ เพื่อ “เขียนบทใหม่” ในมิตรภาพฉันญาติมิตรอันยาวนานเป็นพันปีระหว่างประเทศทั้งสอง
เพียงแค่ภาพซึ่งถ่ายในห้องอีสต์รูมเมื่อวันพุธ (15 ม.ค.) ก็สามารถบอกเล่าเรื่องราวด้วยตัวมันเองแล้ว มันเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่าดีลการค้าฉบับนี้ได้กลายเป็นเรื่องสำคัญในทางการเมืองสำหรับทรัมป์มากมายขนาดไหน ขณะที่เขากำลังพยายามรณรงค์หาเสียงเพื่อให้ได้เป็นประธานาธิบดีสมัยที่สองในการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายนปีนี้
อย่างไรก็ดี สภาพเช่นนี้ย่อมทำให้ข้ออ้างข้อทึกทักใหญ่โตซึ่งทรัมป์ประกาศเอาไว้ในตอนเปิดฉากระเบิดสงครามการค้ากับจีนเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2018 --ที่ว่าสหรัฐฯจะบดขยี้เศรษฐกิจจีนให้พังไป-- กลายเป็นเพียงคำคุยโตเท่านั้น ตรงกันข้ามจีนกลับพิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นฝ่ายที่คิดถูกต้อง จากการแสดงปฏิกิริยาตอบโต้โดยชี้ว่า ทั้งสองประเทศต่างจะกลายเป็นผู้สูญเสีย ขณะที่ศึกขึ้นภาษีศุลกากรตอบโต้กันจะเดินหน้าไปได้ไม่ถึงไหน
ทั้งนี้ในสงครามการค้าที่ดำเนินมา 30 เดือนคราวนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (US Federal Reserve หรือ เฟด) ประมาณการว่าเศรษฐกิจของจีนได้รับความกระทบกระเทือนเสียหายไปราว 0.25% ของจีดีพี ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่าตัวเลขติดลบขนาดนี้ต้องถือว่าสำคัญแม้ไม่ถึงกับทำให้บาดเจ็บล้มตาย โดยที่อุปสงค์ความต้องการของสหรัฐฯในสินค้าของจีนได้ลดต่ำลงไปประมาณหนึ่งในสาม ทว่าในทางตรงกันข้าม สำนักงานงบประมาณแห่งรัฐสภาสหรัฐฯ (US Congressional Budget Office) ประมาณการว่า ความไม่แน่นอนและต้นทุนด้านต่างๆ สืบเนื่องจากศึกภาษีศุลกากร ได้ทำให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯลดหายไป 0.3% นอกจากนั้นยังลดทอนรายได้ภาคครัวเรือนของอเมริกันลงไปเฉลี่ยแล้วครอบครัวละ 580 ดอลลาร์นับตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา
สามารถที่จะกล่าวได้อย่างน่าพอใจว่า ในข้อตกลงฉบับใหม่นี้สหรัฐฯได้ลดอัตราภาษีศุลกากรลงมาครึ่งหนึ่ง สำหรับการจัดเก็บจากสินค้าจีนมูลค่ารวม 120,000 ล้านดอลลาร์ ทว่าภาษีศุลกากรซึ่งได้ขึ้นไปในระดับที่สูงกว่านั้นอีกและกระทบสินค้าจีนอีกบัญชีหนึ่งมูลค่ารวม 360,000 ล้านดอลลาร์ รวมทั้งสินค้าสหรัฐฯซึ่งส่งเข้าแดนมังกรมูลค่ารวมกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์นั้น ยังคงมีผลบังคับใช้ตามเดิม และนี่อาจจะมีแต่เป็นข่าวร้ายสำหรับสาธารณชนชาวอเมริกัน
พวกนักเศรษฐศาสตร์เพิ่งประเมินกันออกมาว่า ต้นทุนค่าใช้จ่ายของสงครามการค้าครั้งนี้ ซึ่งจวบจนถึงเวลานี้อยู่ในระดับสูงกว่า 40,000 ล้านดอลลาร์นั้น กำลังแบกรับเอาไว้ทั้งหมดโดยพวกบริษัทและพวกผู้บริโภคอเมริกัน อันที่จริงแล้วนี่ยังไม่ได้รวมการสูญเสียธุรกิจของพวกผู้ส่งออกสหรัฐฯสืบเนื่องจากการตอบโต้เอาคืนของฝ่ายจีนด้วยซ้ำไป
ระหว่างการเจรจาต่อรองอันทุกข์ทรมานเพื่อให้ได้ดีลการค้าฉบับใหม่ออกมานี้ ส่วนใหญ่แล้วจีนยึดมั่นอยู่กับเงื่อนไขต่างๆ ซึ่งตนได้เสนอเอาไว้ตั้งแต่ตอนต้นๆ แล้ว ข้อตกลงใหม่นี้คาดการณ์ว่าจีนจะจัดซื้อสินค้าอุตสาหกรรมการผลิต, บริการต่างๆ, สินค้าการเกษตร, และพลังงานของสหรัฐฯเพิ่มขึ้นจากระดับเมื่อปี 2017 เป็นมูลค่า 200,000 ล้านดอลลาร์ในระยะเวลา 2 ปีข้างหน้า
สิ่งซึ่งทรัมป์ใส่ใจมากที่สุด ได้แก่เรื่องที่จีนอาจเพิ่มการซื้อสินค้าออกภาคเกษตรจากอเมริกาให้มากขึ้นอีก ทรัมป์นั้นเอ่ยอ้างตัวเลขที่จีนจะนำเข้าสินค้าการเกษตรอเมริกันเป็นมูลค่า 50,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี ทว่าฝ่ายจีนได้เพิ่มคำเตือนลงไปด้วยว่าการสั่งซื้อนี้จะต้องขึ้นอยู่กับอุปสงค์ความต้องการของตลาด
เห็นได้อย่างชัดเจนว่า เป็นเพราะฝ่ายจีนตอบโต้แก้เผ็ดด้วยการยกเลิกการนำเข้าสินค้าการเกษตรจากสหรัฐฯนี่เองที่เป็นตัวทำให้ทรัมป์อยู่ในอาการบาดเจ็บทางการเมืองอย่างแท้จริง เนื่องจากเขาชนะได้ครองทำเนียบขาวเมื่อปี 2016 ก็ด้วยการหนุนหลังอย่างแข็งแรงจากพวกมลรัฐการเกษตร สหรัฐฯนั้นส่งออกผลิตภัณฑ์ภาคการเกษตรไปยังจีนเป็นมูล 20,000 ล้านดอลลาร์ทีเดียวในปี 2017 แต่ตัวเลขนี้หล่นฮวบลงมาเหลือ 9,100 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว หลังจากจีนประกาศขึ้นภาษีศุลกากรเป็นการตอบโต้เอาจากสินค้าสหรัฐฯหลายหลาก รวมทั้ง แอปเปิล, ถั่วเหลือง, โสม, และฝ้าย โดยที่บางรายการเจอไปสูงสุด 25%
ปรากฏว่าการประกาศล้มละลายของฟาร์มต่างๆ ตลอดทั่วทั้งอเมริกาได้พุ่งพรวดขึ้นมา 24%นับตั้งแต่เดือนกันยายน 2018 หรือไม่กี่เดือนหลังจากการพิพาททางการค้าของสหรัฐฯกับจีนได้ทำให้สินค้าการเกษตรของสหรัฐฯถูกจีนเก็บภาษีศุลกากรสูงขึ้น ซึ่งก็รวมไปถึงถั่วเหลือง, ฝ้าย, และผลิตภัณฑ์นม เรื่องนี้บังคับให้ทรัมป์ต้องประกาศใช้จ่ายงบประมาณราวๆ 28,000 ล้านดอลลาร์มาช่วยเหลือเกื้อกูลพวกเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภาษีศุลกากร จนนำไปสู่สถานการณ์อันน่าเยาะเย้ย เมื่อเป็นที่คาดหมายกันว่าผลกำไรของภาคการเกษตรในปีนี้ราว 40% ทีเดียว จะมาจากความช่วยเหลือของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ
เรื่องการปกป้องคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ก็ถูกทึกทักเอาว่าเป็นเหตุผลหลักอีกประการหนึ่งสำหรับการที่ทรัมป์จุดชนวนสงครามการค้า ปรากฏว่าข้อตกลงใหม่นี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องนี้บรรจุอยู่ โดยอิงอยู่กับคำมั่นสัญญาบางอย่างบางประการที่จีนได้ให้ไว้ แต่คำถามอยู่ที่ว่าคำมั่นเหล่านี้มีอะไรแตกต่างออกไปจากสิ่งที่ปักกิ่งได้ให้สัญญาเอาไว้ตั้งแต่ก่อนหน้านี้? ทำนองเดียวกัน ดีลฉบับใหม่นี้ก็ล้มเหลวไม่ได้แก้ไขประเด็นปัญหาเรื่องที่จีนให้การอุดหนุนแก่อุตสาหกรรมบางอย่างบางประเภท
มองกันโดยภาพรวมแล้ว มันสมเหตุสมผลทีเดียวที่จะประเมินว่าข้อตกลงใหม่นี้เป็นเพียงแค่การตกลงหยุดยิงมากกว่าเป็นข้อตกลงเพื่อสร้างสันติภาพ และด้วยการตระหนักถึงความจริงข้อนี้เองอาจจะเป็นเหตุผลอธิบายว่าทำไม สี จิ้นผิง จึงได้หลบเลียงไม่ไปเข้าร่วมพิธีลงนาม ณ ทำเนียบขาว การตกลงหยุดยิงนี้จะมีอายุไปจนตลอดปี 2020 แต่หลังจากนั้นแล้วจะเกิดอะไรขึ้นมาบ้างยังยากที่จะพยากรณ์ สาระสำคัญที่สุดอยู่ที่ว่าสินค้าส่งออกของสหรัฐฯได้สูญเสียความสามารถในการแข่งขันของตนไปแล้วเมื่อเปรียบเทียบกับจีน
ผลดีข้อหลักสำหรับทรัมป์ได้แก่ทัศนศาสตร์ของข้อตกลงฉบับใหม่ ซึ่งทำให้เขาสามารถที่จะก้าวเดินเลยไปจากเรื่องสงครามการค้าพร้อมกับคำอวดอ้างว่าประสบความสำเร็จ ในช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งที่กำลังจะเข้าสู่ระยะเข้มข้น
แต่ถึงแม้กล่าวเช่นนั้นได้ก็ตามที ในเรื่องพวกความเสียหายต่อเนื่องอันเกิดจากสงครามการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสียหายที่มีต่อความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนนั้น เป็นเรื่องยากลำบากทีเดียวที่จะพยายามประเมินให้ต่ำกว่าความเป็นจริง บรรยากาศของความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้ได้กลายเป็นพิษไปเสียแล้ว เนื่องจากคณะบริหารทรัมป์ได้หันไปใช้วิธีการ “แรงกดดันบีบคั้นสูงสุด” ในเมื่อปรากฏออกมาว่าจีนยังคงปฏิเสธไม่ยอมเป็นฝ่ายอ่อนข้อให้ก่อน
การโจมตีเล่นงานชื่อเสียงเกียรติภูมิของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่นำโดยสี จิ้นผิง, การที่สหรัฐฯเข้าก้าวก่ายแทรกแซงทั้งในฮ่องกงและสถานการณ์ในซินเจียง รวมทั้งถ้อยคำวาจาสไตล์สงครามเย็นที่พวกเจ้าหน้าที่ระดับท็อปของสหรัฐฯเปล่งประกาศออกมา –โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับของรองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ และรัฐมนตรีต่างประเทศ ไมค์ พอมเพโอ— เหล่านี้ล้วนแต่เท่ากับการเหยียบข้ามเส้นสีแดงห้ามล่วงละเมิดของทางฝ่ายจีนทั้งนั้น
ความไว้วางใจกันเป็นสิ่งที่ลองได้ขาดสะบั้นไปแล้วครั้งหนึ่ง ก็จะไม่สามารถรื้อฟื้นต่อเติมขึ้นมาใหม่ได้อย่างง่ายดาย และเหนือสิ่งอื่นใดเลย ความภาคภูมิใจในชาติและความเคารพในศักดิ์ศรีตนเองของชาวจีนก็กำลังถูกเหยียบย่ำได้รับบาดเจ็บไปด้วย ปักกิ่งจึงได้ข้อสรุปว่าความสัมพันธ์ชนิดเท่าเทียมกับสหรัฐฯนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเป็นไปได้ แต่จีนก็ไม่สามารถและจะไม่มีทางยอมรับฐานะความเป็นเจ้าเหนือใครของสหรัฐฯเช่นเดียวกัน ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อทำการวิเคราะห์ถึงขั้นสุดท้าย ข้อสรุปจึงดูจะออกมาว่า ผลพวงต่อเนื่องทางภูมิรัฐศาสตร์ของสงครามการค้าคราวนี้ กำลังจะแผ่ขยายออกไปอย่างกว้างไกล
(เก็บความจากเว็บไซต์ indianpunchline ของ เอ็ม.เค. ภัทรกุมาร อ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ https://indianpunchline.com/trump-the-deal-maker-blinks-before-china/
เอ็ม เค ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี โดยที่ราวครึ่งหนึ่งได้รับมอบหมายให้ไปประจำยังประเทศที่เคยเป็นดินแดนของอดีตสหภาพโซเวียต ตลอดจนไปอยู่ที่ปากีสถาน, อิหร่าน, และอัฟกานิสถาน ประเทศอื่นๆ ที่เขาเคยไปรับตำแหน่งยังมีเกาหลีใต้, ศรีลังกา, เยอรมนี, และตุรกี ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในเว็บไซต์ “อินเดียน พันช์ไลน์” (https://indianpunchline.com) ของเขา หลักๆ แล้วเขียนถึงนโยบายการต่างประเทศของอินเดีย และกิจการของตะวันออกกลาง, ยูเรเชีย, เอเชียกลาง, เอเชียใต้, และเอเชีย-แปซิฟิก
หมายเหตุผู้แปล
ในเรื่องข้อตกลงการค้าสหรัฐฯ-จีน เฟส 1 นี้ เว็บไซต์ บีบีซี นิวส์ ได้เผยแพร่รายงานที่มุ่งพูดถึงประเด็น ใครเป็นฝ่ายได้ และใครเป็นฝ่ายเสีย จากดีลการค้าฉบับนี้ จึงขอเก็บความนำมาเสนอดังต่อไปนี้
‘ใครแพ้-ใครชนะ’ จาก ‘ดีลการค้าสหรัฐฯ-จีน เฟส 1’
โดย บีบีซีนิวส์
US-China trade deal: Winners and losers
By Natalie Sherman Business reporter, New York
15/01/2020
หลังจากกว่า 2 ปีของความตึงเครียดที่ทำท่าเพิ่มทวีขึ้นเรื่อยๆ สหรัฐฯกับจีนก็ได้ลงนามกันในดีลฉบับหนึ่งเมื่อวันพุธ (15 ม.ค.) ที่ผ่านมา ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้ความร้าวฉานทางการค้านี้ค่อยสงบลง ข้อตกลงนี้ออกมาได้ภายหลังการต่อสู้ต่อรองกันอย่างหนักหน่วงเข้มข้น ทว่ายังไม่เป็นที่ชัดเจนว่ามันจะสามารถช่วยให้เกิดความผ่อนคลายโล่งใจทางเศรษฐกิจจากสงครามการค้าของพวกเขาได้มากน้อยแค่ไหน
ภาษีศุลกากรที่ประกาศขยับขึ้นตอบโต้กันจากสินค้าของอีกฝ่ายหนึ่ง ส่วนใหญ่ยังคงบังคับใช้กันต่อไปอีก ถึงแม้มีการลดอัตราที่จัดเก็บลงมาในบางกรณี พวกนักวิเคราะห์ต่างมีความเห็นว่า ดีลที่เรียกกันว่า เฟส 1 ฉบับนี้ยังไม่น่าที่จะทำให้เกิดดอกผลอย่างเพียงพอที่จะล้ำเกินมากกว่าความเสียหายที่ได้สร้างความบาดเจ็บขึ้นมาแล้ว
บีบีซีจำแนกแยกแยะผู้ชนะและผู้พ่ายแพ้จากข้อตกลงฉบับนี้ ดังนี้
ผู้ชนะ: โดนัลด์ ทรัมป์
นักวิพากษ์วิจารณ์บางคนกล่าวว่า ข้อตกลง เฟส 1 ฉบับนี้แทบไม่ได้มีเนื้อหาสาระใหม่ๆ แท้จริงอะไร ทว่าการลงนามให้กลายเป็นดีลอย่างเป็นทางการออกมา ก็กลายเป็นการอำนวยโอกาสให้แก่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ในการก้าวเลยออกไปจากสงครามการค้าโดยสามารถอวดอ้างได้ว่าบรรลุความสำเร็จแล้ว ขณะที่เขามุ่งเดินเข้าสู่การรณรงค์ชิงชัยเพื่อดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่สอง ในการเลือกตั้งซึ่งจะมีขึ้นเดือนพฤศจิกายน 2020
นี่น่าจะทำให้เกิดความโล่งใจขึ้นมา เนื่องจากโพลผลสำรวจความคิดเห็นแสดงให้เห็นว่า ชาวอเมริกันส่วนใหญ่นั้นเห็นพ้องกับประธานาธิบดีทรัมป์ที่ว่าจีนทำมาค้าขายอย่างไม่เป็นธรรม แต่พวกเขาโดยทั่วไปก็สนับสนุนเรื่องการค้าเสรีและคัดค้านการใช้มาตรการขึ้นภาษีศุลกากร อันที่จริงแล้ว ผู้สมัครของพรรครีพบลิกันกลายเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาหลายๆ ครั้งในปี 2018 โดยที่พวกนักเศรษฐศาสตร์หลายรายเชื่อมโยงความปราชัยเช่นนี้กักบเรื่องสงครามการค้า (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nber.org/papers/w26434)
ผู้ชนะ: สี จิ้นผิง
จีนดูทำท่าจะก้าวผงาดขึ้นมาจากการลงนามในดีลซึ่งเงื่อนไขต่างๆ ที่ตกลงกันนั้นเป็นสิ่งที่ปักกิ่งเสนอเอาไว้ตั้งแต่ตอนแรกๆ ของกระบวนการนี้อยู่แล้ว รวมทั้งเรื่องการผ่อนคลายให้พวกบริษัทการเงินและบริษัทรถยนต์ของสหรัฐฯเข้าถึงตลาดจีนได้มากขึ้น ในหลายๆ กรณี พวกบริษัทจากประเทศอื่นๆ กำลังได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้กันไปแล้วด้วยซ้ำ
อย่างไรก็ตาม ขณะที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง สามารถอวดอ้างได้ว่า เขาไม่ได้ก้มศีรษะยอมตามข้อเรียกร้องต่างๆ ของอเมริกาอย่างง่ายดาย มันก็ไม่ได้หมายความว่าฝ่ายจีนกำลัเฉลิมฉลองความสำเร็จอย่างเต็มภาคภูมิ เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ประมาณการเอาไว้ว่า เศรษฐกิจของจีนได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าที่ผ่านมา จนกระทั่งอัตราเติบโตติดลบไปราว 0.25% โดยที่อุปสงค์ความต้องการของสหรัฐฯในสินค้าของจีนได้ลดฮวบลงไปราวหนึ่งในสาม
ผู้แพ้: พวกบริษัทและบรรดาผู้บริโภคชาวอเมริกัน
ข้อตกลงฉบับใหม่นี้ได้ลดครึ่งอัตราภาษีศุลกากรที่สหรัฐฯจัดเก็บจากสินค้าจีนมูลค่าประมาณ 120,000 ล้านดอลลาร์ ทว่าพวกสินค้าของทั้งสองฝ่ายซึ่งได้ถูกขึ้นภาษีศุลกากรในอัตราสูงกว่านั้นเสียอีก –โดยที่เป็นสินค้าจีนในอีกบัญชีหนึ่งมูลค่ารวม 360,000 ล้านดอลลาร์ และสินค้าอเมริกันที่ส่งออกไปจีนมูลค่ารวมกันสูงกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์ ยังคงต้องเจอกับภาระดังกล่าวอย่างไม่มีการเปลี่ยนแปลง และนี่คือข่าวร้ายสำหรับสาธารณชนอเมริกัน
พวกนักเศรษฐกิจค้นพบว่า ค่าใช้จ่ายการเสียภาษีศุลกากรที่สูงขึ้นเหล่านี้ –จวบจนถึงเวลานี้คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 40,000 ล้านดอลลาร์— กำลังแบกรับเอาไว้ทั้งหมดโดยพวกบริษัทสหรัฐฯและบรรดาผู้บริโภคชาวอเมริกัน (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nber.org/papers/w26610) ทั้งนี้ตัวเลขนี้ยังไม่ได้รวมเอามูลค่าของธุรกิจที่บริษัทอเมริกันสูญเสียไปสืบเนื่องจากการตอบโต้จากปักกิ่ง
มองกันในภาพรวมแล้ว สำนักงานงบประมาณแห่งรัฐสภาสหรัฐฯ (US Congressional Budget Office) ประมาณการเอาไว้ว่า ความไม่แน่นอนและต้นทุนด้านต่างๆ สืบเนื่องจากภาษีศุลกากร ได้ทำให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯลดหายไป 0.3% ขณะเดียวกันก็กำลังลดทอนรายได้ภาคครัวเรือนของชาวอเมริกันลงไปเฉลี่ยแล้วครอบครัวละ 580 ดอลลาร์นับตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.cbo.gov/publication/55576)
การประมาณการเหล่านี้ของสำนักงานงบประมาณแห่งรัฐสภาสหรัฐฯ มาจากการคำนวณมาตรการขึ้นภาษีศุลกากรใหม่ๆ ทั้งหมดซึ่งสหรัฐฯบังคับใช้นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2018 เป็นต้นมา ไม่ใช่แค่เพียงเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับจีน กระนั้นพวกนักวิเคราะห์บอกว่าการพิจารณากันในแบบจำกัดวงลงไป ก็ยังน่าจะได้ผลออกมาในทำนองเดียวกัน
ผู้แพ้: เกษตรกรและพวกอุตสาหกรรมการผลิตอเมริกัน
ข้อตกลงใหม่ฉบับนี้ผูกพันให้จีนต้องจัดซื้อจากสหรัฐฯทั้งด้านสินค้าอุตสาหกรรมการผลิต, บริการ, สินค้าการเกษตร, และพลังงาน เพิ่มขึ้นจากระดับของปี 2017 ไปอีก 200,000 ล้านดอลลาร์ ในช่วงระยะเวลา 2 ปีข้างหน้า
ทรัมป์เคยบอกว่า นี่อาจจะครอบคลุมถึงสินค้าการเกษตรมูลค่าปีละ 50,000 ล้านดอลลาร์ด้วย
ทว่าตัวเลขที่ระบุออกมาอย่างเป็นทางการอยู่ในระดับต่ำกว่านั้น พวกนักวิเคราะห์ยังแสดงความข้องใจสงสัยว่าหากจะจัดซื้อกันในระดับที่ทรัมป์ปรารถนาแล้ว ในความเป็นจริงจะทำได้หรือไม่ ขณะที่ฝ่ายจีนเองแถลงว่าการจัดซื้อเหล่านี้จะขึ้นอยู่กับอุปสงค์ความต้องการของตลาด เท่าที่เป็นอยู่จนถึงเวลานี้ ผลกระทบสำคัญที่สุดซึ่งมีต่อธุรกิจสหรัฐฯก็คือความเจ็บปวดสูญเสีย
พวกเกษตรกรซึ่งสินค้าของพวกเขาตกเป็นเป้าถูกจีนขึ้นภาษีศุลกากรนั้น มีการยื่นขอล้มละลายเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน และเร่งรัดให้รัฐบาลกลางสหรัฐฯต้องให้ความช่วยเหลือกอบกู้ไม่ให้ล้มละลายเป็นมูลค่า 28,000 ล้านดอลลาร์
ในหมู่พวกอุตสาหกรรมการผลิตนั้น ธนาคารกลางสหรัฐฯพบว่ามีการลดการจ้างงาน ซึ่งต้นตอมาจากต้นทุนที่สูงขึ้นของพวกสินค้านำเข้าที่พวกเขาจำเป็นต้องนำมาใช้ในการผลิต และจากมาตรการตอบโต้เอาคืนของจีน (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.federalreserve.gov/econres/feds/files/2019086pap.pdf)
มองกันในระยะยาว พวกบริษัทอเมริกันอาจจะจัดวางสายโซ่อุปทาน (supply chains) เสียใหม่ โดยถอยห่างออกจากจีนเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาภาษีศุลกากร --ทว่านี่ก็เป็นลู่ทางที่มีราคาแพง
ผู้ชนะ: ไต้หวัน/เวียดนาม/เม็กซิโก
ในระดับทั่วโลกแล้ว พวกนักเศรษฐศาสตร์ประมาณการว่าสงครามการค้าจะทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกหดหายไปมากกว่า 0.5% (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.bofbulletin.fi/en/2019/4/the-trade-war-has-significantly-weakened-the-global-economy/#okfmvHu3TZuMaXyou4mQOQ-reference-text-5) ทว่ามีบางประเทศได้รับประโยชน์จากการต่อสู้นี้ ซึ่งทำให้เกิดการหันเหเส้นทางในด้านการค้าคิดเป็นมูลค่าประมาณ 165,000 ล้านดอลลาร์ทีเดียว (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nber.org/papers/w25672.pdf)
พวกนักวิเคราะห์ของ โนมูระ ระบุว่าเวียดนามเป็นประเทศซึ่งจะได้ผลดีมากที่สุด (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nomuraconnects.com/focused-thinking-posts/us-china-trade-diversion-who-benefits/) ขณะที่สหประชาชาติพบว่า ไต้หวัน, เม็กซิโก, และเวียดนาม ได้รับใบสั่งซื้อจากสหรัฐฯพุ่งพรวดขึ้นในปีที่แล้ว (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://unctad.org/en/PublicationsLibrary/ser-rp-2019d9_en.pdf)
ทางด้านธนาคารกลางสหรัฐฯพบว่า การที่อเมริกานำเข้าเพิ่มขึ้น หนุนส่งให้เศรษฐกิจของเม็กซิโกมีอัตราเติบโตสูงขึ้นเกิน 0.2% เล็กน้อย (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.federalreserve.gov/econres/notes/feds-notes/long-run-effects-on-chinese-gdp-from-us-china-tariff-hikes-20190715.htm)
บางสิ่งบางอย่างในการปรับเปลี่ยนเหล่านี้ น่าที่จะดำเนินต่อไปได้ ถึงแม้สหรัฐฯกับจีนมีการทำข้อตกลงกันแล้วก็ตามที
ผู้แพ้: พวกนักวิพากษ์วิจารณ์จีนในวอชิงตัน
สหรัฐฯระบุว่าจีนได้ตกลงที่จะให้การพิทักษ์คุ้มครองใหม่ๆ สำหรับทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งลดเงื่อนไขสำหรับการกล่าวหาฟ้องร้องคดีอาญาและเพิ่มบทลงโทษแก่การละเมิดสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา เรื่องที่สำคัญยิ่งก็คือ ทั้งสองฝ่ายกล่าวว่าสามารถตกลงกันเกี่ยวกับวิธีการในการแก้ไขคลี่คลายข้อพิพาทเรื่องนี้
สิ่งเหล่านี้อยู่ในประดาประเด็นปัญหาซึ่งเห็นชัดว่าเป็นตัวจุดชนวนให้เกิดสงครามการค้าคราวนี้ขึ้นมา
แต่พวกนักวิเคราะห์บอกว่า ไม่มีความชัดเจนว่าคำมั่นสัญญาใหม่ๆ ที่จีนให้คราวนี้ มีความแตกต่างอะไรหรือไม่จากคำมั่นสัญญาที่จีนได้เคยให้ไว้ในอดีตที่ผ่านมา นอกจากนั้นดีลใหม่ฉบับนี้ยังไม่ได้แก้ไขคลี่คลายข้อร้องเรียนหลักๆ บางข้อของอเมริกัน เกี่ยวกับการปฏิบัติทางการค้าของจีน –เป็นต้นว่าการอุดหนุนต่างๆ ที่จีนให้แก่อุตสาหกรรมบางประเภทบางแขนง
ทำเนียบขาวแถลงเอาไว้ว่า จะแก้ไขจัดการกับประเด็นปัญหาต่างๆ เพิ่มเติมขึ้นอีกในข้อตกลงการค้าฉบับที่ 2 ที่เรียกกันว่า “เฟส 2” แต่พวกนักวิเคราะห์บอกว่าพวกเขาไม่คาดหวังว่าจะมีอะไรเป็นรูปธรรมออกมาได้ในเร็ววัน ในอีกด้านหนึ่ง คณะบริหารทรัมป์ยังได้หารือถึงวิธีการในการแก้ไขคลี่คลายประเด็นปัญหาเรื่องการอุดหนุนจากภาครัฐนี้ กับญี่ปุ่นและยุโรปอีกด้วย
(ดูต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ https://www.bbc.com/news/business-51025464)