xs
xsm
sm
md
lg

รมว.คลัง-รมว.พาณิชย์สหรัฐฯ หารือลู่ทางลงทุนในไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รมว.พาณิชย์สหรัฐฯ นำทัพภาคเอกชน 16 บริษัท หารือถึงลู่ทางและโอกาสการลงทุนในไทย พร้อมชื่นชม "เวิลด์แบงก์" ขยับอันดับความยากง่ายในการทำธุรกิจของไทย "สศค." แจงผลหารือทวิภาคี "รมว.คลัง-รมว.พาณิชย์สหรัฐฯ" ระบุ สหรัฐฯ เล็งเห็นโอกาสและลู่ทางการลงทุน รวมถึงความเป็นไปได้ในการย้ายฐานการผลิตมายังไทย ขณะที่ "นักธุรกิจสหรัฐฯ" แสดงความสนใจโอกาสทางธุรกิจสาขาพลังงาน การเงิน และโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐบาลไทยพร้อมสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ได้เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 4 พ.ย.62 ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ให้การต้อนรับและประชุมหารือร่วมกับนายวิลเบอร์ รอสส์ (Mr.Wilbur Ross) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกา พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐสหรัฐฯ และคณะนักธุรกิจชั้นนำของสหรัฐฯ จำนวน 16 บริษัท ณ ห้องจูปิเตอร์ 4-5 อาคารชาเลนเจอร์ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี ซึ่งมีประเด็นหารือเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจการเงินของประเทศไทย รวมทั้งมาตรการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ได้แสดงความชื่นชมการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องของประเทศไทย รวมถึงสนับสนุนการดำเนินนโยบาย Thailand 4.0 และแสดงความยินดีกับการที่ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจประจำปี 63 (Doing Business 2020) ดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา รวมทั้งชี้แจงว่าได้นำภาคเอกชนสาขาต่างๆ มาเยือนประเทศไทยครั้งนี้ เนื่องจากสหรัฐฯ เล็งเห็นโอกาสและลู่ทางการลงทุนในประเทศไทย รวมถึงความเป็นไปได้ในการย้ายฐานการผลิต (Relocation) มาประเทศไทย

ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ยืนยันถึงเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่ต้องการขับเคลื่อนประเทศไทยตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และยกระดับประเทศไทยสู่ยุค 4.0 เพื่อให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Transformation) และมุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันโดยนักธุรกิจสหรัฐฯ ได้ให้ความสนใจเป็นพิเศษกับโครงการเขตพัฒนาพิเศษตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ซึ่งมีบริษัทชั้นนำ เช่น Baxter International ผู้นำเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ได้เข้ามาลงทุนใน EEC แล้ว และมองว่าประเทศไทยจะเป็นฐานการผลิตที่สำคัญสำหรับภูมิภาคอาเซียนได้

นอกจากนี้ นักธุรกิจสหรัฐฯ ยังได้แสดงความสนใจโอกาสทางธุรกิจในด้านต่างๆ โดยเฉพาะสาขาพลังงาน การเงิน และโครงสร้างพื้นฐานซึ่งรัฐบาลพร้อมที่จะให้การสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ โดยที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินการปรับปรุงกฎระเบียบให้มีความโปร่งใส เช่น การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐและพิธีการศุลกากร มุ่งเน้นการเสริมสร้างบรรยากาศการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ รวมถึงการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย โดยเห็นได้จากการที่ธนาคารโลกได้ปรับอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจประจำปี 2563 ของประเทศไทยมาอยู่ที่อันดับที่ 21 ของโลก นอกจากนี้ รัฐบาลพร้อมที่จะสนับสนุนความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศในเชิงหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาทั้งในประเทศและอนุภูมิภาค และสนับสนุนความเชื่อมโยงในภูมิภาคด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น