จากการลงมือดำเนินการให้เป็นไปตามความมุ่งมาดปรารถนาของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งประสบกับการแรงต่อต้านไม่ใช่น้อยในระยะแรกๆ ทำเนียบขาวก็กำลังส่งสัญญาณแห่งความมุ่งมั่นตั้งใจ ที่จะไม่ยอมสละฐานะอันเหนือล้ำกว่าของตน ในสงครามอวกาศแห่งอนาคต ซึ่งอาจจะมีการรบรากันเหมือนภาพยนตร์ชุด “สตาร์วอร์ส” ที่มีทั้งดาวเทียมพิฆาต และอาวุธพิฆาตดาวเทียม ถึงแม้ผู้สังเกตการณ์หลายรายชี้ว่า ในระยะแรกๆ หน่วยงานยังคงจะมีขนาดเล็กนิดเดียว และต้องพึ่งพาอาศัยการประคับประคองของ “พี่เลี้ยง” อย่างกองทัพอากาศเป็นอย่างมาก
ทรัมป์ได้สั่งการอย่างเปิดเผยต่อสาธารณชนเมื่อเดือนมิถุนายน 2018 ให้กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) เริ่มการทำงานเพื่อการจัดตั้ง “กองกำลังอวกาศ” แต่เขาทำให้การก่อตั้งนี้กลายเป็นจริงเป็นจังชัดเจนในวันศุกร์ (15 ธ.ค.) เมื่อเขาลงนามในรัฐบัญญัติให้อำนาจด้านการป้องกันแห่งชาติปี 2020 (the 2020 National Defense Authorization Act) ซึ่งจัดสรรงบประมาณเริ่มต้นให้แก่กองทัพใหม่สังกัดเพนตากอนนี้ ที่จะมีฐานะเทียบเท่ากับ 5 กองทัพอื่นๆ ที่มีอยู่ก่อน อันได้แก่ กองทัพบก, กองทัพเรือ, กองทัพอากาศ, กองกำลังนาวิกโยธิน, และกองกำลังยามฝั่ง
“กำลังจะมีสิ่งต่างๆ มากมายเกิดขึ้นในอวกาศ เพราะอวกาศคืออาณาเขตแห่งการสู้รบทำศึกกันอาณาเขตใหม่สุดของโลก” ทรัมป์บอกกับบรรดานายทหารซึ่งชุมนุมกันในพิธีลงนามกฎหมายฉบับนี้ของเขา
อเมริกาต้องการรักษาฐานะเหนือใครๆ ในอวกาศ
ทางด้านรัฐมนตรีกลาโหม มาร์ก เอสเพอร์ พูดในทิศทางเดียวกันว่า “การพึ่งพาอาศัยสมรรถนะซึ่งอิงอยู่กับอวกาศของเรานั้น กำลังขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างน่าตื่นใจ และทุกวันนี้อวกาศนอกโลกได้วิวัฒนาการกลายเป็นอาณาเขตแห่งการสู้รบในตัวของมันเองแล้ว”
“การธำรงรักษาฐานะของอเมริกันที่เหนือล้ำกว่ากว่าใครๆ ในอาณาเขตดังกล่าว เวลานี้กลายเป็นภารกิจของกองกำลังอวกาศสหรัฐอเมริกาแล้ว”
เอสเพอร์เปรียบเทียบการก่อตั้งกองกำลังอวกาศ ว่ามีความสำคัญเหมือนกับการก่อตั้งกองทัพอากาศสหรัฐฯในปี 1947 จากการแยกตัวออกมาจากองทัพบกภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยที่การก่อตั้งกองทัพอากาศอย่างเป็นทางการ คือหลักหมายแห่งการรับรู้ว่า การสู้รบทำศึกทางอากาศนั้น เป็นอาณาเขตที่แยกต่างหากออกมาแล้ว และก็จะมีความสำคัญมากต่อไปในอนาคต
สำหรับตอนนี้ การรับรู้ดังกล่าวกำลังขยายไปสู่อวกาศ ที่ปัจจุบันเป็นเวทีอันสำคัญยิ่งยวดทั้งสำหรับการสอดแนมสืบความลับทางการทหาร และทั้งเรื่องระบบดาวเทียมสื่อสารโทรคมนาคม ซึ่งจะตกเป็นเป้าหมายของศัตรูเมื่อเกิดการสู้รบขัดแย้งใดๆ ขึ้นมา นอกจากนั้นแล้วยังมีความเป็นไปได้ที่จะมีการใช้อวกาศนอกโลกเป็นเวทีสำหรับยิงอาวุธทำลายร้ายแรง
สำนักงานข่าวกรองกลาโหมของสหรัฐฯ ได้กล่าวเตือนในรายงานที่เผยแพร่กันก่อนหน้านี้ในปีนี้ว่า จีนกับรัสเซียต่างพัฒนากิจกรรมต่างๆ ด้านอวกาศที่ “เข้มแข็งและมีฝีมือ” ทั้งเพื่อการใช้งานด้านการหาข่าวกรอง, การตรวจการณ์เฝ้าระวัง, และการสอดแนมลาดตระเวน
“โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จีนกับรัสเซีย กำลังพัฒนาหนทางต่างๆ หลายหลาก เพื่อฉวยใช้ประโยชน์จากเรื่องที่เข้าใจกันว่าสหรัฐฯต้องพึ่งพาอาศัยระบบต่างๆ ซึ่งอิงอยู่กับอวกาศ และมุ่งท้าทายฐานะของสหรัฐฯในอวกาศ” รายงานนี้ระบุ
จีนนั้นได้เคยสาธิตให้เห็นแล้วว่ามีความสามารถในการยิงทำลายดาวเทียมในอวกาศ โดยได้เคยประสบความสำเร็จในการทดสอบใช้ขีปนาวุธจากภาคพื้นดินยิงมาแล้วเมื่อปี 2007
“รัฐทั้งสอง (จีนกับรัสเซีย) กำลังพัฒนาสมรรถนะด้านการรบกวนสัญญาณและด้านไซเบอร์สเปซ, กำหนดทิศทางอาวุธพลังงาน, เรื่องสมรรถนะขณะอยู่ในวงโคจร, และขีปนาวุธต่อสู้ดาวเทียมแบบติดตั้งทางภาคพื้นดิน ซึ่งอาจบรรลุขอบเขตของความสามารถในการเปลี่ยนกลับผลลัพธ์ต่างๆ ที่เมื่อก่อนเห็นกันว่าไม่สามารถเปลี่ยนกลับได้” รายงานนี้บอก
รายงานฉบับนี้ยังชี้อีกว่า อิหร่านกับเกาหลีเหนือก็เช่นกัน กำลังมีความสามารถเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในการขยายกิจกรรมทางทหารของพวกเขาไปในอวกาศ, การรบกวนสัญญาณการสื่อสารของพวกศัตรู, และการพัฒนาบรรดาเทคโนโลยีขีปนาวุธทิ้งตัว (ballistic missile technologies)
จุดอ่อนของอเมริกาอยู่ที่‘อวกาศ’?
สตีฟ คีเทย์ (Steve Kitay) รองผู้ช่วยรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯฝ่ายนโยบายอวกาศ (Assistant Secretary of Defense for Space Policy) เคยพูดเอาไว้ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาว่า จีนกับรัสเซียมีความรับรู้มีความเข้าใจกัน “ว่าอากาศเป็นจุดอ่อนเปราะ (ของอเมริกัน) และดังนั้นนี่จึงเป็นความได้เปรียบเชิงอสมมาตร (asymmetric advantage) สำหรับพวกเขา ซึ่งจะใช้ต่อสู้กับแสนยานุภาพของสหรัฐฯได้”
เขาประกาศยืนยันว่า “อวกาศจะไม่ใช่เป็นจุดอ่อน” ของสหรัฐฯ
ก่อนหน้าที่ กองกำลังอวกาศสหรัฐฯ (US Space Force) เริ่มต้นเดินหน้าในคราวนี้ ได้มีการก่อตั้ง กองบัญชาการทหารอวกาศสหรัฐฯ (US Space Command หรือ SPACECOM) ขึ้นมาก่อน เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยปฏิบัติงานภายใต้กองทัพอากาศ และการสร้างกองกำลังอวกาศ ก็จะอาศัยกองบัญชาการทหารแห่งนี้เป็นอย่างมาก
ทำนองเดียวกับกองกำลังนาวิกโยธิน ซึ่งปฏิบัติงานภายในร่มธงของกองทัพเรือ โดยที่มีรัฐมนตรีทบวงทหารเรือ (Secretary of the Navy) เป็นผู้กำกับดูแลอยู่ชั้นหนึ่ง ก่อนถึงระดับรัฐมนตรีกลาโหม กองกำลังอวกาศก็จะยังคงอยู่ใต้รัฐมนตรีทบวงทหารอากาศ (Secretary of the Air Force)
ขณะเดียวกัน กองบัญชาการทหารอวกาศ ก็จะยังคงอยู่ โดยมุ่งโฟกัสที่เรื่องการสู้รบทำสงคราม --คล้ายกันมากกับพวกกองบัญชาการทหารระดับภูมิภาคของเพนตากอน อย่างเช่น กองบัญชาการทหารด้านกลาง (CENTCOM), กองบัญชาการทหารภาคพื้นอินโด-แปซิฟิก (INDOPACOM) โดยสำหรับกองกำลังอวกาศจะรับภารกิจที่กว้างขวางกว่า เป็นต้นว่า การฝึก, การจัดซื้อ, การวางแผนระยะยาว, และหน้าที่อื่นๆ
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าการแบ่งแยกความรับผิดชอบและทรัพย์สินระหว่าง กองกำลังอวกาศ กับ กองบัญชาการทหารอวกาศ ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ในเวลานี้
ในปีเริ่มต้น กองกำลังอวกาศจะยังมีขนาดเล็กนิดเดียว โดยที่มีบุคลากรเบื้องต้นประมาณ 200 คน และได้รับจัดสรรงบประมาณในปีแรก 40 ล้านดอลลาร์ เมื่อเปรียบเทียบกับ
ขณะที่ รัฐมนตรีทบวงทหารอากาศ บาร์บารา แบร์เรตต์ แถลงว่า ตามแผนการที่วางไว้ กองกำลังอวกาศของสหรัฐฯ จะประกอบด้วยกำลังทหารอากาศและบุคลากรพลเรือนประมาณ 16,000 คน โดยที่บางส่วนกำลังทำงานอยู่ที่กองบัญชาการทหารอวกาศอยู่แล้ว
แบร์เรตต์บอกว่า กองกำลังอวกาศจะมีเครื่องแบบของตนเอง, เครื่องหมายชั้นยศสำหรับติดที่บ่าของตนเอง, และในท้ายที่สุดแล้ว จะมีกระทั่งเพลงประจำของตนเอง ทำนองเดียวกับกองทัพบกและกองทัพเรือมีกันอยู่
“กองกำลังอวกาศสหรัฐฯจะพิทักษ์ปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติของอเมริกาด้วยการโฟกัสเน้นหนักเพียงอย่างเดียวที่อวกาศ สหรัฐฯนั้นมีความเฉียบแหลมในทางอวกาศเป็นเลิศที่สุดในโลกอยู่แล้ว” แบร์เรตต์ กล่าวต่อ ถึงแม้เธอยอมรับว่า สิ่งต่างๆ ซึ่งประกอบขึ้นเป็นกองกำลังอวกาศนั้น อาจจะเป็นอะไรซึ่งแตกต่างไปจากที่ผู้คนทั่วไปขบคิดกัน เมื่อนึกถึงกลไกสำหรับการทำสงคราม
สำหรับผู้บัญชาการของกองกำลังอวกาศคนแรกนั้น จะเป็น พลอากาศเอก เจย์ เรย์มอนด์ ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้บัญชาการของ SPACECOM
เคตลิน จอห์นสัน ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายอวกาศ อยู่ที่ศูนย์กลางเพื่อยุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศศึกษา (Center for Strategic and International Studies ใช้อักษรย่อว่า CSIS) มองการก่อตั้งกองกำลังอวกาศว่าเป็นความเคลื่อนไหวที่สำคัญ แต่ตั้งข้อสงสัยว่ามันจะเป็นเรื่องยิ่งใหญ่มากอย่างที่คณะบริหารทรัมป์ประโคมกันเอาไว้หรือไม่
เธอบอกว่า การที่พรรคเดโมแครตยังคงคัดค้านการแยกกองกำลังอวกาศออกไปเป็นอีกกองทัพหนึ่งต่างหาก ย่อมหมายความว่า ยังมีโอกาสที่มันจะถูกตัดลดความสำคัญลง หรือกระทั่งถูกยุบเลิกไป ถ้าหากเดโมแครตกลายเป็นฝ่ายชนะได้ครองทำเนียบขาวในเดือนพฤศจิกายนปีหน้า
(เก็บความจากเรื่อง Challenged by China and Russia, US builds force for future space wars ของสำนักข่าวเอเอฟพี และ เรื่อง Space Force will start small but let Trump claim a big win ของสำนักข่าวเอพี)