กสท โทรคมนาคม มั่นใจศักยภาพการทำธุรกิจดาวเทียมเต็มรูปแบบ ทั้งการรับช่วงต่อจากดาวเทียมดวงเดิมหลังหมดสัญญาสัมปทาน 2564 และโอกาสใหม่ในการเป็นสถานีฐานภาคพื้นดินผู้ประกอบการรายใหม่ เชื่อทางสะดวกสดใสหลังกสทช.เปิดเสรีดาวเทียมปี 2563 ย้ำดาวเทียมสามารถรองรับบริการ 5G ได้
***อาสาทำดาวเทียมภาครัฐ/เอกชน
แม้ว่ากระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ยังคงยืนยันในการเดินหน้าบริหารจัดการดาวเทียมที่มีสัญญาสัมปทานกับ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะสิ้นสุดลงในเดือน ก.ย. 2564 ด้วยการทำกระบวนการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (พีพีพี) ตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และมั่นใจว่าจะเสร็จทันตามกำหนดอย่างแน่นอนก็ตาม แต่ทว่าในมุมของ ”พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์“ หรือ “พี่ใหม่” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เชื่อว่า กระบวนการพีพีพีไม่น่าจะเสร็จทัน
"จากกรณีศึกษาที่มีการทำกระบวนการพีพีพีอย่างเร็วที่สุดก็ยังต้องใช้เวลา 1 ปี หากนับว่าอายุสัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดลงในเดือน ก.ย. 2564 เท่ากับว่าภายในเดือน ก.ย. 2563 พีพีพี ต้องเสร็จแล้ว เพื่อให้บริษัทที่สนใจมารับช่วงต่อในการบริหารจัดการมีเวลาเพียงพอในการเตรียมการและรับช่วงต่อไป ดังนั้นจึงเชื่อว่าไม่น่าจะทำพีพีพีได้ทัน'
กสท โทรคมนาคม จึงขอเสนอตัวทำหน้าที่รับช่วงบริหารจัดการต่อจากกระทรวงดีอีเอส ทั้งในรูปแบบรับช่วงต่อหากกระทรวงดีอีเอสมอบหมายให้ดูแลในนามของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในกระทรวง และการจับมือกับพันธมิตรในการทำพีพีพี เนื่องจาก กสทฯ มีประสบการณ์ในการทำธุรกิจดาวเทียมอยู่แล้ว ซึ่งหากทำพีพีพีไม่ทัน กระทรวงดีอีเอสเองก็สามารถแก้ไขปัญหาด้วยการใช้มาตรา 50 ของ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯในการเข้าดำเนินโครงการเองหรือมอบหมายให้ผู้อื่นเข้าดำเนินโครงการร่วมลงทุนเป็นระยะเวลาชั่วคราวได้
นอกจากการอาสาเป็นผู้รับช่วงดูแลดาวเทียมดวงเก่าข้างต้นแล้ว กสท โทรคมนาคม ยังพร้อมจับมือเป็นพันธมิตรกับเอกชน ในการเป็นสถานีฐานดาวเทียมภาคพื้นดินให้สำหรับเอกชนรายใหม่ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่จะเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยได้เร็วขึ้น เพราะไม่ต้องลงทุนสร้างสถานีฐานเอง หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเสรีดาวเทียม ซึ่งจะช่วยประหยัดต้นทุนในการสร้างสถานีฐานด้วย
ขณะนี้ กสท โทรคมนาคม มีสถานีดาวเทียมภาคพื้นดินให้บริการระดับนานาชาติด้วยมาตรฐานสากลถึง 3 แห่ง คือ สถานีดาวเทียมศรีราชา สถานีดาวเทียมนนทบุรี และสถานีดาวเทียมสิรินธร รวมถึงบุคลากรที่มีประสบการณ์ด้านธุรกิจสื่อสารดาวเทียมโดยตรง ร่วมกับกลุ่มผู้ประกอบการดาวเทียมทั้งในและต่างประเทศมาอย่างยาวนาน
ปัจจุบัน กสท โทรคมนาคม ให้บริการสื่อสารผ่านดาวเทียมครอบคลุมพื้นที่ในประเทศไทยและต่างประเทศทั่วโลก อาทิ บริการถ่ายทอดสัญญาณโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ กอล์ฟ ฟุตบอลโลก และกีฬาอื่น รวมถึงการถ่ายทอดการประชุมระดับนานาชาติ และการสื่อสารเพื่อช่วยประชาชนในพื้นที่ประสบภัย รวมไปถึงบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ ด้วยระบบสื่อสารผ่านดาวเทียมดวงต่าง ๆ ทั้งในและระหว่างประเทศ อาทิ THAICOM, ASIASAT, INTELSAT ครอบคลุมโซนมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก อีกทั้ง CAT ยังเป็นสมาชิกหน่วยงานด้านโทรคมนาคมระหว่างประเทศ อาทิ Asia-Pacific Telecommunity (APT) และ INTELSAT
***ต่อยอดดาวเทียม 5G
พ.อ.สรรพชัย กล่าวว่าดาวเทียมยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมากในยุค 5G ในกระแสโลกยุคใหม่ การสื่อสารดาวเทียมคืออนาคตที่มีบทบาทสำคัญไม่เพียงในการพัฒนาประเทศ แต่ทั่วโลกกำลังมุ่งใช้ประโยชน์จากดาวเทียมสื่อสารและแข่งขันกันจับจองทำเลทองในห้วงอวกาศ โดยบริษ้ทอยู่ระหว่างเจรจาร่วมเป็นพันธมิตรในเครือข่ายดาวเทียมวงโคจรต่ำ (Low Earth Orbit : LEO) รายใหญ่ของโลกเพื่อพัฒนานวัตกรรมบรอดแบนด์ผ่านดาวเทียมโดยใช้พื้นที่สถานีดาวเทียมภาคพื้นดินของบริษัทให้เป็นสถานีเกตเวย์ของกลุ่มเครือข่ายดาวเทียมวงโคจรต่ำครอบคลุมทั่วโลกกว่า 800 ดวง ซึ่งจะสามารถรองรับความต้องการของประเทศในการใช้งานข้อมูลผ่านดาวเทียมขนาดใหญ่และ 5G ได้ทันที พร้อมทั้งได้เจรจาพันธมิตรกับ UTELSAT ผู้ให้บริการดาวเทียมบรอดแบนด์ (High Throughput Satellite : HTS) เพื่อเพิ่มรัศมีการให้บริการที่ครอบคลุมได้ทั่วโลก
ในอนาคต โครงข่ายดาวเทียมจะเป็นโครงข่ายที่พลิกโฉมการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ตอบสนองกับเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลยุค 5G รองรับอุปกรณ์ไอโอทีจำนวนมหาศาลที่เกิดจากการยกระดับความสะดวกสบายและคุณภาพชีวิตประชาชนในด้านต่าง ๆ ทั้งบ้านอัจฉริยะ สมาร์ท ซิตี้ การใช้งานในลักษณะเคลื่อนที่ต่าง ๆ รวมไปถึงแนวโน้มการใช้งานหลากหลายที่ต้องการความแม่นยำสูง เช่น การผ่าตัดทางไกล, การควบคุมเครื่องจักรในโรงงาน หรือการควบคุมรถยนต์ไร้คนขับ เป็นต้น ยิ่งการพัฒนาเทคโนโลยี 5G เพิ่มความสำคัญ พื้นที่ความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงจะยิ่งขยายกว้างขึ้น ครอบคลุมทั้งภาคพื้นดิน พื้นน้ำและผืนฟ้า ซึ่งระบบสื่อสารภาคพื้นดินในปัจจุบันไม่สามารถรองรับได้อย่างทั่วถึง
“ดังนั้นจึงจำเป็นที่ประเทศต้องนำการสื่อสารผ่านดาวเทียมที่มีศักยภาพรองรับการเชื่อมต่อของอุปกรณ์ได้มหาศาลเข้ามาเสริมเพื่อให้เทคโนโลยี 5G เข้าถึงได้ในทุกพื้นที่อย่างทั่วถึง ซึ่งวันนี้เทคโนโลยีดาวเทียมยุคใหม่ได้พัฒนาศักยภาพให้รองรับความเร็วของเทคโนโลยี 5G ได้ทันที”
การพัฒนาดาวเทียมสื่อสารย่านวงโคจรต่ำ ที่มีความสูงจากพื้นโลกประมาณ 2,000 กิโลเมตร ได้ลดจุดด้อยในเรื่องค่าความหน่วง โดยภาคพื้นดินสามารถรับสัญญาณได้ในเวลาต่ำกว่าเสี้ยววินาทีซึ่งเป็นความเร็วที่ไม่มีดาวเทียมดวงใดในสมัยก่อนทำได้ จึงรองรับการสื่อสารข้อมูลเรียลไทม์อย่างดี อีกทั้งมีการพัฒนาดาวเทียม High Throughput Satellite ซึ่งส่งสัญญาณครอบคลุมพื้นที่ด้วยความเข้มของสัญญาณสูง และสามารถรองรับแบนด์วิดท์ขนาดใหญ่เพื่อให้บริการบรอดแบนด์และ 5G ส่งผลให้ระบบสื่อสารผ่านดาวเทียมสามารถให้บริการได้หลากหลายยิ่งขึ้น เช่น การส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง การส่งผ่านข้อมูลความเร็วสูง การส่งสัญญาณโทรทัศน์ด้วยเทคโนโลยีภาพที่คมชัดมากขึ้นรวมถึงการสำรวจ การนำทางและการถ่ายภาพที่มีความชัดเจนในระดับสูงมาก
เมื่อธุรกิจดาวเทียมยังมีโอกาสอีกมาก โดยเฉพาะเรื่องการรองรับการให้บริการ 5G จึงมองไม่เห็นว่าจะมีทางไหนที่ กสท โทรคมนาคม จะต้องการคลื่นความถี่ 5G มาครอบครอง จนกลายเป็นที่มาของความต้องการประมูลคลื่น 700 MHz เพื่อขยายเฉพาะบริการ 4G.