xs
xsm
sm
md
lg

ถอดความสำเร็จ 5G ชามเมอร์-สวีดิช เทเลคอม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดที่มามหาวิทยาลัย "ชามเมอร์" ผู้คิดราคาประมูลคลื่นในไทย พร้อมสวีดิช เทเลคอม ประสานเสียง การคิดราคาเริ่มต้นการประมูลคลื่นไม่เน้นให้ใบอนุญาตกับผู้เสนอราคาสูงที่สุด หากไม่พร้อมก็ไม่ผ่าน ย้ำสิ่งจำเป็นที่สุดคือตลาดต้องพร้อม อุปกรณ์ต้องรองรับ และประชาชนไม่จ่ายแพง

ย้อนกลับไปตั้งแต่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ยังคงเป็น คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ในขณะนั้น กทช.ต้องมีการเตรียมความพร้อมในการนำคลื่นที่กำลังจะหมดสัญญาสัมปทานมาประมูลในฐานะที่องค์กรกำลังจะเปลี่ยนเป็นกสทช. ทำให้เกิดความร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีชามเมอร์ ประเทศสวีเดน ในการคิดราคาเริ่มต้นการประมูลตั้งแต่ในเวลานั้น โดยคลื่นแรกที่ประมูลคือ คลื่น 900 MHz ซึ่งความร่วมมือระหว่าง กสทช. และ มหาวิทยาลัยชามเมอร์นั้นเป็นการลงนามกันครั้งละ 3 ปี มาอย่างยาวนาน ในการศึกษามูลค่าคลื่นความถี่ต่างๆ รวมถึงการออกแบบการประมูลร่วมกัน

ผลงานล่าสุด คือ เป็น 1 ในสถาบันการศึกษา ที่คิดราคาตั้งต้นการประมูล สำหรับคลื่น 5G ได้แก่ คลื่น 700 MHz , 2600 MHz และ 26 GHz ร่วมกับ 3 สถาบันการศึกษาไทยเพื่อหาค่าเฉลี่ยในการประมูล คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

***สร้างสตาร์ทอัปจับคู่กับอุตสาหกรรม

สิ่งสำคัญในการผลิตบุคลากร และ งานวิจัย ตลอดจนการสำรวจตลาด คือ ต้องตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยจึงไม่ลังเลที่จะเปิดโอกาสในการพัฒนาผลงานร่วมกันกับภาคเอกชน "เอริค บอลิน" อาจารย์ประจำคณะบริหารจัดการเทคโนโลยีและเศรษฐกิจ กล่าวว่า พันธกิจของมหาวิทยาลัยคือ ต้องพัฒนาคน ,มุมมอง และ การปฏิบัติ เพื่อให้มีความแตกต่าง ทั้งในระดับท้องถิ่น และ ระดับโลก ทว่าความคิดที่สร้างสรรค์นั้น ต้องสามารถใช้เทคโนโลยีบริหารจัดการเพื่อให้เกิดชิ้นงานที่ยั่งยืนในอนาคต


ชามเมอร์ จึงเน้นทำงานร่วมกับ บริษัท และ นักลงทุน เพื่อร่วมหาแนวคิดใหม่ๆ ยกตัวอย่างการทำงานร่วมกับภาคเอกชนในปีนี้ เริ่มต้นจาก 150 ไอเดีย กลั่นกรองเป็น 12 โครงการ และรวมเหลือ 5-6 ผลงานเพื่อสร้างสตาร์ทอัปและนำชิ้นงานป้อนสู่อุตสาหกรรมที่ได้ใช้จริง โดยยึดหลักการวิจัยใน 3 เรื่อง คือ 1.นวัตกรรม และ การสร้างผู้ประกอบการ 2.การบริหารจัดการห่วงโซ่ อุปทาน และ การบริหารจัดการการดำเนินงาน 3. ความยั่งยืนและสังคมการศึกษา โดยมี 4 ศูนย์วิจัย ได้แก่ 1. ศูนย์การปรับปรุงด้านเฮลท์แคร์ 2.ศูนย์การสร้างความเป็นผู้นำ 3.ศูนย์ลอจิสติกส์ และ 4.การวิเคราะห์วงจรชีวิตของชาวสวีเดน


หลักการดังกล่าวทำให้ชามเมอร์เป็นมหาวิทยาที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับในระดับโลก ตัวอย่างผลงานที่อยู่ในห้องแลปมหาวิทยาลัยของนักศึกษาที่กำลังจบ เช่น การจำลองการขับรถแข่ง F1 ที่นักศึกษากำลังทำโครงการวิจัยก่อนจบ เพื่อประเมินและวางแผนการขับ โดยการจำลองสถานที่ขับรถ สภาพถนน และภูมิอากาศที่แตกต่างกัน ผ่านเทคโนโลยี VR , การสร้างรูปแบบการขับเคลื่อนยานพาหนะด้วยเทคโนโลยี AI ในห้องแลปที่สร้างขึ้นในอุทยานวิทยาศาสตร์ เช่น การบังคับรถยนต์ตัวอย่างผ่านจอย สติ๊ก และ การบังคับรถบรรทุก ผ่านแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น


กอเทนเบิร์กเป็นเมืองท่าทางทะเลที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่มนอร์ดิก เป็นบ้านของนักเรียนจำนวนมาก เนื่องจากเป็นที่ตั้งของมหาลัยกอเทนเบิร์กและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีชามเมอร์ นอกจากนี้ยังเป็นเมืองที่มีผู้พัฒนาโครงข่ายอย่าง อีริคสัน และผู้ผลิตรถยนต์วอลโว่ อยู่ด้วย จึงเป็นเมืองที่มีค่าใช้จ่ายเรื่องการวิจัยและพัฒนาสูงที่สุด และเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีนวัตกรรมมากที่สุดในโลก ซึ่งในปีนี้ประเทศสวีเดนมีนักวิจัยกว่า 14,000 คน อุทยานวิทยาศาสตร์ 22 แห่ง และ มีธุรกิจเกิดใหม่ 44,000 ธุรกิจ

ล่าสุด กสทช. ได้ร่วมกันศึกษาเรื่องโครงข่ายระหว่างประเทศ กับ ชามเมอร์ เพราะก่อนที่จะออกนโยบายต่อไปในอนาคต กสทช.จำเป็นต้องรับรู้และเข้าใจบริบทของโลกก่อน เช่น ความเปลี่ยนแปลงของผู้เล่น OTT อย่างเฟซบุ๊ก ซึ่งกำลังเข้ามาเล่นในตลาดโทรคมนาคมเสียเอง จากเดิมที่กลุ่มผู้ประกอบการโทรคมนาคมเป็นผู้สร้างโครงข่ายระหว่างประเทศ การแข่งขันก็จะเป็นการแข่งขันระหว่างอุตสาหกรรมโทรคมนาคมด้วยกันเอง แต่ต่อไป เฟซบุ๊กจะเป็นผู้ลงทุนสร้างเคเบิลใต้น้ำเอง การแข่งขันจะเพิ่มขึ้น และเปลี่ยนแปลงไป กสทช.จะมีการรับมือ กำกับดูแล หรือ ออกนโยบายอย่างไร

***สวีดิช เทเลคอม ประมูลตามความพร้อม


นอกจากการศึกษาร่วมกับ ชามเมอร์แล้ว กสทช.ยังได้ศึกษาการทำงานของสวีดิช เทเลคอม องค์กรกำกับดูแลด้านโทรคมนาคม ประเทศสวีเดน ด้วย เนื่องจากประเทศสวีเดนมีจำนวนโอเปอเรเตอร์ 5 รายเท่ากับประเทศไทย หากนับ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เข้าไปด้วย และเป็นประเทศที่มีการประมูลคลื่นครั้งแรกในปี 2548 จัดสรรไปแล้ว 6 คลื่นความถี่ จำนวน 8 ใบอนุญาต ทั้งสิ้น 920 MHz


"ฐากร ตัณฑสิทธิ์" เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า สวีดิช เทเลคอม ไม่ยึดวิธีการประมูลด้วยราคาแพงที่สุดในการได้คลื่นมาทำธุรกิจ แม้ว่าผู้ที่ชนะการประมูลเป็นผู้เสนอราคาสูงสุด ก็ไม่อาจได้คลื่นไปครอบครอง หากประเมินดูแล้วว่าไม่สามารถทำธุรกิจได้ หรือ ทำให้ประชาชนได้รับค่าบริการที่แพงเกินไป นอกจากนี้ยังให้ระยะเวลาใบอนุญาตนานถึง 20-25 ปี โดยจ่ายค่าใบอนุญาตครั้งเดียว เพราะราคาของเขาไม่แพง

ส่วนจะนำคลื่นไหนออกมาประมูลบ้างนั้น ก็ไม่ได้มีโรดแมปที่ชัดเจน หากแต่ดูที่ความต้องการของผู้ประมูลและตลาดว่าพร้อมหรือไม่ จากนั้นจึงค่อยออกแผนการประมูล อย่างเช่นการประมูลคลื่น 26 GHz สวีดิช เทเลคอม ก็เห็นว่ายังไม่ประมูลในปี 2563 เพราะอุปกรณ์ที่จะมารองรับยังไม่พร้อม แต่มีแผนจะประมูลคลื่น 3.4-3.8 GHz หรือคลื่นดาวเทียมที่กสทช.กำลังจะเรียกคืนจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) มาประมูลล่วงหน้าในปี 2563 เช่นเดียวกับในประเทศไทย

"สวีดิช เทเลคอม ต้องการให้ตลาดขับเคลื่อนอย่างเป็นธรรมชาติ ยกตัวอย่างเรื่องการปิดระบบ 2G เขาก็ไม่ได้บังคับปิด แต่การจะปิดหรือไม่ปิดขึ้นอยู่กับผู้ให้บริการเองว่าจะมีวิธีบริหารจัดการต้นทุนอย่างไรที่ต้องไม่ทำให้ผู้ใช้บริการเดือดร้อน"

ดังนั้นจากการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมครั้งนี้ และหลังจากรับฟังความคิดเห็นสาธารณะการประมูลคลื่น 5G ในวันที่ 3 ธ.ค. 2562 ที่ประกอบด้วยคลื่น 700 MHz,1800 MHz ,2600 MHz และ คลื่น 26GHz ซึ่งอาจจะไม่มีคลื่น 26GHz มาประมูลในวันที่ 16 ก.พ. 2563 หากโอเปอเรเตอร์เห็นพ้องกันว่าอุปกรณ์ยังไม่พร้อม แต่หากมองกลับมาที่ประเทศไทย เราคงไม่มีทางให้โอเปอเรเตอร์มารับคลื่นแบบประเทศสวีเดนแน่นอน เพราะนโยบายและบริบททางสังคมของประเทศไทยแตกต่างกัน จึงทำให้ประเทศไทยต้องมีการตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ ขึ้นมา เพื่อให้เทคโนโลยี 5G ที่ประเทศไทยไม่ควรตกขบวนและมีการเปิดการใช้งานภายในปี 2563 เหมือนนานาชาติ เกิดขึ้นได้จริงพร้อมกับยูสเคสที่มีอุตสาหกรรมต้องการใช้งานจริงอย่างเป็นรูปธรรม








กำลังโหลดความคิดเห็น