xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อเครือข่ายดาวเทียมสื่อสารย่านวงโคจรต่ำมาถึง โลกจะไร้พรมแดนอย่างแท้จริง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จิสด้าชวนเตรียมร้อมเข้ายุคไร้พรมแดนอย่างแท้จริงที่กำลังจะมาถึง ด้วยเทคโนโลยีดาวเทียมสื่อสารในวงดคจรต่ำ ที่จะช่วยเติมเ็มการสื่อสารในจุดที่ดาวเทียมค้างฟ้าเข้าไม่ถึง ครอบคลุมพื้นที่ขั้วโลกเหนือและใต้ รวมถึงวัตถุเคลื่อนที่ระยะไกล เช่น เรือสินค้า หรือเครื่องบิน

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ระบุ ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากร 69.24 ล้านคน มี 57 ล้านคน สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต โดย 55 ล้านคน แบ่งเป็นกลุ่มที่ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือเป็นประจำ ทั้งๆที่ยังได้ยินบางคนบ่นเรื่องเน็ตช้าบ้าง หลุดบ้าง แต่โดยเฉลี่ยแล้วคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตนานถึง 9 ชั่วโมง 11 นาทีต่อวัน และ 90% ของคนไทยทั้งหมดใช้อินเทอร์เน็ตทุกวัน จึงชวนให้คิดว่าอีก 5-10 ปีข้างหน้าในวันที่เทคโนโลยีการสื่อสารก้าวหน้าและครอบคลุมมากกว่านี้ ประเทศไทยจะพลิกโฉมได้ถึงไหนกัน

"เรารู้กันมาโดยตลอดว่าการสื่อสารเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์มาแต่โบราณ เพราะการสื่อสารทำให้คนมีความรู้และโลกทัศน์ที่กว้างขวางขึ้น แลกเปลี่ยนและพัฒนาร่วมกัน จนกลายเป็นกระบวนการที่ทำให้สังคมเจริญก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง จนมาถึงยุคแห่งข้อมูลข่าวสารในปัจจุบันที่การสื่อสารของมนุษย์ไม่เพียงแค่แลกเปลี่ยนกันซึ่งๆหน้า แต่ยังไปไกลถึงการสื่อสารผ่านดาวเทียมเพื่อความรวดเร็วและกระจายให้ครอบคลุมพื้นที่กว้าง"

สำหรับประเทศไทยได้ส่งดาวเทียมสื่อสารดวงแรก “ไทยคม-1” สู่วงโครจรตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2536 ต่อมาก็มีการส่งขึ้นไปอย่างต่อเนื่องจนถึง ดาวเทียมไทยคม-8 ซึ่งเป็นดาวเทียมประเภทวงโคจรค้างฟ้า สูงจากพื้นโลกประมาณ 36,000 กิโลเมตร ทำหน้าที่ให้บริการสื่อสารผ่านช่องสัญญาณดาวเทียม เชื่อมโยงข่าวสารระหว่างไทยกับประเทศอื่นๆ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านในพื้นที่ให้บริการมาอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด

ปัจจุบันพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป คือ มีความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตและแอปพลิเคชันที่เกี่ยวข้องผ่านอุปกรณ์สื่อสารแบบเคลื่อนที่จำนวนเพิ่มสูงขึ้นตลอดเวลา ดังตัวเลขสถิติที่กล่าวไปในช่วงแรก แน่นอนว่าการให้บริการผ่านระบบการสื่อสารผ่านดาวเทียมจึงจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยน คือสามารถให้บริการเผยแพร่ข้อมูลในรูปแบบการออกอากาศสัญญาณภาพและเสียง การสื่อสารระยะไกล และการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้

เพื่อรองรับแรงผลักดันจากผู้บริโภค การพัฒนาเครือข่ายดาวเทียมสื่อสารย่านวงโคจรต่ำ (600-2,000 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก) จึงเป็นแนวคิดสำคัญที่จะช่วยเสริมประสิทธิภาพของดาวเทียมสื่อสารกลุ่มวงโคจรค้างฟ้า (สูงประมาณ 36,000 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก) และทำให้เกิดการพัฒนาดังต่อไปนี้

1.เพื่อลดทอนเวลาที่ใช้ในการเดินทางของสัญญาณ จะทำให้ในอนาคตมีการรับส่งข้อมูลได้รวดเร็วยิ่งขึ้นเนื่องจากสัญญาณใช้เวลาเดินทางสั้นลง


2.ปัจจุบันอุปกรณ์รับ-ส่งสัญญาณมีขนาดใหญ่เพื่อแก้ปัญหาการลดทอนสัญญาณในอัตราที่สูงเนื่องจากเดิมต้องเดินทางไกล แต่หากเป็นดาวเทียมวงโคจรต่ำจะส่งผลให้อุปกรณ์รับ-ส่งสัญญาญในอนาคตมีขนาดเล็กลง เหมาะสำหรับอุปกรณ์สื่อสารแบบเคลื่อนที่


3.เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ขั้วโลกเหนือและใต้ ที่ระบบดาวเทียมสื่อสารในปัจจุบัน (วงโคจรค้างฟ้า) ยังไม่สามารถทำได้

อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นข้อดีของแนวคิดนี้คือ การทำงานของดาวเทียมวงโคจรต่ำร่วมกันหลายดวงเป็นโครงข่าย จะทำให้การสื่อสารไม่ขาดตอน มีความต่อเนื่องในทุกพื้นที่บนโลกและตลอดเวลา แม้ในที่ที่ห่างไกลก็ตาม โดยเฉพาะอุปกรณ์เคลื่อนที่ระยะทางไกล เช่น เครื่องบิน เรือขนส่งสินค้า

สำหรับภาคประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลหรือยากต่อการเข้าถึงอินเอร์เน็ตความเร็วสูงได้สะดวกยิ่งขึ้น การสื่อสารในพื้นที่ประสบภัยพิบัติไม่ล่ม คนในเมืองก็จะมีตัวเลือกตัวเลือกช่องทางเข้าสู่อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น ส่งข้อมูลขนาดใหญ่ได้เร็วยิ่งขึ้น กลุ่มผู้ประกอบการสามารถประยุกต์ใช้อุปกรณ์รับ-ส่งสัญญาณที่เล็กลงนั้นเกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ เช่น อุปกรณ์อัจฉริยะควบคุมระยะไกล การควบคุมเครื่องจักรในโรงงาน และการสื่อสารสมัยใหม่ที่นอกจากเหนือจากภาพและเสียง

การปรับเปลี่ยนในครั้งนี้ยังส่งผลดีถึงการพัฒนาเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ ทำให้การสื่อสารกับอุปกรณ์เซนเซอร์ตรวจวัดต่างๆทำงานได้รวดเร็ว แม่นยำ นำไปสู่การได้มาซึ่งข้อมูลที่มีความถูกต้องสูงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีการทำงานร่วมกับระบบดาวเทียมกำหนดตำแหน่ง เช่น การนำทางที่แม่นยำ การควบคุมรถยนต์ไร้คนขับ การตรวจวัดค่าต่างๆ ที่จะได้ผล

มาถึงตรงนี้หลายๆ คนอาจจะมองเห็นภาพของคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงอีกระลอกหนึ่งที่จะส่งผลต่อชีวิตประจำวันของเราโดยตรงไปตลอด หน้าที่เราก็คงต้องศึกษาเพื่อความเข้าใจในเทคโนโลยีอนาคตเพื่อจะนำไปปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม นอกจากเพื่อให้เกิดคุณค่าต่อตัวเองและยังต้องคำนึงถึงสังคมให้มากที่สุดด้วยเช่นกัน จึงจะเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนและสร้างความสุขให้ทุกๆ คน

ในช่วงนี้นับว่าเป็นโอกาสดีของคนไทย เนื่องจากมีการจัดงานประชุม APSCC Satellite Conference and Exhibition ประจำปี 2019 โดย Asia-Pacific Satellite Communications Council ตั้งแต่วันนี้ - 21 พฤศจิกายน 2562 ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพมหานคร เพื่อเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียมสื่อสารกับผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ

รายละเอียดเพิ่มเติมสำหรับการประชุม >> https://apsccsat.com/wp-content/uploads/2019/11/2019-Program-Guide-Book_Web.pdf


อ้างอิง ผลสำรวจ “Global Digital 2019” โดย We Are Social และ Hootsuite


โครงข่ายดาวเทียมวงโคจรระดับต่ำ (LEO Satellite Constellation) เครือข่ายการสื่อสารรูปแบบใหม่ที่ เราควรทำความรู้จัก โดย น.อ.ยศภาค โชติกพงศ์


กำลังโหลดความคิดเห็น