xs
xsm
sm
md
lg

หวั่นUSสกัดยักษ์จีน'หัวเว่ย'ทำโลกแบ่งขั้ว สู่ยุคเทคโนโลยี-นวัตกรรมแบบตัวใครตัวมัน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


<i>(ภาพจากแฟ้มถ่ายเมื่อ 22 พ.ย. 2019) พนักงานต้อนรับยืนอยู่บริเวณด้านหน้าบูธของหัวเว่ย ในงานนิทรรศการโลก 5จี (World 5G Exhibition) ที่กรุงปักกิ่ง </i>
เอเจนซีส์ – ผู้เชี่ยวชาญหวั่นผลพวงจากการที่อเมริกาตามล้างตามผลาญหัวเว่ย อาจผลักดันให้โลกย้อนเวลากลับสู่ยุค 1980 ซึ่งเป็นยุคแห่งการแตกแยกด้านการพัฒนาไฮเทคและนวัตกรรม โดยที่ภูมิภาคต่างๆ คิดค้นและใช้เฉพาะมาตรฐานโทรคมนาคมของตัวเอง และสุดท้ายผลร้ายจะตกอยู่กับผู้บริโภค

ตอนที่หัวเว่ย เทคโนโลยีส์ เปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นเรือธงล่าสุดนั่นคือ เมต 30 เมื่อเดือนกันยายนที่มิวนิก เยอรมนี ปรากฏว่าไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับการวางจำหน่าย ตอกย้ำว่า ผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมใหญ่ที่สุดของโลกแห่งนี้มีปัญหาใหญ่จากการถูกอเมริกาคว่ำบาตร

นอกจากนั้น หัวเว่ยยังเลื่อนแผนขาย “เมต 30” ในยุโรป ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุดนอกจีนของบริษัท เนื่องจากสมาร์ทโฟนรุ่นนี้ไม่สามารถเข้าถึงแอปและบริการต่างๆ ของกูเกิล หลังจากคณะบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เพิ่มหัวเว่ยในบัญชีดำทางการค้าเมื่อเดือนพฤษภาคม แม้ในที่สุด เมต 30 เวอร์ชันปลอดแอปกูเกิลได้ฤกษ์วางขายในเยอรมนีในจำนวนจำกัดเมื่อวันที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมาก็ตาม

ทั้งนี้จากแผนการไล่เช็คบิลหัวเว่ยของรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อพิพาททางการค้าและเทคโนโลยีระหว่างวอชิงตันกับปักกิ่งนั้น ได้ก่อให้เกิดผลทันทีเฉพาะหน้าซึ่งสามารถรับรู้กันอย่างกว้างขวาง อาทิ การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานเทคโนโลยีโลก, บริษัทไฮเทคยักษ์ใหญ่ของจีนแห่ตุนชิ้นส่วน, ข่าวลือระบาดหนักเกี่ยวกับความล่าช้าในการพัฒนาเครือข่ายสื่อสารไร้สาย 5จีทั่วโลก, และรัฐบาลจีนทุ่มเทความใส่ใจมากขึ้นในการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีหลักภายในประเทศ

อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ไม่พึงประสงค์ที่มีนัยสำคัญจากมาตรการสกัดยักษ์เทคโนโลยีจีนของอเมริกา ยังมีมากกว่านั้นอีก นั่นคือ โลกอาจเข้าใกล้ยุคแห่งการแตกแยกด้านการพัฒนาไฮเทคและนวัตกรรม

พอล แฮสเวลล์ หุ้นส่วนของบริษัทกฎหมายระหว่างประเทศ พินเซนต์ เมสันส์ ที่ให้คำปรึกษาบริษัทเทคโนโลยีหลายแห่ง อธิบายว่า ปรากฏการณ์นี้คล้ายกับการที่โลกนั่งไทม์แมชีนย้อนกลับไปในทศวรรษ 1980 ที่อเมริกาเหนือสนับสนุนระบบสื่อสารเคลื่อนที่คนละระบบกับยุโรป ส่วนญี่ปุ่นก็มีระบบสื่อสารไร้สายของตัวเอง

อุตสาหกรรมเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญในการเติบโตของกระแสโลกาภิวัตน์ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จากการที่นวัตกรรมต่างๆ ได้นำไปสู่มาตรฐานระดับโลก เช่น มาตรฐานอินเทอร์เน็ตและเครือข่ายไร้สายขั้นสูง ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง แฮสเวลล์สำทับว่า สิ่งที่เขากังวลก็คือ หากการพัฒนาเทคโนโลยีของอเมริกาและจีนแยกย้ายไปคนละทาง ความไว้วางใจในบริษัทและนวัตกรรมเทคโนโลยีระหว่างกันจะแตกแยกตามไปด้วย ซึ่งถือเป็นข่าวร้ายสำหรับผู้บริโภคทั่วโลก

หนังสือพิมพ์เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ของฮ่องกง ชี้ว่า นับจากที่ความสัมพันธ์ทางการค้าอเมริกา-จีนตึงเครียดหนักเมื่อกว่าปีที่ผ่านมา คณะบริหารของทรัมป์ได้เพิ่มเดิมพันด้วยการประกาศสงครามกับบริษัทเทคโนโลยีจีนโดยอ้างความมั่นคงแห่งชาติ ตั้งแต่นั้นอเมริกาก็เล่นงานหัวเว่ยหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ ภายใต้ข้อกล่าวหาที่ไม่มีหลักฐานยืนยันว่า บริษัทไฮเทคจากเซินเจิ้นแห่งนี้แอบเป็นสปายล้วงความลับให้ปักกิ่ง

หลายสัปดาห์ก่อนที่อเมริกาและจีนจะประกาศว่า บรรลุข้อตกลงการค้า “เฟส 1” ในเดือนธันวาคม อาจิต ไพ ประธานคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการสื่อสารของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ (เอฟซีซี) ย้ำความกังวลของคณะบริหารทรัมป์เกี่ยวกับการครอบงำการพัฒนาเทคโนโลยี 5จีของจีน โดยเตือนถึงอันตรายจากการแบ่งแยกด้านอินเทอร์เน็ตของสองประเทศเศรษฐกิจอันดับ 1 และ 2 ของโลก

ไพอ้างว่า ผลลัพธ์สุดท้ายของความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีของจีนคือ การสร้างอินเทอร์เน็ตสองระบบที่ต่างกันโดยเวอร์ชันที่รัฐบาลจีนสร้างขึ้นจะมีการเซ็นเซอร์อย่างเข้มงวด ซึ่งถือเป็นข่าวร้ายสำหรับผู้บริโภคและอาจเป็นอันตรายในระยะยาว

เดือนตุลาคม รองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ของสหรัฐฯ กล่าวหาจีนใช้อิทธิพลอย่างก้าวร้าวและคุกคามมากขึ้นเพื่อแทรกแซงนโยบายภายในและการเมืองของอเมริกา

หวา ชุนอิง โฆษกหญิงของกระทรวงการต่างประเทศจีน ตอบโต้ไม่รอช้าว่า ข้อกล่าวหาของเพนซ์ไม่มีมูลและน่าขันอย่างยิ่ง อีกทั้งเป็นอันตรายต่อผลประโยชน์ของจีนตลอดจนถึงความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ

ขณะที่พวกผู้สังเกตการณ์ชี้ว่า การกระทำของสหรัฐฯนั่นแหละ คือการเริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรมที่ทำให้เกิดก่ารแบ่งแยกด้านอินเทอร์เน็ตของ 2 ประเทศอย่างแท้จริง

<i>(ภาพจากแฟ้ม ถ่ายเมื่อ 31 มี.ค. 2019) โลโก้ 5G ตั้งอยู่ในงานที่เมืองฮันโนเวอร์ ประเทศเยอรมนี </i>
เวลาเดียวกัน หัวเว่ยได้ลบล้างคำสบประมาทว่า คงรอดยากภายใต้มาตรการแบนของอเมริกา

หัวเว่ยไม่ได้แค่ปรับเปลี่ยนการดำเนินงานใหม่ภายใต้เงื่อนไขโหดสุดๆ จากการถูกอเมริกาขึ้นบัญชีดำเท่านั้น แต่ยังเดินหน้าผลักดันโครงการ 5จีทั่วโลก

ทั้งนี้ 5จีคือเทคโนโลยีการสื่อสารเคลื่อนที่รุ่นใหม่ที่จะช่วยส่งเสริมความก้าวหน้ามากมาย เช่น อินเทอร์เน็ตสำหรับภาคอุตสาหกรรม รถไร้คนขับ และเมืองอัจฉริยะ

เดือนพฤศจิกายน คณะบริหารของทรัมป์ประกาศว่า ได้เริ่มออกใบอนุญาตให้บริษัทอเมริกันบางแห่งเพื่อขายสินค้าให้หัวเว่ย ซึ่งแม้ไม่ได้ระบุชัดเจนในทันทีว่า ผลิตภัณฑ์ใดบ้างที่ได้รับอนุมัติ แต่ก็ถือเป็นข่าวดีที่ทำให้ซัปพลายเออร์ชิ้นส่วนไฮเทคอเมริกันที่ขายสินค้าให้หัวเว่ยไปหลายหมื่นล้านดอลลาร์เมื่อปี 2018 รู้สึกบรรเทาความเครียดได้บ้าง

โฆษกของไมโครซอฟต์แถลงทางอีเมลว่า เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ อนุมัติคำขอของบริษัทในการส่งออกซอฟต์แวร์สำหรับตลาดมวลชนให้หัวเว่ย

แต่สำหรับ กูเกิล, ควอลคอมม์ 2บริษัทสัญชาติอเมริกัน รวมทั้ง ฟ็อกซ์คอนน์ เทคโนโลยี กรุ๊ป ผู้รับจ้างผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของไต้หวัน ไม่ได้แสดงความคิดเห็นใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้

ทั้งนี้ ปี 2018 หัวเว่ยสั่งซื้อซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ และบริการที่เกี่ยวข้องจากซัปพลายเออร์ไฮเทคทั่วโลกราว 70,000 ล้านดอลลาร์ ในจำนวนนี้รวมถึง 11,000 ล้านดอลลาร์ที่สั่งซื้อจากบริษัทอเมริกัน

ถึงเวลานี้สงครามการค้าอเมริกา-จีนยังถูกคาดหมายว่า จะเข้มข้นดุดันต่อไปและส่งผลให้ห่วงโซ่อุปทานเทคโนโลยีโลกแตกเป็นเสี่ยง

จาง จุน นักวิจัยอาวุโสของโรเซนแบลตต์ ซีเคียวริตีส์ บอกว่า ขณะนี้มีกระแสเรียกร้องในบรรดาผู้รับจ้างผลิตในจีนอย่างชัดเจน ว่าให้ตัดขาดจากอเมริกา เนื่องจากการแข่งขันด้านเทคโนโลยี และเขาไม่คิดว่า นี่จะเป็นแค่ปราฏการณ์สั้นๆ แม้วอชิงตัน-ปักกิ่งบรรลุข้อตกลงการค้าเฟส 1 ได้แล้วก็ตาม

จางเสริมว่า ใน 2-3 ปีข้างหน้าจะมีชุดห่วงโซ่อุปทานที่ปลอดผลิตภัณฑ์อเมริกันโดยสิ้นเชิง โดยผู้รับจ้างผลิตของจีนจะหันไปพึ่งพิงผลิตภัณฑ์จากประเทศอื่นแทนอเมริกา

<i>(ภาพจากแฟ้มถ่ายเมื่อ 27 ก.พ. 2019) เสาอากาศระบบ 5 จี พร้อมด้วยโลโก้ของ ไชน่า โมไบล์ บริษัทให้บริการอินเทอร์เน็ตยักษ์ใหญ่ของจีน  และโลโก้ของบริษัท หัวเว่ย  ที่บริเวณด้านหน้าศูนย์การประชุมของสภาผู้แทนประชาชน ในเมืองลั่วหยาง มณฑลเหอหนาน ของจีน </i>
ด้านวอชิงตันเองเดินเกมแบ่งแยกห่วงโซ่อุปทานเทคโนโลยีแล้วเช่นเดียวกัน โดยหน่วยงานที่เพิ่งก่อตั้งใหม่ที่มีชื่อว่า บรรษัทการเงินเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (US International Development Finance Corp) มีแผนนำงบประมาณบางส่วนจากทั้งหมด 60,000 ล้านดอลลาร์ไปช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาและธุรกิจต่างๆ จัดซื้ออุปกรณ์โทรคมนาคมจากประเทศอื่นที่ไม่ใช่จีน

แอนเชล แซ็ก นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมเทคโนโลยีของมัวร์ อินไซต์ส แอนด์ สแตรทเทอจี ชี้ว่า รากฐานของโลกาภิวัตน์ถูกสั่นคลอนอย่างหนักจากสงครามการค้าจีน-อเมริกา และการต่อสู้ระหว่างกลุ่มการค้าต่างๆ

แซ็กยังบอกอีกว่า บริษัทอเมริกันที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นบัญชีดำของคณะบริหารทรัมป์ ต้องลำบากลำบนปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ และยังเผชิญความไม่แน่นอนที่บังคับให้ต้องใช้แนวทางอนุรักษนิยมมากขึ้นกับหัวเว่ยและจีนโดยรวม

ตัวอย่างเช่นแม้แอปกูเกิลไม่ก่อให้เกิดปัญหาอะไรในตลาดอินเทอร์เน็ตของจีนที่ถูกจำกัดกีดกันอยู่แล้ว แต่สำหรับธุรกิจสมาร์ทโฟนนอกประเทศของหัวเว่ย ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ของกูเกิลกลับมีความสำคัญยิ่งยวด แม้เปิดตัวระบบปฏิบัติการของตัวเองในชื่อ “ฮาร์โมนี” เมื่อเดือนสิงหาคม แต่หัวเว่ยกลับบอกว่า ไม่มีแผนติดตั้งบนสมาร์ทโฟนของตนเนื่องจากแอนดรอยด์ยังคงเป็นทางเลือกแรก รวมทั้งต้องการปกป้องระบบนิเวศของแอปปัจจุบันด้วย

มาร์ก เกรเกอรี ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอาร์เอ็มไอที ในเมลเบิร์น ออสเตรเลีย มองว่า ทิศทางในอนาคตของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมโลกอาจได้รับผลกระทบแง่ลบจากข้อจำกัดซึ่งส่งผลให้หัวเว่ยถูกกีดกันไม่ให้เข้าถึงตลาดบางแห่ง และผลที่ตามมาอาจเป็นการย้อนเวลากลับไปตอนที่ภูมิภาคต่างๆ ใช้มาตรฐานโทรคมนาคมต่างกัน และยังอาจทำให้หัวเว่ยต้องลดคุณสมบัติและความสามารถของอุปกรณ์และระบบที่วางขาย ภายในตลาดที่บริษัทถูกกีดกันลง

เวลาเดียวกัน ความพยายามของวอชิงตันในการจำกัดไม่ให้จีนเข้าถึงเทคโนโลยีของอเมริกา และสกัดไม่ให้บริษัทจีนอย่างหัวเว่ย ขายอุปกรณ์เครือข่ายให้อเมริกาและประเทศอื่นๆ กำลังตอกย้ำความกังวลในเรื่องการกระจัดกระจายของ 5จี เนื่องจากประเทศจำนวนมากขึ้นต่างเปิดตัวเครือข่ายมือถือรุ่นใหม่ของตัวเอง

เควิน เคอร์แรน ศาสตราจารย์ด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ของมหาวิทยาลัยอัลสเตอร์ ในไอร์แลนด์เหนือบอกว่า มีความเป็นไปได้มาโดยตลอดเรื่องการกระจัดกระจายของมาตรฐาน 5จี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื่องจากหัวเว่ยมีส่วนแบ่งจำนวนมากในสิทธิบัตร 5จี รวมทั้งมีส่วนร่วมอย่างมากในมาตรฐานสากลของเทคโนโลยีนี้

เขาทิ้งท้ายว่า การคาดการณ์สถานการณ์ดังกล่าวรังแต่ทำให้มีความไม่แน่นอนมากขึ้นซึ่งไม่เป็นผลดีต่อผู้บริโภคในระยะยาว
กำลังโหลดความคิดเห็น