xs
xsm
sm
md
lg

ผู้เชี่ยวชาญชี้สงครามการค้า-ปัจจัยการเมือง ฉุดจีดีพีโลกปี2020โตไม่สดใสแต่ไม่ถึงวิกฤต

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


<i>(ภาพจากแฟ้มถ่ายเมื่อ 28 พ.ย. 2019)  สภาพภายในย่านสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ ที่ท่าเรือเมืองซิงเต่า ในมณฑลซานตง ทางภาคตะวันออกของจีน  ทั้งนี้สงครามและสันติภาพทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯยังคงเป็นเรื่องใหญ่ที่จะชี้ชะตาเศรษฐกิจโลกในปี 2020 </i>
เอเจนซีส์ – การเมืองอเมริกา บวกด้วยปัญหาโลกร้อน และการเปลี่ยนผ่านในยุคดิจิตอล กำลังจะทำให้เศรษฐกิจโลกปี 2020 ไม่เฉิดโฉมไฉไล แต่ยังสบายใจได้บ้างตรงที่ผู้เชี่ยวชาญไม่คิดว่า จะเลวร้ายเข้าขั้นวิกฤต

เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา องค์การเพื่อการร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ระบุว่า กิจกรรมเศรษฐกิจโลกอยู่ในอาการโซซัดโซเซจากการค้าและการลงทุนที่อ่อนแอลงต่อเนื่องนาน 2 ปี อันเป็นผลพวงของการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เปิดสงครามการค้ากับจีน

โออีซีดีคาดหมายว่า การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2020 จะวูบลงอยู่ที่ 2.9% ต่ำสุดนับจากที่เศรษฐกิจโลกถดถอยในปี 2009

ลอเรนซ์ บูน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของโออีซีดี บอกว่า โลกกำลังอยู่ในช่วงเวลาที่น่าเป็นห่วง และสะท้อนความแตกต่างอย่างชัดเจน โดยขณะที่พวกธนาคารกลางทั้งหลายพร้อมใช้มาตรการเชิงรุก แต่ทางรัฐบาลต่างๆ กลับเตะถ่วงนโยบายดังกล่าว ขณะที่กำลังเผชิญหน้าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการก้าวเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างมโหฬาร

สำหรับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่แม้มองแง่ดีกว่าเล็กน้อย โดยคาดการณ์เอาไว้ใน “รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก” ฉบับล่าสุดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของโลกในปี 2020 จะอยู่ที่ 3.4% โดยปัจจัยลบสำคัญคือ สงครามการค้าอเมริกา-จีน แต่ไม่วายเตือนว่า อาจมีการชะลอตัวโดยพร้อมเพรียงของประเทศต่างๆ และการฟื้นตัวที่ไร้ความแน่นอน

ในอีกด้านหนึ่ง ช่วงเวลาที่กระแสลัทธิประชานิยมและการประท้วงต่อต้านระบบ ยังคงเบ่งบานอยู่ทั่วโลกเฉกเช่นขณะนี้ การเมืองก็จะกลายเป็นปัจจัยคาดเดายากอีกตัวหนึ่ง ซึ่งจะส่งผลแรงต่อภาวะเศรษฐกิจในปี 2020

ทรัมป์นั้นจะต้องลงเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน ด้วยความหวังที่จะกลับเข้าสู่ทำเนียบขาวอีก 4 ปี ท่ามกลางเมฆหมอกของกระบวนการถอดถอนตัวเขาออกจากตำแหน่ง ขณะเดียวกัน การถอนตัวจากสหภาพยุโรป (อียู) ของอังกฤษกำลังเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น

ในส่วนการผงาดขึ้นมาของยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีพร้อมกับข้อมูลอันมากมายมหาศาลเป็นกองภูเขา ก็กำลังกลายเป็นความท้าทายการกระจายความมั่งคั่งระหว่างรัฐบาลกับธุรกิจขนาดใหญ่ และมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงรูปโฉมของโลกแห่งการทำงานอย่างมโหฬาร หลังจากที่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ถูกนำมาใช้เพื่อรีดเค้นผลประโยชน์จากข้อมูล

<i>(ภาพจากแฟ้มถ่ายเมื่อ 8 ส.ค. 2019)  คนงานในสายการผลิตของโรงงานผลิตโทรทัศน์แห่งหนึ่ง  ในเมืองเซินเจิ้น ประเทศจีน</i>
ขณะเดียวกัน ท่ามกลางปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นักอุตสาหกรรมและนักลงทุนกำลังปรับแก้ยุทธศาสตร์ของตัวเอง แม้ทรัมป์ปักหลักยืนหยัดนโยบายโดดเดี่ยวอเมริกาก็ตาม

ลูโดวิก ซูบราน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของอลิอันซ์ บริษัทประกันภัยยักษ์ใหญ่ของเยอรมนี บอกว่า ผลกระทบเชิงระบบในปี 2020 อาจไม่ได้เกิดจากฟากการเงิน แต่เกิดจากกฎระเบียบที่มีผลต่อข้อมูลส่วนบุคคลหรือเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ

ซูบรานเสริมว่า ถ้าทรัมป์รอดพ้นกระบวนการถอดถอนและชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีอีกสมัย เขาจะเล่นงานจีนหนักขึ้นและเสี่ยงทำให้เกิดการเผชิญหน้าทางการทหาร

แต่ถ้าเดโมแครตเป็นฝ่ายชนะ จะหมายถึงนโยบายที่แตกต่างไป แต่จะผิดแผกขนาดไหนยังคงเป็นคำถาม เนื่องจากใครจะชนะได้เป็นตัวแทนของเดโมแครตเข้าแข่งขันกับทรัมป์ ยังไม่มีความชัดเจนในเวลานี้ โดยมีตั้งแต่นักการเมืองสายกลางอย่างอดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน ตลอดจนผู้มาใหม่คือ ไมเคิล บลูมเบิร์ก ไปจนถึงฝ่ายซ้ายอย่างเอลิซาเบธ วอร์เรน ที่ต้องการขึ้นภาษี เปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และรื้อทำลายการครอบงำของกิจการยักษ์ใหญ่ไฮเทค

ทรัมป์กับวอร์เรนมีอย่างหนึ่งที่เหมือนกันคือ การเป็นปฏิปักษ์ต่อการค้าเสรีและแนวทางเสรีนิยม เนื่องจากเชื่อว่า เป็นตัวการบ่อนทำลายอุตสาหกรรมของอเมริกาในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา

มองกันในระดับโลก การเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง ยังมีแนวโน้มทำให้การถกเถียงเกี่ยวกับการกระจายความมั่งคั่งยังคงดุเดือดต่อไป ความโกรธแค้นต่อความไม่เท่าเทียมลุกลามไปทั่ว ตั้งแต่ดินแดนที่ค่อนข้างร่ำรวยอย่างฮ่องกง ไปจนถึงประเทศกำลังพัฒนาอย่างชิลี

จากข้อมูลของออกซ์แฟม เศรษฐีพันล้าน 26 คนมีเงินพอๆ กับเงินของคนจนที่สุดครึ่งโลกรวมกัน

เอสเทอร์ ดูโฟล นักวิชาการฝรั่งเศสกล่าวไว้เมื่อเดือนตุลาคมหลังได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ว่า แม้คนที่ดูเหมือนพึงพอใจกับความสะดวกสบายพื้นฐานเชิงวัตถุ ยังอาจมีบางช่วงบางตอนที่รับรู้ถึงความแร้นแค้นและไร้สุขเท่ากับคนจนที่สุด

ไซมอน แบปติสต์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของอิโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต (อีไอยู) ชี้ว่า รูปแบบการเติบโตกำลังเปลี่ยนแปลง และนับจากนี้ การเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะต้องปรับตัวให้ชินกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน โดยเขาคาดว่า จีดีพีโลกในช่วงทศวรรษหน้าจะลดเหลือเพียงครึ่งเดียวของช่วงทศวรรษ 2010

แบปติสต์เสริมว่า ประเทศที่เศรษฐกิจโตเร็วที่สุดจะอยู่ในแอฟริกา เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่ประเทศที่มีประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นเร็วที่สุดและจำนวนประชากรลดลงอย่างญี่ปุ่น อิตาลี และโปรตุเกส อาจมีอัตราขยายตัวเฉียด 0% และประเทศตลาดเกิดใหม่อย่างจีน รัสเซีย และไทยอาจต้องรับมือกับแนวโน้มค่าเงินแข็งขึ้น

นักเศรษฐศาสตร์ผู้นี้ยังคาดหมาย “ความไม่ลงรอยเรื้อรัง” ระหว่างอเมริกากับจีน โดยที่ความคิดเห็นที่แตกต่างซึ่งยากประนีประนอมจะขยายออกจากสงครามการค้าที่ดำเนินมา 18 เดือน และต่างฝ่ายจะทำให้บริษัทของฝ่ายตรงข้ามอยู่ยากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น