xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ต้องออกจากรัฐบาล 3 ป. มาเป็นรัฐบาลของประชาชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ

แม้กรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญจะถูกตั้งขึ้น แต่เมื่อดูฝักฝ่ายและตัวบุคคลแล้วก็ไม่มีหลักประกันอะไรเลยที่รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ยังบ่มเพาะความขัดแย้งจะถูกแก้ไขโดยเฉพาะจากฝั่งรัฐบาลและ ส.ว.ที่เป็นเสียงข้างมาก เพราะเป็นฝ่ายที่ได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญขณะนี้

และไม่มีใครตระหนักว่า กติกาและเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญนั้นเองที่ทำให้วิกฤตยังดำรงอยู่เพราะไม่สะท้อนการแข่งขันที่เท่าเทียมกัน และเป็นชนวนให้ฝ่ายตรงข้ามนำมาปลุกปั่นได้ง่าย

รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสำคัญที่สุดของประเทศ ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ตั้งบนหลักนิติรัฐนิติธรรมเสียแล้ว ก็อย่าหวังว่า ความเป็นธรรม ความยุติธรรมจะเกิดขึ้นในสังคมไทย สิ่งที่อ้างอย่างเดียวว่ามาจากประชามตินั้น ไม่ใช่หลักประกันว่านี่คือสิ่งที่ถูกต้อง เพราะความยุติธรรมหรือไม่นั้นมันสะท้อนตัวมันเองโดยธรรมชาติ ไม่ใช่ใช้เสียงข้างมากตัดสิน

ความอยุติธรรมนั้นเป็นเครื่องมือของฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลนำมาใช้เป็นเครื่องมือปลุกปั่นมวลชนอยู่แล้ว และมวลชนฝ่ายระบอบทักษิณที่มาหลอมรวมกับมวลชนคนรุ่นใหม่ของพรรคอนาคตใหม่ก็มีทัศนคติเช่นนี้จากการถูกปลุกปั่นมาแล้วนับสิบปี ที่สำคัญตลอด 5 ปีของการปกครองในระบอบทหารไม่สามารถดึงมวลชนฝั่งทักษิณให้แปรเปลี่ยนทัศนคติได้เลย

ดังนั้นสังคมไทยจึงยังแบ่ง 2 ขั้ว ที่มีกำลังก้ำกึ่งกันและพร้อมจะแตกหักกันตลอดเวลา และอย่าประมาทไป แม้ผมพูดเสมอว่า สังคมไทยยังดีกว่ารวันดาที่มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กันระหว่าง เผ่าฮูตูและทุตซี เพราะสังคมไทยแม้มีที่มาหลากหลาย แต่ไม่แบ่งเผ่าพันธุ์ต่างมีความเป็นไทยเหมือนกันหมด แต่การปลุกปั่นแบ่งฝักฝ่ายระหว่างฝ่ายชังชาติกับฝ่ายปกป้องชาตินั้นมันง่ายมากที่จะเติมดีรีความขัดแย้งให้บานปลาย

บอกตรงๆ ไม่รู้เหมือนกันว่า นายแพทย์ วรงค์ เดชกิจวิกรม และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เดินสายเพื่อต้องการต่อสู้ทางความคิดเพื่อเปลี่ยนแปลงทัศนคติมวลชนฝั่งต่อต้านรัฐบาลหรือปลุกปั่นฝ่ายตัวเองให้ลุกขึ้นมาต่อต้านฝ่ายที่เรียกว่าพวกชังชาติซึ่งแม้ทัศนคติแบบชังชาติจะมีอยู่จริง แต่มันแก้ได้ด้วยการเดินสายปลุกระดมประชาชนจริงๆ หรือ

ผมว่า ไม่มีทางนะครับ และคิดว่าสังคมไทยไปไกลกว่านี้แล้ว ทางเดียวที่จะไม่นำประเทศไปสู่วิกฤตก็คือ การต่อสู้กันในระบบให้เขาเห็นว่า นี่เป็นเวทีที่เราควรจะมาต่อสู้กันอย่างเป็นธรรม

เชื่อเถอะว่าทุกวันนี้การปลุกปั่นชวนเชื่อเพื่อดึงมวลชนไม่มีผลอะไรแล้ว เพราะทุกฝ่ายต่างมีจุดยืนของตัวเองที่ชัดเจน และต่างฝ่ายต่างเชื่อว่าตัวเองถูกและฝั่งตรงข้ามผิด ดังนั้นแม้อีกฝั่งจะโจมตีอย่างไรก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนในสังคมที่แบ่งฝ่ายกันได้

สิ่งสำคัญคือ ฝ่ายอำนาจรัฐต้องทำให้เห็นว่า สังคมไทยยังมีความยุติธรรมที่เป็นมาตรฐานเดียว ประชาชนทุกคนมีความเท่าเทียมกัน และแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะนำพาประเทศไปสันติสุขของคนไทยทุกคนอย่างไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อเอาชนะใจมวลชนให้ได้ ไม่ใช่รัฐบาลของประยุทธ์ ป้อม ป๊อก

ความไม่ทำให้ประชาชนเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมคือ มาตรฐานในการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายต่อคนของฝ่ายอำนาจรัฐหย่อนยาน แต่เคร่งครัดและจริงจังกับฝ่ายตรงข้ามซึ่งเขาหยิบมาปลุกปั่นได้ง่าย แม้คดีการกู้เงินก็ดีการถือครองหุ้นสื่อก็ดี เป็นพฤติกรรมที่ฝ่ายตรงข้ามกระทำผิดเอง ก็ยังเอาไปใช้ปลุกปั่นคนให้ออกมาปกป้องตัวเองได้ เพราะสังคมคลางแคลงใจในเรื่องของความยุติธรรมนั่นเอง

ต้องยอมรับว่าตอนนี้มวลชนสองฝ่ายต่างสร้างโลกของตัวเองขึ้นมา เชื่อฟังฝ่ายเดียวกัน เชื่อมั่นข่าวสารและการชวนเชื่อจากฝั่งเดียวกัน เชื่อมั่นว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูกต้องชอบธรรม ปิดรับเหตุผลไม่สนใจข้อมูลหลักฐานต่างๆในการหยิบยกมาต่อสู้คัดง้างกัน

และคนรุ่นใหม่ที่เป็นมวลชนของพรรคก็เชื่อมั่นอย่างนั้นเสียด้วย ยิ่งแกนนำของพรรคอย่างธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ปิยบุตร แสงกนกกุล พรรณิการ์ วานิช ถูกกฎหมายดำเนินการเช่นไรก็ง่ายที่จะนำมาปลุกปั่นว่าถูกกลั่นแกล้งรังแก ทั้งที่การดำเนินการนั้นเป็นการดำเนินการทางกฎหมายต่อผู้กระทำผิดกฎหมายที่ชอบก็ตาม

เท่าที่ผมติดตามโซเชียลมีเดีย แม้ระดับปัญญาชนของประเทศก็ไม่เชื่อมั่นว่า สิ่งที่อำนาจรัฐต้องดำเนินคดีกับธนาธรนั้นเพราะเขากระทำผิดจริงๆ แต่เชื่อฝังใจว่า เพราะธนาธรมีอิทธิพลและบทบาทในการท้าทายอำนาจรัฐจึงต้องถูกกำจัด โดยไม่สนใจข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นว่าธนาธรทำผิดจริงหรือไม่

การที่มวลชนของธนาธรเป็นคนรุ่นใหม่ที่ครอบครองโลกเสมือนจริงอยู่นั้น มันทำให้เห็นว่า แนวรบด้านนี้ฝ่ายอำนาจรัฐพ่ายแพ้อย่างชัดเจน เพราะมวลชนส่วนใหญ่เป็นของเขา แม้รัฐจะมีเครื่องมือเครื่องไม้ในการสื่อสารขนาดไหนก็สู้ยากในโลกสมัยนี้ ต่างกับสมัยก่อนที่วิทยุยานเกราะคลื่นเดียวก็สามารถปลุกปั่นมวลชนได้ แต่วันนี้การสื่อสารนั้นอยู่ในมือของประชาชนทุกคน

แน่นอนว่า เราอาจกลัวเป้าหมายที่ซ่อนเร้นของฝ่ายตรงข้ามที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยแบบถอนรากถอนโคน ที่สะท้อนผ่านความคิดและการแสดงออกของแกนนำหลายคนว่าต้องการลดถอนสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่คนในสังคมไทยส่วนใหญ่ไม่มีวันยอมให้เกิดขึ้น และต้องการทำลายจารีตประเพณีวัฒนธรรมที่มีลำดับชั้นของการเคารพผู้อาวุโส รวมถึงการลดบทบาทในการเกื้อกูลศาสนาของรัฐ ให้ประชาชนยึดมั่นตัวเองมากกว่าความเชื่อทางศาสนาใดก็ตาม

แต่ผมยังคิดว่า ความเชื่อแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากคนในพรรคอนาคตใหม่ทุกคน แม้ส่วนใหญ่อาจจะอยู่ใต้อิทธิพลของแกนนำพรรค เพราะได้เข้ามาเป็นส.ส.แบบไม่คาดฝัน แต่ถ้ายังมีมโนสำนึกก็น่าจะเข้าใจได้ไม่ยากว่าทัศนคติของแกนนำนั้นมีโอกาสที่จะนำประเทศไปสู่วิกฤตมากกว่าสิ่งที่อ้างว่าต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

ดังนั้นต้องคิดว่าทำอย่างไรเราถึงจะสะท้อนจากภายในของพรรคเองให้ตระหนักในสิ่งที่พรรคกำลังนำพา เพราะว่า หลายคนในพรรคเองก็กำลังอึดอัดจากการที่ธนาธรมีอำนาจในการครอบงำพรรคที่ลำดับชนชั้นในพรรคมากกว่าจะเป็นประชาธิปไตย

แต่สิ่งสำคัญคือ ฝ่ายอำนาจรัฐต้องลดแนวโน้มในการนำพาประเทศชาติไปสู่ระบอบอำนาจนิยมเพียงเพื่อรักษาอำนาจของฝั่งตนเอาไว้โดยอ้างความจำเป็นต่างๆที่ไม่คำนึงถึงสิทธิ เสรีภาพของประชาชน ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นที่เป็นปฏิปักษ์และมีท่าทีแข็งกร้าวสื่อมวลชนที่เป็นกระบอกเสียงของประชาชน และละเว้นการใช้อำนาจและจำกัดการตรวจสอบฝ่ายเดียวกันที่กระทำความผิด

คล้ายกับหลงลืมว่า นี่ยังอยู่ในระบอบทหารแม้ประชาชนจะยังมีเสรีภาพอยู่ก็ตามและพยายามจะรวบรวมอำนาจการตัดสินใจไว้ที่ผู้นำและรวมเข้าสู่ศูนย์กลางอย่างมาก แล้วใช้อำนาจรัฐปราบปรามทางการเมืองและการกีดกันคู่แข่งแบบต่างมาตรฐานที่ใช้กับฝั่งตัวเอง

รวมถึงการเล่นนอกกติกาเสียเองในการกวาดต้อนฝ่ายตรงข้ามด้วยการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์โดยใช้อำนาจรัฐมาต่อรองในรูปแบบงูเห่า เช่นการช่วยเหลือด้านคดีความ ซึ่งเป็นการตอกย้ำการบิดเบือนหลักยุติธรรมของประเทศ ที่สะท้อนการเลือกปฏิบัติและความไม่เท่าเทียมกันมากขึ้น
และยังมีท่าทีของวุฒิสภาที่ทำตัวเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาล ทั้งที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่าต้องไม่ฝักใฝ่ฝั่งการเมือง มาตรา 113 สมาชิกวุฒิสภาต้องไม่ฝักใฝ่หรือยอมตนอยู่ใต้อาณัติของพรรคการเมืองใด ๆ

แต่สมาชิกวุฒิสภากลับแสดงบทบาทองครักษ์พิทักษ์รัฐบาลเหมือนการตอบแทนบุญคุณกลายเป็นหอกทิ่มแทงฝ่ายตรงข้ามที่เขาเป็นกระบวนการหนึ่งของการต่อสู้ในระบบที่ฐานะสมาชิกรัฐสภาให้เขาออกไปต่อสู้นอกระบบมากขึ้น

รวมถึงมวลชนฝั่งรัฐบาลเองก็ใช้ความคิดที่ตัดสินมาแล้วว่าฝั่งตรงข้ามผิดไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม แต่ต้องล้มล้างทำลายให้สิ้นซาก ทั้งการใช้เครื่องมือของรัฐหรือวิธีการใดก็ตามจากผลการได้ยินเสียงที่สะท้อนออกมาจากฝั่งเดียวกันมากกว่าจะเปิดใจรับฟังให้รอบด้านและตัดสินด้วยเหตุผล

ความหวาดหวั่นว่าสังคมไทยกำลังจะไปสู่วิกฤตเกิดขึ้นอีกครั้งนั้น ไม่ใช่เรื่องที่พูดกันลอยๆ แต่มันสะท้อนจากปรากฏการณ์และปัจจัยต่างๆที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทยทุกวันนี้ เรามีสื่อที่โหมกระพือความเชื่อความคิดของฝั่งตัวเองและตอกย้ำทำร้ายฝ่ายตรงข้ามราวกับเป็นข้าศึกของประเทศ การปลุกปั่นแบบนี้มันง่ายมากที่จะเพิ่มความชิงชังต่อกันให้มากขึ้น เพราะคนแต่ละฝั่งต่างเสพข่าวจากกระบอกเสียงที่ตัวเองเชื่อเท่านั้น

แน่นอนว่า สังคมไทยจะต้องต่อสู้กับความคิดและกลุ่มคนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบและล้มล้างสถาบันที่เป็นที่ยึดมั่นของสังคมไทย แต่เราต้องตระหนักถึงรูปแบบการต่อสู้ว่า ทำอย่างไรไม่ให้เกิดความสูญเสียและโศกนาฏกรรมแบบ 6 ตุลาคม 2519 อีก เราจะต้องต่อสู้กันด้วยการเปลี่ยนแปลงทัศนคติความคิดหักล้างกันด้วยเหตุผลความชอบธรรมและความจำเป็นในรูปแบบรัฐปัจจุบันของสังคมไทย ซึ่งเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ยังมีความต้องการอยู่

ปี 2563 นี้น่าจะเป็นปีที่จะชี้ชะตาอนาคตของสังคมไทยว่า เราจะพาประเทศเดินไปแบบไหน แต่ฝ่ายที่จะมีความชอบธรรมจะต้องต่อสู้ด้วยกติกาที่เป็นธรรม ทำให้คนในสังคมเชื่อมั่นในความเท่าเทียมเสมอภาคกัน รัฐบาลไม่ได้เป็นศัตรูของใคร แต่เป็นเครื่องมือที่จะขับเคลื่อนประโยชน์ให้กับประเทศไม่ใช่ตกเป็นเครื่องมือของคนไม่กี่คนที่ปกครองประเทศอยู่

แม้แนวรบด้านโลกเสมือนจริงรัฐบาลจะพ่ายแพ้อย่างย่อยยับ แต่เชื่อว่า ถ้ารัฐบาลต่อสู้ด้วยความจริงและความปรารถนาดีต่อชาติบ้านเมือง มากกว่าการทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามด้วยกลไกรัฐ ก็ยังคงที่ความชอบธรรมที่เหนือกว่า

นั่นคือต้องทำตัวเองให้เป็นรัฐบาลของประชาชนมากกว่ารัฐบาลของ3ป.อย่างที่เป็นอยู่ ราวกับว่าประเทศนี้เป็นของคนไม่กี่คน
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น