- ผู้ประกอบการส่งออกผลไม้สดไปจีนกระอัก เจอมาตรการรัฐออกมาตรการเข้มระงับออกใบรับรองสุขอนามัยพืชสินค้าผลไม้สดไปจีนที่ด่านตรวจพืชนครพนม โดยให้เปลี่ยนไปออกที่ด่านตรวจพืชมุกดาหารแทน และให้เปลี่ยนไปใช้เส้นทาง R9 ในการตรวจปล่อยสินค้า ชี้มีผลบังคับตั้งแต่ 1 ม.ค. 2563 ขณะที่”สมนาม “ประธานหอการค้านครพนม ออกโรงแจงผู้ประกอบการส่งออกผลไม้เดือดร้อนหนัก 7 ข้อ วอนรัฐเร่งแก้ปัญหาด่วนก่อนเสนอ 3 แนวทางแก้ให้รัฐช่วยแก้เกมส์ผู้ส่งออกไม้สดไปจีน
นายสมนาม เหล่าเกียรติ ประธานหอการค้าจังหวัด นครพนม เปิดเผย”ผู้จัดการรายวัน 360” ถึงมาตรของสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร ซึ่งได้ออกหนังสือเมื่อวันที่ 18ธ.ค.2562 ให้แจ้งระงับออกใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับสินค้าผลไม้สดส่งออกไปจีนของ ด่านตรวจพืชนครพนม โดยจะให้เปลี่ยนไปออกที่ด่านตรวจพืชมุกดาหารแทน และให้เปลี่ยนไปใช้เส้นทาง R9ในการตรวจปล่อยสินค้า ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป
ล่าสุดทำให้เกิดผลกระทบของผู้ประกอบการส่งออกผลไม้สดจากประเทศไทยไปสาธารณรัฐประชาชนจีน
ซึ่งหนังสือการงดอออกใบรับรองสุขอนามัยสำหรับสินค้าผลไม้สดออกไปจีนที่ด่านนครพนมนั้น เห็นว่าด่านตรวจพืชนครพนมยังไม่ถือว่าเป็นด่านตรวจพืชที่กำหนดไว้ในพิธีสารของกรอบความร่วมมือ GMS Economic Corridors หรือคือ ระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการขยายตัวด้านอุตสาหกรรม การเกษตร การค้า การลงทุนและบริการ เพื่อให้เกิดการจ้างงาน, ยกระดับการครองชีพ, การถ่ายทอดเทคโนโลยีและการศึกษาระหว่างกัน, การใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ส่งเสริมกันอย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยเพิ่มขีดความสามารถและโอกาสการแข่งขันในเวทีการค้าโลก ผ่านกลยุทธ์หลัก 3 ด้าน คือ สนับสนุนให้มีการเชื่อมโยงระหว่างกัน (Connectivity) เพื่อให้เกิดการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) โดยการรวมกลุ่มกันในอนุภูมิภาค (Community) โครงการนี้ได้รับเงินอุดหนุนจาก ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย หรือ ADB (Asian Development Bank) ในการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานหลายแขนง โดยเฉพาะเส้นทางคมนาคมทางถนน แต่ก็รวมถึงระบบไฟฟ้า โทรคมนาคม สิ่งแวดล้อม และกฎหมายด้วย สำหรับสาขาความร่วมมือของ GMS มี 9 สาขา ได้แก่ คมนาคมขนส่ง โทรคมนาคม พลังงาน การค้า การลงทุน เกษตร สิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยว และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
ทั้งนี้พิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการขนผลไม้ไทยที่ส่งออกผ่านประเทศที่สามไปยังจีน ในปี 2552 โดยกำหนดให้ผลไม้สดส่งออกไปจีนจำนวน 22 ชนิดต้องมีการขนส่งทางบกตามเส้นทางที่กำหนด(เส้นทาง R9)คือจังหวัดมุกดาหาร(ไทย)สะหวันนะเขต/สะหวันเซโน(ลาว)ดาซาเป/แดนสะหวัน-ลาวบ๋าว(เวียดนาม)-ฮาติงห์-เถื่อนฮว่า-หลั่งเซิน-โหย่วอี้กวน(จีน) ซึ่งนครพนมไม่อยู่ในกรอบดังกล่าว จึงจะยกเลิกชั่วคราวจนกว่าทั้งสองฝ่ายจะประชุมหารือและบรรลุข้อตกลงร่วมกัน
นายสมนาม กล่าวต่อไปว่าจากมาตรการของรัฐโดยกระทรวงเกษตรฯนี้ ทำให้ผู้ประกอบการทั้งด้านส่งออก ชิปปิ้ง และผู้ประกอบการโลจิสติกส์ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงภาวการณ์ส่งออกที่มีแนวโน้มลดลง ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา จึงเป็นการสร้างภาระให้กับผู้ส่งออกเพิ่มขึ้นและยังสร้างปัญหาให้คู่ค้าเป็นอย่างมาก และผลกระทบที่เกิดขึ้นสามารถแบ่งออกด้านต่างๆ ดังนี้
1.เนื่องจากเส้นทางการส่งออกปัจจุบันที่ส่งสินค้าไปประเทศจีนผู้ประกอบการส่วนใหญ่ได้เข้ามาลงทุนสร้างฐานการผลิตโดยเข้ามาซื้อที่ดิน ที่จังหวัดนครพนม และทำลานจอดเพื่อรองรับรถที่บรรทุกสินค้ามาระหว่างรอข้ามไปยังเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน สปป.ลาว ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามด่านศุลกากรนครพนม ซึ่งเป็นระยะทางที่ใกล้ที่สุดที่จะไปด่านโหย่วอี้กวานประเทศจีน ซึ่งมีระยะทางเพียง 823 กม.เท่านั้น ซึ่งจะประหยัดเวลาและต้นทุนค่าขนส่งเมื่อเปรียบเทียบกับด่านมุกดาหาร ระยะทาง 1090 กม. จะใช้เวลามากกว่า 1-2วัน และต้นทุนค่าขนส่งเพิ่มขึ้นไปอีกตู้ละ 20,000—30,000 บาท ซึ่งขัดกับ การบริหารจัดการโลจิสติกส์ในยุค 4.0
โลจิสติกส์นั้นจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับยุค 4.0 หรือยุคดิจิตอล เพื่อให้ธุรกิจการบริการขนส่งของ ขนส่งสินค้าและกระจายสินค้าสามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่นและตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ควรเรียนรู้เกี่ยวกับโลจิสติกส์ในยุค 4.0 ว่าเป็นอย่างไร และมีอะไรที่สามารถบ่งบอกได้ว่าโลจิสติกส์ใดจะสามารถอยู่ในยุค 4.0 ได้โดยไม่ถูกกลืนหายไปกับยุคเก่า เพื่อให้ธุรกิจโลจิสติกส์เติบโตแบบยั่งยืนและมั่นคง
2.ผู้ประกอบการเดือดร้อนเรื่องสถานที่เสียบปลั้กไฟทำอุณภูมิของตู้ผลไม้ เพราะไม่มีลานของตัวเอง ทั้งยังต้องเพิ่มต้นทุนค่าใช้จ่ายค่าไฟ 100-/1ชั่วโมง/1ตู้ และตอนนี้ความพร้อมทางมุกดาหารยังไม่มีความพร้อมเรื่องลานจอดเสียบปลั้กไฟที่สามารถรองรับรถผลไม้สดที่มารอคิวตรวจพืชและรอออกเอกสาร
3.ทางด้าน ด่านสะหวันนะเขต สปป.ลาว ซึ่งตรงด่านมุกดาหาร ยังไม่ได้เตรียมพร้อมเรื่องลานยกตู้หนักที่ยกให้กับทางรถเวียดนามที่มารับช่วงขนส่งสินค้าต่อไปยังประเทศจีน เนื่องจากทางลาวส่วนใหญ่ได้ไปลงทุนทำลานยกตู้ ลานเสียบปลั้กไฟ และลานจอดสำหรับรถเวียดนามที่ต้องมารอยกตู้หนักของไทย ที่เมื่องท่าแขก แขวงคำม่วน ซึ่งทางนี้มีความพร้อมและมีศักยภาพมากกว่าเมืองสะหวันนะเขต ด้วยถนนหนทางที่ดีกว่าซึ่งทางลาวได้พัฒนาเส้นทางR12 นี้ ซึ่งเป็นเส้นทางที่ดีและเหมาะสมที่สุด และเส้นทางR12 นี้ ในลาวใช้เวลาเดินทางเพียง 3-5 ชั่วโมงก้อจะสามารถข้ามด่านจอหลอ เวียดนามได้ทัน ซึ่งในวันต่อมารถเวียดนามก้อจะถึงด่านโหย่วอี้กวาน ซึ่งต่างกับเส้นทาง R9 ด่านลาวบาว จะล่าช้าไปอีก1-2 วัน
4.หากตู้มีปัญหาอุณภูมิไม่ลง / ตู้เสียระหว่างทางปกติคนรถต้องรีบทำเวลามาถึงลานที่นครพนมเพื่อแก้ใขบางทีต้องถ่ายตู้ เพื่อป้องกันการเสียหายของผลไม้ ตรงนี้ ผู้ประกอบการไม่มีลานจอดของตัวเองที่มุกดาหาร จะไม่สามารถแก้ใขได้ทันเวลา จะส่งผลให้ผลไม้สดได้รับความเสียหายได้ เนื่องจากทีมช่างและทีมถ่ายตู้ และอุปกรณ์ในการแก้ใขตู้ ถูกเซ็ทระบบไว้ที่ลานนครพนม
5.ด้านเอกสารเรื่องชิปปิ้ง ส่วนมากเจ้าหน้าที่ชิปปิ้งเป็นคนท้องถิ่นที่นครพนมบางท่านเป็นคนต่างถิ่น แต่ได้มาซื้อบ้านและสร้างฐานไว้ที่นครพนม ต้องแบ่งเป็น2ทีม และต้องไปหาเช่าออฟฟิส เช่าบ้าน ที่มุกดาหาร ถ้าเดินทางไปกลับก้อหลายร้อยกิโล ซึ่งส่วนมากเป็นผู้หญิง ซึ่งเรื่องนี้ก่อนให้เกิดผลกระทบมากและเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายที่ตามมาให้กับผู้ประกอบการอย่างมาก
6.ผู้ประกอบการขนส่งทั้งรายเล็กรายใหญ่ส่วนใหญ่แล้วมาลงทุนซื้อที่ดินเปล่า ที่มีมูลค่าไม่ต่ำกว่าไร่ละ 3- 5 ล้านบาทยังไม่รวมค่าปรับปรุง และเทพื้น สำหรับทำลานจอดพักรถระหว่างรองานและรอข้ามด่าน ที่นครพนม มีที่จอดรถหัวลาก ลานวางตู้ และมีปลั้กไฟ 3 เฟส รวมทั้งโรงซ่อมบำรุงเซอร์เวย์ตู้ ที่ล้างตู้ก่อนที่จะไปบรรจุสินค้า บ้านพักคนรถ บ้านพักของช่าง ซึ่งปลั้กไฟของตู้คอนเทนเนอร์รีเฟอร์ไม่สามารถเสียบไฟบ้านธรรมดาทั่วไปได้ เพราะต้องใช้ไฟ 400 โวลต์ ซึ่งการทำสัญญาซื้อขายไฟ และขึ้นตอนการติดตั้งหม้อแปลง และทำปลั้ก ใช้เวลานาน 2-3 เดือน ซึ่งการลงทุนทำลานเป็นการลงทุนมหาศาล และใช้เวลานานเป็นปีกว่าจะแล้วเสร็จ
7.ทุเรียนฤดูกาลที่ผ่านมาเมื่อเดือนเมษายน ปี 2562 เข้าจีนไม่ได้เป็น3000 ตู้ สร้างความเสียหายกับลูกค้าและขนส่งเป็นอย่างมาก เนื่องจากการปรับเปลี่ยนระบบอย่างกะทันหัน ทุกฝ่ายปรับตัวไม่ทัน นับว่าเป็นบทเรียนที่ทุกฝ่ายต้องทบทวนและหามาตรการป้องกัน ไม่ให้เหตุการณ์อย่างนั้นเกิดขึ้นซ้ำอีกกับการส่งออกผลไม้ไทย
อย่างไรก็ตามปัญหาของล้งทุเรียนภาคตะวันออกที่เคยเกิดปัญหามาแล้ว จากมาตรการของกระทรวงศุลกากรจีน ตรวจเข้มสารตกค้าง-แมลง รถตู้คอนเทนเนอร์ค้างด่านชายแดนจีนทั้งทางบก-เรือ 3,000 ตู้ 6,000 ล้านบาท ซวยซ้ำทุเรียนสุก แตกเสียหาย ถูกกดราคารับซื้อเท่าตัว“ท่าเรือจีนบางแห่งจะบังคับให้ใช้อุณหภูมิติดลบ 13 องศา แต่เมื่อทุเรียนสุกแตกทำให้อุณหภูมิในตู้เพิ่มสูงขึ้นอัตโนมัติเป็น 23 องศา เมื่อเจ้าหน้าที่จีนวัดอุณหภูมิพบว่าร้อนกว่าที่กำหนดจะตีกลับสินค้า ไม่ให้ยกตู้ขึ้นจากเรือ ต้องส่งกลับมาแปรรูปทำทุเรียนกวน เสียหายอย่างมาก” เป็นร้องฟ้องร้องกันอีก
ทั้งเจอปัญหาเรื่องเอกสารหมดอายุก่อนส่งสินค้าที่ด่านโหย่วอี้กวาน เพราะพิธีสารระบุใช้ได้แค่ 7 วันแต่รถไปรอคิวบางเป็น 10 วัน ทุเรียนแตกและลูกค้าไม่ยอมจ่ายค่าขนส่ง รถรอคิวเข้าจีนเป็นพันคันแต่การตรวจรับสินค้าได้แค่วันละ 50 ตู้ ทำให้รถเวียดนามไม่สามารถกลับมารับตู้ผลไม้ของไทยได้ รถไทยตกค้างที่ลานนครพนมเป็นจำนวนมาก ตู้สินค้าจอดเต็มทุกลาน ที่เสียบไฟจนไม่เพียงพอ บางบริษัทรถต้องเสียบไฟเป็น 10 วัน สินค้าแตกเสียหาย ประกอบด้วยอากาศที่ร้อนจัดอุณภูมิ 36-40 องศา ลูกค้าสูญเงินมหาศาล ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ถูกหักค่าขนส่งเนื่องจากทุเรียนแตกเสียหาย และบางรายไม่ยอมจ่ายค่าขนส่งที่ยังค้างไว้อีกด้วย บทเรียนครั้งยิ่งใหญ่ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ซึ่งไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาเยียวยา ผู้ประกอบการต้องแบกรับความเดือดร้อนในครั้งนั้นด้วยตัวเอง
ตอนนี้มีหลายปัจจัยที่ทำให้ลูกค้าจีนเริ่มไปซื้อขายกับประเทศอื่น ทั้งค่าเงินบาทที่แข็งตัวขึ้นทุกวัน ถ้าให้ลูกค้าเพิ่มต้นทุนการขนส่งเข้าไปอีกเนื่องจากเปลี่ยนด่าน ไปทางเส้น R9 มุกดาหาร เพิ่มไปอีกตู้ละ 20,000-30,000 ลูกค้าอาจจะเปลี่ยนเส้นทางขนส่ง ไปทางเรือ หรืออาจจะเลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่นแทน การนี้จะส่งผลกระทบให้กับผู้ประกอบการขนส่งทางบกเส้นนี้แน่นอน เพราะลูกค้าต้องคำนวนต้นทุนของเค้าเหมือนกัน
นายสมนามกล่าวว่า ผู้ประกอบการขนส่งทางบกที่ใช้ทางออกเส้นR12 ช่วงผลไม้ออกเยอะๆวันละ 200-300 ตู้ ถ้าต้องย้ายฐานกลับไปที่มุกดาหาร นครพนมก้อจะไม่ต่างจากเมืองร้าง กระทบไปถึง ร้านอาหาร ตลาดสด ตลาดนัด โรงแรม สายการบินร้านค้าข้างทาง ห้างสรรสินค้า ปั้มน้ำมัน ร้านยาง โชว์รูมเซอร์วิสรถหัวลาก และอื่นๆอีกมากมาย รวมทั้งราคาที่ดินต้องร่วงระนาว เพราะนักธุรกิจที่มาลงทุนนครพนมส่วนใหญ่ทั้งรายเล็กและรายใหญ่จะเป็น ผู้ประกอบการส่งออกและโลจิสติกส์ และปริมาณคนขับรถที่จับจ่ายในพื้นที่จังหวัดนครพนมมีจำนวนมาก
ทั้งหน่วยงานพาณิชย์จังหวัด ด่านตรวจพืช ด่านศุลกากร สรรพากร ประกันสังคม จะต้องเงียบเหงา เพราะจะมีคนมาใช้บริการน้อยลง
ประธานหอการค้าจังหวัดนครพนม กล่าวเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยหาหางทางออกและเร่งแก้ใข ต้นเหตุของค่ำสั่งดังกล่าวโดยเร่งด่วน เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบความเดือดร้อนและเสียหายเป็นวงกว้าง ซึ่งได้เสนอแนวทางแก้ปัญหาและเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งนำไปเจรจาและหาทางออกดังนี้
1.รัฐบาลต้องเร่งเจรจาหาทางออกให้กับทุกเส้นทางไม่ว่าจะเป็น สะพานมิตรภาพไทย-ลาว 3 นครพนม-คำม่วน (R8-12) สะพานมิตรภาพไทยลาว 4 เชียงของ-ห้วยทราย (R3A) สะพานมิตรภาพไทย-ลาว 5 บึงกาฬ-ปากซัน(R8) ควรจะเข้ากรอบความร่วมมือ GMS ทั้งหมดเพื่อใช้พิธีสารเดียวกัน ตรวจพืชมาตรฐานเดียวกัน จะเกิดประโยชน์กับทุกเส้นทางและทุกๆประเทศ
2.รัฐบาลควรจะขยายเวลาการงดออกใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับสินค้าผลไม้ส่งออกไป จีน ทางบกของด่านตรวจพืชนครพนมออกไปอีก เพื่อมีการเตรียมพร้อมทั้ง 2 สะพานให้มากกว่านี้
3.พิธีสารและกรอบความร่วมมือ GMS มีขึ้นตั้งแต่ปี 52 ตั้งแต่ยังไม่มี สะพาน 3-4-5 ปัจจุบันจะเข้าปี 2563 แล้วควรที่จะปรับกรอบให้เหมาะสมกับปัจจุบัน
ทั้งนี้ทางหอการค้าจังหวัดนครพนม จะได้ติดตามและประสานกับหน่วยงานภาครัฐให้แก้ปัญหาดังกล่าว ก่อนที่จะรุกลามกับผู้ส่งออก ซึ่งจะต้องประสบปัญหาความเดือดร้อนในขณะนี้ จึงต้องจับตามการแก้ปัญหาของกระทรวงเกษตรฯและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หายังปล่อยให้ปัญหาล่าช้าเกิดขึ้นจะต้องมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องไปยังรัฐบาลอีกครั้ง