ศูนย์ข่าวศรีราชา - ท่าเรือแหลมฉบังพร้อมเดินเคียงคู่ชาวบ้าน ร่วมถกปัญหาเพื่อหาทางออกและร่วมแก้ไขปัญหาไปด้วยกัน
วันนี้ (23 ธ.ค.) นายสนธิ คชวัฒน์ ประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาชุมชนและสังคมรอบท่าเรือแหลมฉบัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการ ตัวแทนอำเภอบางละมุง ตัวแทนอำเภอศรีราชา และเจ้าหน้าที่เทศบาลนครแหลมฉบัง ณ ห้องประชุม 1 อาคารบริหารท่าเรือแหลมฉบัง
นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย และประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาชุมชนและสังคมรอบท่าเรือแหลมฉบัง กล่าวว่า ในการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาชุมชนและสังคมรอบท่าเรือแหลมฉบัง ครั้งที่ 4/2562 ณ ห้องประชุม 1 อาคารบริหารท่าเรือแหลมฉบัง โดยมีผู้แทนชุมชน 39 ชุมชน 3 เทศบาล ได้แก่ เทศบาลแหลมฉบัง เทศบาลบางละมุง และเทศบาลตะเคียนเตี้ย จังหวัดชลบุรี เข้าร่วมประชุม ได้มีข้อสรุปในการหารือร่วมกันกรณีปัญหาลานจอดรถหัวลาก ซึ่งที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน จึงได้มีการร้องขอให้ทางจังหวัดช่วยดำเนินการแก้ไข
ล่าสุด ทราบว่าทางกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศให้ลานจอดรถหัวลากและลานตู้คอนเทนเนอร์เป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพที่ต้องขออนุญาตต่อท้องถิ่นทุกปี และต้องปฏิบัติตามข้อแนะนำตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุขพ.ศ.2535 ซึ่งเทศบาลแหลมฉบัง กำลังดำเนินการประกาศเป็นเทศบัญญัติให้ต้องปฏิบัติตาม ดังนั้น ลานจอดรถหัวลากและลานตู้คอนเทนเนอร์ในพื้นที่ประมาณเกือบ 200 แห่ง ในอนาคตต้องมีมาตรการป้องและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม เช่น การตรวจวัดฝุ่นละออง การตรวจวัดเสียงดังรบกวน การตรวจวัดความสั่นสะเทือน การตรวจวัดคุณภาพน้ำทิ้งจากการล้างตู้และต้องดาดปูนซีเมนต์ทั้งพื้นที่ รวมทั้งการขออนุญาตตั้งใหม่ต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของท้องถิ่นต่อไป
นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังได้พูดถึงระเบียบและกฎเกณฑ์ โครงการมอบโอกาสทางการศึกษาพัฒนาคนดีลูกน้ำเค็ม โดยจะมีการคัดเลือกนักเรียนจากชุมชนต่างๆ รอบท่าเรือแหลมฉบัง ทั้ง 39 ชุมชนๆ ละ 5 คน ทุนละ 5,000 บาท โดยเป็นเด็กที่เรียนดี นิสัยดี แต่ฐานะค่อนข้างยากจน
สำหรับการมอบทุนดังกล่าว ที่ผ่านมา แต่ละชุมชนมีการเสนอชื่อเข้ามารับทุนแล้ว ซึ่งในปีต่อมาเด็กคนดังกล่าวจะไม่สามารถเสนอชื่อเข้ามารับทุนได้อีก แต่สำหรับในปีการศึกษาที่จะถึงนี้ ในที่ประชุมมีมติสามารถเสนอชื่อคนเดิมเข้ามาได้ทุก 2 ปี และในแต่ละปีจะมอบทุนรวมทั้งสิ้นเกือบ 1 ล้านบาท
ส่วนโครงการทุนการศึกษาอย่างยั่งยืนสำหรับเยาวชนในชุมชนรอบท่าเรือแหลมฉบังนั้น จะมอบให้แก่เยาวชนที่ได้รับการคัดเลือกจากชุมชนต่างๆ 39 ชุมชน โดยจะต้องเป็นเด็กดี ฐานะยากจน และต้องมีเกรดเฉลี่ย 2.70 ซึ่งจะเรียนในมหาวิทยาลัยของรัฐหรือเอกชนก็ได้ ตามค่าเทอมที่จ่ายจริง และสามารถรับทุนจนจบระดับชั้นปริญญาตรี หากยังรักษาเกรดเฉลี่ยได้ตามที่กำหนดไว้
ด้าน นางสิริมา กีรตยาคม ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานสนับสนุน ท่าเรือแหลมฉบัง กล่าวว่า นอกโครงการมอบทุนการศึกษาพัฒนาคนดีลูกน้ำเค็ม และ โครงการทุนการศึกษาอย่างยั่งยืนแล้ว ท่าเรือแหลมฉบังยังได้จัดโครงการพัฒนาชุมชนและสังคมรอบท่าเรือแหลมฉบังโดยมีโครงการสนับสนุนโครงการพัฒนาภาษาอังกฤษสำหรับเยาวชนโดยรอบพื้นที่ สนับสนุนโครงการอาหารกลางวันโรงเรียนผู้สูงอายุชุมชนบ้านไร่หนึ่ง สนับสนุนการแข่งขันฟุตบอลยูธคัพแหลมฉบัง ซึ่งชุมชนโดยรอบท่าเรือแหลมฉบังได้ตอบรับเป็นอย่างดี พร้อมกับให้ความร่วมมือและทำงานร่วมกับการท่าเรือแหลมฉบังในการพัฒนาชุมชนต่างๆโดยให้เกิดความยั่งยืนต่อไป