จับตาแผนจัดตั้งตลาดทุน เป็นตลาดหุ้นเพื่อชุมชน หวังหนุนเอสเอ็มอีและ สตาร์ทอัพ เข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่านการขายหุ้น เพื่อระดมทุนต่อยอดธุรกิจ ขยายกิจการสู่ระดับมหาชน หากเกิดขึ้นได้ในปี 2563 คาดหนุนเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่งในระยะยาว
แม้เครื่องมือพัฒนาเศรษฐกิจประเทศจะติดขัด เพราะต้องเปิดพื้นที่ให้พรรคร่วมรัฐบาลเข้ามามีส่วนขับเคลื่อนในกระทรวงเศรษฐกิจต่าง ๆ จนเหลือแต่เครื่องมือชิ้นใหญ่เพียงกระทรวงการคลัง แต่ทีมเศรษฐกิจพรรคแกนนำรัฐบาลที่นำโดย “ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ก็ยังสามารถคิดกลยุทธ์กระตุ้นเศรษฐกิจที่น่าสนใจออกมาได้อย่างต่อเนื่อง หนึ่งในแผนเด็ด ๆ ครั้งนี้หนีไม่พ้น การผลักดันให้ธุรกิจเอสเอ็มอี และ สตาร์ทอัพ เข้าถึงแหล่งทุนด้วยการระดมทุนผ่านการขายหุ้น และเพื่อให้ไม่มีผลกระทบกับตลาดใหญ่อย่างตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จึงจำเป็นต้องสร้างตลาดใหม่ เป็นตลาดหุ้นเพื่อชุมชน โดยมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ไปศึกษาและจัดตั้งหลักเกณฑ์ดังกล่าวขึ้นมา
“อุตตม สาวนายน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แสดงความเห็นถึงเรื่องดังกล่าวในงานสัมมนาเศรษฐกิจฐานรากพลิกความเชื่อมั่นประเทศไทย ว่า ในช่วงต้นปี 2563 กระทรวงการคลังเตรียมเปิดตลาดทุนรูปแบบใหม่ โดยสร้างให้เป็นตลาดทุนสำหรับชาวบ้านที่ประกอบธุรกิจขนาดเล็ก หรือเป็นวิสาหกิจชุมชน หรือสตาร์ทอัพ ให้สามารถเข้ามาระดมทุนผ่านตลาดทุนดังกล่าวได้ในลักษณะเดียวกันกับการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือตลาดเอ็มเอไอ หากทำได้สำเร็จ เชื่อว่า จะเป็นช่องทางสำคัญให้กับบรรดาเอสเอ็มอีขนาดเล็กจริง ๆ มีช่องทางใหม่ในการหาแหล่งเงินทุนมาพัฒนาธุรกิจของตัวเองได้ดียิ่งขึ้น
โดยที่ผ่านมา กระทรวงการคลัง ได้ทำงานร่วมกับ ตลท. , ก.ล.ต. และสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ซึ่งในเบื้องต้น ทุกหน่วยงานพร้อมร่วมกันสนับสนุนการระดมทุนในรูปแบบดังกล่าวออกมาให้ได้ในช่วงปี 2563 ส่วนรายละเอียดหลักเกณฑ์ของการระดมทุน รวมทั้งการจดทะเบียน และเงื่อนไขการซื้อ ขายหน่วยลงทุนต่าง ๆ ทาง ตลท. ก.ล.ต. และสภาธุรกิจตลาดทุนไทยจะไปจัดทำรูปแบบที่เหมาะสมมาเสนออีกครั้งโดยเน้นว่า ต้องให้ผู้ประกอบธุรกิจที่อยู่ในเศรษฐกิจฐานรากต้องได้รับประโยชน์มากที่สุด
"รูปแบบที่ออกมาจะเป็นการลงทุนอีกกระดาน แยกออกมาจากการซื้อขายหลักทรัพย์ใน ตลท. หรือตลาดเอ็มเอไอ โดยจะมีเฉพาะผู้ประกอบธุรกิจขนาดเล็กจริง ๆ หรือไมโครเอสเอ็มอี ธุรกิจชุมชน วิสาหกิจชุมชน สตาร์ทอัพ เข้ามาใช้ช่องทางนี้ระดมทุนได้ และถ้าหากธุรกิจเหล่านี้เข้ามาจดทะเบียนแล้ว เมื่อธุรกิจโตขึ้นก็สามารถไปจดทะเบียนในตลาดใหญ่ได้ โดยรูปแบบดังกล่าวในต่างประเทศก็ทำ อย่างเช่นในประเทศจีน ที่ภาครัฐเข้าไปช่วยส่งเสริมถึงหมู่บ้าน โดยหาทางสนับสนุนธุรกิจของชาวบ้านขึ้นมาจนสามารถพัฒนา และเข้ามาจดทะเบียนได้"
เหตุผลที่ภาครัฐหันมาเพิ่มน้ำหนักต่อตลาดทุนใหม่แห่งนี้ เพราะเชื่อว่าตลาดใหม่นี้จะสร้างขึ้นเพื่อผู้ประกอบการขนาดเล็ก โดยหลักเกณฑ์จะแตกต่างจากการลงทุนรูปแบบเดิม แต่มีลักษณะการลงทุนคล้ายกัน เรื่องนี้ถือเป็นความร่วมมือกันพัฒนาเศราฐกิจฐานราก เพราะหากดูธุรกิจรายเล็ก ๆ ของไทย ส่วนใหญ่มีศักยภาพที่เติบโตได้ เพียงแต่ต้องมีความร่วมมือลงไปช่วยสนับสนุน นอกจากการส่งเสริมเรื่องดังกล่าวแล้ว ตลท. ก.ล.ต. และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังได้เข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านด้วยการให้ความรู้ทางการเงิน และส่งเสริมให้เกิดสถาบันการเงินในชุมชนที่มีคุณภาพด้วย
“รื่นวดี สุวรรณมงคล” เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวถึงจุดเริ่มต้นในเรื่องดังกล่าวว่า ในเดือนมิถุนายน 2562 เป็นครั้งแรกที่ ก.ล.ต. ได้ริเริ่มมีแนวคิดที่จะพิจารณาทบทวนเกณฑ์การออกและเสนอขายหลักทรัพย์ของเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพในตลาดแรกและตลาดรอง เพื่อเพิ่มช่องทางให้ธุรกิจที่มีศักยภาพ มีโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนในตลาดทุนได้ และต่อมาในเดือนกันยายน ก็ได้ริเริ่มจัดตั้งคณะทำงาน SMEs Startup PE VC ซึ่งมีตลาดหลักทรัพย์ฯ และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาระบบนิเวศที่เกี่ยวข้อง ระบุปัญหาและอุปสรรค รวมทั้งกำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวร่วมกัน โดยคำนึงถึงความสมดุลของกฎเกณฑ์ ทั้งในฝั่งผู้ระดมทุนและผู้ลงทุนที่มีความสนใจลงทุนในกิจการในระดับดังกล่าว
“ก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุนไทยให้ความสำคัญในการส่งเสริมให้เอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพมีทางเลือกในการระดมทุนผ่านตลาดทุน โดยการออกหุ้นหรือตราสารหนี้ได้ตามความเหมาะสมของภาคธุรกิจ โดย ก.ล.ต. ได้เปิดให้สามารถระดมทุนผ่านคราวด์ฟันดิง (crowdfunding) ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์จากพัฒนาการด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อทำให้กระบวนการระดมทุนสำหรับเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพเป็นไปด้วยความง่าย สะดวก และรวดเร็ว”
โดย สามารถสรุปการดำเนินการของ ก.ล.ต. ได้ดังนี้ 1. การระดมทุนในตลาดแรก : ในเดือนสิงหาคม 2562 ก.ล.ต. ได้เสนอคณะกรรมการ ก.ล.ต. พิจารณาเปิดช่องทางให้บริษัทจำกัดสามารถระดมทุนในตลาดแรกผ่านการเสนอขายหุ้นและหุ้นกู้แปลงสภาพต่อผู้ลงทุนและพนักงานโดยตรงได้เป็นครั้งแรก ทั้งนี้ ไม่เกิน 10 ราย 20 ล้านบาท เพื่อช่วยให้เอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพสามารถระดมทุนได้สะดวกมากขึ้นและจูงใจพนักงานที่มีศักยภาพให้เข้ามาร่วมงานกับเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ และปัจจุบันอยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ดังกล่าวจนถึงวันที่ 25 ธันวาคม 2562 ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถออกหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้ภายในต้นปี 2563
2. ในการซื้อขายผ่านตลาดรอง : ก.ล.ต. ได้มีการหารือกับตลาดหลักทรัพย์ฯ เกี่ยวกับแนวทางในการวางหลักเกณฑ์การซื้อขายหุ้นของเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพในตลาดรองมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายเปิดให้ผู้ลงทุนในตลาดรองสามารถลงทุนและซื้อขายเปลี่ยนมือหุ้นของเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพได้ โดยต้องเป็นผู้ลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจในธุรกิจเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ ซึ่ง ก.ล.ต. ได้หารือคณะทำงาน SMEs Startup PE VC เกี่ยวกับเกณฑ์การรับหลักทรัพย์ เพื่อนำมาใช้กำหนดหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องต่อไป
3. การปรับปรุงกฎเกณฑ์ให้มีความเหมาะสม : เพื่อมิให้เอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพมีต้นทุนในการระดมทุนที่สูงจนเกินไป ก.ล.ต. มีแนวคิดที่จะส่งเสริมให้เอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีโดยจัดทำรายงานทางการเงินโดยใช้แอปพลิเคชัน รวมทั้งจะพิจารณาความเหมาะสมในการเปิดให้จัดส่งงบการเงินเฉพาะงบครึ่งปีและงบปี (จะยกเว้นการจัดส่งงบไตรมาส 1 และไตรมาส 3) และไม่กำหนดคุณสมบัติ CFO และไม่บังคับให้ใช้ผู้สอบบัญชีที่อยู่ในรายชื่อที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. ได้ หากปฏิบัติงานในสำนักงานสอบบัญชีที่ ก.ล.ต. ให้ความเห็นชอบ
ส่วนข้อสรุปจากการประชุมคณะทำงาน SMEs Startup PE VC เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. พบว่า 1. เอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพต้องเป็นบริษัทจำกัดและบริษัทมหาชนจำกัดที่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี และมีกรรมการและผู้บริหารที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด
2. ต้องเปิดเผยข้อมูลตามที่ก.ล.ต. กำหนดและต้องจัดส่งงบการเงินครึ่งปีและงบปีที่สอบทานโดยผู้สอบบัญชีที่สังกัดสำนักบัญชีที่ผ่านการตรวจคุณภาพจาก ก.ล.ต.
3. ในส่วนประเภทของผู้ลงทุนที่สามารถซื้อขายในตลาดรองได้ต้องเป็น 3.1 ผู้ลงทุนสถาบัน กิจการเงินร่วมลงทุน (PE) นิติบุคคลร่วมลงทุน (VC) ผู้ลงทุนที่มีลักษณะเฉพาะ (Angel Investor) 3.2 ผู้ลงทุนทั่วไปที่มีความรู้ความเข้าใจธุรกิจเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพซึ่งมีรายได้หรือฐานะทางการเงินตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยจะต้องซื้อหุ้นดังกล่าวผ่านตัวกลางซึ่งทำหน้าที่รู้จักลูกค้าและแนะนำการลงทุนที่เหมาะสม (KYC และ Suitability) เพื่อยังคงหลักการคุ้มครองผู้ลงทุน
4. จะเปิดให้มีการจัดตั้งกองทุนที่ลงทุนในหุ้นของเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพซึ่งบริหารจัดการโดย ผู้จัดการกองทุน ที่มีความเชี่ยวชาญในการลงทุนในเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพโดยกองทุนดังกล่าวอาจจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนทั่วไปสามารถลงทุนได้
"การทำงานของคณะทำงาน SME Startup PE VC นี้ สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลด้านการขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ตลอดจนแผนยุทธศาสตร์ของ ก.ล.ต. โดยบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ซึ่งความเห็นของคณะทำงานชุดนี้ ในเรื่องแนวทางการระดมทุนและการซื้อขายเปลี่ยนมือหุ้นของเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพในตลาดรอง รวมถึงคุณสมบัติของผู้ลงทุนที่สามารถลงทุนในตลาดรอง จะเป็นข้อมูลสำคัญที่ก.ล.ต. จะนำมาใช้ประกอบการพิจารณาออกหลักเกณฑ์เพื่อช่วยเพิ่มทางเลือกให้เอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในตลาดทุนได้ และคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเรื่องดังกล่าวภายในไตรมาสแรกของปี 2563" นางสาวรื่นวดีกล่าว