xs
xsm
sm
md
lg

ลุ้นปี 63 SME Startup เห็นผลชัดเจน?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



SME Startup ที่ผ่านมาการลงทุน มีเพียงภาคเอกชนดำเนินการเองเท่านั้น ยังขาดแรงและนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ หวังดันตลาดหุ้นสำหรับเอสเอ็มอี และสตาร์ทอัพเกิดและการเข้าระดมทุนของธุรกิจเอสเอ็มอีต้องเป็นการระดมทุนที่มีเงื่อนไขเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ลงทุน หากสำเร็จจะส่งผลดีแก่เศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว

คณะทำงาน SME Startup PE VC ประกอบด้วยตัวแทนจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย สมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน ชมรมวาณิชธนกิจ สภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์ และสภาธุรกิจตลาดทุนไทย และในการประชุมครั้งนี้ ก.ล.ต. ยังได้เชิญผู้แทน จากสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เข้ามาร่วมเป็นคณะทำงานด้วย


“แมนพงศ์ เสนาณรงค์” รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์ฯ กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า ตลท.อยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดรูปแบบ การซื้อขาย ว่าจะออกมาเป็นลักษณะใด หลังจากนั้น จะมีการนำเสนอต่อสำนักงานก.ล.ต.ต่อไป โดยการระดมทุนผ่านกระดานหุ้นใหม่ เบื้องต้นจะไม่เหมือนกับการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์( SET) และ ตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) เนื่องจากมีเกณฑ์การเข้าจดทะเบียนที่ต้องมีกำไรสุทธิ มีทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ ขณะที่รูปแบบการซื้อขายต่างกัน รวมถึงผู้ที่จะเข้ามาลงทุนนั้น จะมีการจำกัด กลุ่มนักลงทุน เพราะเป็นบริษัทขนาดเล็ก และมีความเสี่ยงในการลงทุน เช่น นักลงทุนสถาบัน เข้ามาลงทุน จากที่เป็นผู้มีความรู้ ความเข้าใจและ สามารถบริหารความเสี่ยง โดยการเปิดให้กองทุนมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อมาลงทุนใน SME โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนรายละเอียดได้ภายในปีหน้า


“จอมขวัญ คงสกุล” ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต. แสดงความเห็นเพิ่มเติมต่อเรื่องนี้ว่า คณะทำงานเสริมสร้างวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม วิสาหกิจเริ่มต้นกิจการเงินร่วมลงทุน นิติบุคคลร่วมลงทุนสู่ตลาดทุนไทย หรือ คณะทำงาน SMEs Startup PE VC ได้หารือเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การจัดตั้งตลาดรองในการซื้อขายหลักทรัพย์ของเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถซื้อขายเปลี่ยนมือและช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับตลาด โดยคอนเซ็ปต์หลักคือการสร้างตลาดรองเพื่อให้เกิดการซื้อขายเปลี่ยนมือหลักทรัพย์ของกลุ่มเอสเอ็มอีได้ หรือมีทางออกให้ผู้ลงทุน รูปแบบอาจจะไม่ถึงขั้นทำเป็นกระดานแลกเปลี่ยน (Exchange) อาจออกมาในรูปแบบตลาดซื้อขายโดยตรง (OTC Bulletin Board) และจะต้องมีการกำหนดเกณฑ์ทั้งในส่วนของบริษัทและผู้ลงทุนที่จะเข้ามาซื้อขายกันในตลาดได้


ทั้งนี้ แม้ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีการจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ขึ้นมารองรับการระดมทุนของธุรกิจรายที่เล็ก แต่หลักเกณฑ์ของทุนจดทะเบียนเพื่อเข้าระดมทุนในตลาด mai ตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไปถือว่าใหญ่เกินไปสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ภาครัฐจึงอยากจัดตั้งตลาดรองเพื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ อย่างไรก็ตาม การเข้าระดมทุนของธุรกิจเอสเอ็มอีจะต้องเป็นการระดมทุนที่มีเงื่อนไขเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ลงทุน


สำหรับ แนวทางการดึงดูงให้ผู้ลงทุนสถาบันเข้ามาลงทุนนั้น เนื่องจากข้อจำกัดของหุ้นเอสเอสเอ็มอีคือสภาพคล่อง จึงมีแนวคิดให้จัดตั้งเป็นกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) เพื่อให้สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือในตลาดได้ส่วนการหารือครั้งนี้จะพิจารณาแก้ไขหลักเกณฑ์คราวด์ฟันดิง (crowdfunding) เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่าการระดมทุนผ่านแพลตฟอร์มดังกล่าวยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะมีสาเหตุมาจากกฎเกณฑ์การกำกับดูแลที่ให้ระดมทุนแบบ “All or Nothing” (ถ้าไม่ได้ทั้งหมด ก็ไม่ได้อะไรเลย) เช่น หากบริษัทกำหนดเป้าระดมทุนที่ 10 ล้านบาท เมื่อสิ้นสุดเวลาการเปิดให้ระดมทุนแล้วได้เงินทุนมาเพียง 5 ล้านบาท จะต้องคืนเงินทุนให้แก่ผู้ลงทุนทั้งหมด


ทั้งนี้ ผู้ให้บริการเสนอขายหุ้นคราวด์ฟันดิง (Equity Crowdfunding Portal) ที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. ได้แก่ บริษัท ไลฟ์ฟินคอร์ป จำกัด (ผู้ให้บริการ LiVE แพลตฟอร์ม) และบริษัท ฟีนิกซิคท์ จำกัด (ผู้ให้บริการสินวัฒนา คราวด์ฟันดิง แพลตฟอร์ม)จากการจัดตั้งตลาดระดมทุนดังกล่าว หลายฝ่ายเชื่อว่าหากจัดตั้งสำเร็จจะส่งผลดีแก่เศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว เพราะที่ผ่านมาการลงทุนในลักษณะนี้จะมีเพียงภาคเอกชนดำเนินการเองเท่านั้น จึงยังขาดแรงและนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ แต่ตลาดหุ้นสำหรับเอสเอ็มอี และสตาร์ทอัพจะเกิดขึ้นได้ หรือสำเร็จผลดังที่หลายต่อหลายคนคาดหวังหรือไม่ คงต้องรอลุ้นกันในปี 2563


กำลังโหลดความคิดเห็น