xs
xsm
sm
md
lg

คอลัมน์นอกหน้าต่าง : ธุรกิจแดนมังกรไม่สนข้อตกลงการค้าเฟส 1 เดินหน้าปลดแอกเศรษฐกิจเลิกพึ่งอเมริกา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แม้ที่สุดแล้วจีน-อเมริกาสามารถบรรลุข้อตกลงเฟส 1 แต่ไม่ได้หมายความว่าสงครามการค้ากำลังจะถึงจุดจบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากนิสัยส่วนตัวของทรัมป์ที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ ดังนั้น ทางเลือกที่ดีที่สุดของจีนคือ การพยายามต่อไปเพื่อยุติการพึ่งพิงอเมริกาที่แม้เป็นหนึ่งในหุ้นส่วนเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด แต่ก็เป็นศัตรูร้ายกาจที่สุดเช่นเดียวกัน

หลังจากประลองกำลังกันด้วยภาษีศุลกากรสลับกับการพยายามเจรจาแก้ไขข้อพิพาทกันมาเกือบสองปี อยู่ๆ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (13) อเมริกาตกลงยกเลิกแผนการขึ้นภาษีศุลกากรสินค้าจีนมูลค่า 160,000 ล้านดอลลาร์ที่เดิมเตรียมบังคับใช้ในวันอาทิตย์ (15) รวมทั้งลดขนาดการรีดภาษีอื่นๆ ก่อนหน้านี้โดยมีผลทันที ขณะที่จีนตกลงซื้อสินค้าและบริการของอเมริกาเพิ่มอีก 200,000 ล้านดอลลาร์ภายใน 2 ปี

สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ คาดว่า สองฝ่ายจะร่วมลงนามข้อตกลง “เฟส 1” ในสัปดาห์แรกของปีหน้า พร้อมออกเอกสารข้อเท็จจริงเน้นย้ำประเด็นสำคัญ อาทิ ข้อกำหนดเพื่อบังคับใช้ข้อตกลง และการยกระดับการปกป้องเทคโนโลยีของอเมริกา

ด้านประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทวีตว่า ปักกิ่งตกลงเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหลายอย่าง รวมทั้งสั่งซื้อสินค้าเกษตร พลังงาน และอุตสาหกรรมของอเมริกาเพิ่มจำนวนมาก

อย่างไรก็ดี ผู้นำสหรัฐฯ ยอมรับว่า ข้อตกลงล่าสุดแตะต้องมาตรการปฏิรูปสำคัญน้อยมาก ดังนั้น คณะเจรจาทั้งสองฝ่ายจะลุยหารือข้อตกลง “เฟส 2” ต่อทันที

นักเศรษฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญทางการค้าหลายคนในอเมริกามองว่า ศึกยกนี้ชัยชนะเป็นของปักกิ่ง เพราะจีนไม่ได้ตกลงยกเลิกหรือลดภาษีศุลกากรที่เรียกเก็บจากสินค้าอเมริกันเลย และการยินยอมที่จำกัดแบบนี้ทำให้ปักกิ่งยังสามารถคงระบบเศรษฐกิจลัทธิพาณิชย์นิยม รวมทั้งนโยบายอุตสาหกรรมแบบเลือกปฏิบัติต่อไปโดยที่ประเทศคู่ค้าและระบบเศรษฐกิจโลกเป็นฝ่ายสูญเสีย

สำหรับผู้สังเกตการณ์ในจีนชี้ว่า ข้อตกลงเฟส 1 ที่ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดที่เรื้อรังมานาน 18 เดือนถือเป็นข่าวดีสำหรับจีนที่กำลังขวนขวายฟื้นเสถียรภาพเศรษฐกิจ และยังเป็นข่าวดีสำหรับทรัมป์เพราะอาจเป็นโอกาสในการดึงดูดเสียงสนับสนุนจากเกษตรกรรองรับการเลือกตั้งปลายปีหน้าเพื่อให้ได้อยู่ในทำเนียบขาวต่ออีกสมัย

แต่สำหรับภาพรวมในระยะยาวนั้น สองมหาอำนาจโลกจะยังคงเผชิญหน้ากันต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากข้อเท็จจริงว่า ทรัมป์เป็นคนเอาแน่เอานอนไม่ได้อย่างมาก

จีนเองอ่านเกมนี้ขาดมาตั้งแต่แรก จึงเริ่มต้นความพยายามตัดขาดการพึ่งพิงอเมริกานับจากเมื่อกว่าปีครึ่งที่ผ่านมาที่การเจรจาการค้าพายวนในอ่าง และอเมริกาทั้งรีดภาษีและคว่ำบาตรบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำแดนมังกร

นับจากนั้นเป็นต้นมา บริษัทจีนลุกขึ้นมาสร้างกำแพงป้องกันตัวเองจากคลื่นการเมืองและการรีดภาษีในอนาคตด้วยการมองหาตลาดใหม่ๆ ประยุกต์ห่วงโซ่อุปทาน และหันมาซื้อชิ้นส่วนจากซัปพลายเออร์ท้องถิ่น

เดือนพฤษภาคมประธานาธิบดีสี จิ้นผิงประกาศมาตรการ “พึ่งพิงตนเอง” ในเทคโนโลยีสำคัญ พร้อมเตือนเกี่ยวกับ “การเดินทัพทางไกล” เพื่อต่อสู้กับผู้ท้าทายต่างแดน ซึ่งอ้างอิงถึงการถอยทัพครั้งใหญ่ของกองทัพแดงแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน ระหว่างปี 1934-1936 โดยการนำของเหมา เจ๋อตง และโจว เอินไหล ที่กำลังต่อสู้กับกองทัพรัฐบาลจีน พรรคก๊กมินตั๋ง ซึ่งนำโดยเจียง ไคเช็ก

เหลียง ผู้จัดการเว่ยไป๋ อินดัสเทรียล ผู้ผลิตแท็บเล็ตในเซินเจิ้น ฮับไฮเทคทางใต้ของจีน บอกว่า บริษัทแตกห่วงโซ่อุปทานเพื่อลดการพึ่งพิงชิ้นส่วนของอเมริกา และมองหาซัปพลายเออร์จีนมาจัดหาเซมิคอนดักเตอร์ให้แทน

เช่นเดียวกับลู่ ผู้บริหารฝ่ายขายของบริษัทส่งออกสิ่งทอ เจ้อเจียง ซวงเอิน ที่บอกว่า หลังจากการจัดส่งไปอเมริกาลดลงเกือบครึ่งในปีนี้ บริษัทจึงเปลี่ยนเป้าหมายไปที่แบรนด์แฟชั่นยุโรปและแอฟริกาแทน

แซมม์ แซคส์ นักวิชาการด้านเศรษฐกิจดิจิตอลจีนของกลุ่มคลังสมอง นิว อเมริกา กล่าวว่า สงครามการค้าเป็นเชื้อเพลิงอย่างดีสำหรับแผนการสูงส่งของรัฐบาลจีนในการทำซ้ำความสำเร็จก่อนหน้านี้ของอุตสาหกรรมภายในที่มาจากการเรียนรู้จากโลกภายนอก

เยิร์ก วุตต์เกอ ประธานสมาคมหอการค้าสหภาพยุโรป (อียู) ในจีน มองว่า วอชิงตันและปักกิ่งอยู่ในกระบวนการ “ตัดขาดจากกัน” เนื่องจากฝ่ายจีนนั้นตระหนักว่า ไม่สามารถพึ่งพิงซัปพลายเออร์ต่างชาติบางราย ส่วนอเมริกาตัดสินใจเด็ดขาดที่จะกำราบอิทธิพลของจีนในทุกด้าน รวมทั้งตัดสินใจระงับการขายเทคโนโลยีที่มองว่า เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มอุตสาหกรรมทางทหารของจีน

อิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีคือสองอุตสาหกรรมแถวหน้าของจีนที่พยายามผลักดันประเทศให้สามารถยืนด้วยลำแข้งตัวเอง

เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา หัวเว่ย เทคโนโลยีส์ ยักษ์ใหญ่ไฮเทคแดนมังกร เปิดตัวระบบปฏิบัติการของตัวเองในชื่อ ฮาร์โมนี โอเอส รองรับความเสี่ยงที่บริษัทอาจสูญเสียสิทธิ์ในการเข้าถึงระบบแอนดรอยด์ของกูเกิล ขณะที่ความสัมพันธ์อเมริกา-จีนปีนเกลียวอย่างหนัก

หัวเว่ยถูกดึงเข้าสู่สงครามการค้าในเดือนพฤษภาคมจากการถูกทรัมป์ขึ้นบัญชีดำโดยอ้างว่า สงสัยว่า อุปกรณ์ของหัวเว่ยอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสอดแนมของหน่วยงานข่าวกรองจีน ซึ่งหัวเว่ยปฏิเสธข้อกล่าวหานี้อย่างหนักแน่นมาโดยตลอด

อีกบริษัทหนึ่งคือ แซดทีอีที่เกือบต้องปิดกิจการ หลังจากวอชิงตันสั่งห้ามบริษัทอเมริกันขายชิ้นส่วนสำคัญให้ โทษฐานที่แซดทีอีฝ่าฝืนมติแซงก์ชันและค้าขายกับอิหร่านและเกาหลีเหนือ

แซคส์กล่าวว่า กรณีแซดทีอีถือเป็น “จุดพลิกผัน” สำหรับรัฐบาลจีน และทำให้ปักกิ่ง “สำเหนียกว่า หลายสิ่งจะเปลี่ยนไปอย่างไร ถ้าจีนตัดขาดจากซัปพลายเออร์ทั่วโลกสำเร็จ”

อย่างไรก็ดี ในเวลาต่อมา ทรัมป์อนุญาตให้แซดทีอีนำเข้าชิ้นส่วนของอเมริกาภายใต้เงื่อนไขเข้มงวด

ลาร์รี อ๋อง นักวิเคราะห์อาวุโสของบริษัทที่ปรึกษาความเสี่ยงทางการเมือง ชิโนอินไซเดอร์ ชี้ว่า ขณะนี้สงครามการค้ากลายเป็น “การต่อสู้ครั้งใหญ่ด้านอุดมคติ ระบบค่านิยม และความถูกต้องดีงาม”

สัปดาห์ที่แล้ว สำนักข่าวซินหวาของทางการจีนรายงานว่า บริษัทจีน 2 แห่งกำลังร่วมกันสร้างระบบปฏิบัติการ ซึ่งดูเหมือนเป็นความพยายามเพื่อท้าทายการครอบงำของระบบวินโดว์ของไมโครซอฟท์ ยักษ์ใหญ่ซอฟต์แวร์อเมริกา

ซินหวาอ้างอิงคำพูดของประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน (ซีเอฟโอ) คนหนึ่งที่บอกว่า มีความจำเป็นเร่งด่วนในการพัฒนาระบบปฏิบัติการที่มีระบบเทคนิคและระบบนิเวศที่เป็นหนึ่งเดียวของจีน

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า การตัดขาดจากอเมริกาที่เป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่สุดของโลก ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเทคโนโลยี

แซคส์ยกตัวอย่างว่า ถ้าแกะโทรศัพท์แซดทีอีหรือหัวเว่ยออกดูจะพบชิ้นส่วนจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก เท่ากับว่า โวหารชาตินิยมของจีนไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงนัก โดยเฉพาะสำหรับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่เรียงร้อยเกี่ยวพันกันอย่างแน่นหนาทั่วโลก

การผลักดันของจีนเพื่อลดการพึ่งพิงทางเศรษฐกิจต่ออเมริกายังเป็นหนึ่งในสัญญาณบ่งชี้ความตึงเครียดมากขึ้นระหว่างสองชาติที่บางคนเรียกว่า “สงครามเย็นครั้งใหม่”

แม็กซ์ เซนเกลน หัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจของเมอริกส์ เตือนว่า จีนและอเมริกากำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการตัดขาดจากกัน และทิ้งท้ายว่า การเจรจาการค้าปัจจุบันจะมีผลต่อความเร็วและขอบเขตของกระบวนการตัดขาดเท่านั้น แต่ไม่สามารถทำให้กระบวนการนี้ยุติลงได้
กำลังโหลดความคิดเห็น