แม้จีน-อเมริกาสามารถบรรลุข้อตกลงเฟส 1 หลังเจรจาเมื่อวันศุกร์ที่ 13 ธันวาคม ที่ผ่านมา พักสมรภูมิการค้าได้ แต่สมรภูมิระงับไม่ใช่ยุติของสงคราม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจาก แม่ทัพฝั่งอเมริกัน ทรัมป์ที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ ดังนั้น ในความเห็นของนักยุทธศาสตร์ทั้งหลายยังคงเชื่อว่า ทางเลือกที่ดีที่สุดของจีนคือ ยุติการพึ่งพิงอเมริกา ผู้เป็นทั้งหุ้นส่วนเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด และศัตรูร้ายกาจที่สุด
ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนกันยายนช่วงที่ยังไม่รู้ผลการเจรจาจะลงเอยอย่างไร เดวิด โรช ประธาน Independent Strategy เคยกล่าวว่าจีนจะเป็นผู้ชนะในสงครามการค้าระหว่างจีน - สหรัฐ
"จีนจะเป็นผู้ชนะในสงครามการค้าและเลิกใช้เทคโนโลยีของอเมริกาใน 7 ปี"
“จีนจะไม่เชื่อใจในสหรัฐอเมริกาอีก และจะบรรลุความเป็นอิสระด้านเทคโนโลยีภายในเจ็ดปี” เดวิด รอช กล่าวกับ Squawk Box ของ CNBC
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทวิตว่า ปักกิ่งตกลงเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหลายอย่าง รวมทั้งสั่งซื้อสินค้าเกษตร พลังงาน และอุตสาหกรรมของอเมริกาเพิ่มจำนวนมาก โดยจีนตกลงซื้อสินค้าและบริการของอเมริกาเพิ่มอีก 200,000 ล้านดอลลาร์ภายใน 2 ปี ส่วนอเมริกาตกลงยกเลิกแผนการขึ้นภาษีศุลกากรสินค้าจีนมูลค่า 160,000 ล้านดอลลาร์ รวมทั้งลดขนาดการรีดภาษีอื่นๆ
อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงหลายอย่างนั้นก็ไม่ต่างจากภาษิตจีนที่มีทำนองว่า "อาชา ทะยานข้ามหุบผา ... แต่ไถนา ไม่อาจสู้โค ... ช้างใหญ่ บรรทุกหนักดี ... แต่ในลำน้ำมิอาจสู้ปลา"
"จีนยอมเป็นโค เมื่อต้องไถนา และพร้อมเป็นอาชาเพื่อทะยานข้ามโขดผา"
แต่ด้านหนึ่ง ผู้นำสหรัฐฯ เองก็ยอมรับว่า ข้อตกลงล่าสุดแตะต้องมาตรการปฏิรูปสำคัญน้อยมาก
ก่อนหน้าข่าวนี้ ในช่วงแห่งความขมึงตึงต่อกัน นักวิเคราะห์หลายฝ่าย (ที่ไม่ใช่สายเหยี่ยว) ต่างก็เคยประเมินและเตือนทรัมป์ ว่าแม้จะคิดเองว่าเขามีถุงมือทานอส แต่ในความเป็นจริงวอชิงตันมีความเสี่ยงมากกว่าปักกิ่ง
เดวิด โรช ประธาน Independent Strategy ผู้เป็นที่รู้จักกันดีในเรื่องการพูดตรงไปตรงมา แต่มุมมองของเขาได้รับการยกย่อง ในหมู่นักลงทุนทั่วโลก คาดการณ์ว่าสงครามการค้านี้คงไม่มีทางสิ้นสุด นั่นเป็นเพราะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนไม่ได้เกี่ยวกับการค้าเพียงอย่างเดียว
“มันเป็นความขัดแย้งระหว่างอำนาจระดับโลกที่เพิ่มสูงขึ้นและอำนาจโลกที่ลดลง ... มันไม่ได้เกี่ยวกับการค้า มันเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่จะนำโลก ดังนั้นมันจึงเป็นความขัดแย้งที่กว้างมากและมันก็ไม่ได้หายไปไหน” โรชกล่าว และเสริมความเห็นว่า
"ทรัมป์คิดว่าเขามีมือที่แข็งแกร่ง ในความเป็นจริงวอชิงตันมีความเสี่ยงมากกว่ากรุงปักกิ่ง และการออกตัวเป็นปฏิปักษ์กันในสงครามการค้าก็ได้มีผลกับทั้งสองฝ่ายแล้ว"
"จีนเองก็คงไม่เชื่อใจอเมริกาอีก หลังหัวเว่ยโดนหมายหัวอยู่ในบัญชีดำของสหรัฐอเมริกาเพื่อจำกัดบริษัทจากการซื้อชิปและซอฟต์แวร์ที่ผลิตในอเมริกา รวมทั้งสั่ง Alphabet ของ Google หยุดกิจกรรมทางธุรกิจทั้งหมดกับหัวเว่ย ซึ่งหมายถึงสมาร์ทโฟนหัวเว่ยในอนาคตอาจจะไม่สามารถใช้ระบบปฏิบัติการ Android ของ Google อีกต่อไป"
ก่อนหน้านี้ บริษัท เทคโนโลยีของจีนนั้นได้พึ่งพาในซัพพลายเออร์ อเมริกัน สำหรับเซมิคอนดักเตอร์ โมเด็มและเครื่องยนต์เจ็ท ฯลฯ จนทำให้อุตสาหกรรมอเมริกันเติบโตในช่วงซบเซา
แต่การดีดนิ้วถุงมือธานอสของทรัมป์ ด้านหนึ่งกลับส่งผลกับเครือข่ายมือถืออเมริกันซึ่งบางเครือข่ายใช้อุปกรณ์ หัวเว่ย ในขณะที่บริษัทอื่น ๆ ในสหรัฐอเมริการะบุว่า ผลประกอบการของพวกเขาจะได้รับผลกระทบจากบัญชีดำ ยังรวมถึงส่งอาจผลกระทบกับเสียงสนับสนุนจากเกษตรกรอเมริกันจำนวนมาก ในการเข้าทำเนียบขาวต่ออีกสมัย
ท่ามกลางความตึงเครียดดังกล่าว ทำให้จีนหันมาเอาจริงเพิ่มการพัฒนาในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของตนเอง ที่จากรายงานของศูนย์การศึกษายุทธศาสตร์และการศึกษานานาชาติในเดือนกุมภาพันธ์ ปัจจุบัน เซมิคอนดักเตอร์ที่ใช้ในประเทศจีน เป็นสัดส่วนการผลิตของจีนเพียง 16% และว่ากันว่าถ้าลองแกะ โทรศัพท์แซดทีอีหรือหัวเว่ยออกดู จะพบชิ้นส่วนจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก
กรณีแซดทีอี ที่ถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตรจนเกือบต้องปิดกิจการ ก็ถือเป็น “จุดพลิกผัน” สำหรับรัฐบาลจีน
นักวิเคราะห์มองว่า ภาพรวมในระยะยาวนั้น จีน-สหรัฐฯ ยังเผชิญหน้ากันต่อไป เพราะทรัมป์เป็นคนเอาแน่เอานอนไม่ได้
"เมื่อต้องเป็นโค ก็เป็นโค แต่เมื่อต้องลงน้ำก็จะเป็นปลา" จีนพร้อมจะทิ้งผืนนาแห่งความสิ้นหวัง ข้ามเขาไปทุ่งหญ้าเขียวขจี สงครามการค้าทำให้จีนบุกมองหาตลาดใหม่ๆ เปลี่ยนเป้าหมายไปที่ยุโรปและแอฟริกาแทน ปลดห่วงโซ่อุปทานเก่า ประยุกต์ห่วงโซ่อุปทานใหม่ และสนับสนุนซัปพลายเออร์ท้องถิ่น
ด้าน หัวเว่ยกำลังพัฒนาอุตสาหกรรมชิปของตัวเอง ภายใต้การริเริ่มของรัฐบาล Made in China ในปี 2025 ประเทศจีนตั้งเป้าหมายที่จะผลิตเซมิคอนดักเตอร์ 40% ภายในปี 2020 และ 70% ในปี 2025
“เดินทัพทางไกล เทคโนโลยีสีทองผ่องอำไพ”
เดือนพฤษภาคม ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงประกาศมาตรการ “พึ่งพิงตนเอง” ในเทคโนโลยีสำคัญ พร้อมเตือนเกี่ยวกับ “การเดินทัพทางไกล” อีกครั้ง
การเดินทัพครั้งนี้ คือเดิมพันทางอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีโลก ท้าทายการครอบงำของมหาอำนาจเดิม