วันนี้...คงต้องขออนุญาตแวะไปแถวๆ บริเวณพรมแดนเส้นกั้นเขตแดนระหว่างประเทศอินตะระเดียกับจีนเขาดูสักหน่อย เพราะเห็นข่าวแวบๆ ว่าเมื่อช่วงวันเสาร์ (9 พ.ค.) ที่ผ่านมา ทหารอินเดียประมาณ 1 กองร้อยที่ลาดตระเวนอยู่แถวๆ ชายแดนรัฐสิกขิมบริเวณพื้นที่ที่เรียกว่า “Naku La sector” ด้านที่ติดต่อกับเขตปกครองตนเองทิเบตของจีน เกิดอาการน็อตหลุม น็อตหลวม ด้วยเหตุผลกลใดก็มิอาจทราบได้ ลุกขึ้นมา “ใส่” กับทหารจีนชนิดเละกันไปข้าง คือทหารอินเดียบาดเจ็บไปประมาณ 11 ราย ทหารจีนบาดเจ็บไป 7 ราย ตาม “ข่าวล่า-มาเรือ” ที่สำนักข่าวต่างประเทศหลายสำนักรายงานไปในแนวเดียวกัน...
คือการปะทะระหว่างทหารจีนกับทหารอินตะระเดียนั้น...คงไม่ถือเป็นเรื่องแปลก หรือเรื่องใหม่แต่อย่างใด เพราะด้วยอาณาบริเวณพื้นที่พรมแดนซึ่งประชิดติดต่อกันด้วยความยาวถึง 2,400 ไมล์ โอกาสจะกระทบกระทั่ง ชนิดต้องลุกขึ้นมาใส่กันและกันย่อมถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา ที่มีมานานแล้วและโดยตลอด แต่หลังๆ นี้...การปะทะในลักษณะที่ว่า ดูจะชุกขึ้น ถี่ขึ้น อย่างเป็นพิเศษ อย่างเช่นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (7 พ.ค.) บริเวณชายแดนรัฐสิกขิมนี่แหละ เฮลิคอปเตอร์ของอินเดียโดนทหารจีนสอยร่วงไป 2 ลำ อีกทั้งความตึงเครียดตลอดแนวเทือกเขาหิมาลัยไปถึงแถวๆ แคว้นแคชเมียร์โน่นเลย ก็ดูจะเครียดขึ้นๆ ไปตามลำดับ...
และภายใต้ “ความเครียดทางทหาร” ที่ว่านี้...ดูจะถูกสอดแทรกไว้ด้วย “ความเครียดทางเศรษฐกิจ” ควบคู่ไปด้วย อันเนื่องจากภายในประเทศอินตะระเดียช่วงระหว่างนี้ หรือช่วงที่เชื้อไวรัส “COVID-19” ท่านออกอาละวาดกันไปทั่วทั้งโลก ออกจะเป็นอะไรที่ก่อให้เกิด “ผลข้างเคียง” หรือ “ผลกระทบทางเศรษฐกิจ” ต่ออินเดีย อย่างชนิดหนักหนาสาหัสเอามากๆ หรือถ้าว่ากันตามคำพูด คำนิยาม ของศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ชาวอินเดียแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก ที่อดีตเคยเป็นถึงผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) อย่าง “นายRaghuram Rajan” ถึงกับต้องใช้คำว่า “ถือเป็นภาวะวิกฤตที่ใหญ่ที่สุดนับจากประเทศอินเดียได้รับเอกราช” เอาเลยถึงขั้นนั้น เพราะถ้าว่ากันตามตัวเลข สถิติ ไม่ว่าสำนักไหนต่อสำนักไหน ต่างเห็นพ้องต้องกันไปในแนวเดียวกัน ว่าอินเดียคงหนีไม่พ้นต้องอ้วกแตก อ้วกแตนไปด้วยกันทั้งสิ้น ถึงขั้น “World Bank” หรือธนาคารโลก ต้องตัดสินใจปรับลดเครดิตเศรษฐกิจอินเดียลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 ทศวรรษ อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้เลย...
คือว่ากันว่า...การที่ต้อง “Lockdown” หรือต้องปิดบ้าน ปิดเมือง เพื่อสู้กับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส “COVID-19” ทำให้ความสูญเสียทางเศรษฐกิจของอินเดียในแต่ละวัน มีมูลค่าไม่ต่ำกว่าวันละ 4,500 ล้านดอลลาร์เป็นอย่างน้อย และเมื่อต้องล็อกยาวไปกว่าครึ่งเดือนหรือ 21 วัน สิ้นสุดเมื่อวันที่ 14 เมษายนที่ผ่านมา แต่สุดท้ายยังคงต้องล็อกต่อไปถึงวันที่ 3 พฤษภาคมความสูญเสียทางเศรษฐกิจของอินเดีย จึงหนักไปทาง...อีนี่แขกเจ๊งแล้วนะนายจ๋า!!! อะไรประมาณนั้น ตัวเลขคนว่างงานที่เคยอยู่ที่ประมาณ 6.7 เปอร์เซ็นต์เมื่อช่วงวันที่ 15 มีนาคมพุ่งขึ้นไปเป็น 21 เปอร์เซ็นต์ในช่วงวันที่ 19 เมษายน ปริมาณการว่างงานของชาวอินตะระเดียขณะนี้ ว่ากันว่า...ไม่น่าจะต่ำไปกว่า 140 ล้านคน บริษัทธุรกิจเกินกว่า 53 เปอร์เซ็นต์ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรม การบิน ต้องตัดค่าใช้จ่าย ต้องเลิกจากพนักงาน แม้แต่บริษัทธุรกิจยักษ์ใหญ่ หรือบริษัทหลักๆ ไม่ว่า “Larsen & Toubro” บริษัท “Bharat Forge” บริษัท “Ultra Tech Cement” บริษัท “Grasim Industries” บริษัท “Tata Motors” ฯลฯ ฯลฯ ต่างต้องลดขนาดโครงการ หรือระงับโครงการต่างๆ ลงไปชั่วคราว...
โดยถ้าคิดจะเยียวยาให้ทุกสิ่งทุกอย่างฟื้นกลับคืนมาสู่ความเป็นไปตามปกติ ไม่ว่าแบบใหม่ หรือแบบเก่า ก็แล้วแต่ ถ้าว่ากันตามความคิด ความเห็น ของอดีตผู้บริหารทีมที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของรัฐบาล หรือ “The Chief Economic Advisor to the Government” หรือ “CEA” อย่าง “นายKrishnamurthy Subramanian” รัฐบาลอินตะระเดียอาจต้องเตรียมเม็ดเงินเอาไว้ไม่น้อยกว่า “10 ล้านล้านดอลลาร์” เป็นอย่างน้อย ถึงจะทำให้เศรษฐกิจอินเดียกลับมาโตได้แบบโตโยต้าไปตามปกติ ซึ่งไม่ว่ารัฐบาลอินเดียจะเห็นควรด้วย หรือไม่เห็นควรด้วยก็แล้วแต่ แต่ด้วยแรงกดดันอันมหาศาลทางเศรษฐกิจเช่นนี้ เลยทำให้รัฐบาลอินเดียต้องออกมาป่าวประกาศ เมื่อช่วงวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา ว่าเพื่อปกป้องธุรกิจและเศรษฐกิจอินเดีย รัฐบาลจึงจำต้อง “ปรับเปลี่ยนนโยบายการลงทุนต่างประเทศ” ซะใหม่!!!
และอาจด้วยความพยายามปรับเปลี่ยนนโยบายที่ว่านี้...จึงได้นำมาซึ่งรายงานข่าวของสำนักข่าว “Bloomberg” เมื่อช่วงวันอาทิตย์ (10 พ.ค.) ที่ผ่านมา ว่าภายใต้ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างอเมริกากับจีนรอบใหม่นี่เอง ที่ทำให้รัฐบาลอินเดียได้เพียรพยายามดึงเอาบริษัทธุรกิจอเมริกันกว่า 1,000 ราย ให้ถอนตัวออกจาก “ห่วงโซ่อุปทาน” ในจีน หันมาสร้างโซ่ สร้างห่วง ขึ้นในอินตะระเดียกันแทนที่ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทประกอบชิ้นส่วนเครื่องมือแพทย์ ประกอบชิ้นส่วนยานยนต์ บริษัทอุตสาหกรรมอาหาร โรงงานทอผ้า ฯลฯ โดยยื่นข้อเสนออันสุดแสนจะงดงามตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอว่าด้วยการยกเลิกภาษี โดยเฉพาะการชะลอภาษีสินค้าดิจิทัล ที่รัฐบาลหลายต่อหลายประเทศพยายามดึงอ้อยออกจากปากช้าง หรือจากบริษัทธุรกิจยักษ์ใหญ่ดิจิทัลสัญชาติอเมริกันทั้งหลาย การยกเลิกหรือการปรับกฎหมายแรงงาน ไปจนถึงการเปิดช่องทางให้บรรดาบริษัทต่างชาติอเมริกัน สามารถเข้าถึงที่ดินในอินเดียได้อย่างเต็มเม็ด เต็มหน่วย ฯลฯ ฯลฯ...
หรือพูดง่ายๆ ก็คือ...อินเดียพยายามที่จะ “ย้ายห่วงโซ่อุปทาน” จากจีนมาสู่อินตะระเดียให้จงได้ อันเป็นสิ่งที่สอดคล้องต้องกันกับความพยายามเล่นงานจีนโดยคุณพ่ออเมริกา หรือสอดคล้องกับการประกาศ “สงครามการค้ารอบใหม่” ของอเมริกา ที่พยายามรวบรวมบรรดาประเทศพันธมิตรทั้งหลาย ให้เข้ามาเป็น “เครือข่ายความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ” หรือเป็น “Economic Prosperity Network” เพื่อหวังจะฉีกห่วงโซ่อุปทานในเมืองจีน ให้หลุดออกมาเป็นชิ้นๆ นั่นเอง อีกทั้งยังออกจะสอดคล้องกับนโยบายทางยุทธศาสตร์ของอเมริกายุค “ทรัมป์บ้า” ที่เรียกๆ กันว่า “ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก” (Indo-Pacific Strategy) ที่หวังจะอาศัยความหวาดระแวงแคลงใจของอินตะระเดียซึ่งมีต่อประเทศเพื่อนบ้านอย่างจีน มาใช้เป็นตัวปิดล้อมหรือเป็นตัวยุแยงตะแคงรั่วให้ต่างฝ่ายต่างลุกขึ้นมา ใส่กันไป-ใส่กันมาให้จงได้!!!
แม้ว่าก่อนหน้านั้น...รัฐบาลอินเดียของนายกรัฐมนตรี “นเรนทรา โมดี” แห่งพรรคชาตินิยมอินเดีย หรือพรรค “ภารติยะ ชนะตะ” ที่พยายามแสดงออกถึงความเป็นอิสระมาโดยตลอด แทบจะไม่ให้ค่าต่อ “ยุทธศาสตร์” ที่ว่านี้มากมายสักเท่าไหร่นัก หรือมองว่าเป็นแค่ “คำนิยามทางภูมิรัฐศาสตร์” ที่ไม่ได้มีความสำคัญในแง่ยุทธศาสตร์แต่อย่างใด โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ที่คิดจะใช้อินเดียเป็น “เครื่องมือ” ในการปิดล้อมจีน แต่มาถึงทุกวันนี้...ก็ชักจะไม่แน่ขึ้นมามั่งแล้ว โดยเฉพาะเมื่อความเป็นอิสระของอินเดีย ชักเริ่มไม่อิสระไปจากเรื่องเงินๆ-ทองๆ ได้อีกต่อไป การหาทางฟื้นเศรษฐกิจอินเดียให้หวนคืนกลับสู่ความเป็นปกติแบบเก่าๆ เดิมๆ หรือแบบที่โตแล้ว โตเล่า จนทำให้คะแนนนิยมทางการเมืองของพรรคภารติยะ ชนะตะ ยังคงไม่ออกอาการหัวตกอยู่จนทุกวันนี้ อาจหนีไม่พ้นต้องหันไปอาศัยการเมืองแบบเก่าๆ ยุทธศาสตร์แบบเก่าๆ คือหันไป “ทะเลาะกับเพื่อนบ้าน” ตามความปรารถนาและต้องการของบรรดาอดีตมหาอำนาจนักล่าอาณานิคมทั้งหลาย ที่หวังจะ “แบ่งแยกแล้วปกครอง” มาโดยตลอดนั่นเอง...