ผู้จัดการรายวัน360-"สมคิด"ดันไทยฮับการลงทุนใน CLMVT สั่งบีโอไอจัดแพกเกจหนุน โฟกัสเกษตรแปรรูป ดิจิทัล การแพทย์ หลังไทยโดดเด่น แย้มนักลงทุนญี่ปุ่นสนใจเข้ามาแล้ว พร้อมเร่งปั้นสตาร์ทอัประดับยูนิคอร์นด้านเกษตรและอาหาร ภายใน 5 ปี หวังช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ด้านบีโอไอชงเตรียมชงบอร์ด 17 มิ.ย.นี้ ปรับปรุงสิทธิประโยชน์การลงทุนในอุตสาหรรมเกษตรแปรูป และอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการมอบนโยบายให้กับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) วานนี้ (15 มิ.ย.) ว่า ได้มอบหมายให้บีโอไอเร่งศึกษาจัดทำแพกเกจ หรือมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มเติมให้สอดรับกับโควิด-19 เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) การลงทุนใน CLMVT โดยเฉพาะการเน้นเรื่องของอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร ดิจิทัล เครื่องมือแพทย์ ซึ่งไทยจะมีความโดดเด่นมากขึ้น และล่าสุดนักลงทุนญี่ปุ่นได้เข้าพบและระบุที่สนใจจะเข้ามาลงทุนด้านเกษตรแปรรูปในไทยมากขึ้น
"โควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจโลกไม่ดี เราคงต้องกลับมามองศักยภาพของเราเอง และใช้จุดแข็งให้ได้ อย่างอังกฤษมีฐานการผลิตที่ต่อมาถดถอย ก็ปรับไปสู่ศูนย์กลางการลงทุนด้านการบริหาร การเงิน การศึกษาในยุโรปได้ ไทยเองก็น่าจะมองลักษณะนี้เช่นกัน คือ เราไม่ได้ทิ้งของเก่า แต่อะไรที่เห็นว่าเป็นจุดแข็งต้องทำก็ต้องทำ ซึ่งก็คือ เกษตร เราเข็มแข็ง ต้องเน้นพิเศษเลย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ให้สิทธิประโยชน์ในกลุ่มสมาร์ทฟาร์มเมอร์ และเชื่อมกับเกษตรกรรายย่อยและท่องเที่ยวไปด้วย"นายสมคิดกล่าว
ทั้งนี้ ได้มอบให้บีโอไอไปศึกษาการส่งเสริมการลงทุนและตั้งเป้าหมายใน 5 ปี ให้มีผู้ประกอบการไทยที่เป็นกลุ่มสตาร์ทอัพและยกระดับไปสู่ธุรกิจที่มีรายได้มากกว่าระดับ 1,000 ล้านบาท (ยูนิคอร์น) โดยให้เน้นอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูป
สำหรับมาตรการดังกล่าว นับเป็นการเปลี่ยนแปลงทิศทางเชิงนโยบาย จากที่เคยมุ่งเน้นดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เข้ามาเพียงด้านเดียว แต่จากนี้ไป จะต้องมองการส่งเสริมการลงทุนและผลิตสินค้าในไทยให้มากขึ้นด้วย เพื่อให้สร้างมูลค่าเศรษฐกิจในประเทศ โดยให้พิจารณาเม็ดเงินในส่วนของกองทุนเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีวงเงิน 10,000 ล้านบาทมาสนับสนุนให้เกิดขึ้น
น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า บีโอไอยังคงยึดนโยบายหลัก คือ การดึงลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมาย แต่จะเพิ่มนโยบายการผลักดันไทยสู่ศูนย์กลาง CLMVT โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปที่จะมีการปรับปรุงเพิ่มประเภทกิจการ เช่น Plant Factory และเงื่อนไขส่งเสริมด้านสิทธิประโยชน์บางกิจการเพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้นักลงทุน โดยเฉพาะญี่ปุ่นสนใจเข้ามามาก รวมถึงการปรับปรุงการส่งเสริมอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ซึ่งจะเสนอเข้าสู่การประชุมคณะกรรมการนโยบายส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานวันที่ 17 มิ.ย.นี้
"ยังได้หารือเรื่องอุตสาหกรรมดิจิทัลว่าจะมีอะไรอย่างไรบ้าง แต่ยังไม่จบ คงเข้าไม่ทันบอร์ดครั้งนี้ ส่วนอุปกรณ์การแพทย์ มีผู้ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนอย่างมาก โดยเฉพาะหน้ากากอนามัย ก็จะมาพิจารณาปรับปรุงเงื่อนไขเพิ่มเติม ขณะเดียวกันยังเตรียมที่จะออกแพกเกจใหม่สำหรับการย้ายฐานการลงทุนที่จะอิงเรื่องของพื้นที่เป็นหลัก เช่น สามารถลงในพื้นที่ใดในประเทศไทยก็ได้ ซึ่งอยู่ระหว่างหารือว่าจะได้สิทธิประโยชน์อย่างไรได้"น.ส.ดวงใจกล่าว
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กล่าวว่า นโยบายครั้งนี้ ต้องการพัฒนาซัปพลายเชนเป็นของไทยเอง เพราะโลกได้เปลี่ยนแปลงไปมาก การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศโดยตรงก็ไม่ง่าย จึงต้องมองเรื่องการสร้าง Local Economy แต่การดึงการลงทุน ก็ยังคงทำต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง เนื่องจากนักลงทุนเหล่านี้ เริ่มต้องการย้ายฐานการผลิต และไทยเป็นเป้าหมายที่สำคัญแห่งหนึ่ง