xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ พร้อมขับเคลื่อนประเทศด้วย ศก.BCG แนะกำหนดเป็นโครงการนำร่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รมว.อุดมศึกษาฯ นำคณะพบ “ประยุทธ์” แลกเปลี่ยนแนวคิด BCG Model โฆษกรัฐบาลเผยนายกฯ พร้อมขับเคลื่อนประเทศด้วยเศรษฐกิจ BCG อย่างเป็นรูปธรรม แนะให้กำหนดเป็นโครงการนำร่อง BCG โดยอาจเริ่มปีงบประมาณ 64 นี้

วันนี้ (8 มิ.ย.) เวลา 13.30 น. ที่ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำ ดร.ณรงค์ สิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. และคณะเอกชนและผู้เชี่ยวชาญในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น พลังงาน เกษตร อาหาร ยาและวัคซีน เครื่องมือแพทย์ การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และเศรษฐกิจหมุนเวียน เข้าเยี่ยมคารวะพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิดการขับเคลื่อนประเทศด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) ภายหลังการหารือ ศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีชื่นชมความร่วมมือรัฐ เอกชน นักวิชาการและเครือประชาชน ร่วมหารือการขับเคลื่อนประเทศด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) ยุคหลังจากโควิด-19 จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก จึงต้องเปลี่ยนวิกฤตโควิด-19 ให้เป็นโอกาสของประเทศ เน้นสร้างความเข้มแข็งจากภายในประเทศ ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากไทยเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก ให้ประเทศไทยและคนไทยมีความมั่นคงทั้งด้านอาหาร สุขภาพ พลังงาน และประชาชนมีงานทำ

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำผู้แทนจากกลุ่มธุรกิจพลังงาน กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพ กลุ่มอุตสาหกรรมยาและวัคซีน อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจอย่างสร้างสรรค์ และกลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน เสนอแนวทางการพัฒนาด้วยเศรษฐกิจ BCG โดยโอกาสนี้ นาย กลินท์ สารสิน ผู้แทนกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ นำเสนอการส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยในฐานะ “Happy Destination” เน้นความสะอาด สะดวก ปละปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งเป็นศูนย์การการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพทั้ง Medical and Wellness Tourism นายเทวินทร์ วงศ์วานิช กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน วัสดุ และเคมี ชีวภาพ นำเสนอการใช้ประโยชน์จากพืช เช่นอ้อย เป็นพืชพลังงาน สร้างมูลค่าเพิ่ม ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ. ปิยะสกล สกลสัตยาทร กล่าวถึงศักยภาพด้านการแพทย์ รวมทั้งการคิดค้นวิจัยยาและวัคซีน เพื่อลดการนำเข้ายาที่มีมูลค่าสูงในแต่ละปีพร้อมรองรับสังคมผู้สูงอายุของไทย และผู้แทนกลุ่มเกษตรยังสนับสนุนให้มีอาสาเกษตร เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ ดูแลเกษตรกรในชุมชน เช่นเดียวกับ อสม. ที่มีส่วนสำคัญที่ช่วยให้ไทยประสบความสำเร็จในการควบคุมโควิด-19 ที่ผ่าน

นายกรัฐมนตรีได้ย้ำถึงวิธีคิดที่ตรงกับสิ่งที่ได้เคยพูดไว้ในหลายปีที่ผ่านมาที่สำคัญ คือ การนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างไร หรือ How to จึงอยากให้พิจารณาจัดลำดับโครงการนำร่อง ในรูปแบบ sandbox จากอุตสาหกรรมกลุ่มต่างๆ ที่นำเสนอในวันนี้ จัดลำดับก่อนหลังในช่วง 5 ปี เพราะต้องเตรียมการทั้ง คน โดยเฉพาะบัณฑิตจบใหม่ ข้อมูล กำหนดพื้นที่เป้าหมาย โดยอาจมีแผนกิจกรรมสำหรับปีงบประมาณ 2564 เน้นหลักการให้คนไทยเข้ามาทำงาน ในกลุ่มนี้ ซึ่งรัฐบาลมีงบประมาณส่วนหนึ่ง คือ งบบูรณาการ ในโครงการเฉพาะเรื่อง ที่ร่วมดำเนินการจากหลายกระทรวง อาทิ การบริหารจัดการน้ำ นอกจากนี้ยังอยากเห็นแนวทางการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพืชเกษตรหลักของเกษตรไทยทั้งอ้อย มันสำปะหลัง ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน เอธานอล แทนการนำงบประมาณไปชดเชยให้กับสินค้าเกษตร ซึ่งรัฐบาลพร้อมพิจารณาปลดล็อกกฎระเบียบ รวมทั้งอาจให้มีคณะกรรมการขับเคลื่อนงานต่อไป เป็นการส่งต่อประเทศไทยเข้มแข็งให้แก่คนรุ่นต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น