xs
xsm
sm
md
lg

อว.เสนอโมเดล BCG ขับเคลื่อน ศก. กระตุ้น GDP 4.4 ล้านล้าน ภายใน 5 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (แฟ้มภาพ)
รมว.อุดมศึกษาฯ นำทีม 8 ผู้นำในทุกภาคส่วน เสนอโมเดล BCG ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังโควิด-19 กระตุ้น GDP 4.4 ล้านล้านบาท ภายใน 5 ปี หนุนเอกชนลงทุนหลักรัฐบาลคอยสนับสนุน และปลดล็อกกฎหมาย ที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนานวัตกรรม

วันนี้ (8 มิ.ย.) กระทรวงการอุดมศีกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) โดย ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว.นำทีมผู้นำในทุกภาคส่วนจำนวน 8 ท่าน ประกอบด้วย ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งจากผู้ประกอบการ ผู้แทนจากภาคอุตสาหกรรม เอกชน นักวิชาการ หน่วยงานของรัฐ และภาคสังคม เข้าพบนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) เพื่อหารือแนวทางการใช้โมเดล BCG (BCG : Bioeconomy, Circular Economy, Green Economy) โดยใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยในมิติต่างๆ ด้านความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางสาธารณสุข ความมั่นคงทางพลังงาน หลักประกันการมีงานทำ และความยั่งยืนของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งพัฒนาตอบสนองความต้องการในแต่พื้นที่ไปสู่การเดินหน้าไปด้วยกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

จากข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีที่ผ่านมา มอบหมายให้กระทรวงการอุดมศีกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เป็นหน่วยงานหลักในการเร่งรัดให้เกิดการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG : Bioeconomy, Circular Economy, Green Economy) ให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมนั้น กระทรวง อว.ได้ดำเนินการจัดระดมความคิดของทุกภาคส่วน มุ่งเน้นยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็ง แบ่งเป็น 7 กลุ่มย่อย ประกอบด้วย 1) กลุ่มเกษตร โดยมี น.สพ.ยุคล ลิ้มแหลมทอง เป็นประธาน 2) กลุ่มอาหาร โดยมี นายธีรพงศ์ จันศิริ เป็นประธาน 3) กลุ่มยาและวัคซีน โดยมี ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธาน 4) กลุ่มเครื่องมือแพทย์ โดยมี ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ เป็นประธาน 5) กลุ่มพลังงานวัสดุและเคมีชีวภาพ โดยมีนายเทวินทร์ วงศ์วานิช เป็นประธาน 6) กลุ่มท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยมี นายกลินท์ สารสิน เป็นประธาน และ 7) กลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยมี ดร.วิจารย์ สิมาฉายา เป็นประธาน การระดมสมองของผู้บริหารของบริษัทชั้นนำของไทยด้าน เกษตร อาหาร และ พลังงาน อีกทั้งยังมุ่งเน้นผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่ความเป็นผู้นำของโลกบนฐานความพร้อมของประเทศไทย จากจุดแข็งการเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของโลก โดยมี นายอิสระ ว่องกุศลกิจ เป็นประธาน โดยมีผู้มีส่วนร่วมเข้าเสนอความคิดเห็นประมาณ 500 คน

สำหรับเป้าหมายในการใช้ BCG โมเดลอย่างเป็นรูปธรรมที่สามารถนำมาปรับภาพลักษณ์ของประเทศไทย (Rebranding Thailand) ภายหลังการเกิดโรคระบาดโควิด-19 รวมถึงเชื่อมโยงบนฐานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างความเข้มแข็งจากภายในประเทศ ผ่านการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากและท้องถิ่น และเชื่อมประเทศไทยกับประชาคมโลก ซึ่งมีหลักการปรับในการขับเคลื่อน ดังนี้ 1. ปรับจากรัฐเป็นผู้ลงทุนหลัก ไปสู่เอกชนลงทุนนำภาครัฐส่งเสริมโดยการสร้างระบบนิเวศที่เกื้อหนุนให้เอกชนมีสัดส่วนของการลงทุนในการพัฒนาที่สูงกว่ารัฐ 2. ปรับการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อแก้ปัญหา ไปสู่การลงทุนภาครัฐเพื่อการพัฒนาและแก้ปัญหาแบบเบ็ดเสร็จ 3. ปรับระบบการจัดสรรงบประมาณรายปี ไปสู่ระบบการจัดงบประมาณเพื่อการลงทุนแบบผูกพันต่อเนื่อง 4. ปรับการสนับสนุนทุนวิจัยรายโครงการ ไปสู่การสนับสนุนทุนวิจัยครบวงจร (วิจัย พัฒนา สู่การผลิตและจำหน่าย : RDIM) 5. ปรับการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยึดโยงอุตสาหกรรมเดิม ไปสู่การสร้างอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ใหม่ 6. ปรับการเติบโตของประเทศโดยการพึ่งพาปัจจัยจากภายนอกประเทศ ไปสู่การเติบโตด้วยการสร้างความแข็งแกร่งจากภายใน และเชื่อมโยงเศรษฐกิจโลก และ 7. ปรับจากการทำงานแบบต่างคนต่างทำ ไปสู่การเดินหน้าไปด้วยกัน ผนึกกำลังจตุภาคี ทั้งนี้ โมเดล BCG นี้ได้เริ่มดำเนินการมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว เพื่อเป็นการปูรากฐานที่เข้มแข็ง อาทิ การจัดตั้งธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (National Biobank) เพื่อการเก็บรักษาและใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพ จีโนมิกส์ประเทศไทย (Genomics Thailand) ศึกษาข้อมูลจีโนมของคนไทยเพื่อการป้องกัน การรักษา การวางแผนระบบสาธารณสุข และการแพทย์แม่นยำ อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค (Regional Science) สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมของภูมิภาค ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อการแก้ปัญหาความยากจน ยกระดับการผลิตภาคเกษตรแบบมุ่งเป้า ข้อมูลน้ำ และข้อมูลจากดาวเทียม และโรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี (Biorefinery Pilot Plant) ขยายขนาดการผลิตจากระดับห้องปฏิบัติการสู่การผลิตระดับอุตสาหกรรม (Waste to Wealth)

นอกจากนี้ยังนำเสนอให้มีโครงการเร่งรัด (Quick Win) ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG เพื่อส่งเสริมให้การดำเนินงานเป็นไปด้วยความรวดเร็ว อาทิ การใช้กลไกทางการเงินและภาษีสำหรับส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมพัฒนาเกษตรกรสู่ Smart Farmers การยกระดับอาหารริมทาง (Street Food) ให้มีมาตรฐาน ความปลอดภัย ถูกสุขลักษณะ และมีอัตลักษณ์ เชื่อมโยงการท่องเที่ยว โครงการพัฒนาอาหารสุขภาพนำร่องด้วยนวัตกรรมจากยีสต์ แผนงานการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศสำหรับอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ (Technology Localization) เพื่อสร้างห่วงโซ่การผลิตเครื่องมือแพทย์ในประเทศ เช่น เครื่องเอกซเรย์ดิจิทัล ข้อเข่าเทียม ขดลวดหลอดเลือดหัวใจ น้ำยาและเครื่องล้างไตอัตโนมัติ การสร้าง Thailand Genomic Databank และโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการบริการทางการแพทย์แม่นยำ ส่งเสริม Medical Hub การพัฒนาวัคซีนโควิดเพื่อความมั่นคงทางสุขภาพ การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการรักษาและดูแลสุขภาพ (Medical & Wellness Hub) ของเอเชีย การประกาศใช้ Carbon Pricing และ Green Tax เพื่อสร้างตลาดและสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ การจัดการของเสียเป็นศูนย์ (Zero Waste) และการสร้างมูลค่าจากของเสีย (Waste to Value)

โดยโมเดล BCG นี้ เป็นกลไกสนับสนุนให้เอกชนเป็นผู้ที่ลงทุนหลักโดยรัฐบาลทำหน้าที่เป็นหน่วยงานสนับสนุน และปลดล็อกกฎหมาย กฎระเบียบ มาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนานวัตกรรม การผลิต และการใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางวิทยาการสมัยใหม่ เพื่อเพิ่มมูลค่า GDP จาก 3.4 ล้านล้านบาท เป็น 4.4 ล้านล้านบาท ในอีก 5 ปีข้างหน้า รวมถึงสนับสนุนทุนวิจัยแบบครบวงจร จัดสรรงบประมาณในการลงทุนแบบผูกพันต่อเนื่อง การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน สร้างความมั่นคงทางอาหาร สุขภาพ พลังงาน เพิ่มการจ้างงานและขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยนวัตกรรม เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนและแข่งขันได้ในระดับโลก ทำให้เกิดการกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ ชุมชนเข้มแข็ง มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมถึงการพัฒนาและสร้างพลังประชาชนที่ยั่งยืนเพื่อการส่งต่อทรัพยากรสู่คนรุ่นต่อไป พร้อมกับก้าวเดินไปข้างหน้าด้วยกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง


กำลังโหลดความคิดเห็น